×

ปรับ ครม. เศรษฐา 1/1 คำตอบอยู่ที่ประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
01.05.2024
  • LOADING...

สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยดูจะร้อนระอุไม่ต่างกับสภาพอากาศในห้วงเวลานี้ ภายหลังรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ปรากฏ

 

เป็นที่รู้กันว่า ปรับคณะรัฐมนตรีในทุกยุคสมัย มีเป้าประสงค์หลักให้การทำงานของรัฐบาลง่ายขึ้น แต่ถนนสายหลักของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน 1/1 กลับมีรอยแยกโผล่ขึ้นมา

 

เหตุจากรัฐมนตรีใหม่หลายคนล้วนเป็นคนใกล้ตัวนายกรัฐมนตรีที่เดินเข้าออกตึกไทยคู่ฟ้าเช้า-เย็น เมื่อขยับมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรี เครดิตทางการเมืองกลับสู้รัฐมนตรีหน้าเก่าไม่ได้ 

 

อีกประเด็นสำคัญคือคำถามต่ออำนาจและบารมีของเศรษฐา การปรับคณะรัฐมนตรีที่มีทั้งการปรับออกและสลับตำแหน่ง จึงทำให้เกิดกระแสลมรุนแรง บาดลึกจนเกิดรอยแผลเข้าไปในบางคนของพรรคเพื่อไทย

 

ภาพ: ทำเนียบรัฐบาล

 

รอยร้าวกลุ่ม ‘ผิดหวัง’

 

ปานปรีย์ พหิทธานุกร 



 

พ้นจากรองนายกรัฐมนตรี พร้อมร่อนจดหมายลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี  

 

แม้ในจดหมายจะบอกว่าไม่เกี่ยวกับผลงาน ขณะที่ปานปรีย์ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อโยงถึงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีที่หลุดไปว่า ทำให้กระทบต่อการทำงาน ซึ่งในแง่กฎหมายระบุชัดว่า ให้มีรัฐมนตรีเพียง 35 คน แต่ในส่วนของตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนว่าให้มีจำนวนเท่าใด ดังนั้นการปรับปานปรีย์ออกจากตำแหน่งย่อมต้องมีที่มาที่ไป

 

การทำหน้าที่แม้ได้รับอำนาจเต็มในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา แต่เมื่อเกิดกรณีต้องสั่งการข้าม หน่วยงาน ในบางส่วนย่อมอาจช่วยให้การทำงานลดอุปสรรคอยู่บ้าง หากสวมหมวกรองนายกฯ ไปพร้อมกัน

 

ขณะที่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตำแหน่งเดียวก็คงไม่เพียงพอที่จะสั่งงานในส่วนอื่นได้

 

นอกจากนี้ตามรายงานข่าว มีปัญหาการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนระหว่างนายกรัฐมนตรีและปานปรีย์ในการปรับตำแหน่ง แม้นายกรัฐมนตรีจะบอกว่าได้มีการแจ้งกับเจ้าตัว และออกมาขอโทษแล้วก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นนี้สร้างรอยร้าวเกิดขึ้นแล้วอย่างแน่นอน

 

“หากผมทำอะไรให้ไม่พอใจ ผมก็ขอโทษท่านไปแล้ว มันเป็นเรื่องของความเห็นต่าง แต่ทั้งหมดนี้ผมรับผิดชอบและก็จะพยายามดำเนินการต่อไปโดยเอาจุดมุ่งหมายของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง” นายกฯ กล่าว

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว



 

พ้นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพียง 7 เดือนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ระยะเวลาที่รวดเร็วนี้ทำให้หลายคนออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘เสร็จศึกฆ่าชลน่าน’ หรือไม่ 

 

เหตุจาก นพ.ชลน่านต้องทนรับต่อกระแสการวิพากษ์วิจารณ์หลังเคยประกาศกร้าวไว้ว่า จะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยหากไม่ชนะการเลือกตั้ง เป็นตำบลกระสุนตกยื้อทนกระแสมากระทั่งจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจของกลุ่มคนเสื้อแดง และคนเพื่อไทยที่ช่วยเหลือกันมาตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง

 

นพ.ชลน่านยังพูดในการลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า มีผลงานที่เห็นเกรดเอบวก แต่โดนตำหนิว่าทำงานไม่สามารถควบคุมข้าราชการได้

 

นอกจากนี้ยังพบว่า มีการโพสต์ข้อความจาก เพจหมอชลน่านFcไม่มีดราม่า ที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นบุคคลใกล้ตัว หรือทีมงานหรือไม่ ตอกย้ำความไม่พอใจที่ถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรีชัดเจน ว่า

 

ชลน่านพลีชีพโดดเดี่ยวโดนกระทืบ

ผู้คนหนี้เข้าซอกหลืบหลบมุมไหน

พอผ่านพ้นผู้คนตะเกียกตะกาย

เหยียบย่ำแย่งเป็นใหญ่ไร้ยางอาย

 

ถึงแม้ผลงานของ นพ.ชลน่านจะออกมาเป็นที่ประจักษ์ในหลายเรื่อง ทั้งงาน Quick Win 100 วันของกระทรวงฯ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ก็ยังหลุดจากตำแหน่ง โดย ‘ชมรมแพทย์ชนบท’ ออกแถลงการณ์ขอบคุณพร้อมระบุถึงเบื้องลึกเบื้องหลังว่า 

 

  1. ขอบคุณที่วางรากฐาน Reset งานใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมดหลังยุคอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ได้ไม่ได้ขยับอะไร นอกจากนโยบายกัญชา
  2. อุปสรรคมีมาก โดยเฉพาะข้าราชการที่คุมไม่อยู่ ระดับบิ๊กไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง
  3. วางยาวางกับดักให้รัฐมนตรีเป็นคู่ขัดแย้งกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 
  4. การโยกย้ายลูกจ้างให้เป็นส่วนหนึ่งของ รพ.สต. ช่วยให้ท้องถิ่นมีสถานพยาบาล

 

ทั้งนี้ หากจับสังเกตให้ดี บรรดารองนายกรัฐมนตรีในชุดรัฐบาลเศรษฐาแรกเริ่ม ล้วนมาจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคทั้งสิ้น ยกเว้นเพียงคนเดียวที่หลุดโผไปคือ นพ.ชลน่าน อาการเจ็บช้ำแล้วเจ็บช้ำอีกคงไม่เกินจริง

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต 

มาดามแจ๋น-พวงเพ็ชร ชุนละเอียด 

 

พ้นจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หากมองในแง่ของภูมิภาค ‘มาดามแจ๋น’ คือหัวหน้าทีมเพื่อไทยกรุงเทพฯ แม้เลือกตั้งที่ผ่านมาจะได้ สส. มาเพียงเสียงเดียว แต่ฉับพลันที่ปรับ ครม. ตัวแทนของคนกรุงเทพฯ ก็ยุบหายไปทันควัน 

 

ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ

ไชยา พรหมา 

 

พ้นจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไชยา เป็น สส. หนองบัวลำภู หลายสมัย และเคยออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ ย้ำชัดว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องเป็นของเพื่อไทย เพราะเสียงที่ทำให้พรรคได้มาถึง 141 ที่นั่งในสภามาจากภาคอีสาน พรรคควรมีนโยบายหรือขับเคลื่อนตอบแทนคนภาคอีสานที่ส่วนใหญ่คือเกษตรกร แต่ในความเป็นจริงกลับถูกเจ้ากระทรวงกลบผลงาน จนไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้ได้เลย


 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล

 

พ้นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา มานั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปรียบเหมือนการลดเกรดสถานที่ทำงาน ซึ่งต้องติดตามดูว่าจะกระทบกับการทำงานของทีมหวังศุภกิจโกศลหรือไม่ เพราะตำแหน่งนี้มีบารมีของพ่อค้ำยันอยู่ด้วย 

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ผิดหวังเป็นเรื่องธรรมดา?

 

ถึงเศรษฐาจะออกมาให้สัมภาษณ์ว่าการปรับคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องธรรมดาที่ย่อมมีคนพอใจและไม่พอใจจากการสลับตำแหน่ง และเป็นหน้าที่ที่จะต้องอธิบายคนที่ไม่พอใจเหล่านั้น 

 

ส่วนรัฐมนตรีที่มีบทบาทสำคัญของพรรคในช่วงของการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล ทั้ง นพ.ชลน่าน, ไชยา และพวงเพ็ชร ก็เป็นบุคคลที่ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาในช่วงของการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ นพ.ชลน่านช่วยติวเวลาจะลงพื้นที่ รวมถึงวิธีการปราศรัย เข้าใจว่าคงมีความผิดหวัง แต่ต้องมีการพูดคุยกัน หวังว่าทุกอย่างจะเดินไปข้างหน้าได้

แต่การทำพรรคการเมืองจุดมุ่งหมายหลักคือ ชนะการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ การเอาชนะพรรคก้าวไกลที่กระแสท่วมท้นในเวลานี้ได้ จำเป็นต้องมีแรงหนุนจากคนในพรรคเพื่อไทย จากบ้านใหญ่ในแต่ละพื้นที่ รวมถึง สส. เขต 

 

‘เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล’ สำนวนนี้คงไม่เกินจริง เพื่อไทยอาจต้องกลับมาช่วยกันดูแลและทบทวนให้ดี เพราะขุนพลเหล่านี้ล้วนมีชีวิตจิตใจ ความผิดหวังซ้ำซากย่อมไม่เกิดผลดี อาจกระทบไปยังการดูแลพื้นที่และเรื่องอื่นๆ ตามมาได้ 

 

 

สายตรงที่ ‘สมหวัง’? 

 

ปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ไม่เพียงใช้โควตาจำนวนรัฐมนตรีเต็มพิกัด 35 ตำแหน่ง แต่หากลองเจาะลึกลงไปตามเก้าอี้รัฐมนตรีหน้าใหม่ หลายตำแหน่งล้วนมาจากโควตาสายตรง ทั้งจากนายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า ทักษิณ ชินวัตร ทั้งจากนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย รวมถึงสายสัมพันธ์ที่ดีกับ ยิ่งลักษณ์ และ แพทองธาร ชินวัตร 

 

ภาวะหวานอมขมกลืนจึงเป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้นสำหรับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา เพราะอำนาจในการเลือกรัฐมนตรีเป็นของนายกรัฐมนตรี แต่การจัดตั้งในทางการเมืองย่อมรู้กันอยู่ว่าล้วนแต่มีผู้ร่วมตัดสินใจในการปรับตำแหน่งจากหลายวง

 

เมื่อหลายสายมารวมกัน ก่อให้การจัดสรรไม่ลงตัว ทำให้กลายเป็นการจัดคณะรัฐมนตรีที่หลายคนอาจมองว่าไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ หรือเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจเกิดแรงเสียดทานอยู่บ้าง เนื่องจากบางคนไม่เคยมีบทบาทในพรรคมาก่อน แต่กลับได้เก้าอี้ 

  • จักรพงษ์ แสงมณี เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
  • พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
  • จิราพร สินธุไพร เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

ไม่ใช่ไม่เคยมี แต่การแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 3 ตำแหน่ง อาจทำให้ถูกมองว่าเกินกว่างานกำกับดูแล จนกลายเป็นความสูญเปล่าทางทรัพยากร  หน่วยงาน เช่น กรมประชาสัมพันธ์, อสมท, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สำนักงบประมาณ, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ฯลฯ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีรัฐมนตรีถึง 3 คนเข้ามา เพราะงานทุกชิ้นมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอยู่แล้ว

 

เช่นเดียวกับ กระทรวงการคลัง ปรับใหม่แล้วมีรัฐมนตรีถึง 4 ตำแหน่ง 

  • พิชัย ชุณหวชิร เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  • เผ่าภูมิ โรจนสกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
  • จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
  • กฤษฎา จีนะวิจารณะ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 

 

ขณะที่การสลับตำแหน่งบางเก้าอี้รัฐมนตรี ก็ยังเรียกได้ว่ามาจากแรงค้ำยัน หรือสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นที่มีมาแต่เดิม 

 

  • เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 

 

โดยเฉพาะลูกชาย ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช ที่ต้องถูกเว้นวรรคทางการเมืองจากคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ

 

ท้ายที่สุด การเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นของ 2 ส. จากกลุ่มสามมิตร ผู้ไม่ถนัดเป็นฝ่ายค้าน เรียกได้ว่านี่คือแรงกระเพื่อมหนึ่งของพรรคเพื่อไทยอย่างแท้จริง เพราะกลุ่มสามมิตรในช่วงการเลือกตั้งปี 2562 สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ก่อนจะย้ายกลับมากรุเก่า สังกัดพรรคเพื่อไทยอีกครั้งในการเลือกตั้ง 2566 

  • สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  • สมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

การกลับมาผงาดอย่างยิ่งใหญ่ อาจสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่ม สส. ที่เคียงบ่าเคียงไหล่พรรคมาอย่างยาวนาน แถมเก้าอี้รัฐมนตรียังมาประทับให้สมกับฉายารัฐมนตรีทุกสมัยอีกด้วย

 

ภาพ: ทำเนียบรัฐบาล

 

ทั้งนี้ ไม่ว่าธงในการจัดคณะรัฐมนตรีจะมาจากสายไหน แต่ความสามารถในการทำงานให้กับประชาชนคือคำตอบที่สำคัญ



เลือกตั้งสมัยหน้าแม้ไม่อาจฟันธงได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งตามที่เศรษฐาเคยประกาศในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ที่พรรคเพื่อไทยหรือไม่


แต่สุดท้ายการปรับคณะรัฐมนตรีนี้จะต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่า ปรับแล้วจะมีผลงานอะไรเป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชน สมการนี้กำลังรอคอยคำตอบในอีกไม่นาน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising