×

คู่รัก LGBTQIA+ รอความหวัง ‘ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม’ เพื่อสิทธิในการใช้ชีวิตเหมือนคนอื่น

20.12.2023
  • LOADING...

ช่วงที่ผ่านมาความพยายามผลักดันการแก้ไขกฎหมายแพ่งที่ใช้บังคับอยู่เพื่อรับรอง ‘สมรสเท่าเทียม’ มีความเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล พร้อมกับรับหลักการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งเสนอโดย ครม. ภายใต้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอีกฉบับเสนอโดย สส. พรรคประชาธิปัตย์

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีออกมาเปิดเผยกับสื่อหลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อสภาในวันที่ 21 ธันวาคม 2566

 

คู่รัก LGBTQIA+ พร้อมจดทะเบียนสมรสทันที 

 

โดย สุทัศน์ พังพิษ คู่รักทหาร LGBTQIA+ กล่าวว่า ตนแอบหวังว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะต้องผ่าน และเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับกลุ่ม LGBTQIA+ ทั้งนี้ หากร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวผ่าน ตนกับแฟนก็พร้อมจะจดทะเบียนสมรสด้วยกัน เพราะอยู่ด้วยกันมา 9 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนและแฟนรอคอยร่างกฎหมายดังกล่าวออกมา หากกฎหมายผ่านก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะจะทำให้พวกเรามีความเท่าเทียมและมีสิทธิเท่ากับประชาชนทั่วๆ ไป 

 

มีทุกอย่างด้วยกันหมด แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ

 

“ผมรู้สึกดีใจ และอาจเป็นคู่แรกของจังหวัดลพบุรีที่จะไปจดทะเบียนสมรสกัน เพราะว่าที่จังหวัดลพบุรีจะมีองค์กรพิ้งค์มังกี้ เพื่อความหลากหลายทางเพศ จังหวัดลพบุรี ประเทศไทย ซึ่งผมเป็นตัวแทนมาตั้งแต่แรก คิดว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นตัวแทนของกลุ่มที่หลากหลายทางเพศ ที่รักกันและอยากอยู่ด้วยกัน ซึ่งตอนนี้ผมกับแฟนก็ได้กู้บ้านร่วมกัน มีรถด้วยกัน มีทุกอย่างด้วยกันหมด แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับเรา 2 คน” สุทัศน์กล่าว 

 

สุทัศน์กล่าวอีกว่า หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านตนก็จะได้สิทธิต่างๆ ซึ่งตนเป็นข้าราชการ จะได้ส่วนของค่ารักษาพยาบาลที่สามารถเบิกได้หากมีการจดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สำหรับกลุ่ม LGBTQIA+ ที่อยู่ด้วยกันและยังรักกัน ก็มีความหวังที่จะให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านสักที เพราะพวกเราจะได้มีสิ่งที่ขาดหายไป และการสมรสเท่าเทียมก็จะทำให้พวกเราเหมือนกับประชาชนคู่อื่นๆ 

 

คู่รัก LGBTQIA+ กลับมามีความหวังอีกครั้ง

 

ขณะที่ ธีชยุฒศภ์ เมธาศิฐิวัตม์ คู่รัก LGBTQIA+ กล่าวว่า จริงๆ ตนรอกฎหมายฉบับนี้มานานมาก เพราะที่ผ่านมาก็คุยกันกับเพื่อนและแฟนในเรื่องนี้ และก่อนหน้านี้ก็มีความหวัง จนผ่านมาอาจจะเป็นเวลากว่า 10 ปี ก็เลยไม่ได้ติดตาม แต่เมื่อรู้ว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะเข้าสภาในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ตนก็รู้สึกกลับมามีความหวังอีกครั้ง และดีใจหากกฎหมายนี้ประสบความสำเร็จ 

 

“ดีใจมาก เพราะอย่างที่ทราบอยู่แล้วว่ากฎหมายฉบับนี้เกี่ยวกับสิทธิ เพราะนอกจากคู่ชีวิตแล้ว จะได้เป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายสักที สิ่งที่คาดหวังไว้คือคู่สมรสสามารถที่จะรับสิ่งที่เป็นของกันและกัน และสามารถทำสิ่งอื่นแทนกันได้ นอกจากนี้ยังรวมถึงสินสมรสและทรัพย์สินที่เราครอบครองร่วมกันก็สามารถดูแลแทนกันได้ ซึ่งปัจจุบันผมกับแฟนเราคบกันมา 16 ปีแล้ว” ธีชยุฒศภ์กล่าว 

 

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมตอบโจทย์ กลุ่ม LGBTQIA+ 

 

ธีชยุฒศภ์ระบุอีกว่า โลกได้เปลี่ยนไปเยอะมากแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนหากจะมีการจดทะเบียนสมรสกันได้ต้องเป็นชายกับหญิงเท่านั้น แต่ทุกวันนี้มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้น ทำให้โลกเปลี่ยนไป ทำให้ได้รู้ว่าปัจจุบันการใช้ชีวิตไม่ใช่เพียงผู้ชายกับผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งคิดว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นการตอบโจทย์ของกลุ่ม LGBTQIA+ ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับกลุ่มเพศทางเลือก สมัยก่อนหรือยุคก่อนๆ อาจจะไม่ให้การยอมรับมากนัก แต่ปัจจุบันถือว่ามีการเปิดโอกาสมากขึ้น สังคมให้การยอมรับมากขึ้น เราสามารถเป็นตัวของตัวเองโดยที่ไม่ต้องคอยปิดบัง 

 

กฎหมายสมรสเท่าเทียมทำให้มีสิทธิเท่ากับคนอื่น

 

“ตอนที่ยังเป็นเด็กก็ยังไม่กล้าบอกใคร ปิดบังเพราะกลัวว่าสังคมรับไม่ได้ แต่ในปัจจุบันคิดว่าคนส่วนใหญ่น่าจะแคร์เรื่องนี้น้อยลง พอได้เป็นตัวของตัวเองก็ทำให้ไม่มีความกดดันในการใช้ชีวิต และเป็นตัวเองมากขึ้น” ธีชยุฒศภ์กล่าว 

 

ธีชยุฒศภ์ระบุอีกว่า อยากให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน เพราะไม่อย่างนั้นก็จะพูดกันวนไปวนมาแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตนเห็นว่ามันควรจะเปลี่ยนได้แล้วเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย เพราะเราก็ต้องการสิทธิในการใช้ชีวิตคู่ และคู่ที่จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่มีเพียงแค่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งหากมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็จะทำให้กลุ่ม LGBTQIA+ มีสิทธิเท่ากับประชาชนคนอื่นๆ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising