×

‘เกียวโต’ กำลังจะตาย? เรื่องเหลือเชื่อของเมืองที่รักของนักท่องเที่ยวที่ใกล้ ‘ล้มละลาย’ ทางการคลัง

09.09.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • การหายไปของนักท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เกียวโตกำลังเผชิญกับภาวะหนี้สินมากมาย มีการพยากรณ์ว่าหนี้สินจะแตะถึงระดับ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 70,440 ล้านบาทภายใน 10 ปีข้างหน้า
  • ต้นตอของวิกฤตที่เกิดขึ้นแล้ว และยังดำเนินต่อไปในทุกวันนั้นมาจาก ‘รถไฟใต้ดิน’ สายที่ 2 ของเมืองที่มีค่าก่อสร้างสูงแต่ขาดรายได้เพราะคนใช้น้อยเกินไป
  • เกียวโตเป็นเมืองหลวงเก่าที่ต้องการอนุรักษ์ไว้ ในแง่หนึ่งคือการเก็บรักษาสิ่งดีๆ เอาไว้ให้คนรุ่นต่อไป แต่ในอีกด้านคือปัญหาจุกอกเพราะภาษีก้อนใหญ่ที่จะเรียกเก็บเพื่อนำมาใช้บริหารจัดการเมือง อย่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่สามารถจัดเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
  • เพื่อให้รอดพ้นจากการล้มละลายทางการคลัง เมืองเกียวโตจึงต้องออกนโยบายในการ ‘รัดเข็มขัด’ ครั้งใหญ่ เพราะไม่เช่นนั้นเกียวโตจะกลายเป็นท้องที่ที่รัฐเข้ามาจัดการในฐานะท้องถิ่นที่ต้องฟื้นฟูทางการคลัง ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้าย

ว่ากันว่าในช่วงมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงก่อนที่จะมีการตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูกอันเป็นผลงานจากโปรเจกต์แมนฮัตตันที่ประเทศญี่ปุ่น เมืองหนึ่งที่อยู่ในข่ายการพิจารณาเพราะเป็นเมืองที่มีความสำคัญคือ ‘เกียวโต’ ในฐานะเมืองหลวงเก่าที่ทรงคุณค่าอย่างมากต่อชาวอาทิตย์อุทัย

           

“เกียวโต เมืองนี้ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม” หนึ่งในผู้พิจารณากล่าว “แต่ขอไว้แล้วกัน ผมกับภรรยาไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กันที่เมืองนี้”

           

หากนั่นจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เกียวโตรอดพ้นจากโศกนาฏกรรมได้ ก็คงเป็นเพราะความสวยงามของสถานที่ ความสงบ เรื่องราว และเสน่ห์บางอย่างที่ไม่อาจพบได้ที่ไหนอีก ซึ่งทำให้ใครต่างก็ตกหลุมรักเมืองแห่งนี้ได้ไม่ยากนักหากได้มาเยือนสักครั้ง หรือบางครั้งอาจจะตกหลุมรักตั้งแต่ยังไม่เคยมาเยือนด้วยซ้ำไป

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ใครบ้างจะไม่หลงรักธรรมชาติอันงดงาม และป่าไผ่อันสูงใหญ่ตระการตาของอุทยานประวัติศาสตร์อาราชิยามะ ใครบ้างจะไม่ตะลึงไปกับความสงบของวัดคิโยมิซุ และตระการตาไปกับอารามสีทองของวัดคินคะคุจิ หรือเสาโทริอินับพันต้นของวัดฟูชิมิอินาริ และใครบ้างจะไม่อยากเดินชมความงดงามของย่านกิออน

           

ในแต่ละปีมีนักเดินทางจำนวนมากมายที่มาเยือนเมืองแห่งนี้ ภาพของผู้คนคราคร่ำเบียดเสียดทั้งตามสถานที่ท่องเที่ยว ไปจนถึงในระบบขนส่งสาธารณะทั้งรถบัสและรถไฟ และร้านอาหารที่ผู้คนต่อคิวกันแน่นขนัด

           

แต่ทั้งหมดนั้นเป็นภาพของเกียวโตจากภายนอกที่สวยงาม

           

สิ่งที่คนมากมายไม่ได้ล่วงรู้มาก่อนคือ เมืองแห่งนี้เต็มไปด้วยปัญหามากมาย และปัญหาเหล่านั้นอาจทำให้เกียวโตถึงแก่ความตายได้เลยทีเดียว

           

เกิดอะไรขึ้นกับเมืองอันเป็นที่รักของนักเดินทาง?

 

เกียวโตกำลังจะล้มละลาย

 

“เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์วิกฤต มีโอกาสที่เราจะล้มละลายใน 10 ปี”

           

คำกล่าวนี้หากมาจากพ่อค้าแม่ขายตามสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย (เกียวโตเมืองเดียวมีมรดกโลกที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโกมากถึง 17 แห่ง) ก็อาจฟังดูไม่เท่าไร แต่เมื่อมันเป็นคำพูดจากพ่อเมืองอย่าง ไดซากุ คาโดคาวา นายกเทศมนตรีเมืองเกียวโต ที่เปิดเผยต่อสาธารณะเมื่อปี 2021 เรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที

           

นั่นเพราะคำว่าล้มละลายเป็นคำที่รุนแรง และไม่ใช่คำที่จะพูดกันส่งเดช

           

สาเหตุที่ทำให้นายกเทศมนตรีออกมาพูดนั้นเป็นเพราะสถานการณ์หนี้สินของเมืองเกียวโตเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด เมืองที่เคยรองรับนักท่องเที่ยวมากถึง 31 ล้านคนเมื่อปี 2019 แทบไม่เหลือนักท่องเที่ยวเลย

 

ภาพ: Getty Images

 

ในปี 2021 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเกียวโตแค่เพียง 250,000 คนเท่านั้น น้อยที่สุดตั้งแต่เคยมีการเก็บข้อมูลสถิติเอาไว้เมื่อปี 1964

 

การหายไปของนักท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เกียวโตกำลังเผชิญกับภาวะหนี้สินมากมาย มีการพยากรณ์ว่าหนี้สินจะแตะถึงระดับ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 70,440 ล้านบาทภายใน 10 ปีข้างหน้า จากวันที่นายกเทศมนตรีคาโดคาวาได้บอกไว้ หรือจะเกิดขึ้นภายในปี 2031

           

ภาระหนี้สินจำนวนดังกล่าวมากมายเกินกว่าที่เมืองจะแบกรับได้ไหว และหากแบกรับไม่ไหวนั่นอาจหมายถึงการล้มละลายทางการคลัง ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ยิ่ง

 

ทางรถไฟสายยมทูต

 

ถ้าหากการหายไปของนักท่องเที่ยวคือต้นตอของปัญหา การกลับมาของนักท่องเที่ยวภายหลังจากที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดประเทศ (และมีคนไทยมากมายที่ไปเที่ยวโดยไม่สนว่าค่าตั๋วเครื่องบินและที่พักจะเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน) นั่นก็น่าจะทำให้สถานการณ์ในตอนนี้ดีขึ้นบ้างแล้วใช่ไหม?

           

คำตอบนั้นมีทั้งใช่และไม่ใช่

 

           

การกลับมาของนักท่องเที่ยวหมายถึงภาคธุรกิจที่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหลังจากซบเซาเหงาเงียบมานาน ร้านค้าคึกคัก ข้าวของขายดี ร้านอาหารคิวแน่นทะลัก

           

แต่ปัญหาของเกียวโตลึกและยากมากกว่านั้น เพราะต้นตอของวิกฤตที่เกิดขึ้นแล้ว และยังดำเนินต่อไปในทุกวันนั้นมาจาก ‘รถไฟใต้ดิน’

           

เรื่องนี้ฟังผิวเผินอาจยากจะเข้าใจ การมีระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟใต้ดินมันไม่ดีตรงไหน? ชาวเมืองหรือนักท่องเที่ยวต่างก็ใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ดีต่อสภาพแวดล้อม อากาศเมืองเกียวโตจึงได้สดชื่นไง

           

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ การมีระบบขนส่งขนาดใหญ่อย่างรถไฟใต้ดินเป็นเรื่องดีก็จริง แต่มันหมายถึงการลงทุนมหาศาลด้วยเช่นกัน ซึ่งสำหรับเมืองเกียวโตมีรถไฟใต้ดินอยู่ด้วยกัน 2 สาย หนึ่งคือสายคาราสุมะ ซึ่งเปิดใช้งานตั้งแต่ปี 1981 และอีกหนึ่งสายคือสายโตไซ

           

สายคาราสุมะถือว่าเป็นสายหลักสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะผ่านแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ทำให้มีรายได้เพียงพอที่จะดูแลตัวเองได้ ปัญหาจึงอยู่ที่สายโตไซซึ่งเป็นปัญหาตั้งแต่เริ่มอนุมัติการก่อสร้าง

           

ปัญหานั้นเริ่มตั้งแต่เรื่องใหญ่ที่สุดอย่างปัญหาเรื่อง ‘ต้นทุน’ ในการก่อสร้าง เนื่องจากเป็นรถไฟใต้ดินสายที่เกิดขึ้นใหม่ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจึงสูงมาก อีกทั้งยังเกิดอุปสรรคมากมายในการก่อสร้าง เมื่อมีการพบโบราณวัตถุในระหว่างการก่อสร้าง ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักเป็นพักๆ

           

เมื่อรวมกับการก่อสร้างในยุคฟองสบู่ ต้นทุนในการก่อสร้างจึงบานปลายมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 40% ด้วยกัน กลายเป็น 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.4 แสนล้านบาท

           

สิ่งที่แย่ที่สุดคือต้นทุนสูง แต่รายได้กลับต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก ตั้งแต่เริ่มเปิดใช้งานสายโตไซเมื่อปี 1997 ก็ไม่เคยมีตัวเลขสีเขียวให้ชื่นใจเลย เพราะนักท่องเที่ยวกลับใช้สายคาราสุมะเป็นหลักมากกว่า

           

สายโตไซจึงเผชิญกับภาวะการขาดทุนมาโดยตลอด

           

เพื่อห้ามเลือดสภาเมืองจึงต้องช่วยเหลือ แต่การกู้เงินเพื่อมาประคับประคองกิจการไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา ในทางตรงกันข้ามมันกลับเป็นการสร้างปัญหาในระยะยาวแทน

           

และที่เลวร้ายกว่านั้นคือมันไม่ได้เป็นแค่ปัญหาใหญ่ปัญหาเดียว

 

เกียวโตไม่มีสตางค์

 

เกียวโตยังมีปัญหาจากการบริหารงานที่ผิดพลาด เช่น การปรับปรุงที่ว่าการของเมืองใหม่ให้มีความทันสมัยและสวยงามขึ้น ติดตั้งบานกระจกรอบอาคารที่มีการตกแต่งกำแพงในแบบสถาปัตยกรรมยุโรป มีห้องชงชาแบบญี่ปุ่น มีรูฟท็อปด้านบน และชั้นใต้ดินที่เชื่อมกับสถานีรถไฟใต้ดิน

           

การปรับปรุงที่ว่าการเมืองใช้งบประมาณถึง 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ​ หรือกว่า 4.2 พันล้านบาท ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการใช้เงินอย่างเปล่าประโยชน์เพราะแทบไม่มีใครมาใช้

           

แต่นั่นก็ไม่เท่ากับปัญหาใหญ่ที่มองไม่เห็นทางออก เพราะมันยากจะเชื่อว่าเกียวโตเป็นเมืองที่มีปัญหาเรื่องของโครงสร้างรายได้ เพราะในความยิ่งใหญ่อันงดงามด้วยประวัติศาสตร์ของเมืองนั้น แลกมาด้วยการที่เมืองไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

           

อย่างที่เรารู้กันว่าเกียวโตเป็นเมืองหลวงเก่าที่ต้องการอนุรักษ์ไว้ ในแง่หนึ่งคือการเก็บรักษาสิ่งดีๆ เอาไว้ให้คนรุ่นต่อไป แต่ในอีกด้านคือปัญหาจุกอก เพราะภาษีก้อนใหญ่ที่จะเรียกเก็บเพื่อนำมาใช้บริหารจัดการเมือง อย่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่สามารถจัดเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

           

นั่นเป็นเพราะเกียวโตมีกฎหมายในการกำหนดความสูงของอาคารที่จะไม่ยอมให้มีการก่อสร้างอาคารสูงง่ายๆ แม้กระทั่งสถานีเกียวโตอันยิ่งใหญ่สวยงามก็เคยถูกต่อต้านมาก่อน หรือหากคิดจะต่อเติมอาคารก็จะต้องให้มีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่จะใช้สุนัข (ใช่แล้วน้องหมานี่แหละ) ในการสำรวจพื้นที่ก่อนว่ามีโบราณวัตถุฝังอยู่ใต้ดินหรือไม่ ซึ่งมันมีประเด็นตรงที่ถ้าเป็นบ้านเรือนทางการจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ แต่เป็นอาคารพาณิชย์จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด นั่นทำให้การก่อสร้างอาคารพาณิชย์ในเกียวโตยากอย่างยิ่ง

           

เมื่อไม่มีอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ก็หมายถึงความหวังในการเก็บเงินภาษีจากส่วนนี้หายไปเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเมืองหลวงใหม่อย่างโตเกียวที่มีแต่ตึกสูงมากมายเต็มไปหมด

           

ครั้นจะมาหวังพึ่งพากับภาษีท้องถิ่นที่จัดเก็บจากผู้มีรายได้ในเมืองก็ไม่มีวันเพียงพอ เพราะเกียวโตมีประชากรเพียงแค่ 1.5 ล้านคนเท่านั้น โดยที่เมืองไม่ได้มีการขยายตัวของจำนวนประชากรในแบบที่เคยคาดไว้เมื่อ 40 ปีที่แล้วด้วยซ้ำไป

           

และในจำนวน 1.5 ล้านคน ยังเป็นนักศึกษาถึง 150,000 คน หรือคิดเป็น 10% ของเมือง เพราะเกียวโตเป็นเมืองแห่งมหาวิทยาลัย นั่นหมายถึงมีคนที่เสียภาษีท้องถิ่นจริงๆ เพียงแค่ 43.1% ของเมือง น้อยที่สุดในประเทศญี่ปุ่น

           

ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวอย่างวัดวาอารามที่คนไปเที่ยวกันมากมายมหาศาลนั้น ด้วยความเป็นศาสนสถานจึงไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน ไปจนถึงเรื่องภาษีเงินบริจาค การจำหน่ายเครื่องรางของขลังต่างๆ มีเพียงแค่รายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการจำหน่ายสินค้าอย่างของที่ระลึก ค่าเช่าที่จอดรถ ค่าเช่าสถานที่ของร้านค้าเท่านั้นที่จัดเก็บภาษีได้

 

ทางรอดของเกียวโต

 

หนี้สินมหาศาลแต่รายได้น้อยนิด คือคำจำกัดความที่น่าจะเข้าใจได้ง่ายที่สุดสำหรับวิกฤตการณ์ทางการคลังของเกียวโต ซึ่งเกิดจากหนี้สินของการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ขาดทุน จนเมืองต้องนำเงินที่เตรียมไว้ใช้จ่ายสำหรับอนาคตมาอุดหนุนและสูญเสียสภาพคล่อง โดยที่ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอ

           

ดังนั้นถึงนักท่องเที่ยวจะกลับมาแล้ว และต่อให้คนเที่ยวจนเมืองแตกก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์อะไรดีขึ้นสักเท่าไร เพราะมีแค่ภาษีที่จัดเก็บได้จากก้อนภาษีท้องถิ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่มาก ขณะที่ภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้างได้เท่าๆ เดิม

           

เพื่อให้รอดพ้นจากการล้มละลายทางการคลัง เมืองเกียวโตจึงต้องออกนโยบายในการ ‘รัดเข็มขัด’ ครั้งใหญ่ เพราะไม่เช่นนั้นเกียวโตจะกลายเป็นท้องที่ที่รัฐเข้ามาจัดการในฐานะท้องถิ่นที่ต้องฟื้นฟูทางการคลัง ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้าย

           

สิ่งที่เกียวโตทำมีหลายอย่าง เริ่มจากการร่างแผนฟื้นฟูสภาพการเงินการคลังภายในระยะเวลา 5 ปี โดยในแผนหลักใหญ่อยู่ที่การควบคุมรายรับรายจ่ายอย่างเคร่งครัด ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น

 

  • ปรับลดจำนวนเจ้าหน้าที่
  • ปรับลดเงินค่าจ้าง
  • ปรับลดการอุดหนุนบัตรโดยสารของผู้สูงอายุ
  • ขึ้นราคาค่าโดยสารของระบบขนส่งสาธารณะ

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งการทำเพื่อแก้ไขปัญหาก็จริง แต่มันก็สร้างปัญหาใหม่ขึ้นอีก เพราะสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเมืองอย่างมาก เพราะกระทบต่อสวัสดิการที่ประชาชนเคยได้รับ

           

ยังมีปัญหาลึกๆ ที่น่าเป็นห่วงอย่างการปรับเพิ่มค่าเลี้ยงดูบุตร ซึ่งกระทบต่อชาวเมืองในวัยเลี้ยงดูบุตร เพราะเกียวโตเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เบอร์ 1’ เรื่องสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูบุตรและการศึกษา ปกติแล้วพี่เลี้ยง 1 คนจะดูแลเด็ก 5 คน ซึ่งถือว่าดีกว่ามาตรฐานทั่วไปของประเทศ แต่เมื่องบประมาณถูกตัดทอนก็ทำให้มีคนทยอยย้ายออก

 

           

ไม่นับเรื่องของค่าใช้จ่ายหลักอย่างค่าอสังหาริมทรัพย์ในเกียวโตที่พุ่งทะยานขึ้น หลังจากนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนด้วยการซื้อบ้านตากอากาศ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็ไม่ต่างจากในหลายประเทศ (รวมถึงไทย) คือการที่ชาวเมืองไม่สามารถสู้กับค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่นี้ได้ไหว จึงเกิดการย้ายถิ่นฐานขึ้น

           

และแน่นอนว่าถ้าคนหายไป ก็ทำให้สถานการณ์ทุกอย่างจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

           

เรียกได้ว่าสถานการณ์ของเกียวโตน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะดูเหมือนจะยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เหมือนที่ต้องเคยเข้ามาจัดการเมืองยูบาริ อดีตเมืองเหมืองถ่านหินที่เคยรุ่งเรือง ก่อนจะล่มสลายทางการคลังในปี 2006

           

แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น เกียวโตต้องพยายามดูแลตัวเองให้ดีที่สุด

           

ไม่ใช่ในฐานะเพียงเมืองที่รักของนักท่องเที่ยว ที่เต็มไปด้วย ‘ความทรงจำ’ ที่เกิดขึ้นมากมายจากอดีต

 

เกียวโตต้องอยู่ให้ได้ต่อไปถึงในอนาคต เพื่อลูกหลานของพวกเขาในวันข้างหน้าด้วย

 

ภาพเปิด: Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising