×

โรงภาพยนตร์ลิโด ความผูกพันไม่จางหายแม้วันที่รอบฉายจบลง

28.05.2018
  • LOADING...

ทุกการเดินทางย่อมมีจุดสิ้นสุด และปลายสัปดาห์นี้ก็มาถึงอีกหนึ่งจุดสิ้นสุดของการเดินทางแสนยาวไกลของโรงภาพยนตร์ ‘ลิโด’ ที่อยู่เคียงข้างคอหนังมาเนิ่นนานถึง 50 ปี โดยในวันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม อันเป็นวันทำการสุดท้าย จะมีภาพยนตร์เรื่อง Kids on the Slope รอบเวลา 20.45 น. เป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในการอำลาตำนานโรงภาพยนตร์ลิโดอย่างเป็นทางการ

 

ย้อนดู…สู่จุดเริ่ม

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2511 หลังจากที่ พิสิฐ ตันสัจจา ประสบความสำเร็จจากการดัดแปลงโรงละครศาลาเฉลิมไทยบนถนนราชดำเนินให้กลายเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ความจุ 1,500 ที่นั่ง (เปิดฉายภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2496-2532) ต่อมาเขาได้รับการทาบทามจาก กอบชัย ซอโสตถิกุล เจ้าของบริษัท เซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้าง จำกัด ให้เข้ามาพัฒนาที่ดินบริเวณถนนพระราม 1 ซึ่งทางบริษัทเช่ามาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Photo: Apex-Lido / facebook

 

พิสิฐ ตันสัจจา จึงเข้ามาร่วมลงทุนในการสร้างโรงภาพยนตร์บนพื้นที่ดังกล่าว ใช้ชื่อว่า ‘โรงภาพยนตร์สยาม’ เปิดให้บริการในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2509 ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เข้าฉายคือ รถถังประจัญบาน (Battle of the Bulge) และในอีกสองปีต่อมาโรงภาพยนตร์แห่งที่ 2 ได้ถือกำเนิดขึ้นในชื่อว่า ‘ลิโด’ ซึ่งมีที่มาจากชื่อโรงละครคาบาเร่ต์โชว์ Le Lido อันโด่งดังในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

Photo: Apex-Lido / facebook

 

ลิโดเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ความจุ 1,000 ที่นั่ง เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง ศึกเซบาสเตียน (Guns for San Sebastian) นำแสดงโดยแอนโธนี ควินน์

 

‘สกาลา’ โรงภาพยนตร์แห่งที่ 3 สร้างเสร็จและเปิดฉายวันแรก 31 ธันวาคม พ.ศ. 2512 ความจุ 1,000 ที่นั่ง (ปัจจุบันเหลือ 876 ที่นั่ง) ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เข้าฉายคือ สองสิงห์ตะลุยสิบทิศ (The Undefeated) และนี่คือสามโรงภาพยนตร์สแตนอโลนแห่งเครือ APEX ตำนานคู่สยามสแควร์ที่เรายังจำกันได้ดี

 

Photo: Apex-Lido / facebook

 

แต่แล้วในปี พ.ศ. 2536 เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงภาพยนตร์ลิโด ทำให้ต้องปิดปรับปรุงเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี โดยจากที่เคยเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ จุได้ 1,000 ที่นั่ง ถูกแยกออกเป็น 3 โรงเล็กลักษณะมัลติเพล็กซ์ โรงที่ 1 จุได้ 147 ที่นั่ง, โรงที่ 2 จุได้ 243 ที่นั่ง และโรงที่ 3 จุได้ 243 ที่นั่ง ขณะเดียวกันพื้นที่ด้านล่างก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็นห้องสำหรับร้านค้าเล็กๆ ให้เช่าขายของได้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางหารายได้สำหรับโรงภาพยนตร์ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2537 ลิโดได้กลับมาเปิดให้บริการตามปกติ

 

โชคชะตาของโรงหนังเครือ APEX ยังไม่หายเศร้า ในปี พ.ศ. 2553 โรงภาพยนตร์สยามถูกไฟไหม้ในช่วงสลายการชุมนุมทางการเมืองจนเสียหายทั้งหมด สุดท้ายพื้นที่ได้รับการปรับปรุงให้กลายเป็นห้างสรรพสินค้าสยามสแควร์วัน ทำให้โรงภาพยนตร์เครือ APEX แห่งสยามสแควร์คงเหลืออยู่เพียงโรงภาพยนตร์ลิโดและสกาลา

 

O-So Good

Photo: topicstock.pantip.com

 

กำเนิดนาม ‘สยามสแควร์’

ในยุคแรก พิสิฐ ตันสัจจา คิดวิธีโปรโมตโรงภาพยนตร์ทั้งสามแห่ง สยาม, ลิโด และสกาลา ด้วยการตีพิมพ์ ‘สูจิบัตร’ ข่าวภาพยนตร์แจกฟรีให้แก่ผู้ชมที่แวะเวียนมาอุดหนุน โดยเริ่มแจกในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2513

 

สูจิบัตรจะออกเป็นรายเดือน มีเนื้อหาอัดแน่นไปด้วยข่าวคราวโลกภาพยนตร์ บทวิจารณ์ต่างๆ แนะนำหนังเข้าใหม่ หรือแม้กระทั่งคอลัมน์ซุบซิบนินทา ซึ่งคอลัมน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ ‘สยามสแควร์’ เขียนโดย พอใจ ชัยเวฬ ความนิยมของคอลัมน์นี้ถึงขนาดที่ว่าชื่อ ‘สยามสแควร์’ ได้กลายเป็นชื่อเรียกขานย่านบริเวณโรงภาพยนตร์ทั้งสามแห่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน

 

Slumdog Millinaire (2552)

 

สวรรค์ของคอหนังนอกกระแส

หนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญที่คอหนังลิโดคงปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือภาพยนตร์ที่ถูกคัดสรรมาฉาย เดิมทีผู้บริหารตั้งแต่ยุคบุกเบิกไม่ต้องการให้โรงภาพยนตร์ทั้งสามฉายหนังประเภทเดียวกัน เพื่อให้ผู้ชมได้มีทางเลือกในการรับชมภาพยนตร์ที่หลากหลาย ด้วยเหตุนี้จึงกลายมาเป็นสไตล์ของโรงภาพยนตร์ลิโดที่ส่วนใหญ่เลือกสรรภาพยนตร์นอกกระแสเข้ามาฉายอยู่บ่อยครั้ง อย่างเช่นการฉายหนังรางวัลออสการ​์ Slumdog Millionaire ในปี 2552 ก็เป็นการจัดฉายเฉพาะเครือ APEX เท่านั้น ซึ่งสร้างปรากฏการณ์คนดูเต็มโรงทุกรอบตลอดการฉาย

 

อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญนั่นคือช่วงเทศกาลแจกรางวัลภาพยนตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คานส์ บาฟต้า ลูกโลกทองคำ หรือโดยเฉพาะออสการ์ ที่เมื่อถึงช่วงประกาศรายชื่อภาพยนตร์ที่ติดโผเข้าชิงรางวัล โรงภาพยนตร์ลิโดก็จะขนภาพยนตร์เหล่านั้นเข้ามาฉายให้ดูกันแบบมาราธอนตลอด 3 เดือน ตั้งแต่ช่วงมกราคมที่ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงจนถึงช่วงมีนาคมที่มีการประกาศผล

 

เหล่านี้นี่เองจึงทำให้เห็นภาพยนตร์สัญชาติต่างๆ ทั้งฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อิหร่าน แอนิเมชันทางเลือก ฯลฯ เข้าออกตารางฉายลิโดอยู่เป็นประจำ และได้สร้างฐานลูกค้าประจำที่หลงรักในเอกลักษณ์อันโดดเด่นนี้

 

ผู้อยู่เบื้องหลังการเลือกหนังเข้าฉาย

หนังคุณภาพเครือ APEX มีผู้อยู่เบื้องหลังในการคัดเลือกหนังมาฉาย สุชาติ วุฒิชัย จะทำหน้าที่ค้นหาข้อมูลและความน่าสนใจของหนัง ก่อนจะไปดูด้วยตาตัวเองเกือบทุกเรื่องแล้วจึงตัดสินใจ มีอยู่หลายครั้งที่ลูกค้าโรงภาพยนตร์เองเป็นผู้นำเสนอหนังคุณภาพ และมีหลายครั้งเหมือนกันที่เขาไปยืนสอบถามความคิดเห็นของผู้ชมหน้าโรงภาพยนตร์

 

Photo: Apex-Lido / facebook

 

ยียวนชวนฮา…กลางหน้าหนังสือพิมพ์

หากใครอ่านหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ คงเคยได้เห็นหน้าโฆษณาหนังเครือ APEX ผ่านหูผ่านตาอยู่บ้าง นับเป็นอีกหนึ่งสีสันที่สร้างรอยยิ้มให้ผู้ชมได้ไม่น้อย สำหรับโฆษณาที่จัดวางหน้าด้วยรูปแบบคลาสสิก ตัวหนังสือเล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่ไฮไลต์สำคัญคือคำโปรยหนังเรื่องต่างๆ ที่กำลังเข้าฉาย ซึ่งมักเรียกเสียงฮาจากผู้ชมได้เสมอ เช่น ‘PURGE’ อาชญากรรมทำถูกต้อง (คืนเดียว) หรือ ‘น้อง พี่ ที่รัก’ พี่ชายแสนดีอยากมีอีกสักสิบคน เป็นต้น

 

ตั๋วหนังสุดคลาสสิก

แผ่นกระดาษหลากสีที่หลายคนนิยมเก็บไว้เป็นที่ระลึก คืออีกหนึ่งความคลาสสิกที่หาไม่ได้จากโรงภาพยนตร์อื่นในยุคปัจจุบัน ตั๋วกระดาษกรอบลายดอกไม้ที่ระบุรายละเอียดสำคัญอย่างชื่อภาพยนตร์ รอบฉาย และที่นั่ง สไตล์ตั๋วภาพยนตร์ยุค 70s ยังคงถูกใช้อยู่ในโรงภาพยนตร์เครือ APEX จวบจนทุกวันนี้

 

ราคาก็เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ทำให้ผู้คนจดจำ เป็นที่รู้กันดีในหมู่ลูกค้าเวลามาดูหนังที่ลิโดว่าราคาตั๋วมักถูกกว่าโรงภาพยนตร์ทั่วไป ซึ่งเป็นความตั้งใจของผู้บริหารที่ต้องการให้ภาพยนตร์เป็นความบันเทิงที่ทุกคนสามารถหาซื้อได้ในราคาที่ไม่แพงเกินไป จากเริ่มต้นที่ขายตั๋วในราคา 10, 15 และ 20 บาท กระทั่งปัจจุบันจำหน่ายในราคา 100, 120 และ 140 บาท ซึ่งราคาถูกมากหากเทียบกับราคาตั๋วภาพยนตร์โดยทั่วไป

 

 

พนักงานย้อนวัย…ในบรรยากาศย้อนยุค

เมื่อย่างเท้าเข้าไปในลิโด นอกเหนือจากกลิ่นอายโรงภาพยนตร์สมัยก่อนที่ทุกคนสัมผัสได้ อีกสิ่งหนึ่งที่คาดหวังได้เลยนั่นคือผู้ชมจะไม่มีทางพบเจอพนักงานวัยรุ่นสาว แต่งหน้าทาปากเต็มยืนคอยให้บริการอย่างแน่นอน แต่จะพบกับคุณลุงในชุดสูทสีเหลืองท่าทางใจดี คอยยืนตรวจตั๋วและพาไปยังที่นั่ง

 

พนักงานสูงวัยเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเข้ามาทำงานเมื่ออายุมาก แต่แทบทุกคนให้บริการ ณ โรงภาพยนตร์แห่งนี้มาเป็นเวลาร่วมหลายสิบปี จนที่ทำงานเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง สูทสีเหลืองสดใสก็เป็นยูนิฟอร์มที่ใส่กันมาตั้งแต่เริ่ม ทำให้พวกเขาเหล่านี้ไม่ใด้เป็นเพียงแค่พนักงานเดินตั๋ว แต่เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์สุดคลาสสิกของโรงภาพยนตร์ในเครือ APEX และเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความผูกพัน ที่อบอวลอยู่ในบรรยากาศของโรงภาพยนตร์อันเก่าแก่แห่งนี้

 

 

การต่อรองสัญญาระหว่างโรงภาพยนตร์ลิโดและเจ้าของที่ดินอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ในความคลุมเครือมาตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา จนในที่สุดก็มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการให้ยุติการต่อสัญญาเช่าของโรงภาพยนตร์ลิโด โดยจะเปิดให้บริการครั้งสุดท้ายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ข่าวดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจอย่างมากให้กับใครหลายๆ คน รวมทั้งพนักงานและลูกค้าประจำที่มีความรักและผูกพันกับโรงภาพยนตร์แห่งนี้

 

ตลอดเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา ลิโดร่วมเดินทางเคียงข้างคอหนังทุกคนอย่างไม่ทอดทิ้ง ผ่านการเปลี่ยนแปลงนับครั้งไม่ถ้วนตามบริบทสังคมที่แปรเปลี่ยนตามยุคสมัย แต่สิ่งที่ลิโดยังคงยืนหยัดเพื่อผู้ชมไม่เปลี่ยนแปลงนั่นคืออุดมการณ์ที่ถ่ายทอดผ่านผู้บริหารรุ่นสู่รุ่น ความคลาสสิกที่ยังคงอบอวลในบรรยากาศไม่จางหาย และความรักความผูกพันที่มีให้คนดูเสมอมา นับจากนี้แม้รอบฉายที่โรงภาพยนตร์จะหมดลง แต่ความผูกพันที่แฟนหนังมีต่อลิโดจะไม่มีวันเสื่อมคลาย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising