×

เจาะข้อมูล ‘เด็กหลุดจากระบบการศึกษา’ เมื่อป้ายผ้าและการแขวนคอสะท้อนปัญหาที่รุมเร้าเด็กไทย

โดย THE STANDARD TEAM
07.09.2021
  • LOADING...
education system

กลายเป็นภาพที่ถูกแชร์กันในโลกออนไลน์เป็นวงกว้าง สำหรับการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ในการชุมนุมที่แยกอโศกวานนี้ (6 กันยายน) ซึ่งมีการห้อยตัวลงมาจากสกายวอล์กแยกอโศกเพื่อเลียนแบบการแขวนคอในชุดนักเรียน พร้อมป้ายข้อความ ‘เด็ก 1.8 ล้านคน กำลังหลุดจากระบบการศึกษา เพราะการเรียนออนไลน์ที่ไม่เห็นหัวเด็ก’

 

แม้การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าวจะดูรุนแรง หวาดเสียว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพการแสดงออกครั้งนี้หยุดสายตาของคนจำนวนมากได้ และทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องการศึกษาไทยภายใต้สถานการณ์โควิด ที่สอดคล้องกับแฮชแท็กประท้วงการเรียนออนไลน์ซึ่งขึ้นอันดับ 1 ในโลกทวิตเตอร์เมื่อวันสองวันที่ผ่านมา

 

เกิดอะไรกับระบบการศึกษาไทย ข้อมูลบนป้ายผ้าเหล่านี้มาจากไหน THE STANDARD ขอพาไปเจาะลึกเรื่องนี้ด้วยกัน

 

  • จากข้อความ ‘เด็ก 1.8 ล้านคน กำลังหลุดจากระบบการศึกษา เพราะการเรียนออนไลน์ที่ไม่เห็นหัวเด็ก’ อาจแยกได้เป็น 2 ประเด็นหลักๆ คือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กไทยและการเรียนออนไลน์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ
  • ข้อมูล ‘เด็ก 1.8 ล้านคน กำลังหลุดจากระบบการศึกษา’ น่าจะมีที่มาจากรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ทำไว้ในปี 2563 โดยประมวลจากจำนวนนักเรียนยากจนที่สมัครคัดกรองใหม่ ภาคเรียนที่ 1/2562 และ 1/2563 ซึ่งระบุว่า นักเรียนยากจนหรือด้อยโอกาส 1.8 ล้านคน ‘มีความเสี่ยง’ ที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา
  • ขณะที่ตัวเลขล่าสุด ปีการศึกษาล่าสุด 1/2564 ของ กสศ. มีนักเรียนยากจนหรือยากจนพิเศษที่ ‘มีความเสี่ยง’ ที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษารวมประมาณ 1.9 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับเด็กทั้งหมดในช่วงวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับที่มีประมาณ 9 ล้านคน
  • ซึ่งหากเจาะลึกลงไปเฉพาะข้อมูลของเด็กที่ ‘หลุดจากระบบการศึกษา’ จริง ในปี 2564 จะพบว่ามีเด็กจำนวน 43,060 คน ที่ยังไม่พบข้อมูลว่าได้กลับเข้ามาเรียนต่อ โดยส่วนใหญ่อยู่ในชั้นรอยต่อ ม.3 ขึ้น ม.4 จำนวน 33,710 คน และ ป.6 ขึ้น ม.1 จำนวน 8,699 คน อนุบาล 3 ขึ้น ป.1 จำนวน 604 คน ปัญหาหลักๆ มาจากรายได้ของครอบครัวที่ลดลงเหลือเฉลี่ย 1,094 บาทต่อเดือน หรือ 36 บาทต่อวัน โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด ทำให้เด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา
  • ขณะที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ. คาดการณ์ว่า สิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 65,000 คน “วิธีแก้ปัญหาคือการปรับเงินอุดหนุนรายหัว ค่าเล่าเรียน ค่าเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน ให้สอดรับกับค่าใช้จ่ายจริง ตอนนี้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริงเกือบ 2-3 พันบาท ไม่เช่นนั้นในภาคเรียนที่สองจะเห็นการหลุดจากระบบมากกว่านี้”
  • อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขของเด็กที่ ‘หลุดจากระบบการศึกษา’ จะต่างจากตัวเลขของเด็กที่ ‘มีความเสี่ยง’ ที่จะหลุดจากระบบการศึกษา แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่รอการแก้ไข เพราะปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาไม่ใช่แค่ปัญหาการศึกษา แต่กระทบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย โดยผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดคำนวณว่า หากประเทศไทยไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา จะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 3% และหากประเทศไทยแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้ จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า 228,000 ล้านบาทต่อปี
  • ย้อนกลับมาที่ป้ายผ้าของ ‘นักเรียนเลว’ ในส่วนหลังที่ระบุว่า ‘เพราะการเรียนออนไลน์ที่ไม่เห็นหัวเด็ก’ ซึ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมา ประสิทธิภาพของการเรียนออนไลน์ถูกหยิบยกมาพูดถึงในสังคมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ข้อเสนอให้หยุดเรียนพร้อมกันทั้งประเทศ 1 ปี (ย้อนอ่านได้ที่: ‘เรียนออนไลน์’ ไปต่อหรือพอแค่นี้? หลังนักวิชาการเสนอให้หยุดเรียนพร้อมกันทั้งประเทศ 1 ปี) จนมาถึงแฮชแท็ก #ไม่เรียนออนไลน์แล้วxxx
  • ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ. ระบุว่า ปัจจุบันเด็กไทยทั่วประเทศโดดเรียนกว่า 20% เนื่องมาจากความเครียดจากการเรียนออนไลน์ ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลในเชิงคุณภาพการศึกษาและสภาพจิตใจของเด็กเอง “ทั่วโลกมีการศึกษาเรื่องผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ พบข้อมูลที่ตรงกันคือ ถ้าเด็กต้องเรียนออนไลน์จะเกิดความถดถอยทางการศึกษาประมาณ 20-50% ดังนั้นหากต้องให้เด็กเรียนออนไลน์ต่ออีก 1 ปี เป็นทางเลือกที่ไม่เห็นด้วย”
  • ด้าน ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มงานการศึกษา ประจำธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย ระบุว่า การเรียนทางไกลทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างประเทศที่ถือว่าจัดการศึกษาออนไลน์ในระดับที่ประสบความสำเร็จ เช่น ประเทศจีน ที่ผลสำรวจชี้ว่า ถึงแม้ครูกว่า 70% ยืนยันว่าเครื่องมือและระบบที่พร้อมและมีความเสถียรจะช่วยให้การจัดการศึกษาเข้าถึงนักเรียนได้ แต่อีก 40% ระบุว่า การเรียนผ่านระบบออนไลน์ทำให้เกิดปัญหาในการโต้ตอบกับนักเรียน รวมถึงอีกมากกว่า 50% ไม่สามารถจัดระเบียบควบคุมชั้นเรียนได้
  • ดร.ดิลกะ ยังให้ข้อมูลว่า สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก PISA ระบุว่า ก่อนวิกฤตโควิด มีเด็กนักเรียนในกลุ่มยากจนด้อยโอกาสเข้าถึงคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเพียง 20% ขณะที่กลุ่มเด็กจากครอบครัวที่พร้อมสามารถเข้าถึงได้ 90% ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่าหากสถานการณ์การเรียนทางไกลเพื่อรับมือโรคระบาดยังยืดเยื้อต่อไป จะยิ่งส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เกิดช่องว่างเพิ่มขึ้นในเด็กที่มาจากครอบครัวต่างกัน
  • นอกจากนี้ ดร.ดิลกะ อ้างถึงผลการศึกษาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พบว่า การจัดการศึกษาทางไกลทำให้ความรู้ของเด็กนักเรียนสูญหายไปราว 50% หรือเท่ากับเวลาประมาณครึ่งปี และหากสถานการณ์ยังต่อเนื่องไปถึงสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 อัตราการสูญหายทางการเรียนรู้ของเด็กจะยิ่งเพิ่มขึ้นไปเท่ากับช่วงเวลา 1 ปี การคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนไปถึงผลที่จะเกิดกับเศรษฐกิจในอนาคตว่าจะมีมูลค่าความสูญเสียมากกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ในประเทศไทย ถ้าสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564 อัตราการสูญเสียการเรียนรู้จะอยู่ที่ประมาณ 1.27 ปี คิดความเสียหายเป็นมูลค่าประมาณ 3.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือเทียบเท่ากับ 30% ของ GDP ซึ่งในอนาคตเด็กกลุ่มนี้จะทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงาน ความรู้ที่สูญเสียไปจะหมายถึงคุณภาพของตลาดแรงงานที่ด้อยลง และเด็กกลุ่มนี้จะต้องอยู่ในตลาดแรงงานจนถึงปี 2624 หรือ 60 ปีนับจากนี้ และทุนมนุษย์ที่สูญเสียไปในช่วงนี้จะลดทอนศักยภาพอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโดยตรง ทั้งการสะสมทุน ผลผลิตของประเทศ รวมไปถึงการลดลงของพัฒนาการในทุกด้าน 
  • ปัญหาทั้งหมดนี้กำลังกัดกร่อนทำลายชีวิตของเด็กไทย ในยุคโรคระบาดทำให้เด็กๆ ไม่เหลือทางเลือกมากนัก แต่เชื่อว่ายังมีทางเลือกอีกมากในเชิงนโยบายที่จะไม่ทำให้เด็กจำนวนมากต้องหลุดจากระบบการศึกษา และยังอยู่ในโลกของการเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องทุกข์ทนกับการเรียนออนไลน์ที่ไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไร

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising