×

25 ปีเต็มกับภารกิจผลิตก๊าซฯ กลางอ่าวไทยที่ไม่มีการหยุดพัก ฟังความในใจจากคนบน ‘แท่นบงกช’ กว่าจะได้มาซึ่งพลังงานแบบ Made in Bongkot [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
28.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • แหล่งบงกช คือแหล่งพลังงานสำคัญที่ตั้งอยู่ในอ่าวไทย บริหารและดำเนินการโดยทีมงานคนไทยและเพื่อคนไทยอย่างแท้จริง
  • ชวนชมมิวสิกวิดีโอ แรป’เป-ร่า ครั้งแรกของไทยในเพลง Made in Bongkot ผลงานการร่วมมือกันครั้งแรกของ เจ-เจตมนต์ มละโยธา นักแต่งเพลงชื่อดัง และสันติ ลุนเผ่ นักร้องเพลงปลุกใจเสียงโอเปราที่เข้ากันได้อย่างลงตัว
  • THE STANDARD ได้มีโอกาสบุกถึงถิ่นแหล่งบงกช พูดคุยกับ 3 ชาวแท่นผู้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนและนำเอาองค์ความรู้มาสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย

ขอต้อนรับสู่อ่าวไทย ท้องทะเลผืนกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาที่เชื่อมโยงเอาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติส่งต่อถึงทุกคน

 

เราอาจไม่รู้ว่าส่วนหนึ่งของพลังงานที่คนไทยได้ใช้อย่างต่อเนื่องแบบไม่มีวันหยุดตลอด 24 ชั่วโมงและตลอด 25 ปีที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นจาก ‘แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช’ หรือแหล่งบงกช ที่ดำเนินการโดยบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่เราคุ้นชื่อกันมายาวนาน

 

วันนี้ THE STANDARD ได้รับโอกาสสุดพิเศษจาก ‘แหล่งบงกช’ ให้ไปลงพื้นที่เยี่ยมชมและพูดคุยกับเหล่าผู้คนมากมาย ผู้ที่มีหน้าที่เปรียบดังฟันเฟืองสุดสำคัญที่ต้องทำหน้าที่สอดประสานกันเพื่อให้ได้มาซึ่งพลังงานแบบ ‘Made in Bongkot

 

แต่ก่อนที่จะขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปแท่นบงกช เราขอเชิญและชวนคุณดูมิวสิกวิดีโอสุดแนวที่นำเอาวิธีการแรปที่ฮิตติดลมบนกันทั่วบ้านทั่วเมืองมาผสานเข้ากับการร้องแบบโอเปรา หรือที่เรียกเก๋ๆ ว่า ‘แรป’เป-ร่า’ นี้เสียก่อน ถือเป็นการเริ่มต้นก่อนที่เราจะไปพูดคุยกับชาวบงกชกันต่อไป

 

 

 

พกพาความรู้กลับบ้าน สู่การพัฒนาแหล่งพลังงานกลางอ่าวไทยด้วยฝีมือคนไทย

ในยุคบุกเบิก แหล่งบงกชดำเนินการโดย ‘โททาล’ บริษัทน้ำมันชั้นนำของโลกจากฝรั่งเศส ระหว่างนั้นทีม ปตท.สผ. คนไทยถูกส่งไปเรียนรู้งานด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามแหล่งต่างๆ ของโททาลทั่วโลก เพื่อนำเอาองค์ความรู้ต่างๆ ตั้งแต่เทคนิคทางวิศวกรรม การออกแบบโครงสร้าง การสำรวจ หรือแม้แต่การเงินการบัญชี ทรัพยากรบุคคล เพื่อนำกลับมาพัฒนาแหล่งบงกช

 

“เมื่อก่อนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นวิทยาการที่ค่อนข้างใหม่ เรายังไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ จึงต้องส่งคนไปเรียนรู้กับฝรั่ง เพื่อว่าวันหนึ่งคนไทยจะได้ทำงานแทนที่พนักงานต่างชาติเหล่านั้นได้”

 

วุฒิพล ท้วมภูมิงาม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานโครงการผลิต ปตท.สผ. บอกกับเราว่าการเรียนรู้งานกับฝรั่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ความแตกต่างทางวัฒนธรรมคืออุปสรรคใหญ่และเป็นประสบการณ์ที่เขาไม่เคยลืม

 

“ปี 2532 ผมได้รับโทรศัพท์จากหัวหน้าให้ไปเรียนรู้งานที่ต่างประเทศเพื่อกลับมาทำงานในโครงการบงกช ตอนนั้นก็รู้สึกภูมิใจ เพราะว่ามีวิศวกรไทยที่ได้รับเลือกอยู่แค่ 2 คน ผมเป็นหนึ่งในนั้น หลังจากนั้นก็มีเวลาเตรียมตัวเพียง 2 สัปดาห์ก่อนจะบินไปฝรั่งเศส ช่วงนั้นผมรับผิดชอบเรื่องของการออกแบบอุปกรณ์การผลิต หลังจากนั้นก็ย้ายไปเรียนงานต่อที่สิงคโปร์ โดยดูเรื่องของรายละเอียดต่างๆ บนแท่น รวมๆ แล้ว 2 ประเทศ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี งานด้านออกแบบก็จบ พร้อมสำหรับการสร้างแท่นและเริ่มปฏิบัติการในแหล่งบงกช”

 

นับจากวันแรกที่แหล่งบงกชเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในปี 2536 ทีมงาน ปตท.สผ. ต้องเร่งเรียนรู้โนว์ฮาวจากโททาล ก่อนจะรับโอนการเป็นผู้ดำเนินการ (Operatorship Transfer) ในอีก 5 ปีต่อมาให้ได้ วุฒิพลเล่าว่าในช่วงแรกผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตกกว่า 80% วัฒนธรรมการสอนและให้ความรู้ส่วนใหญ่ พวกเขาเลือกที่จะให้เราเรียนรู้งานด้วยตัวเองผ่านการสังเกตและจดจำ

 

“เวลาฝรั่งสั่งงาน เขาสั่งเลย ไม่มีมาอธิบายว่าต้องทำอย่างไร ข้อเสียคือมันอาจเสียเวลาหน่อยกว่าจะจับได้ถูกทาง แต่ข้อดีก็คือเราก็ได้เรียนรู้งานด้วยตนเอง เพราะเรามีเป้าหมายชัดเจนว่าอีก 5 ปีเราต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง ต้องพยายามทำให้ได้ มันมีทั้งความทั้งผิดหวัง เสียใจ แล้วก็สมหวังผสมกันตลอด 5 ปีนั้น และในที่สุดเราก็ทำได้” การถ่ายโอนสิทธิการเป็นผู้ดำเนินการ (Operatorship Transfer) ของแหล่งบงกชจากโททาลเป็น ปตท.สผ. ที่สำเร็จลุล่วงด้วยดีในปี 2541 จึงเป็นบทพิสูจน์ว่าคนไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ดำเนินงานด้านสำรวจและผลิตในฐานะผู้ดำเนินการแหล่งก๊าซธรรมชาติได้ด้วยตนเอง

 

วุฒิพล ท้วมภูมิงาม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานโครงการผลิต ปตท.สผ.

 

ประทีป มหาสวัสดิ์ ผู้จัดการแท่นผลิตบงกชเหนือ ปตท.สผ.

 

 

ส่งต่อความรู้จากผู้เรียนรู้กลายเป็นครูให้รุ่นต่อๆ ไป

จากจุดเริ่มต้นที่เรียนรู้จากโททาล เมื่อได้มาเป็นผู้ดำเนินการเอง เราได้มีการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ซึ่งตลอด 25 ปี แหล่งบงกชทำหน้าที่เป็นสถาบันแห่งการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทย และผลิต ‘นักเรียน’ ไปแล้วหลายรุ่น ผสมผสานความรู้จากคนต่างยุคสมัยเข้าด้วยกัน ดังนั้นนอกจากจะเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้แล้ว ที่แห่งนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการ ‘ส่งต่อ’ องค์ความรู้อีกด้วย

 

“กว่าจะได้เริ่มงานที่แท่นบงกช ผมต้องไปอบรมที่อาบูดาบีอยู่ 13 เดือน เรียนรู้กับอุปกรณ์จริง ลงมือปฏิบัติจริง หัวหน้าเราเป็นชาวต่างชาติหมดเลย มีปัญหาและอุปสรรคบ้าง แต่เราก็กัดฟันสู้ เพราะเรารู้ว่าเราจะได้กลับบ้าน กลับไปทำงานให้ชาติ”

 

ประทีป มหาสวัสดิ์ ผู้จัดการแท่นผลิตบงกชเหนือ ปตท.สผ. ผู้ใช้เวลา 21 วันไปกับการทำงานเพื่อบริหารจัดการแท่นบงกชให้สามารถเดินหน้าผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่อง กับอีก 21 วันที่เขาจะได้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวที่เขารัก ในวันนี้ที่คนรุ่นก่อนได้เติบโตก้าวสู่ระดับผู้บริหาร พร้อมๆ กับการเข้ามาแทนที่ด้วยคนรุ่นใหม่ๆ คนที่เคยเป็นผู้เรียนรู้ในอดีต วันนี้จึงกลายเป็นผู้ที่สอนงานให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป

 

“การรับมือกับเด็กรุ่นใหม่ๆ ตอนแรกก็ยาก อย่างเวลาเราสั่งงาน น้องๆ ก็จะมีคำถามว่าทำไปทำไม แต่พอเราจับทางถูก เราก็เข้าใจว่าการที่เขาถามอย่างนี้เป็นเพราะตัวเขาเองจะได้ลองคิดหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพหรือผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม เป็นการเรียนรู้ไปด้วยกัน”

 

และที่ยากกว่าทำงานกับคนรุ่นใหม่คือการบริหารจัดการคนเป็นร้อยบนแท่นบงกชให้ทุกการทำงานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประทีปบอกกับเราว่าแม้มันจะเป็นงานหนัก แต่ก็เป็นงานที่สนุก

 

“เราอยู่กันแบบพี่น้อง ไม่แบ่งแยกกัน แม้ว่าจะทำงานยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรามีเครื่องไม้เครื่องมือมากขึ้น แต่ว่ามีคนเท่าเดิม เราต้องบริหารคนอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยสูงสุด คือให้โอกาสเขาลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง แต่จะคอยดูแลความปลอดภัยอยู่ห่างๆ เป็นที่พึ่งเวลาทุกคนเจอปัญหา สิ่งหนึ่งที่ผมสอนทุกคนก็คือต้องเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น”

 

 

ไม่ใช่แค่ที่ทำงาน แต่ที่นี่คือบ้านหลังที่สอง

เราได้พบกับ กนกพร สินธวารยัน วิศวกรกระบวนการผลิต ฝ่ายวิศวกรรมอุปกรณ์การผลิต ปตท.สผ. สาวแกร่งแต่หน้าหวาน ผู้เคยปฏิบัติงานอย่างแข็งขันบนแท่นบงกชที่บอกเล่าถึงการปรับตัวในสถานที่ที่เธอนิยามว่า ‘บ้านหลังที่สอง’ หลังนี้

 

“แรกๆ ไม่รู้จักใครเลย ผู้ชายแต่ละคนก็น่ากลัวกันทั้งนั้น (หัวเราะ) ช่วงแรกก็เหมือนทำความรู้จัก เรียนรู้กัน พูดคุยกัน สักประมาณ 3 เดือนถึงค่อยปรับตัวเข้าหากัน”

 

เราสงสัยว่าการใช้ชีวิตในบ้านที่เต็มไปด้วยผู้ชายนั้น สาวๆ จะปรับตัวกันได้อย่างไรบ้าง กนกพรก็ยิ้มร่าบ่งบอกได้ถึงความสบายใจ และเล่าถึงชีวิตที่ก็เหมือนกับอยู่บ้านแบบคนทั่วไป

 

“ก็จะมีเกิร์ลแก๊งที่นอนห้องเดียวกัน รอบการทำงานแต่ละรอบจะมีผู้หญิงสัก 2-3 คน ก็จับกลุ่มกินข้าวบ้าง ทำกิจกรรมบ้าง เข้าฟิตเนส ไปวิ่ง มีร้องเพลง เล่นดนตรี แต่ก็ยังไม่ถึงกับลงไปเตะบอลกับพี่ๆ เขา”

 

อีกเรื่องที่เราสงสัยก็คือการทำงานของผู้หญิงนั้นยากง่ายกว่าปกติอย่างไร การเป็นส่วนน้อยจะทำให้การออกความคิดเห็นและการตัดสินใจมีผลน้อยลงหรือไม่อย่างไร

 

“พี่ๆ เขาค่อนข้างให้ความใส่ใจดี แต่ที่สำคัญกว่าคือการเปิดใจและรับฟังความคิดเห็นของเรา บางทีเราเห็นในสิ่งที่เขาไม่เห็น เราก็เสนอไอเดียได้ ถ้าสามารถพิสูจน์ว่าไอเดียนั้นทำได้จริงและเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลของการทำงานด้วยแล้ว พี่ๆ เขาก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เรารู้สึกว่าเขาเห็นคุณค่าของพลังเล็กๆ อย่างเรา การที่เรามีการส่งต่อองค์ความรู้ มันไม่ใช่แค่เรียนรู้มา แต่มันต่อยอดไปได้เรื่อยๆ จุดนี้เป็นจุดที่รู้สึกว่าการทำงานกลายเป็นเรื่องสนุกสำหรับคนรุ่นใหม่”

 

แล้วการทำงานตลอดเวลานั้นทำให้เธอได้มองเห็นและเรียนรู้อะไรจากแท่นบงกชนี้บ้าง

 

“อย่างแรกคือการได้เห็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เราได้เห็นฉลามวาฬมาว่ายน้ำรอบแท่นหลายครั้ง ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องเข้มงวดกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ อย่างที่สองคือเรื่องความรักครอบครัว หลังจากที่ทุกคนทำงานกันอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ เมื่อถึงเวลาพัก เราจะเห็นภาพคุณพ่อเฟซไทม์กับลูก ได้เห็นด้านอ่อนโยนที่ปกติตอนทำงานไม่เห็น ซึ่งถ้าเป็นการทำงานในออฟฟิศ ถ้าเลิกงานก็แยกย้ายกันกลับบ้าน คงไม่เห็นด้านอ่อนโยนแบบนี้”

 

 

ภารกิจของพวกเขาทั้ง 3 คนในวันนี้คือการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่แค่ให้คนไทยมีพลังงานจากปิโตรเลียมใช้ แต่ต้องมีองค์ความรู้ในการแสวงหาพลังงานที่เป็นของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย อย่างแท้จริง…

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI

รู้จักแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช

แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติสำคัญที่ตั้งอยู่ในอ่าวไทย โดยมี ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทคนไทยเป็นผู้ดำเนินการ โดยครบรอบการผลิต 25 ปีในปี 2561 ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถของคนไทยในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้อย่างมีประสิทธิภาพทัดเทียมบริษัทน้ำมันนานาชาติ

 

ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทย ช่วยทดแทนการนำเข้าและลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ โดยก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งบงกชคิดเป็น 30% ของก๊าซฯ ที่ผลิตได้ภายในประเทศ นอกจากนี้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชยังช่วยผลักดันอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยและเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญของปิโตรเคมี รวมถึงก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนและอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศอีกด้วย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising