×

กรุงไทยตั้งทีม ‘Financial Crime’ ปราบโกงบนออนไลน์-ออฟไลน์เริ่ม 15 ธ.ค. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
08.12.2020
  • LOADING...
กรุงไทยตั้งทีม ‘Financial Crime’ ปราบโกงบนออนไลน์-ออฟไลน์เริ่ม 15 ธ.ค. นี้

พงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมาย ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ทางธนาคารกรุงไทยจะตั้งทีม Financial Crime (อาชญากรรมทางการเงิน) ขึ้นใหม่ และเริ่มดำเนินการในวันที่ 15 ธันวาคม 2563 นี้ จากที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานความเสี่ยงที่มีอยู่เดิม

 

ทั้งนี้ทางธนาคารให้ความสำคัญและตั้งทีม Financial Crime เพื่อให้องค์กรสามารถบริหาร คัดกรอง และเท่าทันกลโกงในยุคปัจจุบัน รวมถึงการเข้าระงับการทุจริตให้เร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายขององค์กรได้ตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าโครงสร้างหลักของหน่วยงานจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

 

  • Prevent การป้องกันไม่ให้เกิดทุจริต ผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น ระบบการคัดกรอง ตรวจสอบข้อมูล เอกสารต่างๆ เพื่อตรวจสอบข้อมูลจริง ฯลฯ 
  • Detect กระบวนการติดตามในแต่ละขั้นตอน หรือตรวจสอบในทุกกระบวนการให้มีความชัดเจน และถูกต้อง 
  • Investigate การสืบสวนและตรวจสอบเป็นส่วนที่จะเกิดขึ้นหลังจากเกิดกรณีขึ้นมา และจะทำให้องค์กรเข้าจัดการและหยุดกระบวนการทุจริตให้เร็วที่สุด

 

ขณะที่อยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างในการจัดการกรณีทุจริตทั้งกระบวนการเพื่อจะเริ่มต้นอย่างตรงจุด โดยคาดว่าส่วนที่สามารถทำได้เร็วที่สุดคือการสืบสวน เพราะปัจจุบันมีอยู่แล้ว แต่จะหาเครื่องมือใหม่ๆ ในการตรวจสอบให้เร็วขึ้นอย่างไร

 

“ส่วนยากที่สุดคือ Prevention เพราะส่วนนี้ต้องสร้างความเข้าใจทั้งหน้าบ้านและและผู้อนุมัติ  เมื่อเจอส่วนที่น่าสงสัยจะต้องมาเช็กกับเรา ดังนั้นเราจะต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบ สุ่ม ฯลฯ ต้องทำอีกเยอะเลย”

 

ปัจจุบันรูปแบบการโกงมีทั้งขบวนการที่ก่ออาชญากรรม (Organized Crime) ซึ่งจะสร้างกระบวนการทุจริต ส่วนใหญ่จะมีหัวหน้าแก๊ง หรือเป็นรูปแบบฉ้อโกงที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงตัวผู้ได้รับผลกระทบ เช่น กรณีขบวนการฉ้อโกงบัตรเครดิตที่เกิดขึ้น 

 

นอกจากนี้รูปแบบการฉ้อโกงในรายย่อย เช่น สินเชื่อบ้านที่คนร้ายไปหานอมินี เพื่อใช้ชื่อในการขอสินเชื่อและไม่ผ่อนชำระ การใช้เอกสารปลอมเพื่อทำธุรกรรรม ฯลฯ หรือปัจจุบันที่มีมาตรการของรัฐในหลายด้าน เชื่อว่าจะมีคนพยายามหาพยายามใช้ช่องว่างเพื่อหาประโยชน์  ซึ่งหากการฉ้อโกงรายเล็กเกิดขึ้นจำนวนมากมูลค่าความเสียหายอาจมีจำนวนมากขึ้น

 

“กรณีเอกสารปลอม บางส่วนธนาคารจัดไปอยู่ส่วนหนี้เสีย ไม่ได้เป็น Fraud เช่น แบงก์อื่นมองว่า ถ้าใช้เอกสารทุจริตแล้วไม่จ่ายชำระหนี้ แบงก์จะคิดเป็นลูกค้าหนี้เสีย ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการทุจริตไม่ชัดเจน ดังนั้นเราจะทำให้เห็นชัดเจนว่าเกิดจากอะไร ซึ่งถ้าแบบเดิมจะมองว่าเป็นปัญหา Credit Collection”

 

ดังนั้นงานของทีม Financial Crime คือการปิดช่องว่างเหล่านี้ให้หมด ซึ่งปัจจุบันดิจิทัลจะช่วยให้ทุกอย่างเร็วขึ้น และข้อมูลที่มาจะได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้กระบวนการตรวจสอบมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบต่างๆ ควรทำให้การหยุดการทุจริตได้เร็วขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม การทำเรื่องการฉ้อโกงให้ชัดเจน จะช่วยประหยัดต้นทุนและลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ โดยบางธนาคารสามารถลดความเสียหายได้ตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันล้านบาทต่อปี ซึ่งขึ้นอยู่กับโครงสร้างธุรกิจของแต่ละธนาคาร โดยส่วนใหญ่แล้วหากธนาคารใดมีสัดส่วนสินเชื่อมาก มีโอกาสที่จะเจอเคสมากตามไปด้วย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising