×

แม่ผัวชนบทกับลูกสะใภ้ชั้นต่ำ ทำไม ‘กรงกรรม’ จึงเป็นละครที่น่าดูที่สุดในชั่วโมงนี้

27.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • กรงกรรม คือบทประพันธ์ดั้งเดิมที่มาจากชื่อเดียวกันโดยนักเขียนผู้ใช้นามปากกาว่า ‘จุฬามณี’ หรือนิพนธ์ เที่ยงธรรม ซึ่งเขาเองก็มีผลงานสร้างชื่ออยู่มากมายจากอีกสองนามปากกาคือ เฟื่องนคร และชอนตะวัน
  • กรงกรรม เป็นเรื่องราวภาคก่อนของ สุดแค้นแสนรัก ราว 5 ปี คือในช่วงปี 2510 โดยตัวละครหลักที่ชื่อ ‘ย้อย’ มีศักดิ์เป็นพี่สาวแท้ๆ ของแย้ม ซึ่งรับบทโดย ใหม่ เจริญปุระ เธอแต่งงานออกเรือนกับตระกูลคนจีนและย้ายจากหนองนมวัวมาใช้ชีวิตอยู่ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นชุมชนตลาดริมน้ำขนาดใหญ่ในสมัยนั้น
  • จุดเด่นของเรื่องราวที่จุฬามณีเขียนคือการสร้างบรรยากาศชนบทของประเทศไทยในอดีตให้ออกมาธรรมชาติและจริงใจที่สุด เราได้เห็นมิติของสังคมชนบทที่ชัดเจน ทั้งการที่มีประชากรจำนวนไม่มาก ทุกคนรู้จักและไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ หรือการที่ตัวละครหลักจะเกิดอาการหน้าบางเวลามีใครพูดถึงพวกเขา ซึ่งนั่นหมายถึงพลังของการซุบซิบนินทาที่เกิดขึ้นในสังคมมาแต่ไหนแต่ไร

นับเป็นโปรเจกต์ละครเรื่องหนึ่งที่เราตั้งตารอคอยชมที่สุดตั้งแต่เปิดกล้อง และล่าสุดเพิ่งจะออกอากาศเมื่อวานนี้ (26 ก.พ.) เป็นตอนแรกกับเรื่อง กรงกรรม ผลงานการกำกับล่าสุดของ อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง โดยมี อู๋-ธนากร โปษยานนท์ มารับไม้กำกับต่อในช่วงที่พงษ์พัฒน์รักษาอาการป่วย

 

เหตุผลที่ต้องตั้งตารอคอยไม่ใช่แค่ละครเรื่องนี้เป็นการหวนกลับสู่จอทีวีอีกครั้งของ ใหม่ เจริญปุระ หรือการที่ เบลล่า-ราณี แคมเปน สลัดภาพแม่หญิงการะเกดมารับบทเป็นกะหรี่กร้านโลก แต่ความน่าดูของละครเรื่องนี้คือการหยิบจับเอานิยายที่สร้างภาพชีวิตชนบทในยุค 60s มอบประสบการณ์ร่วมของสังคมไทยในยุคหนึ่งให้ออกมามีชีวิตและเลือดเนื้ออย่างน่าสนใจ

 

 

กรงกรรม คือบทประพันธ์ดั้งเดิมที่มาจากชื่อเดียวกันโดยนักเขียนผู้ใช้นามปากกาว่า ‘จุฬามณี’ หรือนิพนธ์ เที่ยงธรรม และเขาเองก็มีผลงานสร้างชื่ออยู่มากมายจากอีกสองนามปากกาคือ เฟื่องนคร และชอนตะวัน งานเขียนของเขาถูกนำมาเป็นละครโทรทัศน์อยู่หลายเรื่อง แต่เรื่องที่แจ้งเกิดเขาเข้าสู่วงการวรรณกรรมนั้นคือ ชิงชัง ถึงแม้จะเป็นงานเขียนเล่มแรกของเขา แต่เรื่องราวย้อนยุคและความเข้มข้นของความสัมพันธ์ในครอบครัวชนบทพาให้งานเขียนของเขาติด 1 ใน 20 ผู้เข้ารอบสุดท้ายของทมยันตี อะวอร์ด และได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มในปี 2551 แถมบทประพันธ์นี้ได้ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตเป็นละครโดยค่ายเอ็กแซ็กท์ และออกอากาศทางช่อง 5 ในปี 2552

 

ย้อยและแย้ม สองศรีพี่น้องจากบ้านหนองนมวัว

 

นอกเหนือจาก ชิงชัง แล้ว อีกเรื่องที่นิพนธ์เขียนไว้คือ สุดแค้นแสนรัก เมื่อปี 2553 ที่มีตัวละคร ‘อีแย้ม’ ในตำนาน ที่เมื่อนำมาดัดแปลงเป็นละครในปี 2558 ก็กลายเป็นปรากฏการณ์ในชั่วข้ามคืนถึงเรื่องราวความสนุก ความเคียดแค้นของครอบครัวที่ไม่ถูกกัน ภายใต้บรรยากาศที่มีท้องทุ่งของอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นหลัง ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องราวอันเข้มข้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดในงานเขียนของนิพนธ์คือการมอบบรรยากาศบ้านทุ่งและชนบทแก่ผู้อ่านอย่างไม่ตื้นเขิน นำเสนอความสัมพันธ์แบบบ้านใกล้เรือนเคียง อำนาจท้องถิ่น วิถีชีวิต ความสัมพันธ์ของคนรักและครอบครัวได้ออกมาอย่างน้ำเน่า ถูกใจทั้งผู้อ่านและผู้ชม นับเป็นข้อดีของผู้เขียนที่ทำได้อย่างถึงพริกถึงขิง ซึ่งแน่นอนว่าคุณน่าจะยังไม่ลืมความสวยซ่อนร้ายของ 4 สาวพี่น้องใน ชิงชัง หรือฉากอีแย้มบุกงานศพของอัมพรที่ทำเอาผู้ชมแทบตกเก้าอี้ในความรุนแรงของอารมณ์

 

การมาถึงของ กรงกรรม คืออีกหนึ่งงานเขียนที่น่าสนใจของนิพนธ์ ซึ่งเป็นเรื่องราวในจักรวาลเดียวกันของเรื่อง สุดแค้นแสนรัก กล่าวคือเป็นเรื่องราวภาคก่อน สุดแค้นแสนรัก ราว 5 ปี คือในช่วงปี 2510 โดยตัวละครหลักที่ชื่อ ‘ย้อย’ มีศักดิ์เป็นพี่สาวแท้ๆ ของแย้ม ซึ่งรับบทโดย ใหม่ เจริญปุระ เธอแต่งงานออกเรือนกับตระกูลคนจีนและย้ายจากหนองนมวัวมาใช้ชีวิตอยู่ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นชุมชนตลาดริมน้ำขนาดใหญ่ในสมัยนั้น

 

โดย กรงกรรม เป็นการเล่าเรื่องที่ว่าด้วยกรรมของตัวละครต่างๆ ที่พานพบกัน นำมาสู่โศกนาฏกรรมและการสูญเสียผ่านผู้คนในตระกูลแบ้ เจ้าของธุรกิจค้าขายที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอที่มีลูกชาย 4 คน โดยย้อยทำหน้าที่เป็นแม่ที่คอยบงการชีวิตลูกๆ ทุกอย่างเพื่อหวังให้พวกเขามีชีวิตที่ดี แต่การปรากฏตัวของ ‘เรณู’ คือจุดพลิกผันของเรื่องราวที่ทำให้พวกเขาต้องทะเลาะเบาะแว้งกัน เกิดเป็นเรื่องราวทั้งหมดที่ตามมาในกรงแห่งกรรมที่ขังพวกเขาไว้

 

 

สิ่งหนึ่งที่เราอยากชมมากที่สุดคือการหวนคืนสู่จอโทรทัศน์ในรอบ 16 ปีของใหม่ ซึ่งเธอเองก็ห่างหายจากการแสดงไปพักใหญ่ตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง ใหม่กะหม่ำ โดนกะโดน เมื่อปี 2554 ใหม่นับเป็นนักร้องและนักแสดงที่ความสามารถรอบด้าน ฝีมือการแสดงของเธอไม่เป็นรองใคร และบทนี้ก็ท้าทายความสามารถของเธอมากในการที่จะต้องมารับบทผู้หญิงที่มีลูกชาย 4 คนที่มุทะลุ ขี้โวยวาย และรักศักดิ์ศรีของตัวเองยิ่งกว่าสิ่งใด และตัวละครอีกตัวที่ต้องมาต่อกรกับย้อยอยู่ตลอดเรื่องนั่นคือ เบลล่า-ราณี แคมเปน ในบท ‘เรณู’ สาวขายบริการที่ตกหลุมรักกับ อาใช้ (รับบทโดย เพ็ชร-ฐกฤต ตวันพงค์) ลูกชายคนโตของย้อย

 

 

หลังจากออกอากาศตอนแรก เราพบว่าการดำเนินเรื่องนั้นรวดเร็วฉับไวแบบที่ไม่ต้องกลัวว่าคนดูจะเบื่อหรือลุ้นอะไร เพียงแต่มีการตัดภาพแฟลชแบ็กเล่าเรื่องเพื่อความสมบูรณ์ที่เรารู้สึกว่าบ่อยมากไปหน่อยจนคุณอาจจับต้นชนปลายไม่ถูก

 

ส่วนการแสดงของนักแสดงทุกคนก็นับว่าทำการบ้านกันมาอย่างหนัก โดยเฉพาะใหม่ ที่เราเชื่อเหลือเกินว่าเธอตั้งใจเล่นบทนี้อย่างมากจนโดดเด่นออกมา แต่อาจต้องรอดูไปอีกหลายๆ ตอนก่อนว่าคาแรกเตอร์นี้ของย้อยจะพาเธอไปได้ไกลกว่านี้อีกหรือไม่ เพราะในช่วงแรกเรากลับพบว่าการแสดงของใหม่นั้นค่อนข้างไม่มีจุดผ่อนหนักผ่อนเบา ซัดอินเนอร์ อารมณ์ และภาษากายออกมาอย่างเต็มที่ในทุกๆ ฉาก ซึ่งต้องคอยชมกันต่อไป ส่วนเบลล่า เราพบว่านี่เป็นอีกขั้นการแสดงที่ดีของเธอที่สามารถแสดงอารมณ์อันรวดร้าวผ่านแววตาที่เข้มแข็งและอ่อนแออยู่ในทีได้ยอดเยี่ยม และเราอยากเชียร์ตัวละครนี้ต่อไปนานๆ

 

เรื่องบทต้องขอปรบมือให้ผู้เขียนอย่าง ยิ่งยศ ปัญญา มือเขียนบทโทรทัศน์แถวหน้าของวงการที่สามารถสร้างประเด็นเล็กๆ น้อยๆ เก็บรายละเอียดตัวละครได้ค่อนข้างยอดเยี่ยม และในเมื่อเป็นละครของค่ายอ๊อฟ พงษ์พัฒน์ เรื่องหนึ่งที่คุณเชื่อขนมกินได้เลยก็คือโปรดักชันและงานภาพที่สวยงาม ทำให้บรรยากาศของเรื่องนั้นโดดเด่นขึ้นมา

 

นอกจากนี้การย้อนกลับไปสำรวจสังคมยุค 60s ของไทย และสถานที่ที่มักจะไม่ค่อยปรากฏให้เรารับรู้การมีอยู่ของมันอย่าง ฐานทัพตาคลี ฐานทัพของกองทัพสหรัฐอเมริกาในสมัยสงครามเวียดนามที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในเรื่องก็เป็นอีกแง่มุมเล็กๆ ในประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยรู้ โดยตาคลีนั้นเป็นบ้านเกิดและที่อยู่เดิมของเรณู สถานที่ที่เธอเคยทำงานขายบริการในบาร์ให้กับฝรั่ง มีฉากหลังคล้ายๆ กับตัวละครอย่าง ‘บุญรอด’ ที่มีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกัน (แต่บุญรอดอยู่อู่ตะเภา)

 

 

แน่นอนว่าในยุคนั้นไม่มีใครยอมรับผู้หญิงอย่างเรณูได้ หากให้พูดถึงเรื่องความเสื่อมเกียรติของงานบริการหรือการเป็นผู้หญิงชั้นเลวที่ไม่บริสุทธ์ล้วนนับเป็นเรื่องที่ ‘รับไม่ได้’ ของคนในยุคก่อน ฉะนั้นการที่ย้อยไม่ยินยอมรับหญิงโสเภณีอย่างเรณูเป็นลูกสะใภ้ได้ผลิตซ้ำเรื่องราวชวนหัวของความสัมพันธ์ ‘แม่ผัว-ลูกสะใภ้’ และละครยังแสดงให้เห็นความคิดเรื่อง ‘ชนชั้นทางสังคม’ ออกมาตั้งแต่ในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งงานกับคนที่เหมาะสมทางฐานะที่จะพบว่าย้อยนั้นแคร์หน้าตาทางสังคมมากกว่าอะไรดี หรือการเดียดฉันท์ความเป็นอื่นที่ไม่เหมาะสมตามครรลอง เมื่อเพียงรู้ว่าเรณูมาจากตาคลีและแต่งตัวผิดแผกจากผู้หญิงทั่วไปก็ถูกตีราคาว่าเป็นคนชั้นต่ำอย่างทันทีทันใด

 

 

อีกเรื่องหนึ่งที่เรากล่าวไปข้างต้นว่าเป็นจุดเด่นของเรื่องราวที่จุฬามณีเขียนคือการสร้างบรรยากาศชนบทของประเทศไทยในอดีตให้ออกมาธรรมชาติและจริงใจที่สุด เราได้เห็นมิติของสังคมชนบทที่ชัดเจน ทั้งการที่มีประชากรจำนวนไม่มาก ทุกคนรู้จักและไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ หรือการที่ตัวละครหลักจะเกิดอาการหน้าบางเวลามีใครพูดถึงพวกเขา ซึ่งนั่นหมายถึงพลังของการซุบซิบนินทาที่เกิดขึ้นในสังคมมาแต่ไหนแต่ไร เราจะเห็นจากการที่ตัวละครอย่าง ป้าขายกล้วยทอด (รับบทโดย ปวันรัตน์ นาคสุริยะ) มีอำนาจมากพอในการขยายเรื่องเล่าบางเรื่องให้ไปสู่ในวงกว้าง แถมเธอยังมีสิทธิ์บิดเบือนหรือเสริมแต่งให้เรื่องราวเป็นอย่างไรก็ได้เพื่อกระจายออกไปสู่วงกว้าง

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราคงต้องมารอชมกันอย่างยาวๆ ว่า กรงกรรม จะครองใจผู้ชมได้มากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่มีมาตรฐานมากพอที่จะได้รับคำชื่นชมคืองานสร้างและการแสดงที่เอ่อล้นออกมาให้เห็นล้วนเป็นงานที่ละเมียดละไม ตั้งใจ และไม่ดูถูกผู้ชมอย่างแท้จริง

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising