×
SCB Omnibus Fund 2024

ชวนรู้จัก ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ของอังกฤษ จากผู้ต่อต้าน Thatcher สู่แกนนำพรรคอนุรักษ์นิยม

06.09.2022
  • LOADING...
Liz Truss

นักวิเคราะห์พากันมองว่า ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรและผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมเอียงขวาคนล่าสุด คือผู้สนับสนุนแนวคิด Reaganomics หรือแนวนโยบายเศรษฐกิจของอดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งมุ่งตัดทอนรายจ่ายภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการคลังไปจนถึงลดภาษี เพื่อวิเคราะห์แนวทางการทำงาน ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะว่าให้ย้อนดูประวัติการเมืองที่ผ่านมา รวมถึงนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างการหาเสียง ว่าเป็นอย่างไร

 

เมื่อ ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ หลังประสบชัยชนะในการแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษเมื่อวานนี้ (5 กันยายน) ซึ่งผู้ชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษโดยอัตโนมัติ เนื่องจากทางพรรคครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


โดยรายงานระบุว่า ทางพรรคลงคะแนนให้ทรัสส์ที่ 57% ขณะที่โหวตให้คู่แข่งอย่าง ริชิ ซูนัค อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษที่ 42%

 

การชนะการเลือกตั้งดังกล่าวทำให้ทรัสส์กลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของอังกฤษในรอบ 6 ปี โดยทรัสส์จะเป็นนายกรัฐมนตรีจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมกราคม 2025

 

นักวิเคราะห์มองว่า ทรัสส์คงมีเวลาอิ่มเอมกับชัยชนะไม่นานนัก เพราะมีปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องเร่งจัดการ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตค่าครองชีพในสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางคาดการณ์ที่ว่าราคาพลังงานเตรียมจะสูงขึ้นอีก

 

ย้อนดูประวัติการเมืองของ ลิซ ทรัสส์

แม้ว่าทรัสส์ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำคนใหม่ของพรรคอนุรักษ์นิยม แต่เธอกลับเกิดมาในครอบครัวฝ่ายซ้าย โดยพ่อของเธอเป็นศาสตราจารย์วิชาคณิตศาสตร์ และแม่เป็นพยาบาลที่มีความกระตือรือร้นต่อประเด็นทางสังคมและการเมือง เห็นได้จากการที่พาลูกสาวไปเดินขบวนสนับสนุนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 พร้อมร้องเพลงต่อต้าน มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษและอดีตผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม

 

นอกจากนี้ ช่วงวัยสาวของทรัสส์ เธอยังเป็นสมาชิกของพรรคกลางซ้ายอย่าง Liberal Democrats อีกด้วย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสนับสนุนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ในการประชุมพรรค

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกปลูกฝังแนวคิดฝ่ายซ้ายมาตั้งแต่เด็ก แต่หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาหลักสูตรปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่ออกซ์ฟอร์ด ทรัสส์กลับย้ายไปอยู่ที่พรรคอนุรักษ์นิยม พร้อมเดินหน้าทุ่มเทตัวเองสู่เส้นทางการเมือง แม้ล้มเหลวถึง 2 ครั้งในการเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายอนุรักษ์นิยม

 

แต่ในที่สุดในปี 2010 ทรัสส์ก็ประสบความสำเร็จในการเป็น ส.ส. ของเซาท์เวสต์นอร์โฟล์ก ซึ่งยังคงเป็นเขตเลือกตั้งของเธออยู่จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคอีกประการหนึ่งในการไปถึงตำแหน่งนั้น เมื่อนักเคลื่อนไหวในพรรคท้องถิ่นพยายามจะยกเลิกการเลือกตั้ง เนื่องจากทรัสส์มีเรื่องอื้อฉาวเชิงชู้สาวในปี 2006 กับ ส.ส. ที่แต่งงานแล้ว แต่ก็รอดพ้นมาได้ เพราะทรัสส์ออกมาเปิดเผยชีวิตแต่งงานของตนเองกับสามีที่ยังรักใคร่กันดี และมีลูกสาววัยรุ่นเป็นโซ่ทองคล้องใจถึง 2 คน

 

หน้าที่การงานของทรัสส์เริ่มโดดเด่นในยุคอดีตนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ที่ เจ้าตัวได้ทำหน้าที่เป็นรองรัฐมตรีด้านการดูแลเด็กและการศึกษาในปี 2012 จากนั้นเป็นรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมในอีก 2 ปีต่อมา

 

ก่อนการลงประชามติเกี่ยวกับการถอนตัว หรือเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อในปี 2016 ทรัสส์ได้รณรงค์ให้สหราชอาณาจักร ‘อยู่ต่อ’ แต่ภายหลังทรัสส์กล่าวว่า เธอรู้สึกเสียใจกับจุดยืนดังกล่าวและสนับสนุนการถอนตัว (Brexit) ในรัฐบาลของบอริส จอห์นสัน เธอได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ และต่อมาจนถึงตอนนี้ก็ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ

 

แนวคิดด้านเศรษฐกิจของ ลิซ ทรัสส์

หลายฝ่ายมองว่า ทรัสส์เป็นแฟนตัวยงของ ‘Reaganomics’ หรือแนวนโยบายเศรษฐกิจของอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 1980 ที่เน้นการลดภาษี และลดกฎข้อบังคับทางราชการ (Deregulation) รวมถึงลดการใช้จ่ายของภาครัฐ และควบคุมปริมาณเงินอย่างเข้มงวด (Supply of Money)

 

ก่อนหน้านี้ เคยมีรายงานว่า ทรัสส์เข้าเยี่ยมชมสถาบันคลังสมองฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2018 เพื่อหารือเกี่ยวกับการผ่อนคลายการกำกับควบคุมและการลดภาษี ตามรอยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อดูว่าสหราชอาณาจักรจะสามารถเรียนรู้จากนโยบายเหล่านั้นได้หรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม สถาบันคลังสมองต่างๆ รวมถึง Heritage Foundation and American Enterprise Institute ไม่ได้ยืนยันกับ CNBC ว่าการประชุมดังกล่าวเคยเกิดขึ้นจริง

 

กระนั้น ลิซ ทรัสส์ ได้ยืนยันกับ CNBC ว่าเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2018 เธอได้เข้าร่วมการประชุมหลายครั้งในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการประชุมร่วมกับ American Legislative Exchange Council เพื่อหารือเกี่ยวกับ ‘เศรษฐศาสตร์ระดับรัฐ’ และเข้าร่วมโต๊ะกลม 2 โต๊ะ ได้แก่ Americans for Tax Reform เพื่อหารือเกี่ยวกับการปฏิรูปภาษี และ Heritage Foundation Regulatory Reform

 

ระหว่างที่ทรัสส์ทำงานที่กระทรวงการคลัง เธอเคยต่อต้านระบบราชการและการแทรกแซงของรัฐในชีวิตของผู้คน เช่นเดียวกับการต่อต้านการใช้จ่ายของรัฐบาลที่สูงขึ้น โดยกล่าวว่านั่นหมายถึงการใช้ภาษีที่สูงขึ้น

 

นอกจากนี้ระหว่างการหาเสียงเธอให้คำมั่นว่าจะลดหย่อนภาษี รวมถึงการลดอัตราภาษีประกันภัยแห่งชาติเช่นกัน โดยสัญญาว่าจะไม่มีการขึ้นภาษีใหม่ และไม่มีการแบ่งสันปันส่วนพลังงาน (Energy Rationing)

 

โดยเธอยังมองว่า นอกจากลดการใช้จ่ายภาครัฐลงแล้ว สหราชอาณาจักรสามารถหารายได้เพิ่มจากการออกหนี้และขยายระยะเวลาครบกำหนดของพันธบัตรรัฐบาล

 

ทรัสส์ยังกระตือรือร้นที่จะแสดงให้เป็นมิตรกับธุรกิจ โดยให้สัญญาว่าจะยกเลิกการขึ้นภาษีนิติบุคคลที่วางแผนไว้จาก 19% เป็น 25% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2566

 

แนวทางจัดการปัญหาค่าไฟพุ่ง

โดยในการให้สัมภาษณ์กับ BBC เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4 กันยายน) ทรัสส์กล่าวว่า เธอจะประกาศแผนการจัดการกับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของสหราชอาณาจักรภายใน 1 สัปดาห์หลังจากเข้ารับตำแหน่ง แม้ว่าเธอจะไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการ แต่ก่อนหน้านี้ เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ทรัสส์เปิดเผยว่า จะเสนองบประมาณฉุกเฉินในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการรับตำแหน่ง เพื่อให้แน่ใจว่าการสนับสนุนจะดำเนินต่อไป

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ครัวเรือนในสหราชอาณาจักรต้องเผชิญกับการปรับตัวสูงขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยเฉลี่ยราว 80% ทำให้มีรายงานว่า รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของทรัสส์เตรียมจะประกาศนโยบายตรึงเพดานราคาค่าพลังงานเพื่อช่วยเหลือประชาชน

 

นอกจากนี้ เธอได้ประกาศไปแล้วว่าเธอจะระงับการเก็บภาษีสีเขียวสำหรับค่าพลังงานชั่วคราว แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเธอจะต้องขุดลึกลงไปอีกเพื่อจัดการกับวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นกับค่าพลังงานของอังกฤษที่คาดว่าจะสูงถึง 4,000 ดอลลาร์ต่อปีต่อครัวเรือนในปี 2566 หากไม่มีการดำเนินการ

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising