×

CHG – แรงกดดันมาร์จิ้นจากโครงการลงทุนใหม่

11.03.2024
  • LOADING...
โรงพยาบาลจุฬารัตน์

เกิดอะไรขึ้น:

 

บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) เปิดเผยในที่ประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวัน 8 มีนาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ 15%YoY ในปี 2567 (จากการเติบโต 17%YoY ในปี 2566 ไม่รวมบริการโควิด-19) ปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การเพิ่มบริการ โดยเฉพาะศูนย์เฉพาะทางที่ศูนย์การแพทย์จุฬารัตน์ เช่น ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง ศูนย์หัวใจ และศูนย์มะเร็ง การปรับปรุงบริการผู้ป่วยต่างชาติ (4% ของรายได้ปี 2566) และการขยายการให้บริการประกันสังคม (SC, 32% ของรายได้ปี 2566) จากจำนวนผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนกับ CHG เพิ่มขึ้นหลังจากบริษัทได้โควตา SC เพิ่มขึ้น 

 

ภาพรวมรายได้ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของ CHG เติบโต YoY แต่ยังต่ำกว่าเป้าทั้งปีที่บริษัทวางไว้ ซึ่ง CHG มองว่า การเติบโตของรายได้จะเร่งตัวขึ้นใน 2Q67-4Q67

 

ในปี 2567 CHG ตั้งเป้า EBITDA Margin ดีขึ้น แต่ InnovestX Research มองว่า เป้าหมายดังกล่าวค่อนข้างท้าทาย โดย EBITDA Margin ของ CHG อ่อนแอที่ 22.8% ในปี 2566 (เทียบกับ 23.5% ในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19) เพราะถูกฉุดรั้งโดยโครงการลงทุนใหม่คือ โรงพยาบาลจุฬารัตน์แม่สอด จังหวัดตาก (เปิดในช่วงปลาย 2Q66) และศูนย์การแพทย์จุฬารัตน์ (เปิดใน 3Q66) ซึ่งคาดว่า EBITDA Margin จะอ่อนแอลงต่อเนื่องที่ 22.8% ในปี 2567 จากการดำเนินงานเต็มปีแรกของโครงการลงทุนใหม่สองโครงการนี้ ก่อนที่ EBITDA Margin จะปรับตัวดีขึ้นสู่ 24.1% ในปี 2568

 

สำหรับผลกระทบจากการปรับลดอัตราการเบิกจ่ายโครงการประกันสังคมมีจำกัด เมื่ออิงกับข้อมูลจาก CHG สำนักงานประกันสังคมได้ปรับลดการจ่ายค่ารักษาพยาบาลโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง (RW>2) ให้กับโรงพยาบาลเอกชนลงจาก 12,000 บาทต่อ RW (อัตราที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด) เหลือ 10,000 บาทต่อ RW สำหรับการให้บริการในเดือนธันวาคม 2565 เนื่องจากงบประมาณปี 2565 ไม่เพียงพอ 

 

ส่วนต่างระหว่างจำนวนเงินที่จ่ายจริงกับรายได้ที่บันทึกไว้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ CHG ~3 ล้านบาทใน 4Q66 ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับโอกาสที่จะมีการปรับลดอัตราการเบิกจ่าย เนื่องจากการให้บริการรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง (RW>2) ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาการเบิกจ่าย รวมถึงจำนวนเงินที่จะจ่ายจริงสำหรับปี 2567 

 

ในขณะที่มองว่าความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเป็นความเสี่ยง แต่จากการประเมินบ่งชี้ว่าผลกระทบมีจำกัด เมื่อใช้สมมติฐานว่ามีการปรับลดอัตราการเบิกจ่ายจริงสำหรับค่ารักษาพยาบาลโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง (RW>2) ลงจาก 12,000 บาทต่อ RW เหลือ 10,000 บาทต่อ RW สำหรับการให้บริการ 1 เดือนจะส่งผลต่อกำไรปี 2567 ของ CHG ราว 0.2% 

 

กระทบอย่างไร:

 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น CHG ปรับลง 2.67% สู่ระดับ 2.92 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลง 0.44% สู่ระดับ 1,382.25 จุด 

 

แนวโน้มผลประกอบการปี 2567:

 

InnovestX Research ปรับประมาณการกำไรปกติของ CHG ลดลง 2% ในปี 2567 และ 2% ในปี 2568 หลังจากที่ปรับประมาณการทางการเงิน โดยคาดว่ากำไรปกติของ CHG จะเติบโต 12% สู่ 1.2 พันล้านบาทในปี 2567 และกำไรที่แข็งแกร่งขึ้นจะเกิดขึ้นใน 2H67 เป็นหลัก ส่วน 1Q67 คาดว่ากำไรปกติจะเติบโต YoY (จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น) แต่ลดลง QoQ (จากขาดทุนที่โครงการลงทุนใหม่ 2 โครงการ) 

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนยังคงคำแนะนำ NEUTRAL สำหรับ CHG โดยปรับราคาเป้าหมายสิ้นปี 2567 อ้างอิงวิธี DCF ลดลงสู่ 3.5 บาทต่อหุ้น (จากเดิมที่ 3.8 บาทต่อหุ้น) โดยอิงกับ WACC ที่ 6.8% และการเติบโตระยะยาวที่ 3%

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ การปรับอัตราการเบิกจ่ายสำหรับโครงการประกันสังคม จำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการชะลอตัวลง และภาระต้นทุนที่โรงพยาบาลใหม่ ส่วนปัจจัยเสี่ยงด้าน ESG คือ ความปลอดภัยของผู้ป่วย (S) ซึ่ง CHG ได้นำเอาระบบบริหารคุณภาพต่างๆ มาใช้สำหรับกระบวนการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising