×

ธุรกิจไทยจะเปลี่ยนผ่าน เพื่อไปต่อ สู่อนาคตที่ยั่งยืนได้อย่างไร? ถอดแนวคิดของผู้บริหารระดับสูงในงาน ‘Krungsri Business Forum 2023: The Age of Transition’ [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
06.12.2023
  • LOADING...

ความผันผวนในโลกธุรกิจ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า หรือแม้แต่การมาถึงของฉากทัศน์ใหม่ในยุค AI ล้วนเป็นทั้งปัจจัยและผลกระทบต่ออนาคตของธุรกิจไทย ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจึงถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เอง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เดินหน้ายกระดับมาตรฐานธุรกิจไทยอย่างต่อเนื่อง จึงจัดงานสัมมนาครั้งใหญ่แห่งปี ‘Krungsri Business Forum 2023: The Age of Transition เปลี่ยนผ่าน เพื่อไปต่อ สร้างอนาคตสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน’ ณ ห้องฉัตราบอลรูม โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ

 

ในมุมมองของผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรธุรกิจชั้นนำ หน่วยงานภาครัฐ และผู้นำทางความคิด มองเห็นโอกาสและความน่าจะเป็นในวันที่ทุกธุรกิจต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านนี้ หลายประเด็นถูกหยิบยกขึ้นมาถกเพื่อระดมความคิด หาแนวทาง เพื่อช่วยกันผลักดันธุรกิจไทยให้สามารถเดินหน้าสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนได้

 

ทุกประเด็นที่น่าสนใจ THE STANDARD สรุปให้ในบทความนี้ 

 

 

เคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ตอกย้ำคำมั่นสัญญา ‘Make Life Simple’ ‘ชีวิตง่าย ได้ทุกวัน’ ให้กับทุกคน รวมถึงลูกค้าธุรกิจให้สามารถสร้างโอกาสที่จะไปต่อสู่การขยายธุรกิจและการเติบโตแบบทั่วถึงและยั่งยืน 

 

“กรุงศรีพร้อมให้การสนับสนุนลูกค้าธุรกิจด้วยบริการ นวัตกรรม เทคโนโลยี ผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งครอบคลุมไปทั่วภูมิภาคให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะโอกาสในอาเซียน ซึ่งถือเป็นขุมพลังแห่งการเติบโตแห่งอนาคต ภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1. ยกระดับฐานะของกรุงศรีในภูมิภาคอาเซียน ผนึกกำลังธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ One Krungsri 2. ขับเคลื่อนแนวทาง ESG มุ่งเป้าสู่ความยั่งยืน นอกจากการประกาศเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงานของธนาคารภายในปี 2030 กรุงศรีพร้อมสนับสนุนลูกค้าธุรกิจให้สามารถเปลี่ยนผ่านและดำเนินงานตามแนวทาง ESG รวมถึงการให้เงินสนับสนุน การมอบสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสีเขียว ธุรกิจเพื่อสังคม และธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และ 3. สร้างการเติบโตทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม ด้วยการลงทุนต่อเนื่องในโครงการพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรม หรือการสร้าง Innovation Hub ศูนย์กลางนวัตกรรมสร้างสรรค์ชุมชนสายเทค เพื่อเข้าถึง Tech Talent ทั่วประเทศให้มีโอกาสมาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงกับกรุงศรี” 

 

ภูมิทัศน์ธุรกิจจากมุมมองของคนต่างยุคสมัย


อะไรคือปัจจัยที่มีผลต่อภูมิทัศน์ธุรกิจ การเกิดขึ้นของสงครามการค้าจะเปลี่ยนไปสู่สงครามเทคโนโลยีหรือไม่ เช่นนั้นแล้วประเทศไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะในตลาดอาเซียนหรือไม่ และทิศทางจะเป็นอย่างไร สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย Monetary Policy Committee, Bank of Thailand and Former MD of Sea Group ได้ร่วมแสดงทัศนะจากมุมมองของคนสองเจเนอเรชันได้อย่างน่าสนใจ

 

 

สุทธิชัยเชื่อว่าโลกเข้าสู่ภาวะผันผวนรวนเร ไม่มีใครสามารถทำนายได้ว่าทิศทางธุรกิจจะเป็นอย่างไร และข่าวร้ายสำคัญของคนยุคใหม่คือเมื่อ AI เข้ามามีบทบาท คนรุ่นเก่าไม่จำเป็นต้องส่งต่อธุรกิจให้กับคนรุ่นหลัง 

 

“คำว่า Transition จะเปลี่ยนไป จากเดิมเป็นการส่งไม้ต่อให้รุ่นต่อไป แต่นับจากนี้คนรุ่นผมจะอยู่ต่อได้โดยมี AI มาช่วยทำงาน คำว่า Transition จะกลายเป็นคนสองเจเนอเรชันต้องวิ่งไปด้วยกัน”  

 

 

ดร.สันติธาร หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ Sea Group เห็นในทิศทางเดียวกัน เขาบอกว่า แม้ว่าความสามารถของ AI จะเก่งกาจขึ้นจนอาจมาทำหน้าที่แทนคนในหลายบทบาท แต่หากมองอีกมุม AI ทำให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีง่ายมากขึ้น 

 

“ความยากของโลกอนาคตคือเทรนด์ต่างๆ มันทับซ้อนกัน เริ่มมีการคุยกันในกลุ่มคนเทคระดับโลกเสนอให้ทำ AI Governance เพื่อควบคุมให้เทคโนโลยีปลอดภัย แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือระเบียบโลกกำลังเปลี่ยน เอเชียเริ่มมีอำนาจมากขึ้น จีนมีอำนาจท้าทายอเมริกา สิ่งที่ตามมาคือความขัดแย้ง เกิดสงครามการค้า สงครามการเงิน สงครามเทคโนโลยี และสงครามระหว่างประเทศ คำถามคือ ในยุคที่เกิดสงครามเช่นนี้ อเมริกาหรือจีนจะชะลอการพัฒนา AI หรือ? ไม่มีทาง ทุกคนต้องเสี่ยง ต้องกล้าลงทุน เพราะอยากได้ AI Super Power แต่โอกาสที่จะใช้ AI ผิดทางก็สูงขึ้นตามไปด้วย”  

 

 

อีกประเด็นที่ต้องใช้ความร่วมมือระดับโลกเช่นกันคือเรื่องของ ‘Sustainability-First’ ซึ่งคนที่กดดันให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนที่สุดคือนักลงทุนที่มีเกณฑ์การลงทุนในธุรกิจสีเขียว รวมถึงผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น 

 

สุทธิชัยกล่าวเสริมว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ และคนกลุ่มนี้ก็ยังอยากที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม แล้วจะปรับตัวอย่างไรเพื่ออยู่ร่วมกันได้และไม่เป็นภาระกับคนรุ่นหลัง  

 

ดร.สันติธาร มองว่าคนยุคใหม่ต้องมี 2 รู้ คือ ‘รู้จักโลก’ และ ‘รู้ทันโลก’ คนรุ่นใหม่ได้เปรียบเรื่องรู้ทันโลก แต่ยังไม่พอ ต้องใช้ประสบการณ์ ความเก๋าในการตัดสินใจ ทักษะการรู้จักโลกต้องมาจากรุ่นใหญ่ 

 

“ผมคาดหวังให้คนรุ่นหลังมี Empathy เอาใจเขามาใส่ใจเราและไม่ทอดทิ้งความเป็นมนุษย์ ผมกลัวว่าคนรุ่นหลังจะกระโดดเข้าสู่โลกเทคโนโลยีจนลืมไปว่าท้ายที่สุดมนุษย์ยังต้องมีปฏิสัมพันธ์” สุทธิชัยกล่าว พร้อมชวนคุยถึงอนาคตของเศรษฐกิจไทยโดยมี ‘อาเซียน’ เป็นหมากสำคัญ 

 

“ตอนนี้เป็นยุคที่อาเซียนกำลังเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะธุรกิจต่างๆ เริ่มลดการลงทุนในจีน มีการย้ายฐานการผลิตมาที่อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย” ดร.สันติธาร กล่าว 

 

สุทธิชัยชี้ให้เห็นว่า สงครามในตะวันออกกลาง ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ เกาหลีเหนือ ไต้หวัน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่ “อาเซียนเป็นจุดที่สงบที่สุด และไทยมีประวัติศาสตร์นโยบายที่สันติที่สุด ผมเชื่อว่าอนาคตไทยน่าจับตา แต่ต้องจัดแจงระบบในบ้านให้ดี” 

 

 

อาเซียนขุมพลังการค้า: ถอดบทเรียนและความท้าทาย

 

อีกไม่กี่อึดใจก็จะก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ความท้าทายของธุรกิจไทยจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยถึงความท้าทายในธุรกิจรีเทลยังคงได้รับผลกระทบจากแรงกดดันของวิกฤตโควิด-19 ในหลากหลายมิติ ขณะเดียวกันความยืดเยื้อของสงครามยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะส่งผลกระทบให้แง่บวกหรือลบ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น

 

 

“หลายคนบอกนี่คือวิกฤตซ่อนวิกฤต แต่มันอาจจะเป็นโอกาสซ่อนโอกาสก็ได้ เป็นโอกาสที่เราจะสร้างธุรกิจให้แข็งแรงยิ่งขึ้นหรือเติบโตไปยังต่างประเทศ ดังนั้นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองก่อน เพื่อให้ธุรกิจพร้อมปรับตัวและมีความยืดหยุ่นต่อทุกการเปลี่ยนแปลงด้วยวัคซีน 3 เข็ม

 

“เข็มแรก วัคซีนตัวเบาด้วยกลยุทธ์ 3C ได้แก่ ‘Cost’ บริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ‘Capex’ เน้นการลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสุดท้าย ‘Cash Flow’ ขยายขีดความสามารถในการจัดการเงินทุนหมุนเวียน เพิ่มกระแสเงินสดสำหรับสร้างการเติบโตทางธุรกิจ

 

“เข็มที่สอง สร้างการเติบโตผ่าน 3E ได้แก่ Expand Existing Business ขยายธุรกิจหลักให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง, Extend from Core เพิ่มกลุ่มธุรกิจใหม่จากจุดแข็งที่มีอยู่ และ Explore New Business ขยันหาตลาดใหม่ ธุรกิจใหม่ โอกาสใหม่ ก่อนใคร 

 

“เข็มที่สาม ทำตัวให้ยั่งยืน เพราะเราไม่สามารถเติบโตเพียงลำพังได้ การจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งนั้นต้องเติบโตไปพร้อมกับผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

“ลองเช็กว่าตอนนี้ธุรกิจของคุณพร้อมใน 4 เรื่องหรือยัง ได้แก่ 1. คนในองค์กรต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนหรือไม่ 2. ความพร้อมในเรื่องของเงิน  3. มีพาร์ตเนอร์ที่พร้อมจะสนับสนุนและเติบโตไปด้วยกัน และ 4. พร้อมสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน เพื่อให้โลกยั่งยืนและส่งต่อให้คนรุ่นหลัง” 

 

 

ด้าน ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองว่าศักยภาพตลาดอาเซียนมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เห็นได้จากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน 4.6% เทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกประมาณ 3% 

 

“GO ASEAN เป็นกลยุทธ์เรือธงของกรุงศรี โดยกรุงศรีมองว่าอาเซียนเป็นตลาดที่มีศักยภาพ จำนวนประชากรที่มากถึง 685 ล้านคน ซึ่ง 61% เป็นคนหนุ่มสาว เพิ่มโอกาสให้กรุงศรีมีลูกค้าใหม่นอกประเทศ นอกจากนี้เรายังสามารถช่วยลูกค้ากรุงศรีในเรื่องของ Cross-border Business” 

 

แล้วกรุงศรีมีความพร้อมแค่ไหน? ไพโรจน์บอกว่า กรุงศรีพร้อมในเรื่อง ‘ความสามารถ’ ความเชี่ยวชาญเรื่องของ Consumer Finance รวมถึงศักยภาพเรื่อง Corporate Finance โดยมี MUFG เป็นพาร์ตเนอร์สำคัญ และยังมีเครือข่าย 9 ประเทศในอาเซียนให้การ GO ASEAN เป็นเรื่องง่าย” 

 

ไพโรจน์บอกถึงเป้าหมายของกรุงศรีที่ต้องการมุ่งสู่การเป็น Center of Excellence หรือหมุดหมายให้ธุรกิจไทยได้ต่อยอดโตไกลในอาเซียน ด้วยความเชี่ยวชาญและเครือข่ายที่มี

 

เมื่อถามถึงบทเรียนที่ได้ของเซ็นทรัล รีเทล ในวันที่โตไกลในต่างแดน ญนน์บอกว่า “ที่เซ็นทรัล รีเทลอยากไปต่างประเทศ เพราะในเมืองไทยมีประชากรอยู่ 70 ล้านคนและเริ่มลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่โครงสร้างเริ่มมีปัญหาเพราะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จากนั้นก็เริ่มมองว่ามีประเทศใกล้บ้านประเทศไหนที่ความสามารถของเราพอจะเข้าไปทำธุรกิจได้ สุดท้ายมาจบที่เวียดนาม เพราะไทยกับเวียดนามเป็นมิตรกัน ประชากรสองประเทศรวมกันมากกว่า 170 ล้านคน แปลว่ามันมี Size & Scale และเมื่อดูความชำนาญของเราก็คิดว่าพอไปได้” 

 

ความท้าทายในการเข้าตลาดเวียดนามคือการปรับตัวเองให้เข้ากับคนพื้นที่ เข้าใจนโยบาย ข้อกฎหมาย และพฤติกรรมของประชาชน เรื่องต่อมาคือไม่ว่าเราจะเก่งอย่างไรก็ตาม แต่เราก็ไม่มีทางเก่งสู้คนในพื้นที่ได้ ต้องหาพาร์ตเนอร์หรือซื้อกิจการ สุดท้ายก็เข้าซื้อ Big C  

 

“เราได้บทเรียนสำคัญมา ด้วยความเชื่อมั่นว่าเราเก่งเรื่องแฟชั่น แต่กลายเป็นคนเวียดนามยังไม่รู้จักแฟชั่นคืออะไร ถึงเราจะเชี่ยวชาญ แต่ตลาดไม่พร้อมก็ไปไม่ได้ เราจึงหันมาสนใจตลาดแมส จับธุรกิจอาหาร สร้างศูนย์การค้า และโฟกัสเรื่องบ้านหลังที่สองของคนเวียดนาม นี่เป็นสูตรสำเร็จที่ทำให้เซ็นทรัล รีเทล ขยายธุรกิจได้ครอบคลุม 40 จังหวัดภายใน 10 กว่าปี

 

“การทำธุรกิจคือความไว้วางใจ เราจึงสร้าง Platform of Trust ที่พยายามพาแบรนด์ไทยไปอยู่บนแพลตฟอร์มคนไทยด้วยกัน สำหรับเวียดนามมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก”

 

 

ด้านกรุงศรีเองก็ได้บทเรียนสำคัญจากการผนึกกำลังธุรกิจต่างๆ ใน 6 ประเทศอาเซียน “บทเรียนแรกคือต้องมีคนของกรุงศรีเข้าไปช่วยบริหารในประเทศนั้นๆ เป็นการวัดผลอีกทางว่ากลยุทธ์การทำงานร่วมกันเป็นไปตามแผนหรือไม่ บทเรียนต่อมาคือมันทำให้เราไม่มองข้ามรายละเอียดบางอย่างที่สำคัญ เช่น ในทุกประเทศต้องมีวัฒนธรรมของกรุงศรีที่เชื่อมทุกคนไว้ด้วยกัน เพราะเราเชื่อในเรื่อง Core Value ดังนั้นคนกรุงศรีที่เข้าไปทำหน้าที่ตรงนั้นต้องช่วยปิดช่องว่างความต่างทางวัฒนธรรม

 

“ประสบความสำเร็จในเมืองไทยก็ใช่ว่าจะ Plug & Play ไปใช้ที่อื่น กรุงศรีก็เคยทำก็ไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่เรียนรู้ก็คือมันต้องมีการปรับแต่ง” ไพโรจน์กล่าว 

 

“เรื่องการบริหารต้นทุนและบุคลากร เวลาไปอาเซียนต้องไปจับมือกับพาร์ตเนอร์ในประเทศ เราไม่เริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์ อย่าลืมว่าพาร์ตเนอร์เขามีลูกค้า มีฐานการผลิตอยู่แล้ว เราก็สามารถเริ่มต่อยอดธุรกิจได้เลย ปัจจัยใหญ่คือคนพื้นที่ที่มีความสามารถและรู้จักตลาดเป็นอย่างดี ทำให้เราบริหารต้นทุนเรื่องคนได้ดี ลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจลงได้เยอะ” ไพโรจน์กล่าว 

 

เป้าหมายต่อไปของกรุงศรีคือการมองหาโอกาสให้กับนักลงทุนไทย ลูกค้าธุรกิจที่จะไปหาโอกาสในอาเซียน โดยจัดตั้งหน่วยงานที่ชื่อ ASEAN LINK ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับคู่ค้าและลูกค้า พร้อมจับคู่ธุรกิจให้ด้วย ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทใหญ่ๆ SMEs เราก็พร้อมจะช่วย โดยมี Krungsri Business Link แพลตฟอร์มการจับคู่ระหว่างคู่ค้าและสมาชิกได้เปิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจในรูปแบบ B2B 

 

 

อนาคตของเทคโนโลยีดิจิทัล

เวทีไฮไลต์ที่ผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากให้ความสนใจคงหนีไม่พ้นการเสวนาของ 4 ผู้นำองค์กรในหัวข้อ ‘อนาคตของเทคโนโลยีดิจิทัล’ ที่ได้พูดคุยตั้งแต่เรื่องของทิศทางและนวัตกรรมปี 2030 เพื่อธุรกิจในด้านต่างๆ, ความสำคัญของ ChatGPT ในฐานะเครื่องมือที่ช่วยติดปีกให้กับธุรกิจจะมีอะไรน่าสนใจในอนาคต และจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคนและ AI ผสานพลังร่วมสร้างนวัตกรรม ไปจนถึงแนวทางการจัดการ Privacy และ Cyber Security

 

 

ดร.สันติธาร เปิดเวทีเสวนาพร้อมชี้ให้เห็นว่า นับจากนี้ไปยุค Digital Economy จะเกิดวิกฤตโมเดลใหม่ ได้แก่

 

Digital การใช้ดิจิทัลจะกลายเป็นเรื่องปกติ, AI: ChatGPT จะเป็นตัวเปลี่ยนโลก และ Unbundling จะเป็นเรื่องสำคัญกับธุรกิจ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ทำให้แต่ละสินค้าและบริการสามารถขายแยกได้ ทำให้เกิดการแข่งขันจากทุกทาง คู่แข่งที่น่ากลัวอาจจะเป็นคู่แข่งที่มองไม่เห็น 

 

 

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์และสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัท ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย MQDC คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 เทคโนโลยีที่ยังคงอยู่และจะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ 

 

  • Augmented Intelligence จากนี้ไป AI จะเข้ามาช่วยเหลือคนมากกว่าที่จะมาแทนที่คน ให้เราเก่งขึ้น ง่ายขึ้น ฉลาดขึ้น “มีการคาดการณ์ไปว่าภายในปี 2030 งานกว่าครึ่งไม่ใช่งานที่เคยมีอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน เช่น Personal Data Broker หรือ AI Bias Audit หมายความว่าเราจะเห็น AI ขยายไปในวงกว้างมากขึ้น ตอนนี้เราอยู่ในโลกของ Artificial Narrow Intelligence หรือ AI ที่เก่งเฉพาะทางมากๆ ตอนนี้เริ่มมี Artificial General Intelligence สามารถทำได้ทุกอย่าง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของมนุษย์และการทำงานมากขึ้น  
  • Extended Reality เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า Internet of Things วันนี้อยากให้จับตา Internet of Senses ความรู้สึก ความสัมพันธ์ ที่จะนำไปสู่ Internet of Behavior เช่น นวัตกรรมที่สามารถส่งกลิ่น รส หรือสัมผัสผ่านทาง Digital Device ได้ เช่น อาหารในจานรสชาติจืดชืด แต่เมื่อใช้ตะเกียบคู่นี้อาหารจะมีรสชาติจัดจ้านขึ้น สิ่งนี้มาตอบโจทย์เรื่องสุขภาพเพื่อให้คนลดการกินโซเดียม แต่ก็ยังอยากได้รสสัมผัสเช่นเดิม 
  • Printing Technology อย่าง MQDC เองในฐานะที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ การใช้ Printing Technology จะช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น ต้นทุนถูกลง หรือหากดูใกล้ตัวมากขึ้น มีสถิติว่า 90% ของโรงพยาบาลระดับ Top 50 มีการใช้ Printing Technology เพื่อสร้างต้นแบบที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะหรือกระดูก หรือในอุตสาหกรรมอาหาร Printing Technology ถูกนำมาใช้ในการตกแต่ง 
  • Carbon Capture & Storage สิ่งนี้จะเป็นเทรนด์ในการลงทุนและเรื่องของการสร้างนวัตกรรม จากเดิมที่เคยมีผู้เล่นหลักอย่างอเมริกา ตอนนี้ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกาเริ่มลงทุนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเอเชีย 
  • Reverse Aging ไม่ใช่แค่คงความอ่อนวัย แต่ลงลึกไประดับเซลล์เพื่อย้อนวัย ตอนนี้ทั้งโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีการคาดการณ์ว่าถ้ามีชีวิตยืนยาวได้ 1 ปี แบบแข็งแรงและทำงานได้ จะสามารถสร้างมูลค่าทางการเศรษฐกิจได้ 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และถ้าอยู่ได้อีก 10 ปี โดยที่มีสุขภาพที่ดี มี Productivity สูง ก็ยิ่งเพิ่มมูลค่าทางการเศรษฐกิจให้สูงขึ้น 
  • Space Technology ในฐานะที่เป็น MQDC เราสร้างบ้าน ถ้าเรามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างบ้านในพื้นที่แบบ Microgravity (สภาวะเกือบไร้แรงโน้มถ่วง) เราจะมีความคิดความสามารถอย่างไร จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงทำความเข้าใจสิ่งนี้ ปัจจุบันจะเห็นผู้เล่นเข้ามามากขึ้น อย่าง UAE, อินเดีย, ชิลี หรือ EU เข้ามาลงทุนมหาศาล อาจจะเป็นเรื่องของน่านน้ำใหม่ เป็นการล่าอาณานิคมรูปแบบใหม่ 

 

 

เทคโนโลยีแห่งอนาคตส่งผลให้ธุรกิจการเงินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และกรุงศรีเองเตรียมรับมืออย่างไรนั้น สายสุนีย์ หาญประเทืองศิลป์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านนวัตกรรมดิจิทัลและข้อมูล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บอกว่า “กรุงศรีมีทีมวิจัยที่ดูเรื่องเทคโนโลยีและเทรนด์ ที่เห็นกันมาตลอดไม่ว่าจะเป็นเรื่อง AI, Automation, Blockchain, Immersive Technology, Cloud Computing, IoT และ Zero Trust

 

“เทคโนโลยีที่เราทำอยู่และพร้อมจะเดินหน้าต่อในปี 2024 ที่แน่ๆ คือเรื่อง AI ปัจจุบันเราใช้ AI เข้ามาช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต่อมาคือเรื่อง Cloud Computing ปัจจุบันมีหลายแอปพลิเคชันของกรุงศรีที่ทำงานอยู่บน Cloud และสิ่งที่เราสนใจเหมือนกันคือเรื่อง Automation ซึ่งจะมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการกับลูกค้าเร็วขึ้นกว่าเดิมและผิดพลาดน้อยลง อีกเรื่องก็คือ IoT ธนาคารเองก็เริ่มมาดูกลุ่มลูกค้าที่ใช้โดรนในการมอนิเตอร์การปลูกข้าว”

 

สายสุนีย์ยังบอกด้วยว่า นอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สิ่งที่กรุงศรีให้ความสนใจไม่แพ้กันคือเรื่อง Empathy ของลูกค้า 

 

“เราบอกเสมอว่าลูกค้าต้องมาก่อน ต้องเข้าใจลูกค้าให้มากขึ้น ดังนั้นแนวทางของเราต่อจากนี้จะเป็นลักษณะของ Empathy Driven ต้องลงทุนเรื่องการศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี การที่เราจะเติบโตไปกับลูกค้าและทำให้ลูกค้าเติบโตต่อไปได้ เราเองก็ต้องเข้าใจลูกค้าเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนวัตกรรมหรือแพลตฟอร์มต่างๆ จะต้องมีเรื่องของประสบการณ์เป็นที่ตั้ง แต่การจะทำอย่างนั้นได้ต้องใช้ข้อมูลของลูกค้าที่เรามีอยู่ในมือมาวิเคราะห์ เพื่อเข้าใจถึง Moment in Life จึงจะสามารถออกแบบโปรดักต์และโซลูชันที่ตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง”

 

 

สำหรับประเด็นที่ว่าความฉลาดของ AI จะช่วยภาคธุรกิจได้อย่างไรนั้น เชาวลิต รัตนกรไกรศรี รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายเทคโนโลยีและโซลูชั่นองค์กร บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เชื่อว่า AI เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ Gen AI 

 

“การมาของ Gen AI มันเหมือนช่วงเวลาที่เราเริ่มมีอินเทอร์เน็ตหรือสมาร์ทโฟนครั้งแรก นี่คือการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ และเป็นเรื่องน่ายินดีที่วันนี้ AI และ Cloud เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนเข้าถึงได้ หากคุณอยากขยับไซส์องค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ต้อง ‘Do more with less’ คือการทำให้กระบวนการซับซ้อนน้อยลง แต่ Productivity มากขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าคุณไม่ใช่ AI” 

 

แล้วถ้าต้องการนำ ChatGPT มาใช้ในธุรกิจเพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืนต้องทำอย่างไร 

 

เชาวลิตเล่าตัวอย่างของธุรกิจที่ใช้ ChatGPT ในการสร้างข้อความโฆษณา “Gen AI ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่ามันเป็น AI ที่สามารถ Generate สิ่งต่างๆ ขึ้นมาได้ เช่น GPT เปรียบเทียบได้กับสมองของมนุษย์ ที่สามารถให้คำสั่งและ Generate เป็นคำตอบกลับมาได้ เชื่อว่าทุกองค์กรอยากทำความเข้าใจว่าลูกค้ามีฟีดแบ็กอย่างไร เพื่อนำฟีดแบ็กมาเขียนเป็นข้อความโฆษณาเพื่อดึงดูดลูกค้า พอเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคืออ่านไม่ไหว แต่ก็มีบริษัทรถเช่าที่นำ Gen AI มาช่วยสรุปฟีดแบ็กแล้ว Generate เป็นข้อความโฆษณาที่ตรงใจลูกค้าโดยใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่วัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและมีผลกระทบกับธุรกิจของคุณ” 

 

 

ประเด็นสุดท้ายที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากคือเรื่องของแนวทางการจัดการ Data Privacy และ Cyber Security ดร.สันติธาร แนะคนทำธุรกิจจำเป็นต้องรู้ Digital Literacy ใน 3 ระดับ

 

“ระดับแรกคือคุณต้องมีภูมิคุ้มกัน มีความรู้พื้นฐานว่าข้อมูลจะถูกนำไปใช้อย่างไร และจะรู้ทัน AI ได้อย่างไร ระดับที่สองคือทักษะในการดีไซน์ให้โปรดักต์ตอบโจทย์และวางระบบการใช้งานให้ลงตัว ต้องออกแบบได้ว่าตรงไหนให้คนทำ ตรงไหน AI สามารถช่วยได้ เป็นการดีไซน์กระบวนการ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ ธนาคาร เฮลท์แคร์ บางอย่าง AI อาจจะทำได้ดีมาก แต่บางเรื่อง Human Touch ยังจำเป็น และระดับสุดท้ายคือ Domain Expertise หรือความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ จะสำคัญยิ่งกว่าเดิม เพราะ AI ผิดพลาดได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเกิดข้อผิดพลาด ตรงนี้เองที่ผู้เชี่ยวชาญจะเข้ามาตรวจสอบและแก้ไขความถูกต้อง” 

 

ดร.การดี ให้ข้อสรุปว่า เทคโนโลยีแห่งอนาคตจะส่งผลต่อเรื่องเหล่านี้อย่างมาก โดยเฉพาะเจเนอเรชันถัดไป อาจต้องสอนคนเจน Alpha ให้รู้เท่าทันเรื่องของการให้ Personal Data มากขึ้น 

 

“เรื่อง Data Privacy มองในฐานะผู้ใช้งานข้อมูลควรจะต้องเป็นของเรา แต่วันนี้หลายแอปขอความยินยอมในการให้ข้อมูล เพื่อจะได้บริการที่ดีมากยิ่งขึ้น แต่ปัจจุบันมันมีความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ว่าธุรกิจไม่สามารถเอาข้อมูลของเราไปหาผลประโยชน์ อีกมุมหนึ่งที่น่ากังวลคือทุกวันนี้คนที่เป็นเจ้าของ Big Data คือองค์กรขนาดใหญ่ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยเป็นผู้ใช้แพลตฟอร์มขององค์กรเหล่านั้น เท่ากับว่าคนที่มี Data จะเป็นคนกำกับดูแลทุกอย่าง จะไม่ใช่เรื่องของประเทศ แต่เป็นเรื่องของการนำพาคนที่อยู่บนแพลตฟอร์มเราให้คิดเหมือนกัน มีความต้องการเหมือนกัน มีพฤติกรรมเหมือนกัน ถ้าพูดเรื่องภาวะความมั่นคง เรื่องนี้น่ากังวลมากเช่นกัน” 

 

ทั้งหมดนี้คือประเด็นสำคัญที่จะช่วยให้คนทำธุรกิจมองเห็นภาพอนาคตได้กว้างขึ้น หรืออย่างน้อยก็พอจะเห็นวิธีการใช้เครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีหรือพาร์ตเนอร์ในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ เพื่อไปต่อ สร้างอนาคตสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน 

 

สำหรับผู้ที่สนใจอยากชมงานสัมมนา Krungsri Business Forum 2023: The Age of Transition ย้อนหลัง ติดตามได้ที่เพจ Krungsri Business Empowerment

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising