×

แก้มาตรา 112 ไปต่ออย่างไร เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเซ็ตบรรทัดฐานใหม่

08.08.2024
  • LOADING...
มาตรา 112

ตามที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนสุดท้ายแถลงไว้ภายหลังรับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกลว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวมีความ ‘สุ่มเสี่ยง’ สร้างผลกระทบระยะยาวให้ระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ‘กลายพันธุ์’ ไปเป็นระบอบอื่น

 

จริงหรือไม่ที่ผลของคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา จะสร้างผลสะเทือนที่มีนัยสำคัญต่อประเทศไทยมากกว่าผลกระทบต่อพรรคก้าวไกลเท่านั้น ดังเช่นที่ ชัยธวัช ตุลาธน และแกนนำพรรคคนอื่นกล่าวไว้

 

THE STANDARD ชวนย้อนมองและร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ทางการเมืองไปพร้อมกัน ผ่านการถอดรหัสคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่นำมาสู่การยุบพรรคก้าวไกล ก่อให้เกิด ‘บรรทัดฐานใหม่’ ทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ให้ประเทศไทยอย่างไรบ้าง

 

มาตรา 112

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

‘การยุบพรรค’ คือการ ‘ปกป้อง’ และ ‘ตอบโต้’ ระบอบประชาธิปไตย

 

หนึ่งในข้อต่อสู้แรกของพรรคก้าวไกลในคดียุบพรรคคือโต้แย้งว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมือง เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่มีมาตราใดที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้ง 

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนแรก เคยแถลงข้อต่อสู้ว่า แม้โทษยุบพรรคจะมีได้ในระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องมีไว้เพื่อปกป้องประชาธิปไตย 

 

“มาตรการยุบพรรคจึงต้องใช้อย่างระมัดระวังด้วยความอดทนอดกลั้น ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด และเป็นมาตรการสุดท้าย” พิธากล่าว “มิเช่นนั้น การยุบพรรคจะกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายหลักการพื้นฐานและคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย และล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยเสียเอง”

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้ในคำวินิจฉัยตอนหนึ่ง อ้างถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรค 1 ที่มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 49 และมีความสัมพันธ์กับ ‘ระบอบประชาธิปไตยที่ปกป้องตนเองได้’

 

“โดยการบัญญัติให้มีการยุบพรรคการเมือง อันถือเป็นหนึ่งในกลไกของการปกป้องตนเอง เพื่อป้องกันภัยคุกคามต่อการปกครองหรือจากพรรคการเมืองที่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญหรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 

“การยุบพรรคการเมืองจึงเป็นมาตรการตอบโต้เพื่อหยุดยั้งไม่ให้มีความพยายามทำลายหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยต่อไปในภายภาคหน้า”

 

คำวินิจฉัยยังขยายความต่อไปว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะไม่ได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคโดยตรง แต่เจตนารมณ์ของการปกป้องระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใด ย่อมแสดงออกด้วยการให้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญแก่ประชาชน และให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองได้

 

กกต. มี ‘ทางลัด ทางด่วน’ สำหรับยื่นยุบพรรคการเมือง

 

อีกข้อต่อสู้ที่พรรคก้าวไกลเน้นย้ำและให้ความสำคัญคือชี้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีนี้ ยื่นเรื่องต่อศาลโดยไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องคือพรรคก้าวไกลได้โต้แย้งแสดงหลักฐาน

 

พิธาเคยอธิบายกระบวนการยื่นคำร้องไว้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ที่กำหนดเหตุแห่งการยุบพรรค จะต้องดำเนินการประกอบกับมาตรา 93 นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมเสนอความเห็นต่อ กกต. ให้พิจารณา จึงสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

 

ขณะที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ยังชี้ว่า ข้ออ้างของ กกต. ที่ว่าดำเนินการตามมาตรา 92 โดยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรา 93 ฟังไม่ขึ้น เพราะกล่าวง่ายๆ ได้ว่า กระบวนการยุบพรรคต้องประกอบด้วย 2 มาตรา ได้แก่ ‘มาตรา 92 คือเหตุแห่งการยุบพรรค และมาตรา 93 คือกระบวนการขั้นตอน’

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

“การอ่านตัวบทกฎหมายต้องอ่านทั้งระบบให้สอดคล้องต้องกัน มิใช่อ่านแยกส่วนเป็นท่อนเพื่อทำตามใจ ตามธง ตามเป้าของตน การอ่านกฎหมายแยกส่วนกันว่า มาตรา 92 คือช่องทางการยื่นคำร้องยุบพรรคช่องทางหนึ่ง และมาตรา 93 คือช่องทางการยื่นคำร้องยุบพรรคอีกช่องทางหนึ่ง ส่วนจะเลือกใช้ช่องทางไหนก็แล้วแต่ กกต. นับเป็นการอ่านกฎหมายที่ประหลาด”

 

ปิยบุตรเปรียบเทียบว่า หากอ่านกฎหมายด้วยวิธีเช่นนี้ เท่ากับว่า กกต. มี ‘ทางลัด ทางด่วน ทางสะดวก’ ในการยุบพรรคการเมืองได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเปิดโอกาสให้โต้แย้ง และอ้างว่าดำเนินการตามมาตรา 92 ได้เลย

 

ทว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเหตุผลว่า การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ 

 

1) กกต. มี ‘หลักฐานอันควรเชื่อได้’ ว่าพรรคการเมืองกระทำการเข้าข่ายมาตรา 92

 

2) ‘เมื่อปรากฏ’ ต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าพรรคการเมืองใดกระทำการเข้าข่ายมาตรา 92 นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อเสนอความเห็นต่อ กกต. 

 

“จึงเป็นกรณีที่กฎหมายวางกฎเกณฑ์ของผู้เริ่มกระบวนการและลักษณะของข้อเท็จจริงไว้แตกต่างกัน ดังนั้น หาก กกต. มี ‘หลักฐานอันควร เชื่อได้ว่า’ พรรคการเมืองมีการกระทำที่เข้าลักษณะที่กฎหมายบัญญัติ กกต. ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้” ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยระบุ

 

ต่อประเด็นนี้ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อคิดเห็นผ่าน END GAME รายการพิเศษของ THE STANDARD เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า มีความน่ากังวลใจ เนื่องจากผลของคำวินิจฉัยสร้างมาตรฐานใหม่ให้ กกต. สามารถตัดสินใจเองได้ว่าหลักฐานที่มีเพียงพอแล้วหรือไม่ โดยไม่มีอะไรมาบังคับให้ กกต. ต้องแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกร้องให้ต้องโต้แย้งก่อน

 

“ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะกลายเป็นว่า กกต. เลือกได้ว่าจะทำตามระเบียบของตัวเองหรือไม่ และอาจถูกมองว่าเลือกปฏิบัติว่าพรรคนี้ กกต. ให้โอกาสโต้แย้งได้ เพื่อจะช่วยหรือไม่ ขณะที่อีกพรรคหนึ่งใช้ทางด่วนโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา จะกลั่นแกล้งเขาหรือไม่”

 

สำหรับข้อกังวลของปริญญาต่อบทบาทของ กกต. จะยิ่งเกิดกรณีเปรียบเทียบแน่นอนในอนาคต เนื่องจากพรรคภูมิใจไทยเองก็กำลังมีคดีค้างอยู่ที่ กกต. และอยู่ระหว่างการทำคำร้องยื่นยุบพรรคเช่นเดียวกัน จึงต้องจับตาว่า กกต. จะดำเนินการต่อหรือไม่ และด้วยช่องทางใด

 

มาตรา 112

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

“เป็นความผิดสำเร็จทันที ไม่ต้องให้ผลเกิดขึ้น”

 

ข้อโต้แย้งอีกประการของพรรคก้าวไกลคือชี้ว่า คำวินิจฉัยที่ 3/2567 ของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าการเสนอแก้ไขมาตรา 112 มีเจตนา ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ และสั่งให้ยุติการกระทำนั้น เป็นคนละคดีกับที่ กกต. ยื่นยุบพรรค ศาลจำเป็นต้องไต่สวนคดีใหม่

 

ศาลรัฐธรรมนูญอ้างบทบัญญัติว่าทั้งสองคดีมีมูลคดีเดียว คู่กรณีเดียวกัน และทุกฝ่ายต่างผ่านการไต่สวนมาจนสิ้นสงสัยได้ข้อยุติแล้ว อีกทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร ไม่เว้นแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญเองด้วย 

 

นอกจากนี้ คำวินิจฉัยยังชี้ว่า แม้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะไม่ยกเลิกไปหรือสิ้นไป แต่หากมีข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อมีการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เกิดขึ้นแล้ว การกระทำนั้นจะเป็นความผิดสำเร็จในทันที โดยไม่ต้องรอให้มีผลจากการกระทำนั้นปรากฏขึ้นก่อน

 

และยังสืบเนื่องไปถึงคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ที่ว่า ผู้ถูกร้องมีส่วนร่วมกระทำการหลายพฤติการณ์ประกอบกันต่อเนื่องเป็นกระบวนการ ตั้งแต่เสนอร่างกฎหมายฯ ที่มีเนื้อหาลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้เป็นนโยบายและในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง การชุมนุมเรียกร้อง การจัดกิจกรรมทางการเมือง การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องกระทำการต่อไปย่อม ‘ไม่ไกลเกินเหตุ’ ที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ

 

“การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ โดยเป็นความผิดสำเร็จตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 แม้ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้เลิกการกระทำและผู้ถูกร้องได้นำนโยบายออกจากเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้องก็ตาม”

 

ต่อไปการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ยังทำได้หรือไม่?

 

ในประเด็นนี้ ปริญญาเน้นย้ำคำว่า “ไม่ไกลเกินเหตุ” และ “ความผิดสำเร็จในทันที” ซึ่งปรากฏในคำวินิจฉัยล่าสุด สอดคล้องกับคำว่า “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” ในคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ที่สื่อนัยความหมายถึงการล้มล้างการปกครองที่ยังไม่เกิดขึ้นตอนนี้ แต่หากปล่อยไว้อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม ในคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ระบุว่า ให้ผู้ถูกร้อง ‘ยุติการกระทำ’ ที่เป็นการยกเลิกมาตรา 112 และการกระทำที่ไม่ใช่ ‘กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ’ ซึ่งปริญญาแปลความว่า ศาลเห็นว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายผ่านกระบวนการรัฐสภายังเป็นกระบวนการโดยชอบอยู่

 

“แต่คำวินิจฉัยครั้งนี้เขยิบไปอีกขั้นหนึ่ง เอาง่ายๆ การตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2564 คือวันยื่นแก้ไขกฎหมาย ก็แปลว่าการที่ สส. ยื่นร่างแก้ไขกฎหมาย เป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครอง” ปริญญาระบุ

 

ปริญญาสรุปว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ในประเด็นดังกล่าว ตามที่เน้นย้ำในคำวินิจฉัยไว้ว่า กฎหมายจำเป็นต้องบังคับใช้กับพรรคการเมืองทุกพรรคอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าพรรคนั้นจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามที่กฎหมายให้กระทำโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

“แม้นักวิชาการสาขาต่างๆ นักการเมือง หรือนักการทูตของต่างประเทศต่างก็มีรัฐธรรมนูญ และกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดของตนที่แตกต่างกันตามบริบทของแต่ละประเทศ การแสดงความเห็นใดๆ ย่อมต้องมีมารยาททางการทูต” ช่วงหนึ่งของคำวินิจฉัยระบุไว้เช่นนี้ด้วย

 

ปริญญาชี้ว่า ข้อความส่วนดังกล่าวไม่ได้จัดว่าเป็นการแสดงเหตุผลทางกฎหมายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย จึงต้องรอท่าทีของบรรดาทูตว่าจะมีผลอะไรหรือไม่ “เพราะถือว่าค่อนข้างจะแรง” และอาจมีการส่งหนังสือใดๆ ตอบกลับมาจากทูตหรือไม่

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ถึงกระนั้นเอง พรรคก้าวไกลก็ดูเหมือนยังเชื่อมั่นในแนวทางเดิม เพราะในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวภายหลังรับทราบผลตัดสิน ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าอดีตพรรคก้าวไกล ยังระบุด้วยว่า คำวินิจฉัยของศาลไม่ได้มีส่วนใดที่ระบุว่า การแก้ไข มาตรา 112 กระทำไม่ได้ และอดีต สส. ก้าวไกลทุกคนเชื่อว่ามาตรานี้มีปัญหา แต่วิธีการคงต้องไปพูดคุยกันให้ละเอียดมากขึ้น เมื่อไปบ้านหลังใหม่

 

จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า หนทางของการแก้ไข มาตรา 112 ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในนโยบายหลักและเป็นชนวนเหตุของการยุบพรรค จะยังคงปรากฏในนโยบายของพรรคการเมือง ‘บ้านหลังใหม่’ หรือไม่ ซึ่งหลังการแถลงเปิดตัวชื่อพรรคและแกนนำชุดใหม่ในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ ก็อาจชัดเจนขึ้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising