‘โบลิเวีย’ คือประเทศที่มีปริมาณสำรองลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งแร่หายากที่ถูกยกให้เป็น ‘ทองคำขาว’ มีความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างมาก และตอนนี้กำลังอยู่ในมือกลุ่มทุนจากจีน
บริษัทจากจีนที่นำโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านแบตเตอรี่ Contemporary Amperex Technology หรือ CATL สามารถเอาชนะการเสนอราคาจากบริษัทต่างๆ กว่า 20 แห่ง รวมถึงหน่วยงานจากรัฐบาลรัสเซียในการทุ่มเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท สำหรับสร้างระบบพื้นฐานที่จำเป็นในเหมือง
โบลิเวียมีแหล่งแร่ลิเธียมที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก โดยมีประมาณ 21 ล้านตัน หรือ 23.6% ของสัดส่วนทั่วโลก จากการสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ ในปี 2021
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- พลังงานสกปรกตัวการโลกแตก และรถยนต์ไฟฟ้าคือทางรอดจริงหรือ?
- EA ยอมรับแร่ลิเธียมพุ่ง 6 เท่าตัว กดดันต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นคันละ 5-6 หมื่นบาท แต่มั่นใจอนาคตรถ EV ยังอยู่ในช่วงเติบโต
- กูรูชี้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขาขึ้น ค่ายเล็ก-ใหญ่ยกทัพ EV หลายโมเดล เปิดศึกชิงยอดขาย
ในพิธีลงนามในสัญญาที่เมืองลาปาซ ประธานาธิบดี Luis Arce ของโบลิเวีย กล่าวว่า ประเทศมีเป้าหมายที่จะดำเนินการเชิงพาณิชย์และส่งออกแบตเตอรี่ลิเธียมในไตรมาสแรกของปี 2025
“วันนี้เป็นการเริ่มต้นยุคของการผลิตลิเธียมของโบลิเวียในเชิงอุตสาหกรรม” Reuters รายงานว่านี่คือคำพูดของประธานาธิบดีโบลิเวีย
นี่เป็นโอกาสครั้งใหญ่สำหรับผู้ผลิตแบตเตอรี่อย่าง CATL ซึ่งต้องการลิเธียมในปริมาณมาก เนื่องจากราคาของลิเธียมคาร์บอเนตเกรดสำหรับทำแบตเตอรี่พุ่งขึ้นมากกว่า 6 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ถึงสิ้นปี 2022 ตามข้อมูลของ Caixin
Albemarle บริษัทด้านเคมีได้เพิ่มการคาดการณ์ปริมาณการใช้ลิเธียมคาร์บอเนตทั่วโลกเป็น 1.8 ล้านตัน ในปี 2025 ขณะที่ YLB ประมาณการในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่าโบลิเวียจะสามารถผลิตลิเธียมคาร์บอเนตได้ 40,000 ตันต่อปี ภายในปี 2025
กลุ่มทุนของจีนจะได้สิทธิในการพัฒนาโรงงานลิเธียมสองแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งสามารถผลิตลิเธียมคาร์บอเนตเกรดแบตเตอรี่ได้มากถึง 25,000 ตันต่อปี และเข้ามาช่วยปลดล็อกศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของโบลิเวียในฐานะซัพพลายเออร์ลิเธียมสำหรับแบตเตอรี่ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกได้ในที่สุด
กระนั้นก็ยังมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะถูกนำมาใช้ขุดเจาะ รวมไปถึงความรู้สึกต่อต้านการทำเหมืองอย่างรุนแรงในประเทศ โดยนักเคลื่อนไหวโต้แย้งว่าโครงการทำเหมืองอาจทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คน
อย่างในปี 2018 โครงการพัฒนาที่คล้ายกันซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทสัญชาติเยอรมนีต้องหยุดชะงักภายใน 1 ปี เนื่องจากเกิดการประท้วงจากผู้อยู่อาศัยในเขตโปโตซี
อ้างอิง: