×

‘เป็นไปได้ยาก…ไทยติดอันดับโลก’ เมื่อปมข่าว ‘แร่ลิเธียม’ เขย่าความจริงสังคมไทย

20.01.2024
  • LOADING...

“วันนี้ประเทศไทยถือว่าได้เปรียบกว่าหลายประเทศ เพราะเรายืนยันแล้วว่ามี ‘ธาตุลิเธียม’ ส่วนจะมีปริมาณเท่าไรก็ต้องสำรวจกันต่อไป ดังนั้นเราได้ก้าวนำคนอื่นเพราะมีวัตถุดิบในมือ เราเข้าสู่ความจริงของการใช้ประโยชน์”

 

ผศ.ดร.อลงกต ฝั้นกา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยแร่และศิลาวิทยาประยุกต์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์พิเศษในทุกข้อสงสัยกับ THE STANDARD ถึงเรื่องราวของธาตุลิเธียมที่ถูกค้นพบในประเทศไทย อีกทั้งตัวเลขการมีอยู่และอันดับการถือครองที่สร้างความตื่นเต้น จนกลายเป็นที่พูดถึงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

14.8 ล้านตัน – อันดับที่ 3 ของโลก

 

ผศ.ดร.อลงกต กล่าวว่า ตอนที่ได้ยินข่าวว่าประเทศไทยถือครองธาตุลิเธียมเป็นอันดับ 3 ของโลก ยอมรับว่าตกใจไม่ต่างจากทุกคน ในส่วนที่ตนเองศึกษาวิจัยเป็นการสำรวจว่าในพื้นที่เป้าหมายมีแหล่งแร่ธาตุลิเธียมอยู่หรือไม่ ซึ่งผลก็คือเราพบว่ามีแร่ธาตุชนิดนี้อยู่จริงที่จังหวัดพังงา 

 

แต่ด้วยฐานะที่เป็นเพียงนักวิชาการและผู้ทำวิจัย จึงไม่สามารถเข้าถึงตัวเลขว่าสรุปแล้วในใต้ชั้นดินมีปริมาณแหล่งแร่ธาตุลิเธียมมากน้อยเท่าใด เนื่องจากตัวเลขส่วนนี้จะมีเพียง 2 องค์กรที่จะทราบได้คือ บริษัทที่ขออนุญาตสำรวจและหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งกิจกรรมส่วนนี้อยู่ในการกำกับดูแลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่ (กพร.) สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

ตัวเลขประมาณ 14 ล้านตัน ที่ทำให้เกิดการพูดถึงในสังคม ผศ.ดร.อลงกต ระบุว่า เพราะตัวเลขนี้ไม่ได้ถูกเจาะว่าเป็นตัวเลขจากมุมมองไหน ซึ่งมี 3 มุม คือ

 

  • ปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) หรือตัวเลขทรัพยากรแร่ทั้งหมดที่ยังไม่ได้ผ่านการประเมินว่าสามารถดึงศักยภาพออกมาใช้ประโยชน์ได้เท่าใด

 

  • ปริมาณแร่สำรอง ซึ่งปริมาณนี้ก็จะต้องลดลงมาอีกระดับหนึ่ง เพราะปริมาณดังกล่าวผ่านการประเมินแล้วว่าสามารถนำมาใช้ได้ในทางเศรษฐกิจ 

 

  • ตัวเลขของธาตุลิเธียมที่สามารถใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม 

 

ผศ.ดร.อลงกต กล่าวต่อว่า เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่เรากำลังมองหาอยู่คือ ธาตุลิเธียมที่จะนำมาเป็นตัวตั้งต้นในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น แบตเตอรี่ แก้วเซรามิก ซึ่งธาตุลิเธียมนี้สามารถอยู่ได้ในหลายแร่ หนึ่งในนั้นคือแร่เลพิโดไลต์ (Lepidolite) ซึ่งพบที่จังหวัดพังงา ประเทศไทย ทั้งนี้ เรายังพบอีกว่า แร่เลพิโดไลต์สามารถอยู่ร่วมกันกับแร่ชนิดอื่นๆ รวมทั้งดีบุกได้ด้วย โดยการอยู่ร่วมกันทั้งหมดนี้อยู่ในรูปแบบหินอัคนีเนื้อผลึกหยาบที่เรียกว่าหินเพกมาไทต์ (Pegmatite)

 

ในการประเมินเกรด (ความสมบูรณ์) ของธาตุลิเธียม คือการนำหินเพกมาไทต์มาวิเคราะห์ว่าในหิน 100% มีส่วนประกอบแร่ใดบ้าง โดยข้อมูลจากที่เก็บตัวอย่างมาศึกษาเข้าห้องทดลองตรงกับที่ กพร. ระบุไว้คือ ในแร่เลพิโดไลต์มีธาตุลิเธียมประมาณ 0.4% หากเทียบกับหลายๆ ที่ที่ค้นพบธาตุลิเธียมจากทั่วโลก เกรดเท่านี้ถือว่าอยู่ในค่าประมาณเดียวกัน

 

โอกาสที่ไทยจะถือครองลิเธียมติดอันดับโลก

 

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทยจะมีธาตุลิเธียมปริมาณมากจนติดอันดับโลก ผศ.ดร.อลงกต กล่าวว่า ส่วนตัวยังมองว่า ณ วันนี้ประเทศไทยยังไม่ได้อยู่ใน 3 อันดับแรกของโลกหรือแม้แต่ 10 อันดับแรกของโลก ซึ่งการจะติดอันดับโลกยังถือว่าเป็นไปได้ยากอยู่ 

 

แต่ทั้งนี้ ตนอยากให้มองในมิติที่ทรัพยากรชนิดนี้จำกัดด้วยพื้นที่ เช่น ที่ประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศจีน ขนาดของพื้นที่มีความแตกต่างกัน โอกาสที่จะมีแหล่งแร่ธาตุนี้ก็มีต่างกัน นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงศักยภาพในการสำรวจที่มีด้วย 

 

ธาตุลิเธียมในไทยตอนนี้ทำอะไรได้บ้าง

 

ผศ.ดร.อลงกต กล่าวยกตัวอย่างว่า ให้เรามองว่าธาตุลิเธียมเปรียบเหมือนวัตถุดิบ แบตเตอรี่รถยนต์คือผลิตภัณฑ์ การจะนำวัตถุดิบแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์ระหว่างทางต้องมีกลไกและกระบวนการอีกมากที่จะต้องเข้ามาตอบโจทย์ก่อน ในส่วนของตนเองที่เป็นนักวิจัยที่มีข้อมูล และในส่วนของวัตถุดิบ ก็ถือว่ายังพูดได้ยากว่าเราจะสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีความเฉพาะตัวขนาดนั้นได้หรือไม่

 

แต่ทั้งนี้ตนก็มองว่า ยังเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะสามารถผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แต่นั่นคือเราต้องมีกระบวนการอีกมาก เริ่มต้นจากการวิจัยว่าแร่ที่เรามีอยู่จะต้องผ่านการจัดการใดบ้างให้แร่เลพิโดไลต์ไม่ปะปนกับแร่อื่นๆ จากนั้นเข้าสู่การดึงธาตุลิเธียมออกมาจากแร่เพื่อใช้งาน

 

“เทคโนโลยีและกระบวนการต่างๆ ล้วนมีต้นทุน จึงต้องขึ้นอยู่กับกลไกทางด้านเศรษฐศาสตร์เป็นลำดับต่อไป” ผศ.ดร.อลงกต กล่าว

 

แร่ธาตุทางเลือกอื่นที่มีธาตุลิเธียมประกอบ

 

ผศ.ดร.อลงกต กล่าวว่า ธาตุลิเธียมที่พบในประเทศไทยคือพบในแร่เลพิโดไลต์ ซึ่งธาตุตัวนี้ยังสามารถพบได้จากแร่ธาตุอื่นๆ จากแหล่งอื่นในโลก อาทิ ธาตุลิเธียมจากแร่สปอดูมีน (Spodumene) ซึ่งมีสีชมพูหรือม่วง เกิดในหินอัคนี พบมากในประเทศออสเตรเลียและจีน และพบธาตุลิเธียมได้ในตระกูลเกลือ ซึ่งพบในกลุ่มประเทศแถบอเมริกาใต้

 

ฉะนั้นคนก็จะตั้งข้อสังเกตว่า การเกิดของธาตุลิเธียมนอกจากการเกิดร่วมกันในหินอัคนีแล้ว ยังพบว่ามีในเกลือได้ จึงมีคำถามตามมาว่า ประเทศไทยจะสามารถค้นพบธาตุลิเธียมจากเกลือได้หรือไม่ ซึ่งตอนนี้มีหลายคนที่เริ่มให้ความสนใจเกลือสินเธาว์ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในส่วนนี้ยังเป็นเพียงสมมติฐาน

 

ผศ.ดร.อลงกต อธิบายถึงสมมติฐานในการค้นพบธาตุลิเธียมในแร่เลพิโดไลต์ที่ประเทศไทย โดยตั้งต้นว่า แร่เลพิโดไลต์สามารถเกิดร่วมกันกับดีบุก ซึ่งประเทศไทยค้นพบดีบุกจำนวนมากมาตั้งแต่สมัยอดีต ฉะนั้นย่อมเป็นไปได้ที่จะสามารถพบเจอแร่เลพิโดไลต์ที่ประเทศไทย และยังพบได้อีกหลายพื้นที่นอกจากจังหวัดพังงา

 

“เราสามารถพูดได้ว่าการค้นพบธาตุลิเธียมเป็นเพียงจุดเริ่มต้น การวิจัยของเราจึงเป็นการทำเพื่อให้สามารถขยายการค้นพบไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้” ผศ.ดร.อลงกต กล่าว

 

พบมากหรือพบน้อย…ครั้งนี้คือโอกาสของไทย

 

ผศ.ดร.อลงกต กล่าวว่า ก่อนที่จะมีกระแสข่าวเรื่องการค้นพบธาตุลิเธียมที่ประเทศไทยในครั้งนี้ ที่ผ่านมามีนักวิจัยและบริษัทเอกชนจำนวนมากที่สนใจมาศึกษาค้นหาธาตุลิเธียมที่ประเทศไทย เพราะเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อมีความต้องการใช้ธาตุดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นายทุนเองก็ต้องมองหาโอกาส นักลงทุนก็ต้องมองหาแหล่งแร่ธาตุ และเมื่อมีปรากฏการณ์นี้ในไทยขึ้นมา จากนี้ประเทศเราจึงถือเป็นเป้าหมายของการลงทุน ใครเริ่มก่อนมีโอกาสก่อน แต่จะมีเท่าไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

สำหรับสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน ผศ.ดร.อลงกต กล่าวว่า ตามที่ศึกษามาทางทฤษฎียังไม่มีการสำรวจชัดเจน แต่ที่พอเป็นไปได้คือตอนกลางของประเทศเวียดนาม, อินโดนีเซีย และเมียนมา ที่อาจพบธาตุลิเธียมได้ แต่ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ยังไม่มีการสำรวจชัดเจนเท่าบ้านเรา 

 

“วันนี้ประเทศไทยถือว่าได้เปรียบกว่าหลายประเทศ เพราะเรายืนยันแล้วว่ามีธาตุลิเธียม ส่วนจะมีปริมาณเท่าไรก็ต้องสำรวจกันต่อไป ดังนั้นเราได้ก้าวนำคนอื่นแล้ว เพราะวัตถุดิบในมือเราเข้าสู่ความจริงของการใช้ประโยชน์” ผศ.ดร.อลงกต กล่าว

 

ผศ.ดร.อลงกต กล่าวทิ้งท้ายว่า ทรัพยากรทุกอย่างในธรรมชาติของบ้านเราใช้แล้วล้วนหมดไป เมื่อเราใช้ได้ครั้งเดียว เราจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าสิ่งนั้นมีศักยภาพอะไรบ้าง อย่างที่จังหวัดพังงา ในอดีตเรารู้เพียงว่าเป็นแหล่งดีบุก ดีบุกใช้ได้ ขายได้ เราก็คัดใช้แค่ดีบุก แล้วทิ้งแร่ที่อื่นๆ ไป แต่ ณ วันนี้ไม่ว่าจะเป็นแร่อะไรก็ล้วนมีประโยชน์

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising