×

อร่อยระดับโลก แต่ราคาฟู้ดคอร์ต! บิบ กูร์มองด์ รางวัลมิชลินสำหรับอาหารบ้านๆ ที่คนไทยเอื้อมถึง

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • สิ่งที่บรรดาร้านที่ได้รางวัล บิบ กูร์มองด์ มีเหมือนกันคือ เป็นร้านอาหารบ้านๆ ที่เหมือนจะทำกินเองได้ที่บ้าน และนำเสนอถึงความอร่อยท้องถิ่นของเมืองนั้นๆ โดยต้องมีรสชาติที่ดี รับประทานง่าย และราคาสบายกระเป๋า
  • หลังจากจัดทำคู่มือร้านอาหารในกรุงเทพฯ ปี 2561 เสร็จ ทาง ททท. เผยว่ามีแผนจะขยายคู่มือมิชลินไกด์บุ๊กต่อไปยังหัวเมืองใหญ่อย่าง เชียงใหม่ หรือภูเก็ต ในปีถัดๆ ไป
  • สังเกตรางวัลบิบ กูร์มองด์ ได้จากหน้ามาสคอตมิชลินแลบลิ้นเลียริมฝีปาก
  • ขณะนี้เหล่าผู้ตรวจสอบของมิชลินได้ทำการชิมอาหารในกรุงเทพฯ เป็นรอบที่ 2 แล้ว ก่อนจะประกาศชื่อร้านแบบเต็มสูตรในเดือนธันวาคม

    ขณะที่วงการอาหารบ้านเรากำลังตื่นเต้นและฮือฮากับมิชลินไกด์บุ๊ก ฉบับกรุงเทพฯ (Michelin Guide Bangkok) หรือคู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พักในกรุงเทพฯ ประจำปี 2561 ซึ่งจะเป็นฉบับที่ 29 ของโลก และฉบับที่ 6 ในเอเชีย โดยจะมีการเผยรายชื่อร้านอาหารที่ติดโผช่วงเดือนธันวาคม 2560 นี้ คุณรู้ไหมว่ายังมีอีกรางวัลที่มักประกาศไม่กี่วันก่อนเผยรายชื่อที่ได้ดาวมิชลินอันยิ่งใหญ่ รางวัลนี้ยังน่าสนใจกับบ้านเราไม่น้อยในฐานะเมืองแห่งอาหารราคาย่อมเยา และมีอาหารริมทางอันขึ้นชื่อ

    รางวัลนั้นคือ ‘บิบ กูร์มองด์’ (Bib Gourmand)

 

 

รางวัลบิบคืออะไร

    บิบ กูร์มองด์ หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า บิบ ที่มาจากบิเบนดัม (Bibendum) อันเป็นชื่อเล่นของเจ้ามิชลินแมน (Michelin Man) ตัวเป็นชั้นที่เราคุ้นเคย นี่คือรางวัลน้องคนสุดท้องของครอบครัวมิชลินที่ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1955 ในฝรั่งเศส และเป็นหนึ่งในสาขารางวัลของมิชลินไกด์บุ๊กที่แตกต่างจากดาวมิชลินตรงที่ตั้งใจมอบให้กับร้านอาหารที่อร่อยสมคุณค่าในราคาที่เป็นมิตรต่อกระเป๋าโดยเฉพาะ เรียกว่าไม่สนใจจริตของความเป็นไฟน์ไดนิงแต่อย่างใด และถึงจะเป็นหนึ่งในหมวดย่อยของรางวัลมิชลิน แต่สัญลักษณ์ของบิบ กูร์มองด์หาใช่ดาว แต่เป็นหัวเจ้ามิชลินแลบลิ้นบอกความน่าหม่ำ และทุกๆ ปีมิชลินจะเผยรายชื่อร้านประเภทต่างๆ ที่ได้รางวัล ก่อนวันประกาศรายชื่อร้านที่ได้รับการติดดาวมิชลิน โดยร้านที่ว่าสามารถเป็นได้ทั้งร้านพิซซ่า อาหารจีน กระทั่งอาหารไทย

 

 

คัดเลือกอย่างไร

    บรรดาผู้ตรวจสอบของมิชลินจะทำการตรวจสอบและให้คะแนนร้านอาหารต่างๆ ทั่วเมือง และร้านที่จะได้รับรางวัลบิบ กูร์มองด์ จะต้องเป็นร้านอาหารที่ได้รับความนิยมจากเหล่าผู้ตรวจสอบ โดยการันตีว่าอร่อยสมราคาจากการสั่งอาหาร 3 อย่าง (แน่นอนว่าเป็นกฎฝรั่งเศส เนื่องจากมาจากเมืองน้ำหอมที่มักรับประทานอาหารกันเป็นคอร์ส การวัดดั้งเดิมจึงมาจากอาหาร 3 คอร์ส คือจานเรียกน้ำย่อย จานหลัก และขนมหวานหรือไวน์หนึ่งแก้ว) ซึ่งราคานั้นจะวัดจากค่าครองชีพและการใช้จ่ายในแต่ละพื้นที่ต่างกันไป เช่น อาหาร 3 คอร์สในอเมริกาในราคาต่ำกว่า 40 เหรียญสหรัฐ (ราวๆ 1,380 บาท) โดยไม่รวมภาษีการค้าและการบริการ หรือในฮ่องกงที่ต่ำกว่า 300 เหรียญฮ่องกง (ราวๆ 1,330 บาท) และ 45 เหรียญสิงคโปร์ (1,115 บาท) ทั้งนี้ยังสามารถเป็นร้านที่คนท้องถิ่นย่านนั้นโปรดปราน หรือร้านอาหารบ้านๆ คุณภาพดีในราคาย่อมเยาก็ได้เช่นกัน

    สำหรับกรุงเทพฯ นั้น จากการพูดคุยบนเวทีที่งานแถลงข่าว Michelin Guide Bangkok Debut Announcement ที่พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ พระราชวังพญาไท แม้คุณกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และคุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะไม่ได้กล่าวถึงการกำหนดราคาของการคัดเลือกในกรุงเทพฯ แต่เผยว่าร้านอาหารที่จะได้รับรางวัลบิบ กูร์มองด์ จะต้องเป็นร้านที่คนสามารถเข้าถึง มีกำลังจ่ายได้เป็นประจำ และไม่จำเป็นต้องเป็นร้านเพิงริมทาง

 

 

ร้านที่เคยติดโผมีอะไรบ้าง

    ที่ผ่านมามีร้านอาหารไทยที่ได้รางวัลบิบ กูร์มองด์ อยู่หลายแห่ง อาทิ ร้าน Opart Thai House (อาหารไทยสไตล์ดั้งเดิม) และ Jin Thai Cuisine (อาหารไทยผสมเอเชีย) ในเมืองซานฟรานซิสโกที่ติดโผไปเมื่อปี 2556 หรือ Arharn Thai (อาหารไทยภาคกลาง) ในย่านควีนส์ และ Kiin Thai (อาหารภาคกลางและเหนือ) ในแมนฮัตตันที่เพิ่งได้รับตราสัญลักษณ์มิชลินแลบลิ้นของรัฐนิวยอร์กไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อปี 2560 นอกจากนั้นยังมีร้านอาหารไทยที่ได้รางวัลนี้ในญี่ปุ่นอีกด้วย

    ในขณะที่ปี 2559 ที่ผ่านมา มิชลินได้แจกรางวัลบิบ กูร์มองด์ ให้กับ 34 ร้านในสิงคโปร์ โดยมีถึง 17 ร้านที่เป็นร้านอาหารริมทาง หรือตั้งอยู่ในศูนย์อาหารในห้าง ประเภทอาหารมีตั้งแต่ ข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยว ไปจนถึงอาหารอินเดีย, เวียดนาม, ตุรกี และจีน รวมแล้วถึง 16 ประเภทด้วยกัน

 

ทำไมถึงน่าตื่นเต้น

    ก็เพราะไม่ใช่แค่อาหารหรูระยับระดับโมเลคูลาร์ (molecular) เรียกพี่เท่านั้นถึงจะจับต้องความเป็นมิชลินได้ และแม้จะยังห่างไกลจากดาวมิชลิน แต่นี่ก็เป็นรางวัลที่คนไทยในฐานะเจ้าบ้านที่ยกการกินให้เป็นเรื่องใหญ่สามารถเอื้อมถึงได้ทั้งคนชิมและคนทำจากวัฒนธรรมอาหารที่อยู่ในสายเลือดของเราเอง เปิดโอกาสให้ร้านเล็กๆ ที่มีฝีมือสามารถสร้างชื่อได้ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าของอร่อยไม่จำเป็นต้องราคาแพงระยับเสมอไป เฉกเช่นร้านที่เป็นขวัญใจคนท้องถิ่นอย่าง ร้านเส่ย, ตั้งใจอยู่, ข้าวมันไก่บุญตงกี่, ข้าวเหนียวมะม่วงแม่วารี ฯลฯ และหากสังเกตจากราคางบของมื้ออาหารที่ตั้งเอาไว้ในแต่ละประเทศที่มักอยู่ในหลักพันแล้ว คงไม่แปลกใจหากร้านก๋วยเตี๋ยวรสเด็ดหน้าปากซอยจะได้อวดคนทั้งหมู่บ้านเร็วๆ นี้ว่าคว้ารางวัลระดับมิชลินมาอวดกับเขาบ้างเหมือนกัน

    ปลายปีนี้มาลุ้นกัน และหากเห็นหน้ามิชลินเลียลิ้นแผล็บๆ ใส่ อย่าลืมเลี้ยวเข้าไปลิ้มลองรสโอชาระดับโลก แต่ราคาฟู้ดคอร์ตกันเสียหน่อย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X