×

ปอท. เตือนประชาชนระวังภัยมิจฉาชีพ ‘หลอกรักออนไลน์’ พร้อมแนะวิธีป้องกันถูกหลอก

14.02.2020
  • LOADING...

วันนี้ (14 กุมภาพันธ์) พ.ต.อ. ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผบก.ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ฝากเตือนสติประชาชนให้ระวังการถูกมิจฉาชีพหลอกรักออนไลน์ ซึ่งมักจะมีอุบายในการหลอกเหยื่อว่าทำเป็นรัก ก่อนจะหลอกล่อให้เหยื่อโอนเงินผ่านธุรกรรมออนไลน์ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

 

  1. หาเหยื่อ โดยส่วนใหญ่จะเลือกเหยื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป ไม่มีครอบครัว มีฐานะดี
  2. แปลงโฉมตัวเองโดยสร้างโปรไฟล์ปลอมให้ดูสวย หล่อ มีฐานะดี มีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ดี หรูหรา เพื่อล่อเหยื่อเข้ามาติดกับดัก พร้อมเก็บข้อมูลและวางแผน โดยมักอ้างว่ามีอาชีพ หมอ ทหาร วิศวกร สถาปนิก นักธุรกิจ เป็นต้น โดยมีรูปแบบการดำเนินชีวิตหรูหรา และจะอ้างว่าเพิ่งเลิกกับภรรยา หรือภรรยาเสียชีวิต ตอนนี้รู้สึกเหงา อยากมีชีวิตคู่อีกครั้ง โดยทำทีว่าสนใจเหยื่อ รักเหยื่อ อยากสร้างความสัมพันธ์กับเหยื่อ
  3. ปากหวานให้ตายใจ หว่านล้อมในรูปแบบต่างๆ ให้เหยื่อรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญ โดยแชตด้วยเวลาไม่นาน จะรีบพัฒนาความสัมพันธ์โดยเรียกเหยื่อว่า Darling ,Sweetheart ,My Love เป็นต้น
  4. ร้อยเล่ห์เพทุบาย เมื่อเหยื่อตายใจหลงรัก ก็จะสร้างสถานการณ์ให้น่าสงสารและเห็นใจ เพื่อขอเงิน โดยกลอุบายที่มิจฉาชีพใช้บ่อยมีดังนี้ 
  • หลอกว่าจะมาแต่งงานกับเหยื่อที่เมืองไทย โดยจะส่งทรัพย์สิน เช่น เงินสด ทองคำ เครื่องเพชร มาให้เหยื่อที่เมืองไทย มีการถ่ายรูปส่งมาให้ดู โดยรูปที่เอามาใช้ส่วนใหญ่จะนำมาจาก Google จากนั้นจะมีหน้าม้าเป็นคนไทย โทรศัพท์มาอ้างกับเหยื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร หลอกเหยื่อว่ามีทรัพย์สินส่งมาจากต่างประเทศจริง ขอให้เหยื่อโอนเงินค่าภาษีมาให้
  • หลอกว่าตัวเองป่วย แต่ประกันสังคม หรือประกันชีวิต ยังเบิกจ่ายไม่ได้ ขอให้เหยื่อโอนเงินมาให้ก่อนแล้วจะใช้คืน 
  • หลอกว่าได้รับสัมปทานจากรัฐบาล แต่ต้องวางเงินค่าธรรมเนียม ขอให้เหยื่อช่วยโอนเงินมาให้แล้วจะใช้คืน
  • หลอกว่าได้รับมรดกเป็นเงินมหาศาล แต่ต้องชำระภาษีมรดก โดยขอให้เหยื่อโอนเงินมาให้แล้วจะใช้คืน
  • จากการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมา พบว่าผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นชาวผิวสี ที่ทำงานร่วมกับคนไทย

 

นอกจากนี้ พ.ต.อ. ศิริวัฒน์ ดีพอ ยังได้แนะนำวิธีการป้องกันตัวเองจากภัยดังกล่าว ผ่าน 4 วิธี ประกอบไปด้วย

  1. มีสติเหนืออารมณ์: ไม่เผยข้อมูลส่วนตัวใดๆ บนโลกโชเชียล โดยเฉพาะคนแปลกหน้าที่เพิ่งรู้จัก ไม่ว่าเขาจะเข้าหาเราแบบคนรักหรือไม่ก็ตาม
  2. ทักษะโคนัน ต้องมี: สืบหาข้อมูลของบุคคลที่เข้ามาจีบ ตั้งคำถามกับตัวเอง และคนที่เข้ามาคุยด้วยอย่างตรงไปตรงมา เสิร์ชหรือโทรเช็ก และขอ VDO Call หรือ FaceTime เพื่อตรวจสอบ
  3. คิดเยอะๆ ก่อนโอน: หากยังมีเพียงแค่ 0.01% ที่ไม่มั่นใจ ให้ลองตั้งคำถามใหม่ และไตร่ตรองอีกครั้ง ถ้ารู้สึกยังไม่แน่ใจแม้เพียงน้อยนิดก็อย่าโอน
  4. ติดตามข้อมูลข่าวสารจากข่าวอาชญากรรม: เพื่อรู้เท่าทันอาชญากร จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ

 

ทั้งนี้ สำหรับปี 2562 ที่ผ่านมา มีเหยื่อที่ถูกหลอกลวง ทั้งหลอกให้หลงรัก หลงเชื่อด้วยวิธีการต่างๆ แล้วโอนเงินให้มิจฉาชีพไป เฉพาะที่เข้าแจ้งความที่ บก.ปอท. มีจำนวนมาก ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งเหยื่อส่วนมากจะเป็นหญิงสูงวัย อดีตครูข้าราชการเกษียณแล้ว ที่เล่นโซเชียลมีเดียไม่นาน มีความซื่อตรงมาก ทำให้หลงเชื่อคนร้ายได้ง่าย ญาติพี่น้องต้องหมั่นคอยดูแลชี้แนะ ด้วยเหตุนี้ บก.ปอท. จึงขอถือโอกาสเทศกาลวาเลนไทน์ปีนี้ ฝากเตือนสติผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั้งหลาย ให้ระมัดระวังป้องกัน และรู้เท่าทันเล่ห์กลของมิจฉาชีพ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising