×

เหตุผลที่ใครๆ ก็มาจิบไวน์ที่บารอสซาแวลลีย์ ผืนดินสีเขียวแดนจิงโจ้ และน้ำองุ่นคิดต่าง

05.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ขณะที่อุตสาหกรรมไวน์ของออสเตรเลียโดยมากได้รับอิทธิพลการทำไวน์มาจากอังกฤษ แต่ชาวเมืองบารอสซากลับได้รับอิทธิพลที่ต่างออกไป ซึ่งริเริ่มโดยกลุ่มผู้ตั้งรกรากชาวเยอรมันที่หนีการถูกประหารชีวิตมาจากแคว้นไซลีเซีย ซึ่งปัจจุบันคือประเทศโปแลนด์นั่นเอง
  • ในที่สุดชาวบารอสซาก็ได้ยิ้มกับเขาบ้าง เมื่อปลายศตวรรษที่ 20 ไร่ไวน์จิ๋วหลายแห่งเริ่มได้รับคำชมว่าผลิตไวน์ได้ดีและรสชาติอร่อยจนทำให้ไวน์ชีราซจากบารอสซา (Barossa Shiraz) แก้มือดึงชื่อเสียให้กลายเป็นชื่อเสียงโด่งดังไปไกลระดับโลก ทั้งยังเอ่ยได้ว่าเป็นเจ้าของรสชาติไวน์แดงอันเข้มข้นแสนอร่อยอย่างชีราซได้เต็มปาก

เราชวนคุณดิ่งลงใต้สู่เมืองในประเทศออสเตรเลียสู่ผืนดินอันเขียวชอุ่ม บ้านของไวน์นานาชนิดอันลือชื่อของคนออสซี่อย่างบารอสซาแวลลีย์ (Barossa Valley) ในแอดิเลด ตามหาเหตุผลว่าทำไมใครๆ ถึงมักมาจิบไวน์ที่นี่กันนัก

 

นายพล วิลเลียม ไลต์ นักสำรวจผู้บุกเบิกเมืองและ (เกือบจะ) ได้ตั้งชื่อเมืองบารอสซา

 

ทำความรู้จักบารอสซากันสักหน่อย

บารอสซาแวลลีย์นั้นเป็นถิ่นผลิตไวน์ที่เก่าแก่ที่สุดของออสเตรเลีย ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองแอดิเลดในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย โดยในเดือนธันวาคม ปี 1837 นายพล วิลเลียม ไลต์ (Colonel William Light) ชาวอังกฤษ ได้นำทีมสำรวจโดยมีผู้ช่วยของเขา วิลเลียม เจค็อบ (William Jacob) เป็นผู้ทำการสำรวจพื้นที่โดยเป็นหนึ่งในแผนสำรวจพื้นที่บารอสซาในวงกว้าง โดยนายพลไลต์ ได้ตั้งชื่อบารอสซาเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงชัยชนะของอังกฤษที่มีต่อฝรั่งเศสในศึกแห่งบาร์โรซา (Battle of Barrosa) ที่เขาร่วมรบด้วยในเมืองพลาญา เดอ ลา บาร์โรซา (Playa de la Barrosa) ในสเปนเมื่อปี 1811 ชื่อ ‘บารอสซา’ นั้นแท้จริงแล้วจะว่าเสมียนผู้น้อยเป็นคนตั้งก็คงไม่ผิดนัก เพราะเกิดจากการที่นายเสมียนถอดความผิดจาก ‘บาร์โรซา’ เสียอย่างนั้น

 

ผืนดินสีเขียวกับท้องฟ้าสีฟ้าสด เอกลักษณ์ของออสเตรเลียตอนใต้

 

ไวน์คิดต่าง

ขณะที่อุตสาหกรรมไวน์ของออสเตรเลียโดยมากได้รับอิทธิพลการทำไวน์มาจากอังกฤษ แต่ชาวเมืองบารอสซากลับไม่ทำเช่นนั้น เนื่องด้วยได้รับอิทธิพลที่ต่างออกไป ซึ่งริเริ่มโดยกลุ่มผู้ตั้งรกรากชาวเยอรมันที่หนีการถูกประหารชีวิตมาจากแคว้นไซลีเซีย ซึ่งปัจจุบันคือประเทศโปแลนด์นั่นเอง (ดังนั้นเป็นเรื่องปกติที่จะได้เห็นคนแถบนี้มีนามสกุลที่มีความรัสเซียโปแลนด์อยู่บ่อยๆ)

 

ในปี 1841 บริษัทเซาท์ออสเตรเลียนได้ส่งเรือ 3 ลำไปไซลีเซีย โดยเสนอที่ดินสำหรับลี้ภัยแลกกับน้ำแรงเพื่อช่วยพัฒนาพื้นที่ในบารอสซาแวลลีย์ มีครอบครัวเยอรมันกว่า 500 ครอบครัวตอบตกลงและย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากในบารอสซาแวลลีย์นับแต่นั้น และหลังจากพยายามปลูกพืชนานาชนิดแล้ว ผู้มาใหม่ยังพบว่าพื้นที่อันอบอุ่นบริเวณลำธารยังเหมาะแก่การปลูกองุ่นอีกด้วย โดยมีหลักฐานระบุว่าองุ่นต้นแรกๆ นั้นถูกนำมาปลูกโดยชาวยุโรปในปี 1842 แม้จะนำมาซึ่งการริเริ่มทำไวน์ที่ทำกันมาแบบล้มลุกคลุกคลาน เนื่องจากแม้คนในพื้นที่จะเป็นชาวไร่ชาวสวนที่เก่ง แต่บ้านเกิดของพวกเขาอย่างไซลีเซียหาได้มีธรรมเนียมการทำไวน์เสียเมื่อไร…

 

องุ่นสุดสายตา!

 

จากประวัติศาสตร์แล้ว อุตสาหกรรมไวน์ในบารอสซาแวลลีย์ในช่วงแรกนั้นเน้นไปที่รีสลิง (Riesling) พันธุ์องุ่นสัญชาติเยอรมันจากไรน์แลนด์ (Rhineland) เสียเป็นหลัก ซึ่งพื้นที่บริเวณหุบเขานั้นมีอุณหภูมิสูง จึงมีส่วนทำให้องุ่นสุกเร็ว ส่งผลให้ไวน์มีแอลกอฮอล์สูงและกลายเป็นสีน้ำตาลได้ง่าย ทำให้ไวน์แบบ*ฟอร์ติไฟด์ (Fortified Wine) หรือไวน์หวานเป็นที่นิยม และไวน์บางส่วนถูกนำไปกลั่นทำเป็นบรั่นดี ในขณะที่เริ่มมีการนำพันธุ์องุ่นแดงอย่างชีราซ (Shiraz) หรือเกรอนาช (Grenache) มาปลูกเพิ่มขึ้น และเป็นเวลาหลาย 10 ปีที่บารอสซาแวลลีย์เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตไวน์ฟอร์ติไฟด์ในยุคนั้น

 

เมื่อมาถึงกลางยุคศตวรรษที่ 20 ที่อุตสาหกรรมไวน์ออสเตรเลียเริ่มหันมาหาการทำไวน์แบบพรีเมียม บารอสซาแวลลีย์ก็ยังถูกพี่น้องนักทำไวน์ในประเทศมองว่าสู้ใครเขาไม่ได้เมื่อเทียบกับถิ่นที่มีอากาศหนาวเย็นกว่าอย่างคูนาวาร์รา (Coonawarra) หรือแพดธาเวย์ (Padthaway) และด้วยความที่เป็นถิ่นที่คุ้นเคยกับพันธุ์องุ่นอย่างชีราซมายาวนาน ซึ่งขณะนั้นชีราซถือเป็นพันธ์ุองุ่นที่เรียกง่ายๆ ว่า ‘บ้าน’ และดาษดื่น ห่างไกลกับความเก๋ไก๋มากสำหรับตลาดเมื่อเทียบกับคาร์เบอร์เนต ซาวิญง (Cabernet Sauvignon) ที่กำลังได้รับความนิยมในตลาดไวน์ของโลกอยู่ ณ ตอนนั้น ทิศทางตลาดทำให้ไวน์จากบารอสซาแวลลีย์กลายเป็นไวน์ไม่เก๋ ซ้ำยังถูกนำไปเป็นส่วนผสมในไวน์ชนิดอื่นๆ แบบที่ไม่ยอมแม้กระทั่งระบุว่ามาจากที่นี่เลยทีเดียว!

 

สวนองุ่นจากลำธารของเจค็อบกลายมาเป็นแบรนด์อย่าง Jacob’s Creek ที่เราเห็นกันทั่วไปนั่นเอง

 

แต่ในที่สุดชาวบารอสซาก็ได้ยิ้มกับเขาบ้าง เมื่อปลายศตวรรษที่ 20 ชื่อเสียงของบารอสซาแวลลีย์ไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากการที่ไร่ไวน์จิ๋วหลายแห่งเริ่มได้รับคำชมว่าผลิตไวน์ได้ดีและรสชาติอร่อยจนทำให้ไวน์ชีราซจากบารอสซา (Barossa Shiraz) จากเดิมที่คนเคยเบะปากใส่กลับแก้มือดึงชื่อเสียให้กลายเป็นชื่อเสียงโด่งดังไปไกลระดับโลกได้จนเป็นที่รู้จักถึงสไตล์ของไวน์ที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งคล้ายกับไวน์จากองุ่นที่ปลูกในโกเต้ โคตี (Côte-Rôtie) ชาโตเนิฟ ดู ปาเป (Châteauneuf-du-Pape) และในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีลักษณะฟูลบอดี้ (Full Body) มีรสชาติเข้มข้น มีกลิ่นช็อกโกแลตและเครื่องเทศหอมๆ สะกดจมูกอันเป็นลักษณะของไวน์ชีราซจากบารอสซา และเป็นรสชาติคุ้นเคยสำหรับไวน์จากออสเตรเลียในที่สุด!

 

จิบรีสลิงรับลมชมวิวสวยๆ จากสไตน์การ์เท็นกัน

 

คำเย้ยหยันสู่รางวัลชวนยิ้ม

นับจากวันนั้นถึงวันนี้ ถิ่นปลูกไวน์บารอสซาได้กลายเป็นสถานที่ที่เหล่าคนทำไวน์เรียกว่า ‘บ้าน’ มากว่า 6 ชั่วอายุคนแล้ว มีผู้ผลิตไวน์กว่า 70 แห่งด้วยกัน ทั้งยังคงปลูกและเก็บเกี่ยวองุ่นที่บางสายพันธุ์ถึงกับเก่าแก่ที่สุดในโลก และไวน์ที่ชาวบารอสซาภูมิใจนำเสนอทุกวันนี้มีตั้งแต่ชาร์ดอนเนย์ (Chardonnay), รีสลิง, เซมิลลอน (Semillon), เกรอนาช, มูร์วีเดร (Mourvedre), คาร์เบอร์เนต ซาวิญง ไปจนถึงชีราซ

 

และแม้จะขึ้นชื่อเรื่องเป็นสถานที่ผลิตไวน์แดงเป็นหลัก แต่ใครที่ได้มาเยี่ยมเยือนแล้วไม่โปรดไวน์แดง ไม่อินกับการเที่ยวชมโซนบารอสซาที่อยู่ทางใต้ของบารอสซาแวลลีย์ที่มีอากาศค่อนข้างร้อนเพื่อชิมไร่ไวน์ที่ผลิตชีราซระดับรางวัลเหรียญทอง ก็สามารถไปขับรถขึ้นที่สูงเพื่อไปสู่อีเดนแวลลีย์ (Eden Valley) ที่อากาศเย็นสบายกว่าและขึ้นชื่อเรื่องการทำรีสลิงเพื่อลองชิมไวน์ขาวรีสลิงรสสดชื่น ทั้งยังชวนหวนคิดกลับไปสู่ยุคเริ่มต้นสมัยตั้งรกรากกับองุ่นพันธุ์ไรน์แลนด์ที่พกติดมือมาอีกครั้ง ไม่เชื่อลองไปที่สไตน์การ์เท็น (Steingarten) ไร่ที่ปลูกองุ่นบนดินและหินท่ามกลางอากาศเย็นๆ แต่กลับทำรีสลิงได้อร่อยสดชื่น และไวน์ขาวจากผืนดินแถบอีเดนแวลลีย์ก็ทำให้ไวน์รีสลิงแถบนี้เป็นที่รู้จักไกลสำหรับนักจิบทั่วโลกทีเดียว

 

เชียร์ส!

 

บารอสซาได้กลายเป็นถิ่นที่รวมเอาวิถีความเป็นยุโรปมานำเสนอและเฉลิมฉลองผ่านอาหารและการกินดื่มที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งยังเป็นแหล่งที่เต็มไปด้วยร้านอาหารระดับรางวัลหลายแห่งที่เหมาะแก่การกินดื่ม นั่งละเลียดรสอร่อยคู่กับไวน์แพริ่งได้ไม่รู้จบ ทั้งยังมีหมู่บ้านอายุกว่า 160 ปี มีชาโตและโบสถ์หินอันงดงาม ตลอดจนตึกรามบ้านช่องเก่าแก่ที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษรุ่นแรก เช่นเดียวกับหนึ่งในไร่องุ่นชีราซที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และชื่อเสียงอันลือไปไกลของรสชาติเข้มข้นเป็นเอกลักษณ์ของไวน์แดงชีราซจากผืนดินแห่งนี้ และแน่นอนว่าต้องไม่ลืมทิวทัศน์สวยงามที่เต็มไปด้วยต้นยูคาลิปตัสและสวนองุ่นกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาทั่วทั้งเมืองแบบที่ได้เห็นเป็นสักครั้งเป็นต้องจดจำไม่ลืม

 

และหากโชคดี คุณอาจได้เห็นลูกจิงโจ้บุกสวนมาแอบเก็บองุ่นกินในไร่แบบที่เราได้เห็นก็ได้!

 

อ่านเรื่อง อุ่นหรือเย็นเกี่ยวอะไรกับความอร่อย? ว่าด้วยเรื่องอากาศกับรสของไวน์ ได้ที่นี่

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

FYI
  • แอดิเลด (Adelaide) เป็นเมืองหลวงและเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของรัฐเซาท์ออสเตรเลีย และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการปลูกองุ่นและทำไร่ไวน์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของประเทศออสเตรเลีย
  • *Fortified wine คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักผลองุ่นให้ได้แอลกอฮอล์ หลังการหมักมีการเติมเอทิลแอลกอฮอล์บริสุทธ์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผ่านการกลั่น (Distilled Beverage) เช่น บรั่นดี และน้ำตาลให้มีปริมาณแอลกอฮอล์โดยปริมาตร (Alcohol By Volume – ABV) สูงกว่าเทเบิลไวน์ (Table Wine) คือประมาณ 14-24% โดยมักใช้ดื่มหลังอาหาร เรียกว่าไวน์ย่อยอาหาร
  • หากไม่อยากลุกออกจากบ้านให้วุ่นวาย สามารถช้อปปิ้งไวน์ออนไลน์ได้แล้วที่นี่
  • ผู้บรรลุนิติภาวะควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ และไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหากบริโภคแอลกอฮอล์
  • หมายเหตุ: สุราเป็นเหตุก่อมะเร็ง เซ็กซ์เสื่อม ก่อให้พิการและเสียชีวิต เป็นเหตุทะเลาะวิวาทและอาชญากรรม สามารถทำร้ายครอบครัวและทำลายสังคมได้
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising