×

Bounce Burger เบอร์เกอร์สุดล้ำ ทำจากเนื้อจิ้งหรีด

04.04.2024
  • LOADING...

แค่เรากินเบอร์เกอร์จากโปรตีนจิ้งหรีด ก็สามารถช่วยเรื่องภาวะโลกร้อนโดยลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 17 เท่า เมื่อเทียบโปรตีนจากเนื้อวัวกับจิ้งหรีดในปริมาณเท่ากัน

 

อาร์ต-ภูริภัทร์ เธียไพรัตน์ เจ้าของร้าน Bounce Burger

 

 

ใครจะคิดว่าแค่การกินเบอร์เกอร์ 1 ครั้ง จะมีส่วนช่วยโลกลดการก๊าซเรือนกระจกได้ Bounce Burger เป็นร้านเบอร์เกอร์ลับๆ ย่านปรีดี พนมยงค์ ที่ใช้วัตถุดิบลับอย่างจิ้งหรีด เนื้อสัตว์จำพวกแมลงมาเป็นส่วนประกอบของเบอร์เกอร์ นอกจากโปรตีนสูงจนถูกเรียกว่าเป็นซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคต การเลี้ยงจิ้งหรีดยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซมีเทน ซึ่งร้ายแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณมาก

 

จุดเริ่มต้นของ Bounce Burger คืออะไร แล้วช่วยรักษ์โลกได้อย่างไรบ้าง ติดตามได้ใน Eco-Curious รายการที่จะพาไปซอกแซกดูมุม Sustain ของแบรนด์ต่างๆ ที่จะทำให้โลกของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น กับ EP.3 Bounce Burger เบอร์เกอร์สุดล้ำ ทำจากเนื้อจิ้งหรีด

 

 

What is ‘Bounce Burger’?

 

Bounce Burger เป็นร้านเบอร์เกอร์ลับๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยปรีดี พนมยงค์ 26 ด้วยความที่คร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด ‘อาร์ต-ภูริภัทร์ เธียไพรัตน์’ เจ้าของร้าน Bounce Burger จึงอยากเผยแพร่การกินจิ้งหรีดให้ผู้คนได้รู้จักและบริโภคได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มจากการบดเป็นผงผสมในแป้งบันหรือผสมกับเนื้อวัวทำเนื้อเบอร์เกอร์พร้อมเสิร์ฟ

 

แล้วทำไมถึงต้องเป็นจิ้งหรีด? จิ้งหรีดเป็นแมลงที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในไทย แถมสารอาหารยังเยอะมาก ทั้งมีโปรตีนสูง มีกรดอะมิโนครบ 20 ชนิด มีวิตามินบี 2 และบี 12 มีพรีไบโอติกและไฟเบอร์ นอกจากนี้การหันมาบริโภคจิ้งหรีดยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากการทำฟาร์มได้มากถึง 17 เท่า เมื่อเทียบในปริมาณเท่ากับเนื้อวัว

 

 

โปรตีนที่ได้จากจิ้งหรีดหนึ่งกรัม เทียบกับเนื้อวัวในปริมาณเดียวกัน จิ้งหรีดจะใช้อาหารน้อยกว่าประมาณ 22 เท่า ใช้น้ำน้อยกว่าประมาณ 13-14 เท่า ใช้พื้นที่ก็น้อยกว่าประมาณ 10 เท่า และใช้ก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า 17 เท่าเลย ทั้งๆ ที่เราได้โปรตีนเท่ากัน

 

อาร์ต-ภูริภัทร์ เธียไพรัตน์ เจ้าของร้าน Bounce Burger

 

 

เบอร์เกอร์ของ Bounce Burger มีส่วนผสมของจิ้งหรีดอยู่ในอาหาร 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ‘แป้งบัน’ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเบอร์เกอร์ จิ้งหรีดขาวนำไปอบทั้งตัวแล้วบดเป็นผง นำไปผสมกับแป้งก่อนอบ เพิ่มรสอูมามิให้ขนมปังอร่อยยิ่งขึ้น อีกส่วนเป็นของ ‘เนื้อแพตตี้’ ทางร้านใช้จิ้งหรีดสดแช่แข็งจากฟาร์มเลี้ยง นำมาคั่วให้สุก แล้วคัดเอาเฉพาะช่วงท้องมาบดและปั้นเป็นแพตตี้ผสมกับเนื้อวัว เพื่อให้ได้สัมผัสและรสชาติที่กินง่าย โดยแพตตี้เนื้อวัวผสมจิ้งหรีดจะอยู่ในเมนูซิกเนเจอร์ ‘Bounce Burger’

 

 

How Sustainable is it?

 

ด้วยความที่ Bounce Burger เป็นเบอร์เกอร์ที่มีส่วนผสมของแมลง แน่นอนว่าย่อมเป็นมิตรกับโลกอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเทียบกับเนื้อวัวในปริมาณเดียวกัน จิ้งหรีดใช้พื้นที่น้อยกว่า และใช้อาหารน้อยกว่าถึง 22 เท่า ซึ่งหมายถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากระบบขนส่งลงไปได้หลายส่วน และยังไม่รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นก๊าซที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์อีกในปริมาณมหาศาล อีกทั้งจิ้งหรีดยังเป็นซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคต เพาะเลี้ยงง่าย โตไว มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย แต่กลับให้สารอาหารมหาศาลในปริมาณเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์อื่นๆ โดยเฉพาะเนื้อวัว

 

ใครที่สนใจลองกินเมนูจิ้งหรีดของ Bounce Burger สามารถเข้าลองได้ที่ร้านในซอยปรีดี พนมยงค์ 26 โดยสามารถจองโต๊ะหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Bounce Burger 

 

ภาพ: ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X