×

หลวงพระบางต้องการการคุ้มครอง ไม่ใช่เขื่อนความเสี่ยงสูง

โดย Heritage Matters
20.10.2023
  • LOADING...
หลวงพระบาง

มีสถานที่เพียงไม่กี่แห่งในเอเชียที่มีเสน่ห์และความสำคัญทางวัฒนธรรมเทียบเท่ากับหลวงพระบาง อดีตนครหลวงของ สปป.ลาว เมืองเก่าแก่ริมแม่น้ำโขงอายุกว่า 800 ปี ที่เขตตัวเมืองและพื้นที่สองฝั่งโขงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2538

 

แหล่งทรงคุณค่าที่ซ้อนทับกันหลายลำดับชั้นในเมืองหลวงพระบาง ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม พระราชวัง บ้านไม้ คฤหาสน์ยุคอาณานิคม หรือตึกแถวเก่า ล้วนแล้วแต่อยู่รอดเป็นเวลากว่าหลายศตวรรษ แม้เมืองแห่งนี้จะตั้งอยู่บนพื้นที่เสี่ยงต่อเหตุแผ่นดินไหวก็ตาม

 

แต่หากอันตรายจากแผ่นดินไหวเป็นปัจจัยสำคัญ เหตุใดจึงมีการอนุญาตให้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เหนือน้ำขึ้นไปเพียง 25 กิโลเมตร การศึกษาขององค์การยูเนสโก (UNESCO) เผยว่า โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 1,460 เมกะวัตต์แห่งนี้ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพของผู้คน อาคารบ้านเรือน และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หากเกิดเหตุแผ่นดินไหวหรืออุทกภัย กระนั้นการก่อสร้างเขื่อนได้เริ่มต้นขึ้นอย่างรีบเร่งตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยท้ายที่สุดแล้วเงินลงทุนในโครงการนี้ขึ้นอยู่กับไทย

 

หลวงพระบาง

ทัศนียภาพลำน้ำโขงในเขตเมืองหลวงพระบาง

 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจด้านกิจการพลังงาน ได้ตกลงรับซื้อพลังงาน 95% ที่ผลิตได้จากเขื่อนซึ่งมีบริษัทไทยเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยทางการต้องจ่ายเงินแม้จะไม่ได้ใช้พลังงานนั้นในภายหลัง

 

อาจยังไม่สายหากรัฐบาลจะคิดทบทวนข้อตกลงดังกล่าว นอกจากจะเป็นเรื่องการรักษาพื้นที่อันทรงคุณค่าแล้ว ยังเป็นเรื่องการพัฒนาวิธีจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพอีกด้วย เพราะไทยเป็นประเทศที่มีพลังงานสำรองมหาศาล มากกว่าระดับที่ถือกันว่าเหมาะสมคือ 30% ของกำลังผลิต ปัจจุบัน กฟผ. เองยังมีแผนลดค่าจัดการด้วยวิธีลดพลังงานสำรองลงมาอยู่ที่ราว 15% ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ยอมรับโดยสากล 

 

แม้ไฟฟ้าพลังน้ำจะยังคงได้รับการยอมรับในฐานะพลังงานสะอาด และถือกันว่าเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แต่แท้จริงแล้วเขื่อนไม่ได้สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกอันตรายทั้งในกระบวนการก่อสร้างและดำเนินการผลิต โดยในกรณีหลังเกิดจากการเน่าเปื่อยของชิ้นส่วนพืชที่จมอยู่ใต้น้ำ ปัจจุบันพลังงานสะอาดมาจากลมและแสงอาทิตย์

 

ประเด็นด้านพลังงานเป็นหัวข้อหนึ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักระหว่างฤดูกาลเลือกตั้งในปีนี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรสร้างความเชื่อมั่นว่าการผลิตพลังงานของประเทศจะเป็นไปตามการตรวจวัดประเมินที่เป็นปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของความต้องการใช้พลังงาน กำลังผลิต เทคโนโลยี และความยั่งยืน ซึ่งดูแล้วล้วนไม่ใช่สิ่งที่โครงการนี้ตอบโจทย์

 

หากรัฐบาลจะยกเลิกข้อตกลงของ กฟผ. งบประมาณก่อสร้างที่มาจากไทยจะถูกถอนออกไป จากการพูดคุยกันระหว่างผู้เขียนและศาสตราจารย์ Ian Baird แห่งศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา 

 

“หากประเทศไทยไม่ลงนามในสัญญาซื้อพลังงานจากเขื่อนแห่งนี้ ก็แทบจะแน่นอนแล้วว่าการก่อสร้างจะไม่ได้ไปต่อ” ศาสตราจารย์ Baird กล่าว

 

มีแรงจูงใจที่ชอบด้วยกฎหมายที่จะยกเลิกข้อตกลงหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายชี้ว่า สัญญาทางปกครองสามารถยกเลิกโดยชอบด้วยกฎหมาย หากเกิดสภาวการณ์ใหม่หรือพบว่าคู่สัญญาบกพร่องต่อความรับผิดชอบ ในส่วนของโครงการนี้มีการศึกษาผลกระทบและความเสี่ยงอย่างละเอียดและเป็นธรรมโดยผู้พัฒนาโครงการและรัฐบาลชุดก่อนแล้วหรือยัง

 

หลวงพระบาง

ทัศนียภาพชานเมืองหลวงพระบาง มองจากพระธาตุพูสี

 

เป็นเรื่องยากที่จะเห็นว่าการอนุญาตให้ก่อสร้างเขื่อนและรายงานการติดตามผลกระทบต่อแหล่งมรดกใน สปป.ลาว โดยองค์การยูเนสโก นั้นสอดคล้องกัน เพราะรายงานของยูเนสโกเสนอว่า ควรยุติการก่อสร้างอย่างเร่งด่วน ในทำนองเดียวกัน คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) ยังประเมินว่า เขื่อนดังกล่าวมี ‘ความเสี่ยงสูงมากเป็นอย่างยิ่ง’ จากรายงานการประเมินทางเทคนิคเมื่อปี 2562 และ 2563

 

โครงการเขื่อนอยู่ห่างจากแนวรอยเลื่อนเพียง 8.6 กิโลเมตร เมื่อปี 2562 เพิ่งเกิดเหตุแผ่นดินไหวความรุนแรงขนาด 6.4 ริกเตอร์ ที่แขวงไชยบุรี ไม่ไกลจากหลวงพระบางนัก สภาพอากาศที่รุนแรงเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงเช่นกัน อย่างในปี 2561 พายุฝนกระหน่ำจนทำให้โครงการก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ที่แขวงจำปาสัก พังทลาย นำไปสู่อุทกภัยที่พัดถล่มหมู่บ้าน คร่าชีวิตประชาชน 71 คน ส่วนอีก 14,440 คนต้องตกอยู่ในภาวะไร้ที่อยู่อาศัย 

 

ความเสี่ยงที่จะเกิดหายนะไม่ได้มีแค่กับ สปป.ลาว และประชาชนชาวลาวเท่านั้น แต่เสี่ยงต่อประเทศไทยที่จะสูญเสียชื่อเสียงและความเชื่อมั่นจากนานาชาติ ในฐานะผู้ร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ พ.ศ. 2515 ประเทศไทยได้ให้คำมั่นที่จะไม่ทำลายแหล่งมรดกที่อยู่ในประเทศอื่นตามมาตรา 6.3 ของอนุสัญญา ในส่วนนี้อาจเป็นเรื่องการจัดลำดับชั้นความสำคัญใหม่ให้กับประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพรรคการเมืองอย่างพรรคก้าวไกล ออกข้อเสนอขับเคลื่อนไทยให้กลับมามีบทบาทผู้นำในภูมิภาคอาเซียนอีกครั้ง

 

ศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ นักแผ่นดินไหววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเตือนผู้เขียนว่า รอยเลื่อนใกล้เขื่อนสามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงขนาด 7 ริกเตอร์ และสภาพอากาศแปรปรวนอย่างหนักอาจทำให้เกิดดินถล่มตามแนวริมน้ำ ที่ตั้งในตำแหน่งปัจจุบันนี้เป็นอันตรายต่อเขื่อนขนาดใหญ่มาก

 

ทัศนียภาพลำน้ำโขง บริเวณทิศใต้ของเมืองหลวงพระบาง

 

นอกจากความเสี่ยงต่อมรดกที่เป็นสิ่งปลูกสร้างแล้ว การสร้างเขื่อนยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมรดกธรรมชาติในแม่น้ำโขงและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เมืองหลวงพระบางได้รับการยอมรับในฐานะมรดกโลกของยูเนสโก ที่สามารถธำรงความเอื้ออาศัยกันระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรมได้ แม่น้ำโขงส่วนนี้เป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตหายากที่เสี่ยงสูญพันธุ์ ตัวอย่างเช่น ปลาบึก ซึ่งเป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

 

ถึงจะไม่มีแผ่นดินไหว แต่โครงสร้างเขื่อนก็ทำลายภูมิลักษณ์ของแม่น้ำและเส้นทางกระแสน้ำ ทำให้แม่น้ำกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ อย่างเช่น พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำหลายแห่งที่กำลังเผชิญกับปัญหาตลิ่งพังทลายหลังจากเขื่อนไชยบุรี ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างของไทยที่เปิดทำการเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2562

 

“เขื่อนแห่งใหม่นี้จะมีประโยชน์ไปอีกแค่ไม่กี่ทศวรรษ แต่ประวัติศาสตร์หลายศตวรรษของหลวงพระบาง ตลอดจนระบบนิเวศโดยรอบ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาชนชาวลาว อาจเสียหายหรือถูกทำลายไปตลอดกาล” Minga Yang อดีตผู้อำนวยการคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก กล่าวกับผู้เขียน

 

ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพความปลอดภัย และช่วยปกปักรักษาแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เพื่อให้ประชาชนชาวลาวและผู้คนทั้งโลกยังสามารถดื่มด่ำกับพื้นที่อันทรงคุณค่าบนโลกนี้ได้ตราบนานเท่านาน

 

คำอธิบายภาพเปิด: หอพระบาง โบราณสถานสำคัญ สถานที่ประดิษฐานพระบาง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองลาว

 

Tom Fawthrop เป็นนักเขียน นักสื่อสารมวลชน และผู้สร้างภาพยนตร์ มีผลงานกำกับล่าสุดคือ Killing the Mekong, Dam by Dam และสารคดีเกี่ยวกับแม่น้ำสาละวิน The Last Undammed River

 

บทความนี้ได้รับการดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2566

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์

แปลเป็นภาษาไทย: พีรพัฒน์ อ่วยสุข

ภาพ: พีรพัฒน์ อ่วยสุข

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising