×

สัญญาณแห่งหายนะ เมื่อยุโรปร้อนทะลุ 40 องศา

01.08.2022
  • LOADING...
คลื่นความร้อนในยุโรป

ความร้อนกับประเทศไทยเป็นของคู่กัน แต่ช่วงเวลานี้ดินแดนเขตหนาวอย่างยุโรปกำลังเผชิญคลื่นความร้อนที่ดันให้อุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ 

 

ความแล้งแห้งที่มีอยู่เป็นทุนเดิม ก่อให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส, โปรตุเกส, สเปน และกรีซ ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้คนมากกว่า 3 หมื่นคน ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนของตัวเอง 

 

ขณะเดียวกัน ในประเทศจีน ประชาชนกว่า 900 ล้านคน หรือกว่าครึ่งของประเทศ ต้องดำรงชีวิตอยู่ภายใต้อุณหภูมิที่อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านั้น เกิดอะไรขึ้นกับโลก ทำไมหลายประเทศจึงถูกคลื่นความร้อนเล่นงานพร้อมกัน และนับวันยิ่งเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ หรือนี่คือความผิดปกติ ที่จะกลายเป็นความปกติในไม่ช้า 

  • ‘คลื่นความร้อน’ คืออะไร เกิดขึ้นที่ไหนบ้าง 

คลื่นความร้อนเป็นปรากฏการณ์ที่ระยะหลังมานี้พบเห็นบ่อยครั้ง โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กำหนดนิยามของคลื่นความร้อนไว้ว่า เป็นภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน และปีนี้ก็เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง 

 

กรณีที่ถูกจดจำได้ดีคือ คลื่นความร้อนในอินเดีย และปากีสถาน ที่อุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียล สร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรอย่างหนัก ซ้ำเติมช่วงเสบียงอาหารหลักของโลกขาดแคลนจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียยิ่งขึ้นไปอีก ก่อนคลื่นความร้อนจะทยอยปกคลุมภูมิภาคยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย  

 

ฝรั่งเศส เป็นประเทศที่ต้องประสบคลื่นความร้อน 2 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งรัฐบาลได้พยายามบรรเทาสถานการณ์ ผ่านการตั้งจุดบริการแจกน้ำดื่มฟรี ติดตั้งเครื่องพ่นไอน้ำลดอุณหภูมิ ขยายเวลาเปิดสวนสาธารณะ สระว่ายน้ำ และหอประชุมเมืองที่เปิดเครื่องปรับอากาศให้คนเข้าไปหลบร้อน 

 

ขณะที่สหราชอาณาจักร รัฐบาลออกคำเตือนระดับสีแดง เรียกร้องให้ผู้คนอยู่ในบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยร้ายแรง หรือเป็นอันตรายถึงชีวิต หลังอุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียส 

 

ทางด้านฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ อุณหภูมิพุ่งแตะระดับ 42 องศาเซลเซียสในซีแอตเทิล 46 องศาเซลเซียสในพอร์ตแลนด์ และ 49 องศาเซลเซียสในบริติชโคลัมเบีย ส่งผลให้รางรถไฟบิดงอ พืชผลถูกไฟไหม้ โรงเรียนถูกปิด โดยเพียง 3 สัปดาห์ คลื่นความร้อนสร้างความเสียหายไปแล้วกว่า 9 พันล้านดอลลาร์ และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 140,000 คน 

 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จึงประกาศทุ่มงบประมาณ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานต่อสภาพอากาศที่รุนแรงและภัยธรรมชาติ รวมถึงจัดสรรงบประมาณให้แก่รัฐต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด แต่ไม่ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ (Climate Emergency) ที่จะเพิ่มอำนาจในการรับมือกับภัยโลกร้อนได้มากขึ้น เช่น สกัดกั้นการนำเข้าน้ำมันดิบ หรือสามารถสั่งการให้ทหารปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการผลิตพลังงานหมุนเวียน ท่ามกลางการเรียกร้องของหลายฝ่าย 

  • คลื่นความร้อนรุนแรงเกิดจากอะไรกันแน่? 

ความรุนแรงของคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นคงทำให้หลายคนสงสัยว่า วิกฤตนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ การจะดูว่าสาเหตุของคลื่นความร้อนเกิดจากอะไรนั้น จำเป็นต้องพิจารณาหลายปัจจัย แต่การศึกษาบางชิ้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของภูมิภาคอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ที่ถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น และยาวนานมากขึ้นในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับการประเมินสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ปี 2018 ของสหรัฐฯ ที่พบว่าตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ความถี่ในการเกิดคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้น 3 เท่า และกินเวลายาวนานเพิ่มขึ้น 45 วัน 

 

นอกจากนี้ กลุ่มนักวิจัยจาก World Weather Attribution ได้ย้อนกลับไปวิเคราะห์เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วต่างๆ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อน น้ำท่วม ภัยแล้ง เพื่อคำนวณการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่ามีบทบาทมากน้อยเพียงใด และพบว่าคลื่นความร้อนที่ทำลายล้างแถบชายฝั่งแปซิฟิกของทวีปอเมริกาเหนือเมื่อปีที่แล้ว แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก๊าซเรือนกระจกทำให้มีแนวโน้มเกิดเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 150 เท่า

 

โซเนีย เซเนวิรัทเน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจาก ETH Zurich มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เสริมประเด็นนี้ว่า โดยเฉลี่ยในกรณีที่มนุษย์ไม่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ความร้อนสุดขั้วจะเกิดขึ้นทุกๆ 10 ปี แต่ตอนนี้กลับเกิดบ่อยขึ้น 3 เท่า โดยเป็นผลมาจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นราว 1.1 องศาเซลเซียส แต่ภายในศตวรรษนี้ที่อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 องศาเซลเซียสนั้น อาจเป็นเรื่องเกินกว่าที่เราจะจินตนาการออกได้เลยว่าโลกจะหายนะขาดไหน ความหิวโหย โรคภัยไข้เจ็บ การอพยพถิ่นฐาน วิกฤตค่าครองชีพ ปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นตามมาเป็นขบวน

  • คลื่นความร้อน ภัยเงียบคร่าชีวิต ทำลายเศรษฐกิจ

เมื่ออากาศร้อนจัด สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้ทันทีคือความอ่อนเพลีย หนักกว่านั้นคือ หน้ามืด เป็นลม หรือในทางการแพทย์เรียกว่า โรคลมแดด (Heatstroke) ซึ่งจะเป็นอันตรายมากยิ่งขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว กลุ่มผู้สูงอายุ และเด็ก

 

ประเทศเขตร้อนหลายแห่งตระหนักดีว่าในสภาพอากาศร้อนควรดำรงชีวิตอย่างไร แต่ในประเทศเขตหนาวที่ไม่คุ้นเคย บางครั้งก็นำมาซึ่งการสูญเสียเกินกว่าคาดคิด

 

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าระหว่างปี 1998-2017 มีประชากรโลกอย่างน้อย 166,000 คนเสียชีวิตจากคลื่นความร้อน และครั้งเลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกเมื่อปี 2003 ที่ความล้มเหลวในการรับมือ คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 70,000 คน 

 

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัว หรือมีอาการหัวใจวาย หลายครั้งผลกระทบด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากอากาศร้อนจัดจึงไม่ถูกวินิจฉัยหรือบันทึกไว้ในใบมรณบัตร ความจริงจะปรากฏต่อเมื่อผ่านไปหลายเดือน ที่ผลการเก็บตัวเลขทางสถิติชี้ให้เห็นภายหลังว่า อัตราการเสียพุ่งสูงขึ้นช่วงคลื่นความร้อนปะทุ ทั้งที่ช่วยลดการเสียชีวิตลงได้หากพวกเขาได้รับคำเตือน โดยเฉพาะคำเตือนเกี่ยวกับความร้อนภายในอาคาร 

 

กลุ่มคนเปราะบางมักเสียชีวิตในบ้าน มากกว่าอยู่กลางแจ้งอย่างที่เราเข้าใจ และการออกแบบบ้านของอังกฤษที่เน้นกักเก็บความอบอุ่น ยิ่งทำให้บ้านมีสภาพไม่ต่างอะไรจากเตาอบ ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือนว่า หากรัฐบาลอังกฤษยังเพิกเฉย ไม่ยอมออกมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาบ้านของประชาชนที่มีอุณหภูมิสูงจัดอย่างจริงจัง อาจส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนพุ่งขึ้นถึง 3 เท่าตัวใน 10 ปีข้างหน้า

 

คลื่นความร้อนจึงเปรียบเหมือนภัยเงียบที่มักถูกมองข้าม เพราะไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาพความเสียหายได้ชัดเจน ทั้งที่ในสหรัฐฯ คลื่นความร้อนเป็นภัยพิบัติที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด เมื่อเทียบกับภัยพิบัติประเภทอื่น

แต่นอกจากคลื่นความร้อนจะเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขแล้ว ในเวลาเดียวกันก็ตอกย้ำวิกฤตความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นไปด้วย เพราะผลกระทบจะตกสู่ผู้มีรายได้น้อยมากกว่าคนรวย ไม่ว่าจะการที่พวกเขาเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้น้อยกว่า หรือไม่มีเงินเพียงพอสำหรับซื้ออุปกรณ์เพื่อรับมือกับคลื่นความร้อน

 

ส่วนในทางเศรษฐกิจ คลื่นความร้อนกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร และประสิทธิภาพคนทำงาน ไม่ว่าจะกลางแจ้งหรือไม่สำนักงานก็ตาม โดยการวิเคราะห์เมื่อปี 2021 จากสภาแอตแลนติก คาดการณ์ว่าประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงเพราะอากาศร้อนจัด ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสียหายถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และตัวเลขดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2030 

  • ไทยอาจไม่เจอคลื่นความร้อน แต่ที่ร้อนอยู่แล้วจะร้อนขึ้นอีก

แม้ในประเทศไทยจะยังไม่เคยมีรายงานการเกิดคลื่นความร้อน เนื่องจากไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีมวลอากาศร้อนจัด ประกอบกับอยู่ใกล้ทะเล ได้รับความชื้นและอิทธิพลจากลมต่างๆ ที่พัดปกคลุมพื้นที่อยู่เสมอ โอกาสความร้อนสะสมจนพัฒนาเป็นคลื่นความร้อนจึงเกิดขึ้นได้น้อย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยภาพรวม อาจทำให้เราเจอกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ทางที่ดีจึงควรเตรียมเมืองให้พร้อมรับมือทุกเมื่อ เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมช่วยได้เพียงผิวเผิน หากขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

 

ในระยะสั้นเมื่ออากาศร้อนจัด การจัดพื้นที่ห้างสรรพสินค้า ห้องสมุด สถานีรถไฟ หรือศูนย์ชุมชนที่มีเครื่องปรับอากาศ ให้เป็นศูนย์ทำความเย็นสาธารณะ เป็นหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยม แต่ต้องคำนึงด้วยว่าสถานที่ดังกล่าวอยู่ใกล้พอจะสามารถเข้าถึงได้สะดวกไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้พิการ

 

ขณะเดียวกัน การแจ้งเตือนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับความร้อนก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ปัจจุบันในกรีซ และอิตาลี สื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน Extrema ที่บอกตั้งแต่ตำแหน่งของศูนย์ทำความเย็นใกล้ที่สุด ไปจนถึงการพยากรณ์อุณหภูมิเฉพาะที่ 

 

อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ ภัยคุกคามจากความร้อนแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ และความเข้าใจว่าบริเวณไหนเสี่ยงสูงที่สุดอาจเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้องการสูญเสีย เช่น เมืองมาดริด ที่ใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อนแบบเรียลไทม์ ติดตั้งบนจักรยานหรือเป้สะพายหลัง เพื่อให้ข้อมูลว่าจุดใดเสี่ยงต่อความร้อนสูงที่สุด หรือเมืองอื่นๆ ก็ติดตามความร้อนแบบเรียลไทม์โดยใช้ข้อมูลจากโพสต์ในโซเชียลมีเดีย

 

ส่วนในระยะยาว แน่นอนว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็นวิธีที่ควรมี เห็นตัวอย่างได้จากประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างสิงคโปร์ ที่ต้นไม้น้อยใหญ่ทั่วทั้งเกาะสามารถลดความร้อนได้ระดับหนึ่ง ที่สำคัญสิงคโปร์ไม่หยุดแค่การปลูกต้นไม้ พวกเขายกระดับไปอีกขั้นด้วยการใช้นวัตกรรมที่หลากหลาย ทั้งงานออกแบบอาคาร ระบบน้ำ และการทำความเย็นใต้ดิน เพื่อช่วยให้เมืองเย็นขึ้นโดยพึ่งพาเครื่องปรับอากาศให้น้อยที่สุด

 

นอกจากนี้ เมเดยิน เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศโคลอมเบีย ก็เป็นอีกแห่งที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในการลดความเสี่ยงจากความร้อนบริเวณเขตชุมชนยากจน พวกเขาปลูกต้นไม้พื้นเมืองและพืชเมืองร้อนต่างๆ ไว้บริเวณที่มีคนสัญจรไปมาเพื่อสร้างทางเดินสีเขียว เชื่อมไปสู่สวนสาธารณะในพื้นที่  

 

คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องยืนยันว่ามนุษย์จะเผชิญความยากลำบากในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศสุดขั้ว และตอนนี้อาจเรียกได้ว่าเราอยู่ยืนอยู่บนทางแยกที่ต้องเลือกระหว่าง ‘ความอยู่รอด’ หรือ ‘ความสูญสิ้น’

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising