×

#ช้างตกงาน การดิ้นรนครั้งใหญ่ของควาญและช้างในภายหลัง ‘ระบบปาง’ ปิดตัวลง

14.10.2021
  • LOADING...
mahout and elephant

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ‘ปางช้าง’ ซึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของการท่องเที่ยวยอดนิยมในไทยหลายๆ แห่งจำต้องปิดตัวลงในช่วงการระบาดของโควิด เนื่องจากไม่มีคนเข้ามาเยี่ยมชม ส่งผลให้ควาญต้องพาช้าง ซึ่งต่างก็อยู่ในสถานะตกงานกลับไปบ้านเกิด ภายใต้สภาวะการเงินกระเบียดกระเสียรของควาญ ซึ่งต้องหาเงินมาเลี้ยงตัวเอง และหาอาหารให้ช้างในปกครองของตนด้วย
  • นำมาสู่การไลฟ์ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้ผู้ที่ผ่านมาเห็นช่วยซื้อผลไม้ให้ช้าง และได้รับความสนใจอย่างมากจนเกิดแฮชแท็ก #ช้างตกงาน และ #วิกฤตช้างไทย ที่กลายเป็นหัวข้อสนทนาที่แตกย่อยออกไปอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอยู่ของช้าง ความชอบธรรมของควาญและการเยียวยาจากรัฐ
  • น.สพ.วรุตม์ วงศ์กาฬสินธุ์ สัตวแพทย์ที่จับตาและใช้ชีวิตอย่างใกล้ชิดกับช้าง ควาญ ตลอดจนระบบปางมาอย่างยาวนาน มองประเด็นเหล่านี้ผ่านเงื่อนไขหลักๆ นั่นคือสวัสดิภาพของช้าง ระบบปางที่จำต้องปิดตัวลง ความสัมพันธ์ระหว่างช้างกับควาญ และบทบาทของรัฐที่ต้องเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วน

ช่วงระยะสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ในโซเชียลมีเดียต่างๆ มักมีภาพหรือวิดีโอคลิปช้างยืนนิ่งๆ อยู่หน้าเลขบัญชีธนาคารของควาญ พร้อมข้อความเชิญชวนให้ผู้ที่ผ่านมาเห็นช่วยกันซื้อผลไม้ไปเป็นอาหารช้างคนละนิดคนละหน่อย

 

ทั้งควาญและช้างเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากธุรกิจการท่องเที่ยวที่ทรุดตัวลงครั้งใหญ่หลังโควิดระบาดมาตั้งแต่ต้นปี 2563

 

mahout and elephant

 

‘ปางช้าง’ ซึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของการท่องเที่ยวยอดนิยมในไทยหลายๆ แห่งจำต้องปิดตัวลงเนื่องจากไม่มีคนเข้ามาเยี่ยมชม ส่งผลให้ควาญต้องพาช้าง ซึ่งต่างก็อยู่ในสถานะตกงานกลับไปบ้านเกิด ภายใต้สภาวะการเงินกระเบียดกระเสียรของควาญซึ่งต้องหาเงินมาเลี้ยงตัวเอง และหาอาหารให้ช้างในปกครองของตนด้วย นำมาสู่การไลฟ์ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้ผู้ที่ผ่านมาเห็นช่วยซื้อผลไม้ให้ช้าง และได้รับความสนใจอย่างมากจนเกิดแฮชแท็ก #ช้างตกงาน และ #วิกฤตช้างไทย ที่กลายเป็นหัวข้อสนทนาที่แตกย่อยออกไปอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอยู่ของช้าง ความชอบธรรมของควาญและการเยียวยาจากรัฐ

 

น.สพ.วรุตม์ วงศ์กาฬสินธุ์ สัตวแพทย์ที่จับตาและใช้ชีวิตอย่างใกล้ชิดกับช้าง ควาญ ตลอดจนระบบปางมาอย่างยาวนาน มองประเด็นเหล่านี้ผ่านเงื่อนไขหลักๆ นั่นคือสวัสดิภาพของช้าง ระบบปางที่จำต้องปิดตัวลง ความสัมพันธ์ระหว่างช้างกับควาญ และบทบาทของรัฐที่ต้องเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วน

 

เพราะไม่ว่าจะอย่างไร เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือการดิ้นรนเฮือกใหญ่ของคนตัวเล็กตัวน้อยกับสมาชิกครอบครัวตัวโตในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากเช่นนี้

 

mahout and elephant

ขอบคุณภาพจาก: www.onceinlife.co

 

จากกรณีโควิดระบาด ซึ่งส่งผลต่อการท่องเที่ยวโดยตรง ทำให้ปางช้างหลายแห่งจำต้องปิดตัว และควาญต้องพาช้างกลับไปยังบ้านเกิดตัวเอง มีทางแก้ไขในระยะสั้นและระยะยาวไหม

เป็นคำถามที่ยากมากนะครับ (คิด) ถ้าถามผมซึ่งตอบเป็นความเห็นส่วนตัว (เน้นเสียง) สิ่งที่จะตอบก็เป็นแผนที่ผมเอามาใช้ในปางช้างที่ดูแล จริงๆ แล้วเวลาเราเจอวิกฤตหรือปัญหา คำถามแรกคือ สาเหตุของปัญหาคืออะไร เราแบ่งกลุ่มที่ทำงานช้างออกเป็นสี่กลุ่มคือ ควาญช้าง เจ้าของปาง หน่วยงานส่วนกลางที่คอยสนับสนุนคือกรมปศุสัตว์กับ ททท. และหน่วยงานราชการต่างๆ 

 

โควิดทำให้ช้างตกงาน ทำให้ปางช้างและเจ้าของขาดรายได้ สาเหตุของปัญหาคือโควิดซึ่งเราแก้ไม่ได้อยู่แล้ว ปัญหาต่อมาคือถ้าเราบอกว่า ช้างตกงานแล้วขาดอาหาร เป็นไปได้ไหมที่ควาญช้าง เจ้าของปาง หรือแม้กระทั่งภาครัฐส่วนกลาง ทำแผนที่จะสร้าง ‘แปลงปลูกพืชอาหารช้าง’ หญ้าคืออาหารหลักของช้าง ดังนั้น 1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี เราวางแผนร่วมกันได้ไหมว่าพื้นที่รกร้างหรือที่ดินที่เราไม่ใช้ ประยุกต์เอาตรงนั้นมาเป็นแหล่งปลูกพืชสำหรับเป็นอาหารช้างไหม เพราะแปลงหญ้ามันสามารถปลูกวนได้ ไม่ใช่ไปถอนนะ ให้ตัดเพราะเมื่อตัดเสร็จมันก็ขึ้นใหม่ 

 

ปัญหาอยู่ที่ปางช้าง ถ้าปางที่มีช้างเยอะๆ จะพบว่าปลูกหญ้าเท่าไรก็ไม่พอ เพราะช้างต้องการอาหาร 10% ต่อน้ำหนักตัว และถ้าชาวบ้านนำช้างกลับไปบ้าน ก็อาจต้องมาคำนวณว่าช้างหนึ่งเชือกต้องใช้พื้นที่กี่ไร่ในการเพาะปลูก อันนี้ลำบากแล้ว แต่ถ้ามาคิดว่า เจ้าของช้างที่เลี้ยงช้างอย่างน้อยสามเชือก เจ้าของควรจะมีพื้นที่สำหรับปลูกหญ้าหรือพืชอาหารช้างกี่ไร่ ถ้าเขาไม่มีจะทำอย่างไร ก็อาจลองคิดว่า ถ้าเจ้าของช้างในชุมชนนั้นเอาช้างมารวมกันแล้วได้ 10 เชือก จะต้องใช้พื้นที่กี่ไร่ เจ้าของช้างปลูกพืชอาหารช้างแล้วผลัดกันไปตัดหญ้ามาให้ช้างได้ไหม 

 

ส่วนเรื่องการขาดแคลนรายได้ของเจ้าของ อันนี้สำคัญมากเลย ผมอยากย้อนไปว่าในสมัยก่อน ถ้าเราเคยเห็นหรือเคยได้ยิน คงจำเรื่องการนำช้างมาเดินเร่ร่อนในตัวเมืองได้ อันนั้นเรียกว่าช้างเร่ร่อน กระบวนการแก้ไขปัญหาตรงนั้นใช้เวลานานมาก ราวๆ 20 ปีได้ 

 

แต่ปัจจุบันปัญหามาจากโควิด เมื่อตกงานควาญก็ไม่เอาช้างมาเร่ร่อนแล้ว อันนี้เป็นเรื่องที่ดีมากๆ โดยควาญก็เลือกพาช้างกลับบ้าน ช้างส่วนหนึ่งก็ขาดแคลนอาหารหลักอย่างหญ้า จึงมีการไลฟ์นำเสนอ ประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปซื้ออาหารให้ช้าง ผมมองว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดนะ ถ้าควาญช้างเขาเลี้ยงช้างอย่างดี ดูแลดี แต่ด้วยความที่เขาขาดแคลนรายได้ และเขาก็หาทางออกโดยการใช้สื่อโซเชียลมาเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาตรงนี้ โดยไม่ขัดต่อหลักกฎหมายและจรรยาบรรณ ดูแลช้างอย่างมีสวัสดิภาพ แล้วคนที่มีความพร้อมจะช่วยเหลือช้างด้วยการซื้ออาหารให้ช้าง ร่วมโอนเงินต่างๆ ผมถือว่าเป็นความพร้อมของคนที่ซื้อ ถ้าเขาซื้อก็แสดงว่าเขาพร้อมจะช่วย และร่วมยินดีครับ

 

คือมันไม่ได้ไปขัดหลักสวัสดิภาพ จรรยาบรรณของช้าง ถ้าเขาเอาช้างไปทุบตี บังคับ หรือดูแลช้างไม่ดี อันนั้นคือสิ่งที่ขัดหลักสวัสดิภาพ

 

หลักสวัสดิภาพของช้างมีอะไรบ้าง 

ไม่ต่างจากหลักสวัสดิภาพของสัตว์อื่นๆ เลย เราเรียกกันว่า 5F หรือ Five Freedom แบ่งออกเป็น การเป็นอิสระจากความหิวกระหาย, จากความหวาดกลัว, ความทุกข์ทรมาน, ความเศร้า กังวลทางจิตใจ, ความเจ็บปวดและโรคภัย คือเมื่อเจ็บป่วยก็มีการรักษาดูแล เป็นหลักพื้นฐานของสวัสดิภาพสัตว์

 

อย่างเรื่องการสร้างความหวาดกลัวของช้าง คือต้องมองว่ามันเป็นการกระทำที่ไปทำให้เขาเกิดภาวะหวาดกลัวตลอดเวลา (เน้นเสียง) ไหม หรือล่ามโซ่เขาตลอดเวลาหรือเปล่า ทั้งนี้ การล่ามโซ่หรือการถือมีดถือขอก็ไม่ใช่ความหวาดกลัวเหมือนกัน เราต้องแยกให้ออกว่า ณ เวลานั้นเรากำลังกระทำอะไรกับช้าง เรากำลังสอนเขา ดูแลเขา เช่น เวลาผมไปรักษาช้าง ควาญก็ต้องมีขอและล่ามโซ่ช้างไว้ เพราะถ้าหมอไปฉีดยาแล้วช้างยืนแกว่งงวง แกว่งขาก็เตะหมอได้ (ยิ้ม) 

 

mahout and elephant

 

ควาญช้างที่พาช้างกลับไปบ้านตัวเอง จะยังสร้างหรือมอบสวัสดิภาพแก่ช้างของตัวเองได้ไหม

จริงๆ ผมว่าได้นะ พอเรากลับไปบ้าน ข้อจำกัดในการทำงานและการใช้แรงงานมันลดลง ที่แน่ๆ คือสิ่งแวดล้อม สภาพจิตใจของช้างซึ่งเมื่อได้กลับบ้าน ไปอยู่กับธรรมชาติที่บ้านเขา โดยลักษณะของช้างเลี้ยงแล้วเมื่อไปอยู่ในพื้นที่แบบนั้น ผ่อนคลายได้มากขึ้น มันจะเป็นสวัสดิภาพให้เขาอยู่แล้ว

 

สำหรับปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร ถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องแหล่งอาหารได้ สมมติว่าชาวบ้านเลี้ยงช้างที่หมู่บ้าน ก. เรารู้แล้วว่าหมู่บ้านนี้มีช้างเลี้ยงอยู่ 10 เชือก ขาดแคลนอาหารหลักที่เป็นหญ้าหรืออาหารอื่นๆ เช่น กล้วย ส่วนหมู่บ้านอื่นๆ เช่น หมู่บ้าน ข. กับหมู่บ้าน ค. เขาอาจไม่ได้เลี้ยงช้าง แต่เขามีแหล่งเพาะปลูก มีหญ้า เขาอาจจะบริจาคให้ควาญ ซึ่งต้องมาตัดหญ้าไปเองได้ไหม หรือควาญอาจจะขอซื้อในราคาที่ถูกหน่อยได้ไหม หรือคนที่อยากบริจาค ก็อาจจะบริจาคเงินด้วยการซื้ออาหารจากหมู่บ้าน ข. กับ ค. มาให้ช้างที่หมู่บ้าน ก. ไปก่อน แต่ทั้งนี้ หมู่บ้าน ก. ที่เลี้ยงช้างก็ต้องมีแผนที่จะปลูกหญ้าเองด้วยเพราะคงซื้อตลอดเวลาไม่ได้

 

อันที่จริงสิ่งเหล่านี้มันแก้คนเดียวไม่ได้ มันอาจต้องใช้เวลาและกระบวนการหลายปีมากๆ แต่สุดท้ายถ้าภาครัฐเข้ามาช่วยเรื่องพื้นที่ มีการศึกษาวิจัยเรื่องพืชอาหารช้างแล้วปลูกเพื่อรองรับจำนวนช้างในพื้นที่แต่ละพื้นที่ มันก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ เพราะอาหารนี่ไม่ใช่ว่าปลูกแล้วเอามาให้ช้างกินได้เลยนะ มันต้องปลอดสารพิษ ปลอดสารเคมี เพราะมันส่งผลต่อระบบการหมักย่อยของช้าง คือเขาเป็นสัตว์กระเพาะเดี่ยว หมักที่ลำไส้ใหญ่ส่วนท้าย ไม่เหมือนวัว ถ้าช้างกินอาหารที่มีสารเคมีหรือสารพิษเข้าไป ท้องผูกอีก มันส่งผลเยอะมาก ดังนั้นอาหารจึงต้องได้คุณภาพด้วย

 

ที่ผ่านมาผมว่าเรามองว่าการเอาช้างมาเป็นหลักในการท่องเที่ยว แต่หลังจากยุคโควิด ส่วนตัวผมคิดว่าเราเอาช้างมาเป็นส่วนเสริมได้ไหม เช่น ตั้งธงเรื่องการท่องเที่ยวของชุมชนไหม ยกตัวอย่างหมู่บ้าน ก. ที่มีวัฒนธรรมที่น่าสนใจเป็นเอกลักษณ์ อาหารเป็นเอกลักษณ์ จุดท่องเที่ยวเป็นเอกลักษณ์ เช่น น้ำตก ทิวเขาสักอย่างหนึ่ง แล้วเอาช้างไปเป็นส่วนประกอบ คือถ้าคุณมาเที่ยวน้ำตกนี้ แวะข้างๆ กันก็อาจถ่ายรูปกับช้างได้นะ มาให้อาหารช้างได้นะ คือได้เที่ยวแล้วก็ได้ถ่ายรูป ได้ช่วยช้าง 

 

mahout and elephant

ขอบคุณภาพจาก: www.onceinlife.co

 

สิ่งที่น่าสนใจคือพอมันเกิดการเอาช้างมาใช้ในการท่องเที่ยว หรือในกรณีนี้คือเอาช้างมาไลฟ์เพื่อหาค่าอาหารให้ช้าง ควาญถูกมองว่าเอาช้างมาหากิน ซึ่งจริงๆ ความสัมพันธ์ของควาญกับช้างมันผิวเผินหรือลึกซึ้งอย่างไรบ้าง

การเป็นควาญมันคือการที่คุณต้องตื่นตีห้าเพื่อมาดูแลช้าง ยิ่งกว่าลูกอีก ตื่นแต่เช้า พาไปกินอาหาร เขาหิวขึ้นมาเมื่อไรก็ไปแบกหญ้าแบกอาหารมาป้อนเขา 4-5 ครั้งต่อวัน เสร็จแล้วอาบน้ำให้ ช้างขี้มาก็ตามไปเก็บ ตกเย็นมาพาไปอาบน้ำให้อีกครั้งแล้วพาไปผูก อยู่กับเขาทั้งวัน ทำอยู่แบบนี้สักปีหนึ่ง รู้เรื่องเลย

 

ตอนผมเป็นนักเรียน ฝึกงานที่ศูนย์ช้างลำปาง ผมอยู่ที่นั่นแล้วทำแบบนี้อยู่เดือนหนึ่ง แค่เดือนเดียวเรายังรู้สึกเลยว่าเราต้องเข้าใจช้างมากๆ ผูกพันมากๆ มันคือการที่เราตื่นเช้ามาแล้วไม่สนใจอะไรเลย ไปเอาช้างก่อน อยู่กับเขาทั้งวัน เย็นก็ไปส่งช้าง ควาญก็เหมือนกัน ดังนั้นผมจึงรู้สึกว่าควาญช้าง 80-90% สัมพันธ์กับช้างในระดับจิตวิญญาณเลย ผมใช้คำนั้น มันไม่ใช่แค่ความผูกพันนะ

 

การที่คนจะเลี้ยงช้างแล้วอยู่กับช้างได้ เขาจะต้องมีจิตวิญญาณหรือความผูกพันกับช้างในระดับหนึ่งเลย เพราะมันคือการที่ต้องใช้ชีวิตด้วยการตื่นเช้ามาแล้วฉันจะอยู่กับเธอทั้งวัน ฉะนั้น ควาญที่อยู่กับช้างมาได้นาน ผมยืนยันว่ามันมีความผูกพันกันอยู่แล้ว ต่อให้เป็นคนที่เมาเหล้าอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าเขาอยู่กับช้างที่เขาเลี้ยง เขาเลี้ยงได้ดีมากนะครับ หลายคนที่ผมเจอ ตอนกลางวันก็กินเหล้าเก่ง แต่เขาตื่นเช้าเพื่อมาดูช้างของเขาทุกวัน ช้างเขาอ้วน ผิวสวย มันบ่งบอกได้หมดเลย

 

ตัวช้างเองจำควาญของตัวเองได้ แล้วช้างนี่ความจำดีมาก ถ้าเราเคยให้อาหารเขา แม้จะเจอเพียงครั้งเดียว เขาก็จำเราได้นะ ทางวิทยาศาสตร์เขาจำกลิ่นฮอร์โมนได้ และสามารถจำแนกได้ว่าคนนี้คือควาญ คนนี้คือหมอ คือหมอจะมีกลิ่นแอลกอฮอล์ติดตัวมาอยู่แล้วเพราะจะมาฉีดยา หรือถ้าได้ยินเสียงผมเขาก็จะรู้แล้วว่าเป็นเสียงหมอ จนถ้าจะเข้าไปหาช้างมันก็ต้องใช้แท็กติก คือถ้าเป็นช้างที่ไม่เอาเราเลย ผมก็จะยืมผ้าขาวม้า เสื้อควาญมาห่มตัวให้เป็นกลิ่นควาญ

 

ผมว่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างควาญกับช้างนี่นั่งคุยกันเป็นสิบวันก็ไม่หมด

 

ที่ผ่านมามีการพยายามเสนอให้คืนช้างสู่ธรรมชาติเหมือนกัน มองประเด็นนี้อย่างไรบ้าง

โครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติเป็นโครงการนำช้างเลี้ยงกลับคืนไปสู่ป่า มีการศึกษาที่จังหวัดลำปางซึ่งมันก็ได้ผลนะ เพียงแค่ไม่เห็นผลในช้างเจเนอเรชันที่ 1 และ 2 เนื่องจากมันต้องใช้เวลานานพอสมควร คือเขาเป็นช้างเลี้ยง เขาถูกเลี้ยงมา การกิน การใช้ชีวิตหรือทัศนคติของช้างต่อสิ่งแวดล้อมเองก็ตาม เขายังผูกพัน ยังมีปฏิสัมพันธ์กับคนอยู่ และความเป็นช้างเลี้ยง พอเขาเจอไร่สับปะรด ไร่มัน อะไรที่เขากินได้ก็ไปเหมาสวนคนเขา แต่พอเป็นเจเนอเรชันรุ่นลูก รุ่นหลานที่เกิดและโตในป่า เมื่อไม่เจอคนตั้งแต่แรกเขาก็จะเดินหนีคน

 

แต่เราลองมาคำนวณปีกัน ช้างตั้งท้องสองปี กว่าจะมีลูก เจเนอเรชันรุนแรกที่เราเอาไปปล่อย กว่าจะผสม ผสมเสร็จก็ตั้งท้องอีกสองปี ตัวแม่ก็ต้องเลี้ยงลูกที่กว่าจะหย่านมไปอีกสี่ปี รวมก็หกปีแล้ว ทีนี้กว่าช้างรุ่นลูกจะ Puberty พร้อมผสมพันธุ์ แยกออกจากโขลงได้ ก็ต้อง 12-15 ปีไปแล้วถึงจะหวังผลตรงนั้นได้ คือถ้าเราจะหวังผลให้เป็นช้างป่าโดยที่ลูกหรือหลานช้างเกิดมาแล้วเดินหนีคนก็ต้องใช้เวลา ต้องรอที่รุ่นนั้น

 

ในอีกด้านหนึ่ง พื้นที่ป่ามันพอให้ช้างไปอยู่ไหม

ที่เราคุยกันมาก็มีเรื่องพฤติกรรมของช้างที่เป็นเรื่องสังคมช้างก่อน และต่อมาคือเรื่อง Biology การตั้งท้อง การผสมพันธุ์ และสามคือเรื่องนี้แหละ มันคือเรื่องพื้นที่การหากินของช้างต่อหนึ่งโขลง หรืออาจจะหนึ่งเชือก มันต้องคิดครอบคลุม สมมติเราเอาช้างไปเลี้ยงในโขลงนี้ 10 ตัว เราก็ต้องคำนวณว่าต้องใช้พื้นที่กี่ไร่ แล้วถ้ามี 10 โขลง ก็เพิ่มเป็น 10 เท่า คือพื้นที่ป่าอาจจะพอ แต่ Pathway เส้นทางการเดินหากินของช้างมันคือ Ecology ครับ 

 

Ecology คือนิเวศของป่า เราต้องดูว่าเมื่อเราเอาช้างเข้าไปอยู่ Ecology มันเป็น Positive หรือ Negative เช่น ต้องศึกษาว่าเอาช้างไปปล่อยมันจะส่งผลต่อ Ecology ทั้งระบบไหม เราอาจจะมองว่า ดีแล้วนี่ ช้างไปกินพืช แต่ความจริงผมมองในฐานะสัตวแพทย์คือ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยเพราะเชื้อโรค 

 

นี่คืออีกหนึ่งปัจจัย มันคือเรื่องของการนำโรคจากสัตว์เลี้ยงไปสู่สัตว์ป่า นี่เรื่องสำคัญมาก เพราะสัตว์เขาจะมีโรคประจำตัวของเขา หลักๆ เลยคือพยาธิ เขาอยู่กับเราเราก็ถ่ายพยาธิให้เสมอ ดูแลต่างๆ แต่ถ้าวันหนึ่งเราเอาพวกเขาไปปล่อยในป่า Ecology ที่จะกระทบอย่างแรกคือสัตว์กลุ่มเดียวกันที่จะติดโรคจากช้างได้ เช่น กลุ่มวัวกระทิง วัวแดง วัวป่า ควายป่า เราไม่รู้ว่าช้างจะเป็นพาหะนำความผิดปกติเหล่านี้ไปสู่สัตว์ในป่าไหม 

 

แล้วตอนนี้ สิ่งสำคัญคือโรคเฮอร์ปีไวรัสในช้าง (EEHV) มันทำให้ลูกช้างที่อายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตทันทีทันใดภายใน 5-7 วัน แล้วถ้าเราปล่อยช้างเหล่านี้ไปเขาใหญ่ ลูกช้างที่เกิดมาเป็นพาหะของโรค แจ็กพอตขึ้นมา ช้างป่าจะทำอย่างไร 

 

มันไม่ใช่เราคิดแล้วจะทำได้เลย แต่มันต้องมีแผนเป็นระยะรายปีด้วย และคำนึงว่า กระบวนการตอนนั้น เทคโนโลยีตอนนั้นจะสามารถตรวจวินิจฉัยลูกช้างหรือสัตว์ที่เราจะปล่อยเข้าป่าว่าปลอดโรคหรือเปล่าได้ไหม นอกจากนี้มันยังต้องคำนึงเรื่อง DNA โรคทางพันธุกรรมที่ตรวจไม่เจอด้วย 

 

ดังนั้นผลกระทบมันจึงเยอะมาก ตัวช้างเองก็ต้องใช้เวลาในการปรับพฤติกรรม สังคม เรื่องการสืบพันธุ์ เรื่องพื้นที่อาหาร เรื่องโรคภัย และสุดท้ายคือเรื่องการเป็นพาหะนำโรคหรือความผิดปกติต่างๆ ด้วย

 

mahout and elephant

 

หากวันหนึ่งโควิดสิ้นสุดลง ปางช้างกลับมาเปิดอีกครั้ง ทิศทางของปางช้างจะเป็นอย่างไร

เราอาจเคยได้ยินคำว่า ที่ผ่านมาช่วง 2-3 ปี กลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปหรืออเมริกา เขาค่อนข้างต่อต้านการโชว์ช้างหรือใช้ช้างแบบที่เราเคยทำ เช่น ใช้โซ่ต่างๆ ก่อนโควิดปางช้างสมัยใหม่จึงมีการปรับตัวว่า สิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการคืออะไร เพราะมันก็คืออุปสงค์-อุปทานว่านักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวกับเราเขาไม่อยากให้เราทำอะไร นักท่องเที่ยวเขาบอกผมว่าเขาไม่อยากให้มีการใช้มีด โซ่หรือขอ ผมเป็นหมอก็บอกว่าไม่ได้ครับ มันคือความปลอดภัย มันคือการเรียนรู้และการดูแลที่เราต้องใช้ แต่ถ้าคุณต้องการในลักษณะ Free Time ผมก็มีให้ช้าง แต่ไม่ใช่ 24 ชั่วโมง

 

คือที่ผ่านมา ผมเคยกำหนดเวลา Free Time ของช้าง ฝึกให้ช้างอยู่กันเป็นกลุ่ม 4-10 เชือก โดยปล่อยเขาไปอยู่ในพื้นที่เดียวกัน คล้ายๆ สร้างเป็นโขลงขึ้นมา แล้วเราก็นั่งดูห่างๆ โดยที่ไม่ต้องไปล่ามโซ่เขา

 

ช่วงแรกๆ ที่ฝึก Free Time แบบนี้ก็มีปัญหาเหมือนกัน คือครั้งแรก ปางช้างแต่ละปางเขาจะเลี้ยงช้างแบบ Individual คือเลี้ยงรายตัว ผูกโซ่ล่ามไว้ ถึงเวลาก็ไปทำงาน เสร็จแล้วก็พาช้างกลับเข้าซอง ทำให้ช้างมีพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละเชือก ซึ่งผมมองว่า มันน่าลองมาศึกษาว่าถ้าเรามีช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่เราไม่ล่ามโซ่เขา ในแต่ละวันขอสักสองชั่วโมง ปล่อยช้างเหล่านั้นออกมาอยู่รวมกันในแปลงหญ้า ควาญแค่เอาอาหารไปวางจุดนั้นจุดนี้ ภาษาหมอเขาเรียกว่าการทำ Enlistment วันพรุ่งนี้ก็ขออีกสองชั่วโมง วางหญ้าวางอาหารไว้อีกจุด ย้ายจุดวางเพื่อให้ช้างได้ออกเดิน แต่ก็ต้องค่อยๆ ทำไป ช้างแต่ละเชือกจะค่อยๆ มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน จนวันหนึ่งเมื่อ 3-4 เดือนผ่านไป ช้างเขาก็รวมกลุ่มกันเป็นโขลง มีปฏิสัมพันธ์กัน เชือกไหนที่ไม่เอาใครเลย ฉันรักสันโดษนะ ก็จะอยู่ของเขาเชือกเดียว เวลากินอาหารก็มารวมกับเพื่อน แต่พอถึงเวลาก็เดินออกห่างไปเอง แต่อีก 5-6 เชือกที่เขามีปฏิสัมพันธ์กัน เขาก็จะรวมกลุ่มกัน

 

จน ณ วันหนึ่งสักเดือนที่ห้า จากการที่ผมไปเฝ้าสังเกตและตั้งกล้อง คือหมอเนี่ยเป็นคนแปลกหน้านะครับ เพราะเราไม่ใช่ควาญ ก็มีช้างเชือกหนึ่งที่หันหน้ามาหาเรา ที่เหลือก็ไปยืนรวมกลุ่ม อันนี้แหละเป็นพฤติกรรมปกติของช้างที่อยู่ในธรรมชาติ นั่นคือเขามีจ่าฝูงหรือ ‘แม่แปรก’ เราศึกษามาเราสังเกตเห็นแล้วว่า ถ้าเราปล่อยเขาให้มี Free Time สักช่วงใดช่วงหนึ่ง แล้วให้เขารวมกลุ่มกัน ก็จะเกิดสังคมช้างขึ้น

 

แต่เมื่อถึงเวลา หมดช่วง Free Time เขาก็จะเรียนรู้ว่าจะมีควาญช้างมาหา พาเขาไปล่ามในซอง เพราะตอนกลางคืนเราปล่อยเขาไว้ไม่ได้ ไม่งั้นจะไปเดินเข้าบ้านชาวบ้านหมด ดังนั้นมันจึงเป็นกลไกเช่นนี้ ที่จะมีการฝึกฝน การให้เขาได้เรียนรู้อยู่ เช่น เวลาหมอทำงานรักษาคุณ คุณต้องถูกล่ามโซ่ก่อนนะ ยืนตรงๆ นะ ฟังคำสั่งจากควาญนะ แต่เวลาที่เราปล่อยคุณ 2-4 ชั่วโมงต่อวัน คุณก็เดินไปในทุ่งตรงนี้ได้เลยนะ แล้วมันมีผลต่อสุขภาพกายและใจช้างโดยตรง ซึ่งนี่แหละคือสวัสดิภาพของช้างที่ปางช้างสมัยใหม่กำลังทำ

 

เราต้องคุยกับนักท่องเที่ยวว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนเลี้ยง นักท่องเที่ยว และช้าง มันต้องสมดุลกัน จะเอาน้ำหนักเทไปที่สวัสดิภาพของช้างที่จะต้องอยู่ดีกินดีแล้วไม่ถูกล่ามก็ไม่ได้ เพราะเขาเป็นช้างเลี้ยง เขาต้องอยู่กับคน และช้างต้องเจอนักท่องเที่ยว มันจึงต้องมีสมดุลด้วย คือเราก็ต้องนึกถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว และสวัสดิภาพของช้างด้วย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising