คำกล่าวฝรั่งว่าไว้ว่า ‘age like wine’ หรือว่าง่ายๆ คือ ‘ยิ่งอายุมาก ยิ่งแจ๋ว’ (แล้วภาพของ จอร์จ คลูนีย์ ก็ลอยมา) แต่หาใช่ไวน์ทุกตัวหรอกนะที่เหมาะแก่การเก็บเพื่อความเก๋า แต่ก่อนจะเปิดขวดฉลองลมหนาวจางๆ ปลายปี หยุดเช็กกันสักนิดว่าไวน์ที่คุณกำลังจิบนั้นยังอยู่ในสภาพที่ดี ควรดื่มหรือเปล่า เราพกวิธีเช็กง่ายๆ มาฝาก แบบไม่ต้องยกแก้วจิบให้เสียลิ้น
ภายนอกบอกอะไร
ไวน์ที่เจอกับอากาศเป็นเวลานานเกินไป ทั้งจากเปิดทิ้งไว้หรือปิดไม่สนิท น้ำไวน์ที่อยู่ภายในก็เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย บ้างอาจบอกว่าไวน์นั้นหลังจากเปิดแล้วสามารถอยู่ได้เป็นอาทิตย์ แต่โดยมากจะสูญเสียความอร่อยไปไม่กี่วันหลังจากเปิดขวด ดังนั้นก่อนคุณจะหยิบไวน์ที่แช่เอาไว้เมื่องานปาร์ตี้ครั้งก่อนมาดื่มฉลองปลายปี
- ไวน์สีขุ่น มีไวน์หลายชนิดที่สีขุ่นทั้งๆ ที่ยังใหม่ แต่หากครั้งแรกที่คุณจิบ ไวน์ยังใส แต่กลับขุ่นขึ้นหลังจากเก็บลืม หรือบางครั้งยังทิ้งคราบเอาไว้รอบๆ ขวด บอกได้ว่าจุลินทรีย์ได้เข้าไปทำการเปลี่ยนแปลงกับน้ำไวน์เข้าเสียแล้ว
- ไวน์เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล สีของไวน์จะเปลี่ยนไปเมื่อเจอกับอากาศ ไม่ต่างจากผลแอปเปิ้ลเมื่อกัดแล้วทิ้งเอาไว้นั่นเอง แต่อย่าเข้าใจผิดเพราะไวน์บางตัวก็มีสีน้ำตาลตั้งแต่เริ่ม ที่เราพูดถึงคือสีน้ำตาลในไวน์แดงที่เปลี่ยนไปนับแต่แรกพบ ซึ่งบ่งบอกถึงปฏิกริยาทางเคมีมากน้อยที่เกิดขึ้นเมื่อเจอกับอากาศ ส่วนไวน์ขาวนั้นจากที่เคยเป็นสีอ่อน สีอาจกลายเป็นเหลืองเข้มหรือน้ำตาลอ่อน
- มีฟอง หากจำได้ว่าไม่ได้หยิบสปาร์กลิงไวน์หรือแชมเปญมาจากหิ้ง แต่ไวน์กลับมีฟองจนน่าแปลกใจ นั่นอาจบอกได้ว่ามาจากปฏิกิริยาการหมักที่เกิดขึ้นในขวด แต่อย่าร้องเฮไปว่าคุณได้สร้างสปาร์กลิงไวน์ขึ้นมาเองได้! เพราะมันคงไม่อร่อยดุจแชมเปญแน่นอน แถมยังเปรี้ยวและซ่าประหลาดอีกต่างหาก…
- จุกไวน์ดันออกมาจากขวด อาจเป็นสัญลักษณ์ว่าไวน์ที่คุณถือผ่านความร้อนที่สูงเกินไป ทำให้จุกที่ปิดอยู่ดันตัวออกมา
ยืมจมูกพิสูจน์
นอกจากการดูด้วยตาแล้ว หากยังไม่ชัวร์ แนะให้ใช้จมูกช่วยพิสูจน์ได้อีกทาง ซึ่งไวน์ที่เปิดทิ้งไว้นานเกินจะมีกลิ่นที่ติดเปรี้ยวและแหลม หากนึกไม่ออก โปรดนึกถึงน้ำยาล้างเล็บ หรือน้ำส้มสายชู ซึ่งกลิ่นเหล่านี้เกิดจากการทำปฏิกิริยาเคมีภายในเมื่อไวน์สัมผัสกับความร้อนหรือออกซิเจน ที่ทำให้แบคทีเรียเติบโตและทำให้เกิดกรดน้ำส้มนั่นเอง
- กลิ่นเพี้ยน หากกลิ่นของไวน์มีความหืน หรือชวนให้นึกถึงไม้หรือห้องใต้ดินแฉะๆ หรือนึกถึงน้ำส้มสายชู ไวน์นั้นอาจไม่น่าอภิรมย์ในการดื่มอีกต่อไป หรือหากได้กลิ่นลูกเกดฉุนๆ ก็คิดสักนิด เพราะนั่นอาจไม่ใช่ฝีมือของไวน์เมกเกอร์ แต่เป็นเจ้าจุลินทรีย์ในน้ำไวน์ต่างหาก
- อยากรู้ต้องลอง ลองหยิบขวดไวน์ที่เปิดไว้นานลืมนั้นมา แล้วลองดมดู คุณอาจรับรู้ถึงความเหม็นเปรี้ยว กลิ่นถั่ว และอีกสารพัด ที่สุดท้ายจะทำให้แยกแยะไวน์หมดอายุได้ง่ายขึ้นครั้งหน้า
อยากรู้ต้องลอง!
ถ้าคุณเป็นไวน์เวอร์จิ้น ไม่รู้จริงๆ ว่ากลิ่นไวน์ผิดแปลกเป็นอย่างไร แนะนำให้ ‘ลอง’ สักตั้งก่อนจะโยนทิ้ง จิบเดียวคงไม่ทำให้ท้องเสียหรอกน่า
- ไวน์แดงรสหวาน หากจู่ๆ ไวน์แดงที่ครั้งหนึ่งเคยฝาดลิ้นแต่อร่อย กลับรสหวานขึ้นมาราวกับไวน์ขนมหวานเสียอย่างนั้น นั่นแปลว่าไวน์นั้นอ่านอุณหภูมิที่ร้อนเกินควร และคุณควรวางมันลงเถิด
- รสชอบกล ทันทีที่ไวน์สัมผัสลิ้น หากรู้สึกว่ามีความผิดแปลกไม่ชอบมาพากล โปรดพิจารณาโดยด่วน โดยเฉพาะหากเป็นรสชาติเปรี้ยวประหลาด รสแรง หรือรู้สึกราวกับกำลังอมน้ำยาล้างเล็บ
- ซ่ามาจากไหน เช่นเดียวกับไวน์มีฟอง ที่หากชิมแล้วรู้สึกซาบซ่าน ราวกับจิบโปรเซคโก แต่เดี๋ยว…นี่มันไวน์แดง นั่นแปลว่าไม่ปกติแล้วล่ะ โปรดวางแก้วไวน์นั้นลงบัดเดี๋ยวนี้
แม้การดื่มไวน์ที่เปลี่ยนสภาพอาจไม่ได้ทำให้ป่วยหรืออาหารเป็นพิษ แต่การดื่มน้ำองุ่นกลิ่นน้ำส้มสายชูคงไม่น่าอร่อยนักใช่ไหมล่ะ ดังนั้นโปรดตัดใจ แล้วมองหาไวน์ขวดใหม่ที่สดใหม่ การันตีความอร่อยเพื่อช่วงเวลาที่ดีกันดีกว่า จะไวน์ขาว ไวน์แดง สปาร์กลิง หรือโรเซกันดีล่ะ?
ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan
- คำแนะนำอีกอย่างคือนอกจากจะดูจากจุกไม้ก๊อกภายนอกถึงความผิดปกติแล้ว ควรเทออกมาพิจารณาน้ำไวน์ด้วยจากวิธีข้างต้น เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะไม่โยนไวน์ดีๆ ขวดหนึ่งทิ้งให้เสียเปล่า
- นอกเหนือจากการเปิดขวดไวน์ทิ้งไว้แล้ว โดยปกติจะมีไวน์ 1 ใน 75 ขวดที่อาจมีความผิดปกติขึ้นภายในขวดได้