×

การกลับมาเป็น ‘ทีมนี้ที่รัก’ ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในวิกฤตโควิด-19

28.04.2020
  • LOADING...

หยิบนาฬิกาขึ้นมา แล้วหมุนเม็ดมะยมย้อนเวลากลับไปในวันศุกร์ที่แล้ว มีการประชุมทางไกลในระบบออนไลน์อยู่ที่ใดสักที่ในโลกออนไลน์

 

การประชุมนั้นมีชื่อว่า Fan’s Forum Meetings ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้แฟนบอลของทีมปีศาจแดงได้มีโอกาสถามไถ่การทำงานของเหล่าผู้บริหารสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดอย่างตรงไปตรงมา

 

โดยปกติแล้วการประชุมนี้จะมีขึ้น 4 เดือนครั้ง แต่เพราะสถานการณ์ในเวลานี้ทำให้ไม่มีใครสามารถจะเดินทางมาพบเจอกันได้จึง ต้องมีการนัดแนะกันบนโลกออนไลน์แทน ซึ่งโดยปกติอีกเช่นกันที่การประชุมนี้จะมักจะเป็นการประชุมที่ดุเดือด เพราะเลือดรักสโมสรของแฟนบอลนั้นเข้มข้นร้อนแรง และตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาการบริหารงานของสโมสรที่นำโดย เอ็ด วูดเวิร์ด รองประธานบริหารทีม ค่อนข้างมีปัญหาอย่างที่รู้กัน

 

แต่ในการประชุมรอบนี้ บรรยากาศนั้นแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง และเป็นเรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกตอย่างยิ่งครับ

 

ที่บอกว่าบรรยากาศนั้นแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงก็คือ จากเดิมที่จะมีการเปิดฉากวิวาทะทางคารมกันอย่างเผ็ดร้อน เพราะสิ่งที่แฟนฟุตบอลคาดหวังกับสิ่งที่พวกเขาได้รับกลับมาจากผู้บริหารนั้นแทบจะเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบกัน

 

แมนเชสเตอร์​ ยูไนเต็ดสูญเสียความยิ่งใหญ่ไปนับตั้งแต่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือจากตำแหน่งผู้จัดการทีมเมื่อปี 2013 และในแต่ละปีที่ผ่านไปเหล่า เรดอาร์มี กองพันอสูรแดงก็ยิ่งสูญเสียความเชื่อมั่น และมองไม่เห็นความหวังที่ทีมจะกลับมายิ่งใหญ่เลย

 

มันเจ็บมากยิ่งขึ้น เมื่อคู่แข่งร่วมเมืองอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ผงาดขึ้นมาเป็นใหญ่พอดี

 

และมันเจ็บมากกว่า เมื่อคู่แค้นตลอดกาลอย่างลิเวอร์พูล ทำทุกอย่างที่ตรงกันข้ามกับพวกเขาทำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทีมด้วยการวางแผนระยะยาว มีทีมงานบริหารที่เก่งฉกาจ ใช้จ่ายเงินน้อย ผลักดันดาวรุ่งของสโมสร และมีผู้จัดการทีมที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก

 

ลิเวอร์พูล หากโชคชะตาไม่โหดร้ายจนเกินไป กำลังจะได้เป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก เป็นแชมป์ลีกสมัยแรกในรอบ 30 ปี

 

สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ตลอดมานั้นไม่แปลกครับที่แฟนๆ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดจะทำใจรับไม่ค่อยได้ที่ทีมมีสภาพไม่ต่างอะไรจาก ‘ตัวตลก’ เมื่อเทียบกับคู่แค้นและคู่แข่ง

 

เพียงแต่หลายอย่างในรั้วโอลด์แทรฟฟอร์ดเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากครับนับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2020 เป็นต้นมา

 

จากบรรยากาศที่เป็นพิษ วันนี้ผมคิดว่าอากาศใน ‘โรงละครแห่งความฝัน’ กลับมาสดชื่นขึ้นเรื่อยๆ 

 

เรื่องในสนามเป็นเหตุผลหนึ่งครับ ซึ่งสำคัญ โดยเฉพาะนับตั้งแต่ที่พวกเขาได้ บรูโน แฟร์นันด์ส มา ทุกอย่างดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปหมด 

 

อะไรที่เคยไม่เข้าล็อก อยู่ผิดที่ผิดทาง ทุกอย่างได้รับการแก้ไขจนเกือบหมด

 

แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดที่ทำให้เหล่าแฟนบอลผู้ถวายหัวใจให้ปีศาจกลับมารู้สึกดีกับสโมสรอย่างหมดใจครับ

 

ความรู้สึกดีๆ ที่กลับคืนมาในใจของพวกเขามาจากสิ่งที่สโมสรทำในช่วงเวลายากลำบากที่ผ่านมาต่างหาก

 

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดได้ทำในสิ่งที่ดีที่สุดคือ การเป็นที่พึ่งพาให้แก่ทุกคน และโชคดีที่พวกเขามีกำลังมากพอที่จะดูแลคนได้อย่างดี

 

เริ่มจากการคืนเงินให้แก่แฟนบอลเกือบ 700 คน ที่เดินทางไปออสเตรียเพื่อให้กำลังใจทีมในเกมกับ LASK ซึ่งเป็นการลงสนามนัดสุดท้ายก่อนจะมีการล็อกดาวน์ แต่สุดท้ายไม่มีใครได้เข้าสนาม เพราะมีคำสั่งให้แข่งในสนามปิด

 

เงินที่ต้องคืนรวมทั้งหมด 245,000 ปอนด์ ซึ่งอาจจะเหมือนน้อยสำหรับสโมสรในระดับนี้ แต่ในวิกฤตแบบนี้ก็ไม่ใช่น้อยครับ

 

จากนั้นคือการประกาศว่า พวกเขาจะดูแลสตาฟฟ์ทั้ง 940 ชีวิตของสโมสรอย่างดีที่สุดเหมือนเดิม แม้ว่าสโมสรจะประสบปัญหาในการขาดรายได้เมื่อไม่มีเกมการแข่งขันก็ตาม

 

บรรยาย: แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดส่งกำลังพล กำลังของ กำลังทรัพย์ เพื่อสร้างกำลังใจให้แก่ชาวเมืองแมนเชสเตอร์

 

การอุ้มชูพนักงานในยามยากของพวกเขาได้รับเสียงปรบมืออย่างกึกก้องและดอกไม้ช่อใหญ่จากสังคม สวนทางกับสโมสรที่เคยบริหารงานมาดีตลอดอย่างลิเวอร์พูล ที่โดนก้อนอิฐปาใส่เมื่อประกาศจะ ‘พักงาน (Furlough)’ ลูกจ้างของสโมสร

 

ว่ากันว่านี่อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในยุคการบริหารของวูดเวิร์ด และมันนำไปสู่สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นตามมาอีกมากมายในช่วงที่ผ่านมาครับ

 

สิ่งที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดทำดีมากๆ คือการรีบยื่นมือช่วยเหลือ NHS หน่วยงานบริการสาธารณสุขแห่งชาติ หน่วยงานที่เป็น ‘ฮีโร่’ ตัวจริงของชาวอังกฤษในวิกฤตโควิด-19 และเป็นการช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็นทางการเงิน การให้ใช้สถานที่ ไปจนถึงการบริจาคเพื่อช่วยเหลือองค์กรการกุศล และ Foodbank ซึ่งเป็นหนึ่งเส้นเลือดฝอยที่ช่วยหล่อเลี้ยงชาวอังกฤษที่ประสบปัญหาการดำเนินชีวิตที่ยากลำบาก

 

สิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าในความรู้สึกจะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่ คือการทำให้สโมสรฟุตบอลกลับมาใกล้ชิดกับสังคมอีกครั้ง

 

การใกล้ชิดกับสังคม คือการใกล้ชิดกับชุมชน และการใกล้ชิดกับผู้คน

 

ระยะทางที่ห่างไกลของหัวใจสองฝั่งจึงหดสั้นลงจนแทบได้ยินเสียงตุ้บตั้บของหัวใจระหว่างกันและกัน

 

พูดให้ง่ายกว่านั้นคือ การที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดได้กลับมาเป็นที่รักของแฟนๆ อีกครั้ง

 

จริงอยู่ที่ความสำเร็จในสนามนั้นสำคัญ โดยเฉพาะกับทีมในระดับนี้ แต่บางครั้งแฟนบอลก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าการเห็นสโมสรที่พวกเขารักนั้นเป็นทีมที่มีหัวใจและทำในสิ่งที่ถูกต้อง

 

ความสุขและความภูมิใจจากการได้เห็นสิ่งดีๆ เหล่านี้นั้นมีค่าไม่แพ้โทรฟีรางวัล ณ ปลายทางของการแข่งขันครับ

 

สิ่งที่เป็นผลพลอยได้ที่มีความหมายมากๆ จากสิ่งนี้คือ สโมสรใดก็ตามที่หลอมหัวใจรวมเป็นหนึ่งเดียวกับแฟนๆ ได้ พวกเขาจะมี ‘พลังพิเศษ’ ที่พร้อมจะผลักดันให้ทีมก้าวไปได้ไกลกว่าเก่า

 

ดังนั้น แม้จะไม่มีอะไรการันตีว่า เมื่อเกมฟุตบอลกลับมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดจะกลับมาทำผลงานกันได้ดีเหมือนก่อนหน้าการล็อกดาวน์

 

แต่อย่างน้อยที่สุด พวกเขาจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากแฟนบอลที่รอคอยวันจะได้กลับมาแสดงพลังในสนามอีกครั้ง

 

และเมื่อถึงวันที่เราเอาชนะโควิด-19 ได้ แฟนบอลได้รับอนุญาตให้กลับมาประจำการที่อัฒจันทร์ ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า เราจะได้เห็นบรรยากาศใน Theatre of Dreams ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

 

เพราะในที่สุด หลังการรอคอยที่ยาวนานและเจ็บปวด พวกเขาได้ ‘ทีมนี้ที่รัก’ กลับคืนมาแล้ว

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • นอกจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยังมีอีกหลายสโมสรที่อุทิศหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือสังคม หนึ่งในทีมที่ทุ่มเทมากคือวัตฟอร์ด ที่เปิดสนามวิคาเรจ โรด ให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ บ็อกซ์ผู้บริหารถูกเปลี่ยนเป็นที่พักของเจ้าหน้าที่ NHS ที่ต้องแยกตัวจากครอบครัว มีการทำความสะอาดเก้าอี้สนาม 10,000 ที่นั่ง ทุกวัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้มานั่งทานอาหารและพักผ่อนบนอัฒจันทร์ โดยแจกอาหารวันละ 1,000 คน
  • โรมาในอิตาลี เป็นอีกหนึ่งสโมสรที่ได้หัวใจของแฟนบอล ความเอาใจใส่ดูแลแฟนบอล โดยเฉพาะกลุ่มแฟนบอลตั๋วปีที่สูงอายุ ด้วยการจัดรถเร็วส่งสิ่งของยังชีพ (และของที่ระลึกของสโมสร เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ) และช่วยเหลือสังคมเต็มที่ ทำให้ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising