×

รู้จักระบบ SWIFT ในฐานะเครื่องมือสำคัญที่ชาติตะวันตกใช้คว่ำบาตรรัสเซีย

27.02.2022
  • LOADING...
ระบบ SWIFT

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครน และสหรัฐฯ รวมถึงชาติตะวันตก คุกรุ่นต่อเนื่องทั้งทางด้านการทหารและการใช้อำนาจจากเครื่องมือทางการเงิน 

 

เหตุการณ์ตึงเครียดเริ่มต้นเมื่อวันศุกร์ (25 กุมภาพันธ์) โดยทางสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกที่เป็นพันธมิตร เริ่มมีการหารือถึงมาตรการคว่ำบาตรและการหยิบใช้เครื่องมือทางการเงินสำหรับมาตราการนี้ โดยการตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT เป็นวาระร่วมพิจารณาที่สำคัญ 

 

จนล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานตรงกันว่า ชาติพันธมิตรตะวันตก ได้แก่ คณะกรรมาธิการยุโรป (EU), ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, สหราชอาณาจักร, แคนาดา และสหรัฐฯ ร่วมกันออกแถลงการณ์ว่าจะดำเนินการตัดธนาคารรัสเซียบางแห่งออกจากระบบ SWIFT เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันว่าธนาคารรัสเซียจะถูกตัดออกจากระบบการเงินสากล และจะส่งผลให้ไม่สามารถทำธุรกรรมในระดับโลกได้

 

โจเซฟ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป กล่าวว่า การตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ได้รับการพิจารณาโดยรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อวันศุกร์ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเช่นนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากคณะที่ประชุม โดย เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนให้มีการแบน ได้กล่าวกับ BBC เมื่อวันศุกร์ว่า สหราชอาณาจักรต้องการให้ปิดระบบ SWIFT สำหรับรัสเซีย แต่น่าเสียดายที่ระบบ SWIFT ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเรา มันไม่ใช่การตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว

 

ขณะที่ อันนาเลนา แบร์บ็อก รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี กล่าวว่า เยอรมนีไม่เชื่อว่าการตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ควรปฏิบัติในเวลานี้ และก่อนหน้านี้ บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส กล่าวว่า การคว่ำบาตรอย่างรวดเร็วจะใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น

 

จะเห็นได้ว่าพันธมิตรชาติตะวันตกต่างไตร่ตรองกันอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบในการพิจารณาว่าจะคว่ำบาตรรัสเซียด้วยการตัดออกจากระบบ SWIFT 

 

SWIFT คืออะไร?

SWIFT คือเครือข่ายการเงินระดับโลกที่ช่วยให้การโอนเงินข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว โดยมีชื่อย่อมาจาก Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication

 

SWIFT ก่อตั้งขึ้นในปี 1973 และตั้งอยู่ในเบลเยียม โดยทำหน้าที่เชื่อมโยงธนาคารและสถาบันกว่า 11,000 แห่งในกว่า 200 ประเทศ อย่างไรก็ตาม SWIFT ไม่ใช่ธนาคารในรูปแบบอาคารที่ตั้งอยู่บนหัวมุมถนนเส้นสำคัญ แต่เป็นระบบส่งข้อความโต้ตอบแบบเรียลไทม์ เพื่อแจ้งให้ผู้ใช้ทราบเมื่อมีการนำส่งและชำระเงิน

 

โดยความสามารถของระบบ SWIFT สามารถส่งข้อความมากกว่า 40 ล้านข้อความต่อวัน รองรับการแลกเปลี่ยนถ่ายโอนเงินจำนวนหลายล้านล้านดอลลาร์ ทั้งระหว่างภาคธุรกิจตลอดจนระหว่างรัฐบาลของแต่ละประเทศ 

 

ทั้งนี้ มากกว่า 1% ของข้อความผ่าน SWIFT นั้น ถูกคาดการณ์ว่าเกี่ยวข้องกับการชำระเงินของรัสเซีย

 

ใครเป็นเจ้าของและควบคุม SWIFT 

ตามคำอธิบายข้างต้น SWIFT ก่อตั้งโดยธนาคารของยุโรปและสหรัฐฯ หลายแห่ง ซึ่งไม่ต้องการให้สถาบันแห่งใดแห่งหนึ่งพัฒนาระบบของตัวเองขึ้นมาและผูกขาด

 

ปัจจุบัน เครือข่าย SWIFT มีธนาคารและสถาบันการเงินเป็นเจ้าของร่วมกันมากกว่า 2,000 แห่ง โดยธนาคารแห่งชาติของเบลเยียมร่วมมือกับธนาคารกลางที่สำคัญหลายแห่งทั่วโลกในการดูแลระบบ ซึ่งหมายรวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางอังกฤษ

 

ด้วยการทำหน้าที่ของ SWIFT ที่ช่วยทำให้การค้าระหว่างประเทศมีความปลอดภัยในหมู่สมาชิก ดังนั้นจึงจะไม่เลือกข้างในความขัดแย้งใดๆ อย่างไรก็ตาม อิหร่านเคยถูกตัดออกจากระบบ SWIFT ในปี 2012 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการคว่ำบาตรเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน การถูกแบนครั้งนั้นทำให้อิหร่านสูญเสียรายได้จากการส่งออกน้ำมันเกือบครึ่งหนึ่ง และมูลค่าการค้าระหว่างประเทศลดลง 30%

 

การแบนรัสเซียจาก SWIFT จะส่งผลอย่างไร?

บริษัทต่างๆ ของรัสเซียจะไม่สามารถทำธุรกรรมได้แบบเรียลไทม์และราบรื่นตามปกติจากบริการของ SWIFT ซึ่งจะส่งผลให้การทำการค้า โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและพลังงานที่มีมูลค่ามหาศาลของรัสเซีย ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

 

ธนาคารของรัสเซียจะต้องติดต่อกับธนาคารอีกแห่งที่เป็นคู่ค้าโดยตรง ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและล่าช้า และสุดท้ายแล้วก็จะส่งผลให้รัฐบาลรัสเซียมีรายได้ลดลง

 

ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัสเซียถูกกดดันด้วยอำนาจฝั่งการเงิน โดยในปี 2014 รัสเซียถูกขู่ว่าจะถูกแบนจากระบบ SWIFT เพราะครั้งนี้รัสเซียได้ผนวกรวมกับไครเมีย โดยรัสเซียระบุว่า การไม่ให้รัสเซียใช้ SWIFT จะเทียบเท่ากับการประกาศสงครามกับรัสเซีย ดังนั้นในปี 2014 พันธมิตรชาติตะวันตกหลายประเทศจึงไม่ได้เดินหน้าต่อ ทว่า การข่มขู่ในครั้งนั้นได้ทำให้รัสเซียพัฒนาระบบการโอนเงินข้ามประเทศของตัวเองขึ้นมา ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน

 

เมื่อเกิดเหตุการณ์ถูกคว่ำบาตรในครั้งนี้ รัฐบาลรัสเซียได้ก่อตั้งระบบบัตรชำระเงินแห่งชาติ (National Payment Card System) หรือที่รู้จักกันว่า Mir เพื่อใช้ในกระบวนการชำระเงินผ่านบัตร อย่างไรก็ตาม มีประเทศที่ใช้งานระบบนี้ไม่กี่แห่ง

 

ทำไมชาติตะวันตกจึงเสียงแตกเกี่ยวกับแบนรัสเซีย SWIFT 

การแบนรัสเซียออกจาก SWIFT จะส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างๆ ที่ขายสินค้าและซื้อสินค้าจากรัสเซีย โดยเฉพาะเยอรมนี เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายหลักของสหภาพยุโรป และการหาแหล่งทรัพยาการอื่นๆ มาทดแทนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุที่ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นในขณะนี้ รัฐบาลต่างๆ จึงต้องการหลีกเลี่ยงการดำเนินการต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่บริษัทต่างๆ ที่เป็นเจ้าหนี้รัสเซีย คงจะต้องหาทางเลือกในการรับชำระเงินจากรัสเซีย โดยบางส่วนมองว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายทางการธนาคารระหว่างประเทศมีมากเกินไป

 

โดย อเล็กเซ คูดริน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของรัสเซีย เคยกล่าวว่า การถูกตัดออกจาก SWIFT อาจจะทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียหดตัวลงได้ 5%

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของรัสเซียว่าจะคงอยู่ได้นานแค่ไหน ธนาคารของรัสเซียอาจจะเปลี่ยนไปใช้การชำระเงินผ่านประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกคว่ำบาตรได้อย่างจีน ซึ่งมีระบบการชำระเงินของตัวเอง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising