×

พลังงานไฮโดรเจนมาแน่! กฟผ. บินญี่ปุ่นถก 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ ศึกษาผลิตไฟจากไฮโดรเจน-แอมโมเนีย

05.03.2023
  • LOADING...

กฟผ. บินญี่ปุ่นถก 5 บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น ศึกษาและพัฒนาไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดครบวงจร ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ พัฒนา BESS เรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดใช้ในภาคผลิตไฟฟ้า ชี้เทรนด์พลังงานอนาคตไฮโดรเจนมาแน่ หลังผลวิจัยระบุ ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนระหว่างเผาไหม้ และอนาคตอาจมาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ค่อยๆ มีแนวโน้มลดลง  

 

เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลไทย นำโดย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นิชิมุระ ยาสึโทชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดย นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กับ โทโมอากิ อิชิดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิตซุย โอ.เอส.เค ไลน์ จำกัด, คิมิโฮะ ซากุราอิ รองผู้อำนวยการ บริษัท ชิโยดะ คอร์ปอเรชั่น และ โชอิจิ โอกิวาระ ประธาน บริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด 

 

ทั้งนี้ เพื่อศึกษาและพัฒนาโครงการไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดครบวงจร รวมถึง MOU เพื่อศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ กับ ฮิโรโนบุ อิริยะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) และ MOU เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) กับ โคจิ ทาเคดะ เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง บริษัท IHI Corporation ในการประชุม 1st Asia Zero Emission Community Ministerial Meeting  

 

นิทัศน์กล่าวว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับเทรนด์พลังงานโลกที่เปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาด จึงได้แสวงหาเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่สำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยไฮโดรเจนและแอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคตที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างเผาไหม้ ขณะที่เชื้อเพลิงชีวภาพเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ BESS เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

 

ความร่วมมือใน MOU ทั้ง 3 ฉบับจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำในระดับสากล นำไปสู่การขับเคลื่อนเทคโนโลยีพลังงานสะอาด, เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ, การนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย, ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี และความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศโลกในอนาคต นับเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย

 

กระทรวงพลังงานระบุ ปัจจุบันประเทศไทยภาคพลังงานปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ราว 333 ล้านตันต่อปี โดยในปี 2020 สามารถลดการปล่อยได้ 56.47 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 15.38% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด และมีเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2030 แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ที่จะคลอดแผนกลางปี 2566 ภายใต้แผนพลังงานชาติที่จะเกิดขึ้นจะกำหนดว่า ไทยต้องเพิ่มการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 160 ล้านตันต่อปี 

 

ประกอบกับแนวโน้มหรือทิศทางพลังงานของโลกจากนี้ไปการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานขนาดใหญ่ในรูปแบบเดิมจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นและ Electrification โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ความต้องการพลังงานไฟฟ้ามั่นคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

ดังนั้นพลังงานหมุนเวียนจาก Solar & Wind จะเป็นเชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนสูงมากในการผลิตไฟฟ้าที่สำคัญคือ เทคโนโลยีไฮโดรเจนจะเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในอนาคต เพราะในระยะเวลา 10 ปีจากนี้ไป แม้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะยังเป็นเชื้อเพลิงหลักอยู่ แต่พลังงานไฟฟ้าอย่างไฮโดรเจนจะยิ่งเข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า กิจการที่ผลิตไฮโดรเจนจากน้ำโดยใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจน ซึ่งเป็นเทรนด์พลังงานอนาคต กิจการผลิตอาหารแห่งอนาคต กิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอวกาศ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นมาตรการใหม่ในการส่งเสริมการลงทุนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศที่ BOI กำลังผลักดันภายใต้อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกิจการเหล่านี้หากมาลงทุนที่ไทยจะจัดอยู่ในกลุ่ม A1+ ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 10-13 ปี

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising