×

ป.ป.ช. ชี้มูล จารุพงศ์ อดีต มท.1 – อดีตหัวหน้าเพื่อไทย ผิดยุยงให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง คดี ‘นปช. ลั่นกลองรบ’

โดย THE STANDARD TEAM
14.02.2020
  • LOADING...

วันนี้ (14 กุมภาพันธ์) วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า เรื่องกล่าวหา จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับพวก กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยละเว้นไม่ดำเนินการ ไม่สั่งการตรวจสอบ หรือดำเนินการใดๆ เพื่อระงับยับยั้งหรือป้องกันเหตุการณ์ ความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นตามแนวทาง และข้อเสนออันละเมิดต่อกฎหมายของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติที่กล่าวปราศรัย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ เป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยมี ณรงค์ รัฐอมฤต, สุภา ปิยะจิตติ และสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวน

 

​จากการไต่สวนข้อเท็จจริง พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (กลุ่ม นปช.) ได้จัดการชุมนุมโดยใช้ชื่อว่า ‘นปช. ลั่นกลองรบ’ ที่อาคารลิปตพัลลภ ฮอลล์ ภายในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหากับพวกรวม 13 คน เข้าร่วมในการปราศรัย โดยผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนได้ผลัดเปลี่ยนขึ้นกล่าวปราศรัย และมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไปทั่วประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาในการกล่าวปราศรัยในลักษณะให้มีการแบ่งแยกประเทศ และสั่งให้รวมตัวกันเพื่อไปปิดล้อมองค์กรอิสระต่างๆ และเมื่อ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมาถึงที่ชุมนุม ก็ได้รับทราบถึงแนวทางของกลุ่ม นปช. เมื่อขึ้นเวทีกล่าวปราศรัยก็ได้กล่าวปราศรัยด้วยถ้อยคำในลักษณะ เห็นด้วยและสนับสนุนกับแนวทางและข้อเสนอของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 พร้อมที่จะสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำการตามแนวทางที่แกนนำได้กล่าวปราศรัย อันเป็นแนวทางที่อาจจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง และก่อให้เกิดความแตกแยกถึงขั้นแบ่งแยกประเทศตามที่มีการกล่าวปราศรัยไปก่อน 

 

และปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่า หลังจากมีการชุมนุมปราศรัย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 ดังกล่าวแล้ว ได้มีกลุ่มบุคคลนำป้ายผ้าไวนิลที่มีข้อความในลักษณะขอแบ่งแยกประเทศเป็นประเทศล้านนา ไปปิดประกาศไว้ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เชียงราย พะเยา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย จนเป็นเหตุให้มีกลุ่มบุคคลต้องถูกดำเนินคดี และต่อมาก็ยังมีการจัดชุมนุม ในลักษณะเดียวกันอีกที่สนามทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยยังคงใช้ชื่อว่า ‘นปช. ลั่นกลองรบ ครั้งที่ 1’ ซึ่งเป็นการกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานขององค์กรอิสระ และคำตัดสินของศาลแพ่ง เป็นต้น โดยกล่าวว่าอาจจะเคลื่อนกำลังคน เข้ากรุงเทพมหานคร

 

​คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ขณะนั้นรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอำนวยความเป็นธรรมของสังคม และความมั่นคงภายใน แต่กลับกล่าวปราศรัยเพื่อสนับสนุน ยุยง ส่งเสริม ให้กลุ่มผู้ชุมนุมกระทำการตามแนวทางการดำเนินการ และข้อเสนอที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ซึ่งตนเป็นหัวหน้าพรรคให้ยังคงเป็นรัฐบาลต่อไป 

 

โดยจารุพงศ์ ละเว้นไม่ดำเนินการ ไม่สั่งการตรวจสอบ หรือดำเนินการใดๆ เพื่อระงับยับยั้งหรือป้องกันเหตุการณ์ จนเกิดความวุ่นวาย หรือความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น การกระทำของจารุพงศ์ จึงมีมูลความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และฐานกระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีการอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 116 (2) (3)​

 

​สำหรับผู้ถูกกล่าวหารายอื่นประกอบด้วย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, จตุพร พรหมพันธุ์, วีระกานต์ มุสิกพงศ์, ร้อยตรี ประไพ ฮวดศรี, สำเนียง คงพลปาน, อัญชลี เทพวงษา, อุบลกาญจน์ อมรสิน, นันท์พิพัชร์ หรือเอนก วงศ์มีมา, ทองอยู่ พรมนำชา, รัตน์ ภู่กลาง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2-13 ตามลำดับ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าพนักงานของรัฐที่เข้าร่วมชุมนุมและกล่าวปราศรัยนั้น เป็นเรื่องนอกหน้าที่ราชการ 

 

และกรณีของผู้ถูกกล่าวหาอื่นที่มิได้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐนั้น

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้แจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการกระทำ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising