×

คำต่อคำ ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ พูดอะไรบ้างตอนขึ้นให้การ ส่อเค้าส่งสัญญาณอะไร

25.10.2019
  • LOADING...
Libra

HIGHLIGHTS

7 MINS. READ
  • มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Facebook ได้เดินทางไปขึ้นให้การต่อคณะกรรมการสภาบริการทางการเงินของสหรัฐฯ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับลิบราอย่างเป็นทางการครั้งแรก
  • การขึ้นให้การครั้งนี้กินระยะเวลาเกือบ 5 ชั่วโมงเต็ม และคำถามส่วนใหญ่ที่ ส.ส. เลือกถามมาร์ก มักจะเน้นย้ำในประเด็นการป้องกันผู้ไม่หวังดีไม่ให้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มที่เข้าข่ายอาชญากรรม
  • ซีอีโอ Facebook มักจะยกประเด็นความล่าช้าในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่อาจจะถูกชาติมหาอำนาจอย่าง ‘จีน’ แซงหน้าขึ้นมาอ้างอยู่บ่อยๆ ซึ่งในเชิงการเมือง สหรัฐฯ ถือเป็นคู่แข่งกับจีนโดยตรง

ขณะที่คนไทยบางกลุ่มกำลังเดือดดาลพารุมทึ้งประเด็น ‘หนุ่มแว่นหัวร้อน’ อีกฟากหนึ่งของโลก เหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก็กำลังไล่บี้ ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Facebook อย่างไม่ลดละ

 

วันที่ 23 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้เดินทางไปขึ้นให้การต่อคณะกรรมการสภาบริการทางการเงินของสหรัฐฯ (House Financial Services Committee) ในประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Facebook ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมและผู้ใช้งานจำนวนมหาศาล ตลอดจนจุดยืนและการพัฒนาโปรเจกต์เงินดิจิทัล ‘ลิบรา’ ที่พวกเขาเป็นตัวตั้งตัวตี

 

ตลอดระยะเวลา 5 ชั่วโมงที่ขึ้นให้การ ซีอีโอวัย 35 ปี ดูจะสะบักสะบอมมากเป็นพิเศษ เพราะ ส.ส. สหรัฐฯ แต่ละคนดูจะยิงคำถามเข้าเป้าอย่างตรงไปตรงมา แรง และจัดเต็มกันสุดๆ

 

และนี่คือบางส่วนจากถ้อยแถลงในการขึ้นให้การของซักเคอร์เบิร์กที่ THE STANDARD หยิบยกเอาประเด็นที่น่าสนใจมาขยายความต่อ

 

 

ลิบรายังไหวไหม เมื่อซักเคอร์เบิร์กถูกซักแบบเข้าเป้าที่สุด

การขึ้นให้การครั้งนี้เริ่มต้นด้วยคำแถลงการณ์ของ ส.ส. หญิง แม็กซีน วอเตอร์ส ประธานคณะกรรมการสภาบริการทางการเงินของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า แผนการของ Facebook ในการพัฒนาเงินดิจิทัล ‘ลิบรา’ และอีวอลเล็ต ‘คาลิบรา’ สร้างความกังวลให้กับผู้คน สถาบันการเงิน และหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ประเด็นข้อมูลความเป็นส่วนตัว, ความเสี่ยงในการแลกเปลี่ยน, การแบ่งแยก, ความมั่นคงของชาติ และเสถียรภาพของระบบการเงินของโลก

 

ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการสภาบริการทางการเงินของสหรัฐฯ จึงมีความประสงค์ในการเรียกซักเคอร์เบิร์กขึ้นให้การ และแถลงจุดยืนในการบริหาร Facebook

 

ก่อนที่ซักเคอร์เบิร์กจะเริ่มต้นด้วยการอ่านแถลงการณ์เปิดของเขาโดยบอกว่า “ตอนที่เรานั่งกันอยู่ในสภาแห่งนี้ ยังมีผู้คนอีกมากกว่าหลายพันล้านคนทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงการมีบัญชีธนาคารเป็นของตัวเอง แต่พวกเขายังพอจะทำมันได้ผ่านโทรศัพท์ของตัวเอง หากมีระบบที่สนับสนุนมากพอ ในจำนวนนี้ยังนับรวมถึงคนในสหรัฐฯ อีกกว่า 14 ล้านคนด้วย

 

“การถูกปิดกั้นจากระบบการเงินมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างแท้จริง และบ่อยครั้งก็ได้กลายเป็นข้อเสียเปรียบที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นต้องจ่าย ‘แพงขึ้น’ กว่าปกติทั่วไป พวกเขาต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงมากๆ และยังต้องอดทนรอเป็นเวลานานๆ เพื่อส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวที่อยู่ในต่างประเทศ

 

“ระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันทำให้พวกเขาผิดหวัง อุตสาหกรรมทางการเงินทั่วโลกซบเซา และก็ไม่มีสถาปัตยกรรมทางดิจิทัลหรือการเงินใดๆ ที่จะช่วยสนับสนุนนวัตกรรมที่เราต้องการ ซึ่งผมเชื่อว่า ปัญหาเหล่านี้จะถูกแก้ไขได้ และลิบราก็จะมีส่วนช่วยมันได้ เพราะแนวคิดเบื้องหลังของลิบราคือ การทำให้การโอนเงินง่ายและปลอดภัยเหมือนการส่งข้อความหากัน 

 

“ลิบราจะเป็น ‘ระบบการทำธุรกรรมที่ใช้กันในระดับโลก (Global Payment System)’ ที่ถูกสำรองไว้ด้วยเงินสดและสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ผมเชื่อว่า มันเป็นสิ่งที่ควรจะถูกสร้างให้เกิดขึ้นได้จริง แต่ผมเข้าใจนะว่า ตัวเองคงไม่ใช่คนที่ใช่สักเท่าไรที่จะออกมาเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ ณ ตอนนี้ เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมา เราต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคปัญาหาต่างๆ มากมาย ซึ่งทำให้ผมค่อนข้างมั่นใจว่า คนจำนวนไม่น้อยหวังว่าคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ (การพัฒนาเงินดิจิทัลสากล) จะเป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่ Facebook

 

“แต่สาเหตุที่เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ ก็เพราะว่า Facebook เชื่อในเรื่องการให้อำนาจกับผู้คน บริการของเราได้เปิดพื้นที่ให้กับผู้คนทั่วโลกได้ส่งเสียงสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา สร้างธุรกิจและโอกาสต่างๆ เช่นเดียวกับการให้พวกเขาได้มีสิทธิ์ควบคุมดูแลเงินของพวกเขาด้วยตัวเอง

 

“จริงอยู่ที่ในระยะยาว ถ้ายิ่งมีคนทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มของเรามากเท่าไร มันก็จะเป็นผลดีมากเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี ผมยังคิดว่ามันจะมีประโยชน์และสามารถช่วยเหลือผู้คนได้ทุกที่ทั่วโลกเลยนะ”

 

มาร์กยังกล่าวทิ้งท้ายก่อนจะเริ่มตอบคำถามจาก ส.ส. สหรัฐฯ ว่าตัวเขาเองยินดีจะอธิบายและแถลงไขทุกข้อสงสัยที่มีต่อลิบราและความมั่นคงต่อเสถียรภาพทางการเงิน แต่ก็อยากให้ ส.ส. ทุกคนรับรู้และเข้าใจถึงความเสี่ยงต่อการไม่ยอมเดินหน้าพัฒนา ‘นวัตกรรม’ รูปแบบนี้ด้วย 

 

เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มวางแพลนพัฒนาเงินดิจิทัลและแพลตฟอร์มของตัวเองกันแล้วทั้งนั้น โดยเฉพาะ ‘จีน’ ที่ให้ความสำคัญกับแผนการพัฒนาเงินดิจิทัลเป็นอย่างมาก และเตรียมจะเปิดตัวโปรเจกต์ที่มีคอนเซปต์ใกล้เคียงกันออกมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

 

 

คำถามโดย ส.ส. แม็กซีน วอเตอร์ส ประธานคณะกรรมการสภาบริการทางการเงินของสหรัฐฯ: ปีที่แล้ว Facebook แบนการโฆษณาเงินคริปโตฯ โดยให้เหตุผลว่า เงินดิจิทัลอาจนำไปสู่การชี้นำข้อมูลแบบผิดๆ แต่ทำไมจู่ๆ ปีนี้พวกคุณถึงกลับลำ ยกเลิกการแบนดังกล่าว ทุ่มฮุบกิจการบริษัทพัฒนาบล็อกเชน แถมยังเปิดตัวเงินคริปโตฯ ของตัวเอง อะไรคือสาเหตุความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งหมด

 

เป็นเพราะว่าพวกคุณมองเห็นว่า สามารถใช้ประโยชน์จากฐานผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลและข้อมูลผู้ใช้มาบุกตลาดเงินดิจิทัล เปลี่ยนนโยบายต่างๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประโยชน์ให้กับตัวเองหรือเปล่า

 

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก: ต่อประเด็นที่แม็กซีนถาม มาร์กไม่ได้เลือกตอบทั้งหมด เพราะ ส.ส. หญิงยังถามครอบคลุมถึงประเด็นการเปิดทางให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีจากรัสเซียเข้ามาซื้อ ยิงโฆษณาปลุกปั่นและสร้างความเข้าใจที่ผิดๆ ไปจนถึงการแทรกแซงในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ 2016 ด้วย

 

โดยซักเคอร์เบิร์กยอมรับว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้ว Facebook อยู่ในสถานะการเป็นบริษัทที่ต้องตั้งรับป้องกันตัวจากการถูกรัสเซียแทรกแซงและโจมตีในช่วงเลือกตั้ง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พวกเขาได้พัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองให้มีระบบหลังบ้านที่ซับซ้อนขึ้น เพื่อป้องกันการโจมตีและแทรกแซงจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีในต่างประเทศแล้ว

 

 

คำถามโดย ส.ส. แพทริก แม็กเฮนรี: ทำไมที่ตั้งของสมาคมลิบราถึงต้องเป็นสวิตเซอร์แลนด์ ทำไมไม่เลือกสหรัฐอเมริกา เป็นเพราะสวิตเซอร์แลนด์มีความแน่นอนด้านกฎระเบียบสำหรับการให้บริการของกิจการประเภทนี้มากกว่าหรือเปล่า

 

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก: เนื่องจากสมาคมลิบราเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับใคร เราพยายามจะสร้างระบบการทำธุรกรรมทั่วโลกขึ้น และสวิตเซอร์แลนด์เองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่องค์กรและหน่วยงานนานาชาติเลือกไปประจำการฐานที่ตั้งมั่น จริงอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์อาจมีนโยบายในการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเงิน ซึ่งรุดหน้าไปไกล

 

แต่สิ่งที่ผมอยากจะอธิบายก็คือ เราคือส่วนหนึ่งของสมาคมลิบรา แต่เราไม่ได้ควบคุมหรือเป็นคนชี้นิ้วสั่งสมาคม และผมก็อยากจะอธิบายตรงนี้ให้ทุกๆ คนเข้าใจว่า ความมุ่งมั่นของของผมในการบริหาร Facebook คือผมจะไม่เปิดตัวบริการหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ออกมาเด็ดขาด หากไม่ได้รับการสนับสนุนที่เต็มร้อยจากหน่วยงานที่ดูแลกำกับนโยบายในสหรัฐฯ

 

คำถามโดย ส.ส. แพทริก แม็กเฮนรี: ในวันนี้ Alipay มีผู้ใช้งานกว่า 900 ล้านราย ในมุมมองของผม พวกเขาถือเป็นคู่แข่งระดับโลกโดยตรงของ Facebook เมื่อคุณเห็นสิ่งที่ Alipay และ WeChat Pay ทำ ก็เลยคิดว่า ทำไมถึงจะทำ Facebook ในเวอร์ชันแบบ Alipay ออกมาไม่ได้ ถูกไหม

 

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก: ผมคิดว่าท่านพูดถูกนะในมุมมองของการแข่งขัน แต่มันไม่ใช่แค่กับเรา เพราะมันรวมถึงทุกบริษัทในสหรัฐอเมริกา

 

หลายส่วนบนโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่พวกเขา (บริษัทจีน) ได้สร้างขึ้นมา ล้วนแล้วแต่ทันสมัยเหนือสิ่งที่พวกเราทำกันในประเทศนี้เสียอีก เมื่อเราเผยแพร่เอกสาร White Paper ของโปรเจกต์ลิบราออกมา จีนก็ประกาศความร่วมมือกับบริษัทเอกชนทันทีในการพัฒนาเงินดิจิทัลของตัวเองออกมา และเตรียมจะเปิดตัวในอีกไม่กี่เดือนต่อจากนี้

 

คำถามโดย ส.ส. แคโรลิน บี. มาโลนีย์: ส่ิงที่ฉันกังวลคือ การที่ลิบราอาจจะเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การฟอกเงิน และฉันก็ไม่คิดว่าคุณมีเครื่องมือในการป้องกันการฟอกเงินที่ดีพอ หรือการควบคุมผู้ใช้นิรนามที่มีจุดประสงค์อื่นแอบแฝง ฉันเลยมองว่า มันอาจจะกลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เหล่าอาชญากรมองหาโอกาสในการซุกซ่อนและฟอกเงิน เนื่องจากสิ่งที่คุณกำลังทำคือ การสร้างสกุลเงินใหม่ขึ้นมา ซึ่งอาจจะกลายเป็นเครื่องมือของผู้ไม่ประสงค์ดีในการก่ออาชญากรรมทุกประเภท และอาจจะส่งผลถึงความมั่นคงของชาติและคนในประเทศได้

 

ฉันอยากรู้จุดยืนในการควบคุมผู้ใช้ที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัวตน รวมถึงความโปร่งใสในการใช้งานเงินดิจิทัลของคุณ

 

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก: ผมยืนยันว่า Facebook จะมุ่งมั่นทำทุกอย่างให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ วอลเล็ตของเราจะมีการระบุตัวตนที่เชื่อถือและตรวจสอบได้ โดยเราจะทำงานร่วมกับผู้ออกและกำหนดนโยบาย แม้ผมจะไม่สามารถตอบแทนสมาคมลิบราทั้งหมด แต่ผมก็ยืนยันในจุดยืนของผม ตัวแทนจาก Facebook

 

 

คำถามโดย ส.ส. แอน วากเนอร์: การที่อดีตพาร์ตเนอร์ผู้ก่อตั้งสมาคมลิบรานำโดย PayPal, VISA, MasterCard, Stripe, Bookings Holdings, eBay และ Mercado Pago พากันทยอยถอนตัว จนจำนวนสมาชิกสมาคมเหลือแค่ 21 ราย สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทเหล่านี้มีความกังวลในการดำเนินตามระเบียบข้อบังคับ และการป้องกันประเด็นปัญหาการฟอกเงินของลิบราหรือไม่ คุณคิดว่า พวกเขาพากันถอนตัวออกจากสมาคมเพราะสาเหตุอะไร

 

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก: โครงการนี้ใหญ่เกินกว่าที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะเดินหน้าทำได้ด้วยตัวเอง เราจึงตั้งสมาคมลิบราขึ้นมา ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร มันเป็นโครงการที่ซับซ้อนและค่อนข้างเสี่ยง สาเหตุที่เหล่าพาร์ตเนอร์พากันถอนตัวออกมา เพราะผมเชื่อว่าโครงการนี้ค่อนข้างเสี่ยงและต้องมีการตรวจสอบกันหลายขั้นตอน

 

คำถามโดย ส.ส. ไนเดีย เวลาซเกซ: คาลิบราได้ให้คำมั่นเอาไว้ว่า จะไม่มีการแชร์ข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลการเงินใดๆ ทั้งสิ้นกับ Facebook หรือบริษัทอื่นๆ โดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ใช้งานก่อน อย่างไรก็ดี Facebook กลับมีประวัติไม่ดี โดยเฉพาะความล้มเหลวในการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ทั้งยังถูกสั่งปรับโดยคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลาง (FTC) สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

 

ฉันขอถามคุณง่ายๆ เลยก็แล้วกัน ทำไมพวกเราถึงต้องเชื่อด้วยว่า คุณและคาลิบราจะสามารถคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ตลอดจนข้อมูลการเงินของพวกเขาได้จริงๆ

 

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก: เรามีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแพลตฟอร์มและบริการของเรา ผมคิดว่า ข้อตกลงและคำสั่งที่เราได้ทำร่วมกับ FTC จะช่วยให้เราสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมของเรา โดยเฉพาะในแง่ของความแม่นยำในมาตรการป้องกันความเป็นส่วนตัวที่พวกเรากำลังสร้างมันขึ้นมา

 

คำถามโดย ส.ส. เบลน ลเตเคมเยอร์: คุณยินดีที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของผลิตภัณฑ์และบริการให้เป็นไปตามที่กฎหมายรองรับหรือไม่ แล้วคุณยินดีที่จะยุติการพัฒนาแพลตฟอร์มหรือเปล่า หากไม่สามารถไปต่อได้ ท้ายที่สุดแล้วการเข้าร่วมในการพัฒนาลิบราจะทำให้ Facebook ได้รับประโยชน์อะไร

 

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก: ผมยินดีจะทำแน่นอน (ดำเนินการเปลี่ยนแปลงตามคำสั่ง) ผมคิดว่า เราต้องมาลองดูกันอีกทีว่ากระบวนการนี้มันจะดำเนินการได้อย่างไร แต่ผมก็เดินทางมาที่นี่แล้วในวันนี้ 

 

ส่วนถามว่า ผมจะถอนตัวหรือไม่ หากไม่สามารถไปต่อได้ ผมคงจะตอบว่า ผมจะหยุดการมีส่วนร่วมของ Facebook ในโครงการนี้ ถ้าผมรู้สึกว่า เราไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมลิบรา หรือตัวสมาคมไม่สามารถดำเนินการตามหลักการที่กำหนดเอาไว้ได้ Facebook ก็คงจะถอนตัวจากโครงการนี้

 

เราสร้างแพลตฟอร์มการแชตส่งข้อความที่ถูกใช้งานแพร่หลายทั่วโลก วิสัยทัศน์ของเราจากการพัฒนาลิบราคือ ช่วยให้ผู้คนสามารถโอนเงินให้กันได้อย่างง่ายดาย ปลอดภัย และถูก (ค่าธรรมเนียม) เทียบเท่าการส่งข้อความหากัน ผมคิดว่า ฟีเจอร์การโอนเงินจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้คนทั่วโลก นอกเหนือจากบริการแชตที่เรามี

 

คำถามโดย ส.ส. สตีฟ สติเวอร์ส: ทำไมต้องสร้างสกุลเงินของตัวเองขึ้นมา แทนที่จะเลือกสกุลเงินที่ทั่วโลกใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน แล้วนำมาใช้บนแพลตฟอร์มของคุณแทน

 

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก: เป้าหมายของลิบราคือ การสร้างระบบการทำธุรกรรมจ่ายเงินสำหรับทั่วโลก มากกว่าการสร้างสกุลเงิน และเนื่องด้วยมันต้องการจะเป็นระบบที่ใช้กันทั่วโลก การไม่เลือกสกุลเงินใดสกุลหนึ่งขึ้นมาน่าจะเป็นวิธีดีกว่า แต่เพราะว่าเราเป็นบริษัทสหรัฐอเมริกา และเพราะว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้นแข็งแกร่งที่สุดในโลก มันจึงเมกเซนส์ที่เราจะให้เงินสำรองของลิบราเป็นดอลลาร์สหรัฐ เพื่อคงความเป็นผู้นำในด้านการเงินของสหรัฐฯ ต่อไป

 

 

คำแถลงการณ์ของซักเคอร์เบิร์กส่งสัญญาณถึงลิบราอย่างไร

ถ้าดูจากบางช่วงบางตอนก็จะพบว่า ซักเคอร์เบิร์กเลือกให้เหตุผลเดิมๆ ในการเดินหน้าพัฒนาคาลิบราและลิบรา ว่าต้องการช่วยให้ผู้คนทั่วโลกสามารถโอนเงินและทำธุรกรรมระหว่างกันข้ามโลกได้ง่ายเหมือนส่งข้อความ

 

แต่ปัญหาที่ ส.ส. หลายคนกังวลก็คือ การป้องกันข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน รวมถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งมาร์กย้ำว่า เขาและสมาคมลิบราจะไม่ดำเนินการให้บริการใดๆ หรือเปิดตัวผลิตภัณฑ์อื่นๆ แน่นอน หากไม่ได้รับการอนุมัติหรืออนุญาตจากผู้ออกกฎหมายเสียก่อน

 

แถมยังบอกอีกด้วยว่า Facebook พร้อมจะใส่เกียร์ถอยทันที หากลิบราไม่สามารถเดินต่อไปได้ (ตรงนี้น่าสนใจ เพราะเท่ากับว่า ซักเคอร์เบิร์กเปิดทางชี้ช่องให้เห็นว่า อนาคตของลิบราขึ้นอยู่กับการตัดสินชี้เป็นชี้ตายของรัฐบาลสหรัฐฯ)

 

อีกหนึ่งจุดที่ถ้าสังเกตให้ดีก็จะพบว่า ตลอดการให้การต่อคณะกรรมการสภาบริการทางการเงินของสหรัฐฯ ในช่วงแรกๆ ในประเด็นลิบรานั้น ซีอีโอ Facebook มักจะยกประเด็นความเสียเปรียบชาติคู่รักคู่แค้นอย่างจีนขึ้นมากล่าวอ้างอยู่บ่อยๆ

 

โดยพูดเป็นนัยว่า หากสหรัฐฯ ไม่เปิดโอกาสให้สมาคมลิบราเดินหน้าพัฒนาเงินดิจิทัลและแพลตฟอร์มรูปแบบนี้ขึ้นมา ชาติอื่นๆ ที่เห็นโอกาสตรงนี้ก็พร้อมจะวิ่งแซง แล้วพัฒนาเงินดิจิทัลของตัวเองขึ้นมาใช้งานเหมือนกัน

 

ในช่วงหนึ่งเขายังตอบคำถาม ส.ส. บิล ฮุยเซนกา แบบอ้อมๆ พร้อมยก ‘จีน’ ขึ้นมาเป็นโล่กำบัง โดยย้ำว่า “ตอนที่เราประกาศเผยแพร่เอกสารปกขาวของลิบราออกมา สิ่งที่เราเห็นในจีนคือ การที่พวกเขาก็ประกาศความร่วมมือกับบริษัทเอกชนออกมาอย่างรวดเร็วทันที เพื่อพยายามจะสร้างสกุลเงินเหรินหมินปี้แบบดิจิทัลออกมา ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของพวกเขา ซึ่งจะขยายอิทธิพลออกไปทั่วทั้งเอเชีย แอฟริกา และภูมิภาคอื่นๆ”

 

การเลือกหยิบจีนและโครงการเงินดิจิทัลของพวกเขาขึ้นมาอธิบายให้ ส.ส. ในสภารับฟัง ถือว่าฉลาดมาก เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็กำลังขัดแย้งกันอยู่ในประเด็นสงครามการค้า ประกอบกับทั้งคู่คือเบอร์หนึ่งและสองของเศรษฐกิจโลก เพราะฉะนั้นการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบในประเด็นนี้ ก็น่าจะส่งผลกระทบเสียหายมหาศาลพอสมควร

 

แม้จะยังไม่มีบทสรุปฟันธงว่า ลิบราและคาลิบราจะได้ไปต่อหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็ได้เห็น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ขึ้นให้การอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเด็นการพัฒนาเงินดิจิทัลนี้ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นมุมมองที่น่าสนใจ ตลอดจนประเด็นให้ตามต่ออยู่พอสมควร

 

 

อีกหนึ่งไฮไลต์เด็ดของการขึ้นให้การในครั้งนี้ อยู่ที่การซักถามของ ส.ส. หญิง อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ ที่เดินหน้าซัดซักเคอร์เบิร์กแบบไม่มีออมแรง ทั้งในประเด็นการป้องกันข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ (Cambridge Analytica) การปล่อยให้ผู้ไม่หวังดีจากต่างชาติแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ รวมถึงการกระทำบางอย่างที่ส่อเค้าการเลือกปฏิบัติ โดยหลายช่วงหลายจังหวะ ซีอีโอ Facebook ก็ออกอาการ ‘เซ’ ให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ เหมือนกัน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising