×

ประมวลผลงาน ‘ลิซ ทรัสส์’ นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ กับการทำหน้าที่เพียง 45 วัน

21.10.2022
  • LOADING...
ลิซ ทรัสส์

หลังเผชิญหน้ากับมรสุมแรงต้านและสารพัดแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดนายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสส์ แห่งอังกฤษ ได้ตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษนิยมในวันที่ 20 ตุลาคม ส่งผลให้ทรัสส์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษโดยอัตโนมัติ

 

ความเคลื่อนไหวครั้งนีมีขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่ทรัสส์เอ่ยขอโทษสำหรับความผิดพลาดในการประกาศมาตรการปรับลดภาษีวงเงิน 4.5 หมื่นล้านปอนด์ ซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินทั่วโลก และบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน กระทั่งในสัปดาห์ที่แล้วทรัสส์ต้องสั่งปลดรัฐมนตรีคลัง เพื่อบรรเทากระแสต่อต้านจากหลายฝ่าย 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วทรัสส์ก็สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นผู้นำอังกฤษที่มีอายุงานที่สั้นที่สุด คือ 45 วัน หรือประมาณ 6 สัปดาห์ ซึ่งนักวิเคราะห์ของ The Economist เปรียบเทียบว่าเป็นระยะเวลาเทียบเท่ากับอายุของผักกาดหอมที่วางขายบนชั้นวางสินค้า 

 

สำนักข่าว Channel News Asia ของสิงคโปร์ได้รวบรวมผลงานทั้งหมดของทรัสส์หลังรับตำแหน่งผู้นำอังกฤษ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าผลงานเหล่านี้น่าจะเป็นความทรงจำเกี่ยวกับถนนดาวนิงที่ไม่งดงามนักสำหรับทรัสส์ 

 

เริ่มด้วยวันที่ 5 กันยายน ทรัสส์ชนะคะแนนโหวตจากสมาชิกพรรคอนุรักษนิยม ด้วย 81,326 เสียงต่อ 60,399 เสียง เบียด ริชิ ซูนัค ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังภายใต้นายกรัฐมนตรีคนก่อนอย่าง บอริส จอห์นสัน ได้สำเร็จ 

 

ในฐานะผู้นำคนใหม่ของพรรคที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภา จึงทำให้ทรัสส์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ และวันถัดมาทรัสส์ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งเป็นการรับรองว่าทรัสส์เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ จากนั้นทรัสส์ได้แต่งตั้ง ควาซี ควาร์เต็ง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

 

วันที่ 8 กันยายน ทรัสส์เปิดตัวโครงการจำกัดค่าไฟในครัวเรือน เพื่อรับมือกับผลกระทบด้านราคาพลังงาน อันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับการใช้เงินจำนวนมหาศาล กระนั้นกระแสของความสนใจในโครงการและเสียงวิพากษ์ยังไม่มากนักในเวลานั้น เนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งรัฐบาลอังกฤษประกาศระงับกิจการรัฐทั้งหมด เพื่อไว้อาลัยให้แก่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นเวลา 10 วัน 

 

วันที่ 23 กันยายน ควาร์เต็งประกาศ ‘งบประมาณขนาดเล็ก’ ซึ่งระบุรายละเอียดแนวทางรับมือราคาของโครงการพลังงานของอังกฤษในอีก 6 เดือนข้างหน้า คิดเป็นมูลค่าถึง 6 หมื่นล้านปอนด์

 

อย่างไรก็ตาม แทนที่จะเผยมาตรการระดมทุนควบคู่ไปด้วย ควาร์เต็งกลับประกาศแผนการกู้ยืมใหม่จำนวนมาก เพื่อใช้จ่ายสำหรับมาตรการลดหย่อนภาษีขนานใหญ่ ควบคู่ไปกับการยกเลิกขีดจำกัดโบนัสของนายธนาคาร ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองในทันที และเรียกเสียงต่อต้านจากหลายฝ่าย อีกทั้งยังฉุดให้ค่าเงินปอนด์ดิ่งลงอย่างแรงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

 

วันที่ 25 กันยายน หรือ 2 วันถัดมา ควาร์เต็งยังเดินหน้าด้วยการให้คำมั่นว่าจะออกมาตรการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ทำให้ค่าเงินปอนด์ร่วงหนักแตะระดับต่ำสุดครั้งใหม่ในวันถัดมาทันที ขณะที่บรรดาสื่อมวลชนพากันขนานนามแผนงบประมาณครั้งนี้ว่า ‘Kami-Kwasi’ ซึ่งเปรียบเหมือนแผนฆ่าตัวตายของควาร์เต็ง เพราะจุดชนวนให้เกิดความตึงเครียดระหว่างทรัสส์และควาร์เต็ง และยังทำให้บรรดาสมาชิกพรรคไม่พอใจอย่างมาก 

 

วันที่ 28 กันยายน ด้วยความวุ่นวายในตลาดตราสารหนี้ ทำให้กองทุนบำเหน็จบำนาญของอังกฤษตกอยู่ในสภาวะอันตรายทางการเงิน ธนาคารกลางอังกฤษจึงประกาศโครงการซื้อพันธบัตรของสหราชอาณาจักรระยะยาว ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งเบื้องต้นผลาญงบไปแล้ว 6.5 หมื่นล้านปอนด์ เพียงเพื่อ ‘ฟื้นฟูสภาพตลาดให้เป็นระเบียบ’ อีกครั้ง

 

วันที่ 29 กันยายน โพลสำรวจความเห็นของ YouGov พบว่า พรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก มีคะแนนนิยม 33 คะแนน แซงหน้าพรรครัฐบาลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่พรรคได้รับความนิยมสูงสุดในยุคของอดีตนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 

 

วันที่ 3 ตุลาคม กระแสต่อต้านจากหลายฝ่ายบีบให้ควาร์เต็งและทรัสส์ต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเอง โดยยกเลิกมาตรการภาษีที่ประกาศไว้ 

 

วันที่ 5 ตุลาคม หรือ 2 วันถัดมา ทรัสส์ได้ขึ้นเวทีกล่าวสุนทรพจน์และให้คำมั่นว่า ตนเองและคณะจะทำงานตามวาระเพื่อรักษาการเติบโตของประเทศอังกฤษในทุกด้าน อย่างไรก็ตาม คำมั่นของเธอในครั้งนี้ดูเหมือนจะไม่เพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วน

 

ความเคลื่อนไหวข้างต้นส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความเจ็บปวดให้กับครัวเรือนในสหราชอาณาจักรมากขึ้น เนื่องจากทำให้อัตราดอกเบี้ยจำนองบ้านพุ่งสูงมากขึ้นเช่นกัน 

 

วันที่ 14 ตุลาคม ควาร์เต็งลาออกจากตำแหน่ง และในวันเดียวกัน เจเรมี ฮันต์ อดีตผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ก็ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทน 

 

วันที่ 19 ตุลาคม ซูเอลลา บราเวอร์แมน รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ ได้ยื่นหนังสือลาออก เนื่องจากทำผิดกฎระเบียบของรัฐบาล หลังส่งเอกสารราชการด้วยอีเมลส่วนตัว

 

วันที่ 20 ตุลาคม ทรัสส์ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกลายเป็นประวัติศาสตร์ผู้นำอังกฤษที่มีอายุงานที่สั้นที่สุด คือ 45 วัน หรือประมาณ 6 สัปดาห์

 

‘หุ้น-ค่าเงินปอนด์’ พาเหรดขึ้นรับผู้นำยอมไขก๊อก

 

สถานีโทรทัศน์ Channel News Asia ของสิงคโปร์รายงานว่า ตลาดหุ้นลอนดอนและดัชนีค่าเงินปอนด์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อวานนี้ (20 ตุลาคม) ขานรับข่าวทรัสส์ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบกรณีออกมาตรการที่สร้างความปั่นป่วนให้กับอังกฤษ และกลายประเด็นร้อนทั่วโลกเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ 

 

โดยค่าเงินปอนด์พุ่งขึ้นมากกว่า 1% ในช่วงสั้นๆ เมื่อเทียบกับดอลลาร์ มาอยู่ที่ 1.1336 ดอลลาร์ หลังจากทรัสส์ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยแม้ว่าการลาออกดังกล่าวจะทำให้อังกฤษว่างเว้นจากผู้นำประเทศในช่วงที่อังกฤษต้องเผชิญหน้ากับมรสุมหลายด้าน แต่การตัดสินใจของทรัสส์ก็ช่วยให้ตลาดกลับสู่ความสงบอีกครั้ง 

 

คาดภายในสัปดาห์หน้า มี ‘แคนดิเดตนายกฯ’

 

สถานีโทรทัศน์ BBC อังกฤษ รายงานความเป็นไปได้ของผู้นำคนใหม่ที่จะขึ้นมารับหน้าที่บริหารประเทศต่อจากทรัสส์ที่เพิ่งจะลาออกไป โดยพรรคอนุรักษนิยมมีเวลาภายในสัปดาห์หน้า เพื่อหาตัวแทนพรรครับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษต่อไป 

 

ทั้งนี้ เมื่อคำนวนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดของพรรคที่มีอยู่ทั้งหมด 357 ราย ทางพรรคต้องการผู้สมัครชิงตำแหน่งไม่เกิน 3 คน โดยแต่ละคนต้องได้รับการเสนอชื่อจากสมาชิกพรรคเพื่อลงคะแนนโหวตต่อไป

 

ปัจจุบันมีผู้สมัครว่าที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่หลายฝ่ายมองว่ามีผลงานและความสามารถเข้าตา คือ ริชิ ซูนัค, เพนนี มอร์ดอนต์ และ บอริส จอห์นสัน

 

ริชิ ซูนัค อดีตรัฐมนตรีคลังยุคอดีตนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน และผู้ท้าชิงของพรรคในรอบที่แล้วแต่ก็พ่ายให้กับทรัสส์ โดยนักวิเคราะห์มองว่ารอบนี้ซูนัคมีโอกาสสูงที่จะชนะ ด้วยผลงานและความสามารถด้านบริหารการเงินการคลังในช่วงที่ผ่านมา 

 

ขณะที่เพนนี มอร์ดอนต์ เริ่มเข้าตากรรมการจากการตอบคำถามแทนทรัสส์ในสภาเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยครั้งที่แล้วมอร์ดอนต์ได้รับเสียงสนับสนุนให้เข้าชิงตำแหน่งผู้นำพรรคเช่นกัน แต่พ่ายในรอบรอง ซึ่งความสามารถในฐานะผู้นำของมอร์ดอนต์ไม่เป็นที่กังขาแต่อย่างใด จากผลงานการเป็นรัฐมนตรีกลาโหมหญิงคนแรกของอังกฤษ

 

ด้านบอรัส จอห์นสัน มีโอกาสได้กลับเข้ามารับตำแหน่งผู้นำประเทศอีกครั้ง แม้ว่าจะเผชิญกับเรื่องอื้อฉาวในสภามากมาย รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ที่ทำให้จอห์นสันเข้าตากรรมการ น่าะเป็นฐานเสียงสนับสนุนภายในพรรคของจอห์นสันที่มีมาอย่างยาวนาน 

 

นอกจาก 3 คนที่เอ่ยมา ยังมี เบน วอลเลซ ซึ่งในการคัดเลือกผู้นำพรรคครั้งก่อน เจ้าตัวได้รับการเสนอชื่อจากจอห์นสันให้เข้ารับตำแหน่ง โดยผลงานที่ทำให้เจ้าตัวเป็นที่รู้จักในวงกว้างก็คือการเผชิญหน้ารับมือกับสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

 

ขณะที่ผู้สมัครที่มีโอกาสก็คือ เคมิ บาเดนอช ที่มีผลงานโดดเด่นด้านเศษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ และ ซูเอลลา บราเวอร์แมน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย โดยผลงานโดดเด่นที่ทำให้เจ้าตัวได้รับการสนับสนุนคือการส่งเสริมผู้อพยพ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising