×

เปิด 9 เหตุผล ทำไมต้อง #สมรสเท่าเทียม

09.02.2022
  • LOADING...
equal marriage

วันนี้ (9 กุมภาพันธ์) หลังรอคอยมา 448 วัน ในที่สุดร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.1448) หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นับจากวันแรก 18 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ ที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมยื่นเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรผ่านกระบวนรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ถือว่าเป็นกฎหมายที่ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

#สมรสเท่าเทียม เกิดจากการเสนอร่างกฎหมายโดย ส.ส. ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ และคณะจากพรรคก้าวไกล ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ (ขอย่อว่า ป.พ.พ. หรือร่างแก้ไข ป.พ.พ.) ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนมิถุนายน 2563 โดยร่างหลักการมีหลักการที่จะแก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้องใน ป.พ.พ. ที่มีเงื่อนไขเดิม อนุญาตการหมั้นและการสมรสเฉพาะชายและหญิง เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้ ‘บุคคลทั้งสอง’ นั่นทำให้คู่รักหลากเพศ หรือ LGBTQ สามารถหมั้นและจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับสิทธิ หน้าที่ ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิงทั่วไป

 

เทรนด์ #สมรสเท่าเทียม ชี้ให้เห็นถึงความต้องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่รอคอยการแก้ไขกฎหมายมานาน และต้องการเห็นความเท่าเทียมและเสมอภาคให้เกิดขึ้น

 

ท่ามกลางกระแส #สมรสเท่าเทียม ที่ผู้คนในโลกออนไลน์กำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย มี 9 เรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจ ดังนี้

 

  1. เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 บัญญัติให้สิทธิการสมรสเฉพาะเพศชายกับเพศหญิง ทำให้คู่รักหลากเพศ เช่น หญิงรักหญิง ชายรักชาย บุคคลรักได้ทั้งสองเพศ บุคคลข้ามเพศ บุคคลเพศกำกวม ฯลฯ (LGBTQ) ถูกจำกัดสิทธิ ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ขาดสิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรีที่พึงมีต่อกัน และพึงได้รับจากการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน

 

  1. การรับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่ตามร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ในฐานะ ‘คู่ชีวิต (Civil Partnerships)’ ไม่ปรากฏในประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ หรือระเบียบของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนใดๆ มาก่อน ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอื่นทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง หากต้องการสิทธิใดๆ ในฐานะ ‘คู่ชีวิต’ ตามกฎหมายอื่น เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลรัษฎากร พ.ร.บ.ประกันสังคม ฯลฯ

 

  1. การออก พ.ร.บ.คู่ชีวิตแยกออกจาก ป.พ.พ. ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการตีตรา การเลือกปฏิบัติ และการใช้ดุลยพินิจในการจำกัดสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกระบวนการหรือสถานที่สำหรับจดทะเบียนคู่ชีวิตมีการปฏิบัติที่แตกต่างจากการจดทะเบียนสมรสตาม ป.พ.พ. อาจถือเป็นเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งรสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ (Sexual Orientation and Gender Identity)

 

  1. การจัดทำร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แทนที่จะไปปรับแก้ ป.พ.พ. เพื่อขยายสิทธิการสมรสให้เท่าเทียม ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อศักดิ์ศรีของการก่อตั้งสถาบันครอบครัวของคู่ LGBTQ ว่าด้อยกว่าศักดิ์ศรีของคู่รักต่างเพศอย่างไร

 

  1. ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ผ่านมามีความซับซ้อนในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การตรวจสอบว่าคู่ชีวิตหรือคู่สมรสเคยจดทะเบียนแบบใดมาก่อน เคยจดทะเบียนซ้อนหรือไม่ หรือสิทธิหน้าที่ใดตาม ป.พ.พ. จะสามารถนำมาอนุโลมบังคับใช้ให้กับคู่ชีวิตมากน้อยหรือไม่เพียงใด

 

  1. การเป็น ‘คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย (Lawful Spouses)’ เป็นคำที่เป็นสากลและสามารถกล่าวอ้างได้ทั่วโลก ในขณะที่การเป็นคู่ชีวิตไม่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศทุกประเทศ

 

  1. หากประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมในรูปแบบของ ป.พ.พ. คู่สมรส LGBTI ที่เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เช่น นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ ฯลฯ ก็จะได้รับการคุ้มครองและมีศักดิ์ศรีตามที่เคยได้รับในประเทศต้นทางที่มีกฎหมายให้ความเสมอภาคในการสมรสเช่นเดียวกัน

 

  1. การขยายการสมรสตาม ป.พ.พ. ไปยังคู่ LGBTQ ช่วยแก้ไขปัญหาการไม่ได้รับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้คู่รัก LGBTQ ได้รับสิทธิหน้าที่ที่คู่สมรสชาย-หญิงทั่วไปได้รับ เช่น สิทธิในการปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิในการดำเนินการตั้งครรภ์แทนโดยอาศัยเทคโนโลยี สิทธิในสวัสดิการภาครัฐและเอกชน ในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ฯลฯ นอกจากนั้นเด็กที่เลี้ยงดูโดยคู่ LGBTQ จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากคู่ LGBTQ ทั้งสองในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย เฉกเช่นคู่รักชาย-หญิงทั่วไป ไม่เกิดความแตกต่างแปลกแยก

 

  1. ประเทศไทยให้คำปฏิญญาโดยสมัครใจกับกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) ในตั้งแต่ปี 2559 ว่าจะทบทวนเงื่อนไขการสมรสตาม ป.พ.พ. ที่จำกัดสิทธิการสมรสสำหรับบุคคลบางประเภท ซึ่งตาม ป.พ.พ. ปัจจุบัน LGBTQ ถูกจำกัดสิทธิการสมรส ดังนั้นหากสามารถแก้ไข ป.พ.พ. สำเร็จ ประเทศไทยย่อมจะได้รับการยอมรับโดยนานาอารยประเทศ และถือเป็นการปฏิบัติตามคำสัญญาและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยลงนามรับรองไว้ด้วย
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising