×

ชมคลิป: ปัญหา ‘รัฐสภา’ พื้นที่จากภาษีประชาชน แต่ทำไมห่างไกลประชาชน | KEY MESSAGES #103

30.10.2023
  • LOADING...

‘สัปปายะสภาสถาน’ หรือ ‘รัฐสภาใหม่’ คือชื่อของอาคารราคาหมื่นล้านที่สร้างขึ้นจากภาษีคนไทย ทว่าเมื่อสังเกตลงไปในรายละเอียดต่างๆ ตั้งแต่โครงการก่อสร้าง ไปจนถึงกฎระเบียบยิบย่อยมากมาย ก็จะทำให้เห็นถึงปัญหาและความแปลกประหลาดหลายอย่าง

 

รัฐสภาในบางมิติถูกเรียกว่าเป็นโรงละครขนาดใหญ่ ที่เหล่านักการเมืองซึ่งมาจากการเลือกและไม่ได้เลือกของประชาชน เข้ามาทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ทว่าเรากลับมักจะเห็นการเสียดสี ถกเถียง และแลกเปลี่ยนผลประโยชน์จนเกิดความชินชา ส่งผลให้มีคำถามถึงความโปร่งใสและจุดประสงค์หลักซึ่งเป็นหัวใจของรัฐสภาที่อาจกำลังมีปัญหา

 

ทำไมเราจึงเกริ่นว่าสภามีปัญหา ปัญหาที่ว่านั้นคืออะไร จริงหรือไม่ที่สภาซึ่งสร้างโดยภาษีประชาชนไม่เป็นมิตรกับประชาชนและคนทำงาน มีทั้งปัญหาเรื่องการก่อสร้างที่ยืดเยื้อยาวนาน ข้อบังคับหรือวิถีบางอย่างที่ทำสืบต่อกันมาสร้างค่านิยมผิดเพี้ยนต่อนักการเมืองไทยมากน้อยแค่ไหน 

 

ไปจนถึงคำถามที่ว่า ในแต่ละปีเราเสียเงินไปกับระบบรัฐสภามากขนาดไหน และเสียไปกับเรื่องประเภทใดบ้าง

 

วัฒนธรรมสภาหล่อหลอมระบบชนชั้นแก่นักการเมือง?

 

เมื่อพูดถึงการเข้าพื้นที่อาคารราชการ เป็นเรื่องปกติที่ประชาชนจะเข้าถึงพื้นที่ในสภาได้แค่บางส่วนเท่านั้น ซึ่งรัฐสภาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะเปิดพื้นที่ชั้นนอกให้ประชาชนเข้ามาได้ เช่น สวนด้านหน้าอาคาร ห้องสมุดรัฐสภา รวมถึงพื้นที่ที่ถูกจัดไว้ให้เวลาประชาชน หรือว่ากลุ่มภาคประชาชนสังคมที่ต้องการยื่นหนังสือร้องเรียนกับนักการเมือง บริเวณนั้นเรียกว่า ‘ศาลาแก้ว’ โถงโล่งๆ ด้านข้างอาคารฝั่ง สส. ที่เมื่อสังเกตดูแล้ว ถือว่ามีความแตกต่างกับบริเวณอื่นๆ พอสมควร 

 

ปกติเวลานักการเมืองพรรคต่างๆ จะแถลงข่าวในสภา สถานที่ที่แจ้งต่อสื่อมวลชนมักจะมีอยู่สองที่ คือห้องแถลงข่าวที่อยู่ติดกับห้องสื่อมวลชน กับโถงทางเข้ารัฐสภา ทั้งสองที่มีไฟส่องสว่าง เปิดแอร์เย็นเฉียบ และมีลำโพงเครื่องเสียงที่พูดแล้วได้ยินชัดเจน ตรงข้ามกับการแถลงข่าวหรือการยื่นหนังสือของประชาชนบริเวณศาลาแก้วอย่างสิ้นเชิง 

 

พื้นที่ตรงศาลาแก้วไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีไฟส่องสว่าง แม้จะมายื่นหนังสือตอนกลางวัน แต่หลายครั้งเราจะได้เห็นภาพที่ค่อนข้างมืดสลัว จนสำนักข่าวหลายเจ้าต้องพกไฟมาเองเพื่อทำงานให้ง่ายขึ้น คุณภาพเสียงก็เบาบางกว่าด้านใน เพราะเป็นพื้นที่เปิด กลายเป็นว่าการแถลงข่าวของประชาชนบริเวณศาลาแก้ว ค่อนข้างแตกต่างกับพื้นที่แถลงข่าวของนักการเมืองที่ห่างกันเพียงแค่ไม่ถึง 100 เมตร 

 

นักข่าวภาคสนามที่ประจำอยู่สภาเล่าว่า ช่วงแรกที่เปิดศาลาแก้วให้ประชาชนแถลงข่าว เป็นช่วงโควิด-19 กำลังระบาด ศาลาแก้วจึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมเพราะว่าเป็นพื้นที่โปร่งโล่ง ไม่มีการใช้เครื่องปรับอากาศ มีช่องลมระบายและถ่ายเทอากาศได้ดี แต่ตอนนี้โควิด-19 มันก็เบาบางลงไปแล้ว พื้นที่ที่รองรับประชาชนก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม 

 

นอกเหนือจากเรื่องพื้นที่ที่ดูจะไม่ตอบโจทย์ ยังมีอีกประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับมาตรฐานการดูแลรักษาความปลอดภัยในสภา เพราะนอกจากบัตรผ่าน อีกหนึ่งสิ่งที่จะแยกนักการเมือง เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสภา ประชาชน หรือสื่อมวลชน ก็คือการใช้ดุลพินิจผ่านเครื่องแต่งกายของคนที่มาเยือน 

 

เราต้องทำความเข้าใจว่าประชาชนทุกคนไม่ได้มีชุดสุภาพ แต่เขาจำเป็นต้องมารัฐสภา เพราะมีเรื่องร้องเรียนกับนักการเมือง ดังนั้นหลายครั้งเราจึงเห็นภาพประชาชนใส่กางเกงขาสั้น สวมรองเท้าแตะ แล้วไม่สามารถเข้ามาที่สภาได้ แม้ว่าเขาจะมีเรื่องเดือดร้อนมากแค่ไหนก็ตาม จนทำให้นักการเมืองต้องออกไปซื้อรองเท้าให้ประชาชนเปลี่ยนเพื่อเข้ามาในสภา 

 

ตรงกับที่ ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส. พรรคก้าวไกล ให้ข้อมูลกับเราว่า ตอนนี้สภาไม่มีการกำหนดชัดเจนว่าผู้ที่จะเข้ามาควรต้องแต่งกายอย่างไร การประเมินแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของตำรวจสภา ที่แต่ละคนก็มีมาตรฐานไม่เหมือนกัน เลยมีข้อเสนอแนะว่า พื้นที่ที่เปิดให้ประชาชนมาพูดถึงความเดือดร้อนของพวกเขากำลังเผชิญอยู่ ควรเป็นพื้นที่ที่ละเว้นเรื่องระเบียบไปเลยจะดีกว่าไหม

 

“บางคนมาจากจังหวัดตาก มาถึงแล้วเข้าไม่ได้เพราะติดเรื่องชุดสุภาพหรือไม่สุภาพตามความคิดของเจ้าหน้าที่สภา ที่ตอนนี้ก็ไม่มีระเบียบอ้างอิงไว้เลยว่าแบบไหนคือสุภาพ กางเกงขาสั้นต้องสั้นหรือยาวแค่ไหน”

 

หากจะดูเรื่องการเอ่ยถึงเครื่องแต่งกายในเอกสารระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยของรัฐสภา พ.ศ. 2559 ในหมวด 5 การปฏิบัติ ข้อที่ 31 ก็ระบุเพียงแค่ว่า 

 

‘ผู้อยู่ในบริเวณรัฐสภาต้องแต่งกายสุภาพ รักษามารยาทให้เรียบร้อย ปฏิบัติตนให้เหมาะสม ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา และอยู่ในบริเวณที่กำหนด’ 

 

 

อีกประเด็นคือเรื่องความปลอดภัย พอรัฐสภาเป็นพื้นที่ที่นักการเมืองระดับชาติเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ระบบการตรวจสอบคนเข้า-ออก จึงเข้มต้นตั้งแต่ประตู โดยเฉพาะวันที่มีการประชุมนัดใหญ่ๆ อย่างการแถลงนโยบายรัฐบาล การอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี อภิปรายไม่ไว้วางใจ ไปจนถึงวันที่มีการนัดชุมนุมประท้วงของประชาชนหน้ารัฐสภา

 

ท่ามกลางการตรวจสอบประชาชนอย่างเข้มงวด มาตรฐานนี้กลับมีช่องโหว่สำหรับนักการเมือง อาจเพราะเป็นนักการเมืองเป็นคนที่เห็นหน้าบ่อยตามข่าว หรือมีบัตรแสดงตัวตนชัดเจน การตรวจตราที่ใช้ดุลพินิจของตำรวจสภาเป็นหลักจึงมีไม่เท่ากัน

 

กรณีตัวอย่างของเรื่องนี้เห็นได้จากข่าวในช่วงปี 2562 มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สส. พรรคไทยศรีวิไลย์ ณ เวลานั้น แถลงข่าวที่บริเวณโถงอาคารรัฐสภา เรื่องการรับมอบเครื่องตรวจวัตถุระเบิดใหม่ เพื่อใช้ทดสอบระบบรักษาความปลอดภัยของการประชุมอาเซียน 

 

เขาอ้างว่าได้รับการประสานกับเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด ให้นำระเบิด TNT เข้ามาในรัฐสภา และเครื่องตรวจก็ไม่สามารถตรวจพบได้ แสดงว่ารัฐสภาแห่งนี้ไม่ได้มีความปลอดภัย 

 

ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางโพ แจ้งความดำเนินคดีกับมงคลกิตติ์ กรณีนำสารตั้งต้นประกอบระเบิดเข้ามาในสภา ถือเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบด้านความมั่นคง

 

มงคลกิตติ์ยืนยันว่าสารที่ใช้มีแค่ไนโตรเจน แม้จะเป็นวัตถุดิบประกอบระเบิดจริง แต่สารดังกล่าวไม่สามารถระเบิดเองได้ เขาไม่ได้นำระเบิดเข้ามาในสภา และอาจจะใช้คำพูดเกินจริงเกินไป ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน 

 

อีกกรณีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 วันแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ผู้ช่วยของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเวลานั้น พกอาวุธปืนเข้ามาในสภา ซึ่งสำนักข่าวเดลินิวส์เขียนข่าวว่า 

 

‘ตรวจพบผู้ติดตามบางรายได้พกอาวุธปืนด้วย จึงไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐมนตรีดังกล่าวและทีมงานเป็นอย่างมาก พร้อมได้ขอจดชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาผู้นั้นไป

 

‘รายงานข่าวแจ้งต่อว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีรายนั้นเข้าพื้นที่รัฐสภาได้แล้ว จึงได้เรียกผู้อำนวยการสำนักสังกัดสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งไปตำหนิ และให้ตามตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาที่จดชื่อไว้ให้เข้ามาพบ เพื่อต่อว่าที่ไม่ให้ให้เกียรติรัฐมนตรีและทีมงาน ไม่เพียงเท่านั้น ยังบังคับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาคนนั้นกราบเท้ารัฐมนตรีเพื่อขอขมา ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตาม แม้ว่าจะไม่เต็มใจ เพราะเชื่อว่าตนเองปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง’

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่ากรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่การพกอาวุธปืนเข้าสภา และไม่ได้มีการบังคับให้ตำรวจกราบเท้าขอโทษตามข่าวแต่อย่างใด เป็นเพียงการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจเท่านั้น

 

แม้จะมีการยืนยันว่าเป็นความเข้าใจผิด แล้วสามารถเคลียร์กันได้ด้วยดี ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นปัญหาเรื่องการทำให้มาตรการรักษาความปลอดภัย อยู่ที่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่และตำรวจสภาเป็นหลัก พอไม่มีการกำหนดมาตรการชัดเจน หรือมีกฎที่บังคับให้กับทุกคน เลยเกิดเป็นช่องว่างบางอย่างที่ทำให้สามารถเกิดความหละหลวม และไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากลุ่มคนที่จะโดนเพ่งเล็งก่อนก็มักเป็นประชาชนคนธรรมดา

 

บางความคิดเห็น มองเรื่องวัฒนธรรมในสภาที่อาจทำให้เกิดค่านิยมแปลกๆ ว่า การที่ระบบของสภาแห่งนี้มีความเป็นชนชั้นสูง เพราะรัฐสภาคือสถานที่เพียงแห่งเดียวที่ สส. จะได้แสดงพลานุภาพของตัวเอง ด้วยปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง จึงเกิดการบีบให้เจ้าหน้าที่สภา ต้องรับรองนักการเมืองทั้งหลายจนเกินไป 

 

เห็นได้จากการที่เจ้าหน้าที่สภาจะมีวัฒนธรรมเรียกนักการเมืองทุกคนว่า ‘ท่าน’ ในทุกครั้งที่พูดคุย รวมถึงเสียงบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่สภาที่ว่า เมื่อมีคำสั่งจากนักการเมือง แม้จะเป็นการสั่งเรื่องง่ายๆ อย่างขอน้ำดื่ม หรือให้ลงไปรับสื่อมวลชน หรือถูกใช้ให้อำนวยความสะดวกต่างๆ เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำขอหรือคำสั่งนั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ใช่หน้าที่หรือภาระงานของตัวเองก็ตาม 

 

ภาษีที่ถูกใช้ตอบสนองนักการเมืองในสภามีราคาเท่าไหร่?

 

ค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับการประชุมสภาแต่ละครั้ง ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน เช่น การเกิดคำถามว่า เราสูญเสียเงินจากสภาล่มครั้งละเท่าไหร่? คำตอบคือเสียเงินไปกว่า 8.2 ล้านบาท 

 

ข้อมูลจาก ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส. พรรคก้าวไกล ระบุว่า การที่ สส. ไม่มาประชุมสภาจนสภาล่ม เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะว่า สส. ได้รับเงินเดือนเดือนละ 71,230 บาท ได้เงินเพิ่มอีกเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท แต่กลับไม่มาทำงาน ไม่ยอมเข้าประชุม จนเกิดความเสียหายกับประเทศชาติ 

 

นอกจากนี้ เธอยังได้รวบรวมรายจ่ายอื่นๆ ที่สภาต้องเสียไปกับนักการเมืองและการจัดประชุมสภาแต่ละครั้ง 

 

‘สัปปายะสภาสถาน’ หรือ ‘รัฐสภาใหม่’

 

  • เงินเดือนประธานสภา รองประธานสภา หารด้วย 31 วัน ตกวันละ 10,968 บาท
  • เงินเดือน สส. สว. และทีมงาน หารด้วย 31 วัน ตกวันละ 5,921,129 บาท
  • ค่าเดินทางนักการเมืองที่เบิกได้ตามจริง
  • ค่าน้ำและค่าไฟสภา ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลในปี 2563 เฉลี่ยวันละ 1,609,848 บาท
  • ค่าสถานที่ แบ่งเป็น ค่าห้องอาหารขนาดใหญ่สำหรับ 500 คน, ที่จอดรถ 900 คัน, ห้องบริวารอื่นๆ 12 ห้อง, ค่าอินเทอร์เน็ต, ค่าพนักงานทำความสะอาด, ค่าพนักงานดูแลจัดรถ, ค่าเจ้าหน้าที่ รปภ. และอื่นๆ
  • ค่าอาหารนักการเมืองวันละ 800 บาท และค่าอาหารว่างอีก 200 บาท รวมเป็น 1,000 บาทต่อคนต่อวัน 

 

เท่ากับว่าสภาล่ม 1 ครั้ง มีมูลค่าความเสียหาย 8,291,945 บาท ซึ่งผู้จ่ายคือประชาชน

 

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อเราเจาะลึกไปยังการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารเพื่อรับรอง สส. ในวันประชุม ก็พบว่ามีราคาสูงเช่นกัน ปีงบประมาณ 2565 และปี 2564 มีการจัดสรรงบเท่ากันคือ 87,880,000 บาท ส่วนในปีงบประมาณ 2566 ค่าอาหารของ สส. มียอดรวมสูงถึง 108 ล้านบาท

 

  • ค่าอาหาร สส. ในวันประชุม 72,031,000 บาท เฉลี่ย 1,000 บาทต่อคนต่อวัน 
  • ค่าอาหารเลี้ยงรับรองกรรมาธิการ 34,846,100 บาท 
  • ค่าอาหารเลี้ยงรับรองวิปฝ่ายค้าน 1,260,000 บาท

 

จำนวนเงินดังกล่าวครอบคลุมถึงค่าอาหารว่าง เครื่องดื่มตลอดทั้งวัน ค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารเย็น ตลอดจนภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าบริการต่างๆ 

 

เมื่อสภาเปิดและมีการประชุม กมธ. ในวันประชุมสภา สส. จะรับประทานอาหารแยกต่างหากได้หลายครั้งต่อมื้อ ทั้งจากห้องอาหาร สส. รวมถึงห้องประชุมกรรมาธิการ ที่ สส. บางคนก็อยู่หลาย กมธ. ที่ดูแล้วจะมีค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน และการประชุมสภาแต่ละครั้ง สส. จากพรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่ได้เข้าประชุมครบทุกคน ส่งผลให้เราได้เห็นข่าวอาหาร สส. เหลือทิ้งอยู่เป็นประจำ

 

ชุติพงศ์จากพรรคก้าวไกลแสดงความคิดเห็นว่า มีวิธีง่ายมากๆ ที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ค่าอาหารที่มากเกินความจำเป็นนั้นคุ้มค่าต่อการจ่ายไป คือการที่ประชาชนได้เห็นว่า นักการเมืองที่ได้งบประมาณตรงนี้มาดูแลเรื่องอาหารการกิน ทำงานอย่างตั้งใจ มาเข้าประชุมทุกครั้ง ทำหน้าที่ที่ต้องทำอย่างเต็มที่ เสียงวิจารณ์ก็คงไม่สาหัสเท่านี้ แต่สังคมไทยก็ยังคงได้เห็นภาพนักการเมืองขาดประชุมหรือไม่มาทำงานจนสภาล่มอยู่เสมอ 

 

งบประมาณมหาศาลและความไม่สมเหตุสมผลในรัฐสภา 

 

ต้องย้อนกลับไปนิดหนึ่งว่า ระบบรัฐสภาไทยเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา จากนั้นมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ทำให้ไทยมีผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรก 70 คน เริ่มประชุมสภากันในช่วงวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ครั้งแรกที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

 

ต่อมาในปี 2512 มีการอนุมัติให้ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่ถนนอู่ทองใน ด้วยงบประมาณ 78,112,628 บาท แต่ค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดที่ใช้ไปอยู่ที่ 100 ล้านบาท ก่อนจะมีการอนุมัติสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่อีกครั้ง ชื่อว่าสัปปายะสภาสถาน ย้ายจากถนนอู่ทองใน ไปอยู่ใกล้กับสี่แยกเกียกกาย เขตดุสิต 

 

โครงการสภาแห่งใหม่เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2551 โดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับเหมาหลัก ด้วยงบประมาณกว่า 12,280 ล้านบาท

 

วันที่ 22 มกราคม 2552 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น มีมติ ครม. อนุมัติให้เบิกจ่ายงบประมาณ โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ด้วยวงเงิน 22,987,266,200 บาท 

 

สัญญาก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566 บนพื้นที่กว่า 119.6 ไร่ และพื้นที่ใช้สอยขนาด 424,000 ตารางเมตร มีการลงนามในสัญญาเลขที่ 116/2556 ว่าจะมีการส่งมอบที่ดินในวันที่ 7 มิถุนายน 2556 เริ่มวางเสาเข็มตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2556 มีกำหนดระยะเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 900 วัน หรือวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 

 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน และงบประมาณหมื่นล้านบาท นั้นไม่สามารถเป็นจริงได้ และเกิดการขยายเวลาก่อสร้างมากถึง 4 รอบ 

 

‘สัปปายะสภาสถาน’ หรือ ‘รัฐสภาใหม่’

 

รอบที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ด้วยเหตุผลว่าสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า รวมถึงปัญหาด้านการขนดินจากการก่อสร้าง

 

รอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ด้วยเหตุผลเดียวกับการขยายเวลารอบแรก

 

รอบที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ด้วยเหตุผลว่าสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ส่งมอบพื้นที่หลายแห่งล่าช้า เช่น บริเวณโรงเรียนโยธินบูรณะ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต ศูนย์สาธารณสุข 38 ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า และบ้านพักข้าราชการกรมการอุตสาหกรรมทหาร 

 

รอบที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ด้วยเหตุผลเรื่องแรงงานและการได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 

 

เมื่อหมดการขยายเวลารอบที่ 4 บริษัท ซิโน-ไทยฯ จะขอต่อสัญญาขยายเวลารอบที่ 5 แต่สำนักงานสภาฯ ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่พบเหตุผลสมควร ก่อนเรียกค่าปรับบริษัทเป็นจำนวนเงิน 12 ล้านบาทต่อวัน นับตั้งแต่สิ้นสุดสัญญารอบที่ 4 จนกว่าการก่อสร้างอาคารรัฐสภาจะแล้วเสร็จ

 

ส่งผลให้บริษัทซิโน–ไทยฯ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เรียกร้องค่าเสียหายจากสำนักงานสภาฯ มูลค่ากว่า 1,590 ล้านบาท โดยใช้ประเด็นที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ส่งมอบที่ดินล่าช้า ทำให้การก่อสร้างไม่เสร็จทันเวลาภายในสัญญาที่ระบุไว้ และถ้าสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เป็นฝ่ายแพ้คดี ค่าปรับนั้นก็ต้องดึงมาจากเงินแผ่นดินหรือภาษีของประชาชน  

 

วันที่ 8 ธันวาคม 2562 วิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เรื่องที่บริษัทซิโน-ไทยฯ ขยายเวลาครั้งที่ 3 ช่วงปี 2561 โดยระบุว่าสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ส่งมอบที่ดินล่าช้า ทั้งที่โรงเรียนโยธินบูรณะย้ายไปตั้งในพื้นที่ใหม่ตั้งแต่ปี 2559 ดังนั้น การส่งมอบที่ดินช้า จึงไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้บริษัทไม่ยอมจ่ายค่าปรับวันละ 12 ล้านบาท 

 

ท่ามกลางข้อตกลงในสัญญาที่มีปัญหาแบบนี้ เกิดการโทษกันไปกันมาเพราะว่าการก่อสร้างยืดเยื้อกว่าที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกัน ก็จำเป็นจะต้องเปิดใช้งานสภาแห่งใหม่ทั้งที่ยังก่อสร้างอยู่เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 

 

ในช่วงปี 2564 วัชระ เพชรทอง อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นอีกคนหนึ่งที่ติดตามการก่อสร้างอาคารรัฐสภาอย่างใกล้ชิด ได้ยื่นหนังสือให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร้องเรียนถึงความผิดปกติหลายเรื่อง เช่น 

 

  • ตรวจสอบเสาไฟฟ้านอกอาคาร 97 ต้น เพราะมีข้อสงสัยว่าใช้เสาเหล็กจริงๆ หรือตัดงบแล้วใช้เสาประเภทอื่น ที่ใช้แผ่นเหล็กม้วนเชื่อมเป็นเสา 

 

  • ตรวจสอบไม้ที่ใช้ปูพื้นว่าเป็นไม้ตะเคียนทองทั้งหมด ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจริงหรือไม่ และต้องเป็นไม้ 3 เมตร จำนวน 27,300 แผ่น ซึ่งกรมป่าไม้ตรวจสอบแล้วเป็นไม้พะยอม และมีใบเสร็จจากโรงไม้ที่บริษัทซิโน-ไทยฯ นำส่ง ปรากฏเป็นไม้กระยาเลย 6,500 แผ่น

 

  • ตรวจสอบเสาไม้สักรอบสภา 4,200 ต้น เมื่อสังเกตดูจะพบว่าขึ้นราและแตกร้าวไปแล้วกว่า 2,400 ต้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผู้รับเหมานำไม้ที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้หรือไม่ รวมถึงขั้นตอนการอบไล่ความชื้นที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ได้ทาน้ำมันเคลือบรักษาเนื้อไม้ ทำให้ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด

 

  • ตรวจสอบหินทราโวทีนนำเข้าจากต่างประเทศ จะต้องมีขนาด 50×100 เซนติเมตร หนา 25 มิลลิเมตร ตามที่ระบุไว้ในสัญญา โดยสามารถตรวจสอบผ่านใบกำกับภาษีนำเข้าสินค้าจากกรมศุลกากร ซึ่งวัชระอ้างว่า เคยนำเศษหินให้นักธรณีที่รู้จักตรวจสอบ พบว่าอาจไม่ใช่หินทราโวทีนนำเข้า แต่เป็นหินอ่อนหรือหินแกรนิตสีชมพูที่อยู่ในประเทศไทย 

 

  • ตรวจสอบอีกว่าประตูห้องกรรมาธิการไม่กันเสียง 65 ห้อง

 

  • ตรวจสอบพบว่าผู้รับเหมามีเจตนาสร้างประตูห้องกรรมาธิการผิดแบบจำนวน 148 บาน ซึ่งในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เอ่ยในที่ประชุมสภาว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แจ้งให้ผู้รับเหมาเปลี่ยนประตูกรรมาธิการ 148 บาน ให้เป็นไปตามรูปแบบรายการตามสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภา

 

ใจความสำคัญในการเคลื่อนไหวของวัชระ ก็คือการตั้งคำถามถึงผู้รับเหมาว่าอาจไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างรัฐสภาตามสัญญาจ้าง มีการทุจริต ตัดลดงบประมาณ ด้วยการลดคุณภาพสินค้าให้ไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในสัญญา และรัฐสภาที่ได้มานี้จะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท

 

อีกเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ ชุติพงศ์ให้ข้อมูลกับเราว่า ที่ตอนนี้ยังไม่มีการส่งมอบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีสิ่งประดับบางอย่างในสภา ที่ถึงจะไม่ใช่กลไกสำคัญของสภา แต่ก็ไม่ตรงกับ TOR ที่เขียนไว้ในสัญญาตอนแรก ก็ไม่สามารถส่งมอบได้ 

 

สิ่งนั้นคือ ‘ต้นเกด’ ต้นไม้ใหญ่ที่เว็บไซต์ เกษตรทูเดย์ ระบุว่าเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทาน ที่มีเรื่องราวน่าสนใจมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เพราะเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ 7 วัน หลังจากตรัสรู้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ทำให้เชื่อว่าเกดเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เสริมสิริมงคลรอบด้าน นำพาความสงบสุขร่มเย็น

 

ชุติพงศ์ระบุว่า ช่วงแรกผู้รับเหมาสามารถหาต้นเกดที่มีความสูงตรงกับสัญญาได้ แล้วเอามาปลูกที่สวนแล้ว แต่ด้วยความที่ต้นไม้สูงและเป็นต้นไม้แก่ เมื่อมาเจอกับดินใหม่ประกอบกับเหตุผลแวดล้อมอื่นๆ ทำให้ต้นไม้ตาย แล้วจนถึงตอนนี้ก็ยังหาต้นที่มีความสูงตรงกับสัญญาไม่ได้ 

 

ประเด็นเรื่องต้นไม้ที่ชุติพงษ์อ้างถึง ตรงกับข้อมูลของวัชระที่เคยแถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ว่ามีหลักฐานเรื่องผู้รับเหมาใช้วัสดุไม่ตรงกับ TOR เช่น ต้นไม้ใหญ่จำนวนมากที่ตายไปก่อนการตรวจสอบ 347 ต้น ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบการฟื้นตัวและอยู่รอดของต้นไม้ได้ ทำให้ถือว่าการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ

 

นอกจากปัญหาเรื่องรายละเอียดที่ไม่ตรงกับ TOR ชุติพงศ์ยังตั้งคำถามถึงความไม่สมเหตุสมผลอีกหลายอย่างด้วยกัน เช่น บริเวณบันไดหนีไฟทำจากไม้สักทอง ที่เขาอ้างว่า เคยถามกับผู้เกี่ยวข้องคนหนึ่ง ถึงเหตุผลว่าทำไมใช้ไม้ในพื้นที่หนีไฟ กลับได้คำตอบติดตลกแค่ว่า “เพื่อความสวยงาม”  

 

ส่วนประเด็นน้ำรั่วในพื้นที่ต่างๆ ทั่วสภา ที่เห็นบ่อยครั้งตามโซเชียลมีเดีย ก็มีเหตุผลรองรับว่าเพราะตอนนี้สภายังสร้างไม่เสร็จ และยังไม่มีการตรวจรับ ปัญหานี้จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งอย่างช่วยไม่ได้ 

 

แล้วแบบนี้จุดสิ้นสุดของการก่อสร้างรัฐสภาจะยืดเยื้ออีกนานแค่ไหน?

 

รับมอบไม่ได้ เพราะสภาแห่งนี้เต็มไปด้วยความผิดปกติ?

 

วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 เพจเฟซบุ๊กของบริษัทฯ ซิโน-ไทย ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า กรณีที่มีบุคคลตั้งคำถามเกี่ยวกับความพร้อมส่งมอบงานก่อสร้างอาคารรัฐสภา การส่งมอบงาน 100% เป็นกระบวนการระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง โดยผู้รับจ้างมีหน้าที่แสดงความจำนงให้ผู้ว่าจ้างรับทราบ เพื่อเริ่มต้นกระบวนการตรวจส่งมอบงาน 

 

แถลงการณ์มีการเขียนยืนยันว่าบริษัทฯ ดำเนินการตามสัญญาทุกประการ ข้อมูลของการก่อสร้างตามแบบมีรายละเอียดที่ซับซ้อน อาจยากที่คนนอกอุตสาหกรรมจะเข้าใจ และงานบางส่วนมีการใช้งานไปแล้วทำให้อาจมีการสึกหรอ บริษัทฯ ก็ได้สนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอาคารรัฐสภาในการซ่อมแซมแก้ไข หรือให้คำแนะนำดูแลตามหลักวิศวกรรมตลอดมา 

 

ซิโน-ไทย ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า กรณีที่มีบุคคลตั้งคำถามเกี่ยวกับความพร้อมส่งมอบงานก่อสร้างอาคารรัฐสภา

 

ตอนนี้มีทั้งเสียงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการรับมอบรัฐสภา เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา วัชระแถลงข่าวในรัฐสภาว่าตนได้ทำหนังสือถึง ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เพื่อคัดค้านการรับมอบงาน เนื่องจากพบว่ากระบวนการของคณะกรรมการ การตรวจ การจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผิดข้อสัญญาที่กำหนดให้ตรวจรับงานเมื่อแล้วเสร็จโดยปราศจากข้อบกพร่อง

 

ต่อมาวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ปดิพัทธ์ชี้แจงเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าตรวจรับอาคารรัฐสภาอีกครั้ง ว่าได้รับข้อมูลจากคณะกรรมการตรวจสอบการจ้าง มีการประชุมหารือเพื่อรับมอบงานจากผู้รับจ้างและตอนนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา ซึ่งระยะเวลาที่ก่อสร้างล่าช้าคือ 990 วัน ค่าปรับตามสัญญารายวันวันละ 0.1% จากราคาตามมูลค่าของสัญญา หรือวันละ 12,280,000 บาท โดยมีข้อมูลเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ 

 

  1. ผู้รับจ้างขอใช้สิทธิ์ ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยให้คิดค่าปรับเป็นศูนย์ 827 วัน และขยายเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 15 ให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลในช่วงเวลานั้น โดยมีการงดหรือลดค่าปรับเต็มจำนวนถึง 10,155,560,000 บาท ทำให้สภาไม่สามารถคิดค่าปรับขั้นต่ำกับผู้รับจ้างได้

 

  1. จากการที่ ครม. มีมติเห็นชอบ ให้นำมาตรการช่วยเหลือกรณีค่าแรง 300 บาท ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ลดค่าปรับให้แก่ผู้รับจ้างเป็นเวลา 150 วัน หากมีการแก้ไขสัญญาการก่อสร้างจริง จะถือเป็นการงดเว้นค่าปรับให้ผู้รับจ้างอีก 1,842 ล้านบาท โดยทั้งสองกรณีที่กล่าวมาข้างต้น ผู้รับจ้างจะได้รับการยกเว้นค่าปรับรวมทั้งหมด 11,997,560,000 บาท ทำให้สภาไม่สามารถคิดค่าปรับได้

 

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีค่าใช้จ่ายควบคุมงานและที่ปรึกษาบริหารโครงการอีกวันละ 332,140 บาท เป็นเวลา 990 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2566 รวมแล้ว 328,818,600 บาท เนื่องจากผู้รับจ้างทำงานไม่แล้วเสร็จภายในเวลากำหนด ทำให้ผู้รับจ้างต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้ผู้ควบคุมงานและที่ปรึกษาบริหารโครงการ

 

ตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะตรวจรับอาคารได้ในช่วงใด เพราะคณะกรรมการยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ รวมถึงติดเรื่องสัญญาที่ระบุว่าอาคารรัฐสภาจะต้องเสร็จสมบูรณ์ 100% เท่านั้นจึงจะสามารถส่งมอบได้ และตอนนี้พบความไม่สมบูรณ์ใหญ่ๆ อยู่ 6 จุด หากยืนยันตามคณะกรรมการเสียงข้างมาก ก็ต้องแก้ในสัญญา ถ้ายืนยันตามคณะกรรมการเสียงข้างน้อย ผู้รับเหมาต้องแก้ไขจุดเหล่านั้นให้ถูกต้อง

 

เรื่องนี้ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหน้าที่ของสภาที่ต้องชี้แจงกับสาธารณชน แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส ตอบคำถามให้ได้ว่าเพราะอะไรถึงไม่สามารถตรวจรับได้ตามเวลาที่กำหนด ภาษีจำนวนมหาศาลถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง และใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องใดบ้าง 

 

สุดท้ายแล้ว รัฐสภาที่มาจากภาษีของประชาชน เมื่อเต็มไปด้วยข้อกังขาหรือข้อสงสัยหลายประการ ทุกฝ่ายก็ควรจะต้องเปิดรายละเอียดทั้งหมด ให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของภาษีร่วมกัน ได้รับทราบถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น 

 

รัฐสภาที่ควรจะเป็น?

 

รัฐสภาควรจะเป็นต้องเป็นแบบไหน แต่ละคนต่างก็มีมุมมองต่อเรื่องนี้แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ใจความสำคัญหลักๆ ในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาของเยอรมนี จะเน้นกระจกใสเป็นส่วนใหญ่ ติดตั้งแผงโซลาเซลล์ไว้บนฝ้า ออกแบบโดมแก้วที่มีระบบการทำงานเหมือนฮีทเตอร์ เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าที่มากเกินไป 

 

ส่วนคอมเมนต์ฝั่งรัฐสภาไทย ในปี 2563 ยังมีการพูดถึงปัญหาเรื่องค่าไฟแพง เพราะอาคารถูกออกแบบมาให้ใช้ไฟจำนวนมาก หากเปิดใช้เต็มระบบ ต้องใช้งบประมาณถึงปีละ 425 ล้านบาท

 

เรื่องเว็บไซต์รัฐสภาก็มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน หลายฝ่ายมองว่าควรจะมีการทำงานที่ทันสมัยกว่านี้ เพราะตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เว็บไซต์โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่ได้ลงข้อมูลใหม่ที่เป็นปัจจุบัน และไม่ได้แจ้งประเด็นสำคัญมาพักใหญ่แล้ว 

 

 

หากเทียบกับหลายประเทศ เว็บไซต์รัฐสภาของอังกฤษค่อนข้างออกแบบให้ใช้งานง่าย มีการเก็บเรคคอร์ดทุกอย่าง เพียงแค่เสิร์ชคีย์เวิร์ดต่างๆ เช่น ชื่อนักการเมือง พรรคการเมือง ไปจนถึงคำพูดที่เคยกล่าวไว้ในสภา ประชาชนก็จะพบบันทึกการพูดในสภา ไปจนถึงการลงมติของผู้แทนราษฎรทุกคน เพื่อให้ประชาชนติดตามการทำงานได้อย่างรวดเร็ว และได้รู้ว่าผู้แทนของตนลงมติออกเสียงหรือมีความคิดเห็นต่อประเด็นสังคมนั้นๆ อย่างไรบ้าง 

 

การปรับปรุงระบบต่างๆ ของรัฐสภาไทยยังคงจำเป็นต้องพัฒนาต่อ และเราจะเห็นว่า มีนักการเมืองจากหลายพรรค ที่อยากเห็นระบบการทำงานของสภาที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้ตอบคำถามคาใจกับประชาชนได้มากขึ้น 

 

พรรคก้าวไกลพยายามยื่น ‘ข้อบังคับสภาก้าวหน้า’ ยกระดับการทำงานของสภาให้เป็นแบบ Open Parliament ผลักดันให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการ เปิดเผยรายงานการประชุม และข้อมูลการลงมติ ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เช่น กำหนดให้ส่งและเผยแพร่เอกสารทั้งหมด ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก หรือการเพิ่มกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และขอให้ร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดยภาคประชาชน จัดอยู่ในหมวดเรื่องด่วนที่จะพิจารณา

 

เช่นเดียวกันกับ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส. พรรคเพื่อไทย และรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ได้เสนอแนวทางการกลับมาทำรัฐสภาประจำจังหวัดอีกครั้ง ซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในสมัยที่ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธานสภา กับการทำสภานำร่อง 6 จังหวัด ด้วยเหตุผลว่าเพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงฝ่ายนิติบัญญัติได้มากขึ้น ซึ่งในประเด็นนี้ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ชัดเจนว่านี่คือระบบรัฐสภาที่ควรจะเป็นหรือไม่ 

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนในเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสัปปายะสภาสถาน ยังคงมีหลายอย่างที่ต้องตามติด ทั้งเรื่องของจุดสิ้นสุดของการรับมอบอาคารรัฐสภา ระบบต่างๆ ที่ต้องปรับปรุงพัฒนา งบประมาณที่เสียไปแต่ละปี ซึ่งสิ่งสำคัญของประเด็นนี้ คือการทำให้ประชาชนที่มองมายังรัฐสภา รู้สึกว่าภาษีของพวกเขาถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising