×

จุดยืน อนาคตหลังการเมือง และการกลับบ้านของกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร

01.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • เธอเป็นอดีตรัฐมนตรีหญิงของรัฐบาล คสช. ที่โดดเด่นและครองตำแหน่งได้ยาวนานถึง 3 ปี ก่อนอำลาหน้าที่ด้วยน้ำตาในปลายปี 2560
  • วันนี้กอบกาญจน์กลับมาเป็นนักธุรกิจเต็มตัวที่โตชิบา ไทยแลนด์ และยังเป็นกรรมการอิสระที่ธนาคารกสิกรไทยด้วย
  • เธอยังเชื่อว่า ‘Made in Thailand’ ยังคงขายได้และเป็นที่ต้องการของชาวอาเซียน โจทย์สำคัญคือการสร้างคนรุ่นใหม่ให้สานต่อธุรกิจครอบครัว

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ทำอะไรอยู่ตอนนี้? เป็นคำถามที่หลายคนคิด หลังจากที่เธอก้าวลงจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเมื่อช่วงสิ้นปี 2560 ที่ผ่านมา

 

เมื่อมองย้อนกลับไป ยังมีอะไรที่เธอนึกเสียดายหรือคิดถึงบทบาททางการเมืองหรือไม่ และการกลับมาภาคธุรกิจในฐานะกรรมการของบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด มีโจทย์ใหม่อะไร ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษของสำนักข่าว THE STANDARD นี้

 

 

คิดถึงและเสียดาย กลับโตชิบาดันผู้ประกอบการรุ่นใหม่สานต่อธุรกิจ

“ก็ยังคิดถึงนะคะ ช่วงนั้น (ขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี) ได้มีโอกาสเรียนรู้เยอะมาก 3 ปีที่ผ่านมาเท่ากับเปิดโลกให้ตัวเอง เมื่อก่อนทำเรื่องท่องเที่ยว เฉพาะมุมของภาคธุรกิจ พอได้เป็นรัฐมนตรีก็ได้เห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวมากๆ ตอนนี้หลายประเทศมองเราเป็นต้นแบบด้วยซ้ำ ส่วนเรื่องที่เสียดายก็มีค่ะ ถ้าเราเข้าใจอะไรบางเรื่องได้ก่อนหน้านั้น เราก็อาจทำได้ดีกว่านี้ บางคนดูไม่ออกแต่ตัวเรารู้ บางเรื่องจริงๆ น่าจะทำได้เร็วกว่านี้ บางเรื่องทำไปแล้วอาจจะเกิดผลได้มากกว่านี้ถ้าเราเข้าใจวิธีการทำงาน แต่ไม่มีเรื่องไหนที่เสียใจนะคะ”

 

เป็นคำตอบที่ชัดเจนและตรงไปตรงมาจากอดีตรัฐมนตรีที่ครองตำแหน่งนานที่สุดคนหนึ่งในยุครัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้อดีตจะเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไป แต่สิ่งที่ยังมีความหมายคือสิ่งที่น่าจดจำสำหรับก้าวต่อไปของชีวิต ซึ่งวันนี้กอบกาญจน์กลับมาที่ภาคธุรกิจอีกครั้งที่โตชิบา ไทยแลนด์ บ้านเดิมที่เธอเคยเป็นประธานกรรมการบริหารก่อนที่จะลาออกและไปรับตำแหน่งทางการเมือง

 

“ตอนนี้กลับไปเป็นกรรมการที่โตชิบาค่ะ แต่ยังไม่เข้าสู่ตำแหน่งบริหารทันที ถือว่าช่วงนี้เป็นการเรียนรู้ไปด้วย เพราะตลาดเปลี่ยนไปเยอะมากในช่วงที่เราหายไป 3 ปี เราก็เริ่มออกตลาด กลับไปคุยกับลูกค้าจังหวัดต่างๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง”

 

สิ่งที่กอบกาญจน์ให้ความสำคัญคือการผลักดันคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาให้กลับไปทำงานในภูมิลำเนาของตน เช่นเดียวกับลูกหลานของบรรดาร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าในชุมชน ซึ่งบางส่วนมองว่าการกลับมาทำธุรกิจร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบที่พ่อแม่ทำจะไปสู้ห้างค้าปลีกทันสมัยได้อย่างไร ถ้าคนเหล่านี้ไม่กลับมาทำก็จะไม่มีคนสานต่อสิ่งดีๆ ที่มีอยู่

 

“เราทำมาก่อนหน้านี้เกือบสิบปีแล้ว บางคนมองว่าการขายของคือขายของอย่างเดียว แต่เราเชื่อว่าเราต้องสร้างคนไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะการสร้างคนจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน สำหรับธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าเราก็ต้องไปสร้างดีลเลอร์ด้วย หลายประเทศดีลเลอร์ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว ไม่รู้จะทำไปทำไม โมเดิร์นเทรดยังไงก็เจริญกว่า แต่ประเทศไทยไม่ใช่แบบนั้น เราจึงจับมือกับลูกหลานของพวกเขาให้กลับมาทำต่อ ไม่ได้สอนวิชาชีพ แต่เราสอนใจ ทำอย่างไรให้มีศรัทธากับท้องถิ่น กับธุรกิจที่พ่อแม่สร้างมา”

 

กอบกาญจน์ให้ข้อมูลว่า ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยผ่านตัวแทนจำหน่ายหรือดีลเลอร์ถือว่าเป็นสัดส่วนใหญ่ใกล้เคียง 50% ของยอดขายทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันดีลเลอร์ไม่ได้ตั้งเป้าแข่งขันกับร้านค้าปลีกทันสมัยหรือโมเดิร์นเทรด แต่เป็นการแข่งขันกับช่องทางออนไลน์มากกว่า ซึ่งหน้าร้านต้องพัฒนาขึ้นไปอีก ถ้าแข่งขันเรื่องราคาเพียงอย่างเดียวก็จะไม่มีใครอยู่รอด

 

“ถ้าเราแข่งขันด้วยด้วยราคาก็จะมีคนที่แข่งด้วยการผลิตสินค้าราคาถูกกว่ามาขาย เรามีโรงงานในไทยยังไงก็สู้ไม่ได้ การค้าขายต้องมีคุณค่าที่ใส่เพิ่มเข้าไปด้วย คุณต้องมาพบกับคน พบกับดีลเลอร์ พบกับพนักงานขายที่จะบอกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าของเราเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณอย่างไร อย่าดูแต่ของที่ถูกที่สุดอย่างเดียว และถ้าแข่งแต่ราคาอย่างเดียว ดีลเลอร์ก็อาจไปเอาจากเมืองจีนมาขายเองก็ได้ คราวนี้ผลประโยชน์ก็ไม่ได้อยู่ในมือคนไทยอีกต่อไป”

 

เธอเชื่อว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยยังถือเป็นการการันตีคุณภาพที่ดีได้เสมอโดยเฉพาะกับผู้บริโภคชาวอาเซียน โดยสินค้าที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นถือเป็นที่ต้องการมากที่สุด รองลงมาคือสินค้าที่ผลิตจากประเทศไทย ซึ่งคำว่า ‘Made in Thailand’ ยังมีคุณค่าและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งไม่เพียงแต่การส่งออกเท่านั้น นักท่องเที่ยวอาเซียนจำนวนมากที่เดินทางมาที่ประเทศไทยก็มักจะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยกลับไปด้วย

 

“ลูกค้าอาเซียนชอบซื้อหม้อหุงข้าวมาก เพราะคนแถบนี้กินข้าวเป็นอาหารหลัก มีข้าวสารพัดแบบ หม้อหุงข้าวเราทำข้าวต้ม ทำข้าวเหนียวมะม่วง หรือทำเค้กก็ยังได้ ไปซื้อที่อื่นก็ทำไม่ได้ขนาดนี้ แถมยังออกแบบสวยอีก ทั้งสีสันและลวดลาย เราจึงต้องทำสินค้าให้ถูกจริตกับคนแถวนี้”

 

 

เป็นที่ทราบดีว่าสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันมีกำไรหรือมาร์จิ้นที่ต่ำลงมาก ซึ่งทุกแบรนด์ต่างลดต้นทุนลงเพื่อแข่งขันด้านราคาขายให้ต่ำที่สุด กอบกาญจน์ยอมรับว่ามาร์จิ้นในธุรกิจนี้ไม่ดีจริงๆ แต่สัดส่วนแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเภทสินค้า จะไม่มีโอกาสที่เครื่องใช้ไฟฟ้าจะทำมาร์จิ้นได้สูงแบบสมัยก่อนอีกต่อไป แต่ก็เป็นหน้าที่ของภาคธุรกิจที่จะเดินไปข้างหน้า เพราะถ้าคนไทยใช้เครื่องใช้ไฟฟ้านำเข้า 100% ประเทศไทยจะสูญเสียและต้องพึ่งพาประเทศอื่นกันหมด

 

นอกจากนี้สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุนและพัฒนากระบวนการผลิต แต่ก็ใช่ว่าจะแทนที่แรงงานมนุษย์ได้ทั้งหมด

 

“ไม่มีอะไรที่เป็นบวกหรือลบไปหมดหรอกค่ะ การใช้หุ่นยนต์มาทำงานเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่หุ่นยนต์จะเหมาะกับการผลิตสินค้าแมสจำนวนเยอะๆ ราคาจะกดลงมาได้ถูก ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคตอนนี้หลากหลายและยากขึ้น มีความต้องการเฉพาะตัวมากขึ้นในแบบของฉันเอง (Me) จะไม่ได้ซื้อด้วยราคาเป็นหลักแล้ว แต่จะดูว่าสินค้านั้นสะท้อนความเป็นตัวตนและสถานะของเขาหรือเปล่า ตรงนี้หุ่นยนต์ทำแทนไม่ได้ เพราะตลาดจะเฉพาะมากขึ้น เราไม่ปฏิเสธหุ่นยนต์ แต่ยังไงหุ่นยนต์ก็จะไม่เข้ามาแทนที่ทุกอย่าง”

 

สิ่งที่โตชิบา ไทยแลนด์จะก้าวต่อไปคือการเพิ่มกลุ่มสินค้าให้ครบทุกเซกเมนต์ของตลาด ซึ่งจะต้องมีสินค้าที่ตอบโจทย์ทุกช่วงชีวิต ปัจจุบันสินค้าหลักที่ขายดีที่สุดคือ ตู้เย็น รองลงมาคือไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า และตอนนี้สมาร์ททีวีคือสิ่งที่โตชิบาต้องการจะรุกตลาดอย่างเข้มข้นในปีนี้

 

 

การกลับมาภาคธุรกิจของกอบกาญจน์ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ที่โตชิบา ไทยแลนด์เท่านั้น เธอยังกลับมาเป็นกรรมการอิสระของธนาคารกสิกรไทยด้วย ซึ่งกอบกาญจน์เคยเป็นบอร์ดที่แบงก์ยักษ์ใหญ่นี้ก่อนไปรับตำแหน่งทางการเมือง นี่จึงเหมือนการกลับบ้านอีกครั้ง

 

“ต้องขอบคุณผู้บริหารที่ยังเห็นว่าเราให้อะไรกับองค์กรได้ เราเป็นกรรมการอิสระ ที่กสิกรไทยน่าจะเป็นองค์กรที่มีกรรมการอิสระมากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะที่นี่ให้ความสำคัญเรื่องความโปร่งใสมาก ตอนนี้แบงก์ต้องการขยายไปในพื้นที่อาเซียนและตลาดจีน ตัวเรามาจากฝั่ง consumer เราก็จะมีมุมมอง มีประสบการณ์ที่ไปช่วยเขาได้

 

ส่วนตัวไม่ได้มีคำมั่นสัญญาอะไรกับคุณปั้น (บัณฑูร ล่ำซำ) เป็นพิเศษ ตัวคุณปั้นมุ่งมั่นที่จะทำโครงการรักษ์ป่าน่าน ซึ่งส่วนตัวชอบมาก เพราะน่านเป็นเมืองในดวงใจ เป็นเมืองต้องห้ามพลาด แต่ป่าที่น่านกลับเกิดวิกฤต เราต้องทำให้คนหยุดทำลายป่าและชาวบ้านก็ต้องอยู่ได้ด้วย คุณบัณฑูรไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อแค่จะทำธุรกิจ อีกด้านหนึ่งที่ทำก็คือการคืนกลับสิ่งที่ดีสู่สังคมด้วย ป่าก็คือน้ำ คืออนาคตของลูกหลานเรา”

 

นอกจากนี้กอบกาญจน์ยังเป็นที่ปรึกษาของหอการค้าไทย ซึ่งเธอจะให้คำแนะนำด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชุมชนและการศึกษา เธอเชื่อว่าการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวจะเดินหน้าไปด้วยกัน ถ้าสามารถดึงภาคการท่องเที่ยวให้เติบโตขึ้นมาได้ ส่วนอื่นๆ ก็จะดีตามไปด้วย

 

 

นี่คือเส้นทางชีวิตของเธอหลังก้าวพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่มีใครรู้อนาคตข้างหน้าได้เช่นเดียวกับตัวกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูรเอง สักวันเราอาจจะเห็นเธอกลับมาอยู่หน้าฉาก สวมหัวโขนทางการเมืองอีกครั้ง หรือไปอยู่ในภาคส่วนใดของโลกธุรกิจก็ตามที สิ่งที่ชัดเจนสำหรับเธอคือหลักคิดในการทำงานที่เธอยึดถือมาตลอด

 

“คุณพ่อคุณแม่สอนว่าเราเลือกชีวิตไม่ได้ แต่เราเรียนรู้ที่จะรักในสิ่งที่เราต้องทำในวันนี้ให้ได้ เราต้องทำด้วยใจรัก เพราะเราจะทำออกมาได้เต็มที่ และเราจะสนุกกับสิ่งที่เราต้องทำ เราไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ทุกก้าวเราต้องเรียนรู้ที่จะรักมันและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ เราต้องนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิตค่ะ”

 

เธอกลับมาเป็นนักธุรกิจเต็มตัวแล้ว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising