×

ครูบาบุญชุ่ม: ปรากฏการณ์ความหลากหลายทางความเชื่อและวัฒนธรรม

02.08.2022
  • LOADING...
ครูบาบุญชุ่ม

HIGHLIGHTS

  • หากจะตอบคำถามว่าเหตุใดคนจำนวนมากถึงเคารพศรัทธาครูบาบุญชุ่ม หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยต่างๆ
  • คำตอบคือไม่ใช่เพราะเขาเหล่านั้นโง่หลงเชื่อ แต่คำตอบคือภาพลักษณ์ ไม่ว่าจะทั้งวัตรปฏิบัติและคำสอนของครูบาบุญชุ่มนั้น ได้โอบอุ้มอัตลักษณ์ความหลากหลายทั้งวัตรปฏิบัติ ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม รวมถึงตัวคำสอนของครูบาบุญชุ่มก็มีลักษณะของการโอบอุ้มความเป็นชายขอบของผู้คน กลุ่มชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยต่างๆ

ครูบาบุญชุ่มกับเหตุการณ์หมูป่าถ้ำหลวง

 

ครูบาบุญชุ่ม

 

หลายคนอาจจะเพิ่งเคยรู้จักครูบาบุญชุ่ม ตอนเหตุการณ์ถ้ำหลวงดอยนางนอนหลายปีที่ผ่านมา ท่านคือบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่ญาติของเด็กที่ติดอยู่ในถ้ำกว่า 13 ชีวิตที่มีเชื้อสายไทใหญ่หรือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เรียกร้องให้ท่านเข้ามาช่วยเหลือในวันที่ทุกคนแทบจะไร้ความหวังในการค้นหาเด็ก 

 

ในวันที่ท่านมาถึง ท่านกลับพูดในทำนองที่ว่าเด็กทุกคนยังปลอดภัย และอีก 2-3 วันจะพบเด็ก คำกล่าวนี้อาจจะมองได้ใน 2 มุมมอง คือ 

 

  1. หลายคนเชื่อและมองว่าเป็นการหยั่งรู้ด้วยญาณวิเศษของท่าน ผู้ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นตนบุญผู้นำจิตวิญญาณของเขา หรือ 

 

  1. มองว่าเป็นการให้ความหวังและกำลังใจจากบุคคลที่ทุกคนเชื่อว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นตนบุญของพวกเขา

 

และจะด้วยความบังเอิญหรือไม่อย่างไร ภายใน 2-3 วันที่ท่านกล่าวไว้นั้นก็ปรากฏว่านักดำน้ำถ้ำที่เข้าไปช่วยกันค้นหาเด็ก ก็เจอเด็กติดอยู่ในถ้ำจริงๆ 

 

เป็นเหตุให้เกิดเรื่องราวความเชื่อเล่าขานอะไรต่อมิอะไรถึงความศักดิ์สิทธิ์ของครูบาบุญชุ่ม หรือความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นระหว่างตัวครูบาบุญชุ่มกับเจ้าแม่นางนอน ที่เชื่อกันว่าเคยมีความสัมพันธ์กันมาในอดีตชาติก็ตาม เรื่องราวเหล่านี้ถูกกล่าวขานออกไปหลายมิติ ทั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการอวดอุตริ ถูกล้อเลียน บ้างก็เชื่อว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์จริง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักของคนจำนวนมากขึ้น 

 

ครูบาบุญชุ่ม

 

ครูบาบุญชุ่มออกถ้ำ 3 ปี 3 เดือน 3 วัน

 

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (1 สิงหาคม) ถือเป็นวันครบกำหนดออกถ้ำ หลังจากที่ท่านได้ปลีกวิเวกเข้าถ้ำกว่า 3 ปี 3 เดือน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2562 ที่ถ้ำเมืองแก็ด ประเทศเมียนมา มีผู้คนจำนวนกว่าหลายหมื่นคนเข้าร่วมสักการะบูชาครูบาบุญชุ่ม ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทใหญ่ ไทลื้อ กลุ่มชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ จำนวนมาก ที่อยู่แถบทางตอนเหนือของประเทศเมียนมา สปป.ลาว และคนภาคเหนือของไทย

 

หากจะกล่าวถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่มีปฏิบัติสัมพันธ์กับครูบาบุญชุ่ม ต้องกล่าวว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีปฏิบัติสัมพันธ์กับครูบาอย่างมาก ถือได้ว่าครูบาเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพวกเขาเลยก็ว่าได้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารูปภาพของครูบาบุญชุ่มถือเป็นรูปที่มีอยู่ทุกบ้านของพวกเขาจริงๆ แต่คำถามคือว่า เหตุใดกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ซึ่งถูกมองว่าเป็น ‘ชายขอบของสังคม’ ถึงรักและเคารพศรัทธาตัวครูบาบุญชุ่มอย่างมาก

 

 

คำสอนที่โอบอุ้มความเป็นชายขอบ

 

หากเรามองในแง่คำสอนและการวัตรปฏิบัติของครูบาบุญชุ่ม เราอาจจะเห็นคำตอบ ซึ่งในคำสอนและวัตรปฏิบัติของครูบานั้นจะมีมิติของความหลากหลาย และการโอบอุ้มความเป็นชายขอบของคนกลุ่มชาติพันธุ์เป็นอย่างดี 

 

ในกิจกรรมไม่ว่าจะกิจกรรมใดๆ ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ครูบาบุญชุ่มจะต้องทำคือนำผู้คนจำนวนมากเหล่านี้สวดมนต์ แผ่เมตตา คือสร้างกุศลสั่งสมบุญตามความเชื่อในทางศาสนา รวมถึงการเทศนาของท่านด้วย ซึ่งนอกจากจะเทศนาเป็นภาษาไทใหญ่ ภาษาเหนือ (คำเมืองล้านนา) ภาษาเมียนมาแล้ว ท่านยังสามารถเทศน์ได้ในหลายภาษาที่เป็นภาษาที่กลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยต่างๆ ใช้กันด้วย

 

โดยแกนหลักคำสอนของครูบาบุญชุ่มที่สะท้อนผ่านการเทศนาและการนำผู้คนเหล่านี้สั่งสมบุญคือ การขอให้ได้เกิดมาเป็น ‘คน’ คำว่า ‘คน’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเกิดเป็นมนุษย์เพียงเท่านั้น แต่ ‘คน’ ในที่นี้มีนัยถึง ‘คน’ ที่เป็นกลุ่มประชากรหลัก ไม่ใช่คนชายขอบที่ถูกมองว่าเป็นคนกลุ่มน้อยด้อยค่า แต่หมายถึง ‘คน’ ที่จะได้รับการยอมรับด้วยทั้งสถานะทางสังคมเทียบเท่ากับคนกลุ่มหลักอื่นๆ 

 

 

วัตรปฏิบัติที่มีอัตลักษณ์ความหลากหลายทางความเชื่อของครูบาบุญชุ่ม

 

ในแง่วัตรปฏิบัติของครูบาบุญชุ่ม ก็มีลักษณะที่มีการโอบอุ้มความหลากหลายทางความเชื่อไว้ และนี่คืออัตลักษณ์สำคัญของตัวครูบาบุญชุ่ม ไม่ว่าจะเป็นวัตรปฏิบัติแบบพุทธศาสนาแบบล้านนาที่สะท้อนผ่านหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อการเป็น ‘ครูบา’ ในภาคเหนือ และการเป็น ‘ตนบุญ’ หรือ ‘ผู้มีบุญ’ ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นความเชื่อพื้นฐานของคนในภูมิภาค รวมถึงการนำสถาปัตยกรรมที่มีกลิ่นอายของความเป็นล้านนา เข้าสู่กระบวนการบูรณะก่อสร้างพุทธสถานสำคัญๆ หลายแห่งในภูมิภาคอุษาคเนย์ตอนบนของครูบาบุญชุ่ม

 

วัตรปฏิบัติแบบพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน ที่มีความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องผี พราหมณ์ พุทธ และการกลับชาติมาเกิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทั่วไปอย่างการทำนายทายทักที่เกิดขึ้นจากความศักดิ์สิทธิ์จากญาณวิเศษ หรือความเชื่อเรื่องการกลับมาเกิด เช่น ความเชื่อของชาวบ้านในภาคเหนือที่เชื่อกันว่าท่านคือครูบาศรีวิชัยกลับชาติมาเกิด หรือในกลุ่มชาวไทใหญ่ ไทลื้อ ก็เชื่อกันว่าท่านเป็นพระสงฆ์รูปสำคัญในอดีตกลับชาติมาเกิด ความเชื่อเรื่องการกลับมาเกิดใหม่นี้ ไม่ได้เป็นเพียงความเชื่อของพุทธศาสนากระแสหลักเท่านั้น แต่เป็นความเชื่อของคนในท้องถิ่นที่ผนวกกับความเชื่อเรื่อง 32 ขวัญ ที่เชื่อว่าสามารถวนเวียนกลับมาเกิดได้ใหม่ โดยไม่ได้อิงอยู่กับความเชื่อการเวียนว่ายตายเกิดแบบพุทธศาสนากระแสหลัก หรือแม้แต่ในประเทศภูฏานก็เชื่อว่าท่านคือลามะคนสำคัญในอดีตกลับชาติมาเกิด ผ่านการทำการเสี่ยงทาย ซึ่งก็เป็นความเชื่อในทางศาสนาแบบมหายาน

 

หรือแม้แต่วัตรปฏิบัติที่ท่านได้รับมาจากอิทธิพลพุทธศาสนามหายาน ไม่ว่าจะเป็นการนุ่งห่มที่ผสมผสานระหว่างพุทธแบบล้านนาและพุทธมหายานเข้าไปด้วยกัน และองค์ประกอบในการแต่งกายต่างๆ มหรสพในกิจกรรมต่างๆ หรือแม้แต่การทำมุทธา ซึ่งอิทธิพลเหล่านี้เกิดขึ้นภายหลังจากการเข้าไปเผยแผ่คำสอน และได้เข้าไปจำพรรษาที่ประเทศภูฏาน จนแม้แต่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ก็ยังเคารพศรัทธาในตัวของท่าน 

 

วัตรปฏิบัติเหล่านี้ของครูบาบุญชุ่ม สะท้อนภาพการโอบอุ้มอัตลักษณ์ความเชื่อที่หลากหลายเหล่านี้ไว้ และเป็นภาพสะท้อนความไม่มีถูกและไม่มีผิดที่ชัดเจน ทลายกรอบพุทธแบบใดแบบหนึ่งออกไปได้อย่างหมดจด จึงอาจจะกล่าวได้ว่าวัตรปฏิบัติเหล่านี้ของครูบาบุญชุ่ม คือการก้าวข้ามพรมแดนความเชื่อที่ถูกขีดหรือถูกกำหนดโดยรัฐ กลายเป็นพุทธศาสนาแบบสากลที่ได้รับการยอมรับจากหลากหลายกลุ่มคน หลากหลายชาติพันธุ์ และหลากหลายประเทศ

 

ครูบาบุญชุ่ม

 

อัตลักษณ์ความหลากหลายคือความสำคัญของปรากฏการณ์ครูบาบุญชุ่ม

 

กล่าวโดยสรุป หากจะตอบคำถามว่าเหตุใดคนจำนวนมากถึงเคารพศรัทธาครูบาบุญชุ่ม หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในแถบภาคเหนือของไทย ไทใหญ่ ไทลื้อในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว รวมถึงชาวพุทธศาสนานิกายมหายานอย่างกลุ่มผู้ศรัทธาจากประเทศภูฏาน คำตอบคือไม่ใช่เพราะเขาเหล่านั้นโง่หลงเชื่อ แต่คำตอบคือภาพลักษณ์ ไม่ว่าจะทั้งวัตรปฏิบัติและคำสอนของครูบาบุญชุ่มนั้น ได้โอบอุ้มอัตลักษณ์ความหลากหลาย ทั้งวัตรปฏิบัติ ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม รวมถึงตัวคำสอนของครูบาบุญชุ่มก็มีลักษณะของการโอบอุ้มความเป็นชายขอบของผู้คน กลุ่มชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยต่างๆ จึงทำให้ท่านกลายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของคนจำนวนมากเหล่านี้ 

 

ดังนั้นการมองปรากฏการณ์ครูบาบุญชุ่ม ผู้เขียนจึงอยากจะบอกว่าไม่ควรมองเพียงมุมมองใดมุมมองหนึ่ง หรือมุมมองเดียว หากแต่ต้องใช้มุมมองที่กว้างในระดับภูมิภาคและความเป็นสากลของพุทธศาสนา รวมถึงการยอมรับความหลากหลายทางความเชื่อในการมองด้วย จึงจะทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ครูบาบุญชุ่มได้เป็นอย่างดี 

 

ทำความรู้จักครูบาบุญชุ่มอีกครั้งผ่านบทความนี้ https://thestandard.co/kruba-boon-chum/

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising