×

ส่งออกไทยน่าห่วง! กกร. เผยครึ่งปีแรกยังหดตัว 1-0% หวั่นต้นทุนค่าไฟพุ่งต่อ เตรียมยื่นหนังสือถึงนายก ขอทบทวนโครงสร้างพลังงานใหม่

05.04.2023
  • LOADING...
ส่งออกไทย

กกร. คาดส่งออกไทยยังหดตัวครึ่งปีแรก ติดลบ 1-0% กังวลราคาค่าไฟยังสูง เตรียมยื่นหนังสือถึง ‘ประยุทธ์’ นายกรัฐมนตรีในฐานะ กพช. ทบทวนค่าไฟให้ต่ำกว่า 4.77 บาทต่อหน่วย วันที่ 7 เมษายน 2566 พร้อมเสนอเขย่าโครงสร้างพลังงานใหม่โดยให้คำนึงระยะยาว

 

ห่วงส่งออกติดลบ 1-0% แนะเจาะกลุ่มอ่าวอาหรับ

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในฐานะประธาน การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนเมษายน 2566 ว่า กกร. ยังคงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจ (GDP) ปี 2566 เติบโต 3-3.5% ตามกรอบเดิมที่เคยประเมินไว้ แต่ส่งออกจะติดลบ 1-0% เงินเฟ้อ 2.7-3.2% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลบวกจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่ส่งออกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะจากคู่ค้าหลัก ซึ่งคาดการณ์ว่าส่งออกในช่วงไตรมาส 1-2 จะยังคงติดลบ แต่จะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3 และ 4 เป็นต้นไป 

  

นอกจากนี้ กกร. มีความกังวลต่อทิศทางการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอาจเผชิญแรงกดดันจากค่าเงินที่ผันผวนในทิศทางแข็งค่า ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก จึงมีความคิดเห็นว่า ควรเร่งดำเนินการจัดหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพอย่าง กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มประเทศเอเชียกลาง เป็นต้น เพื่อชดเชยการส่งออกไปยังตลาดหลักที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง

 

กังวลราคาน้ำมันพุ่ง เร่งร้องนายกฯ หั่นราคาค่าไฟลงอีก 

 

เกรียงไกรกล่าวอีกว่า สิ่งที่กังวล 2 เรื่อง คือระดับราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้นหลัง OPEC+ ลดกำลังผลิต และค่าไฟงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ที่เฉลี่ย 4.77 บาทต่อหน่วย ที่รัฐควรทบทวน ดังนั้น กกร. จึงเตรียมทำหนังสือยื่นถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 7 เมษายน 2566 นี้ เพื่อขอให้ทบทวนค่า Ft งวดที่ 2 ซึ่งมีผลต่อราคาค่าไฟ และพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างพลังงาน เพื่อลดภาระภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว 

      

เหตุผลหลัก เนื่องจาก 1. จากสถานการณ์ราคาพลังงานทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเร่งคืนหนี้ค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากเดิมที่มีแผนคืนให้ในระยะเวลา 3 ปี (ตามงวด 1/2566) และเปลี่ยนเป็น 2 ปี (ตามงวด 2/2566) อาจเร็วเกินไป จนส่งผลกระทบต่อภาระของประชาชน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ กกร. จึงเสนอให้คงระยะเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. เป็นระยะ 3 ปี ตามงวด 1/2566 

 

2. ควรพิจารณาปรับวิธีประมาณการราคาต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและราคา LNG ที่ใช้คำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยใช้ราคาที่สะท้อนแผนการนำเข้า LNG ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 แทนการใช้ข้อมูลราคาของเดือนมกราคม 2566 ซึ่งมีราคาที่สูงกว่า เพื่อบรรเทาผลกระทบราคาไฟฟ้าของทุกภาคส่วนลงได้

 

“ขอให้ภาครัฐเร่งจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานต่างๆ เพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างแท้จริง และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” เกรียงไกรกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising