×

จำเป็นหรือไม่ที่ไทยต้องมี ‘เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน’ มูลค่ากว่า 9 พันล้านบาท

14.11.2023
  • LOADING...

“โครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่จะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทฯ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงเป้าหมายในการพัฒนาประเทศและสังคมอย่างยั่งยืน”

 

ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงประโยชน์ของโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ ระดับพลังงาน 3 พันล้านอิเล็กตรอนโวลต์ (GeV) ซึ่งถือเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่ 2 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2566

 

THE STANDARD ชวนทำความรู้จักเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มูลค่าเฉียดหลักหมื่นล้านบาท พร้อมพิจารณาความเหมาะสมของการลงมือสร้างเอง หลังจากที่เครื่องแรกประเทศไทยได้รับบริจาคจากรัฐบาลญี่ปุ่น

 

แสงซินโครตรอนคืออะไร?

 

  • คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เหมือนแสงที่มาจากดวงอาทิตย์
  • ถูกปลดปล่อยออกมาจากอนุภาคที่มีประจุ เช่น อิเล็กตรอน ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงเกือบเท่าความเร็วแสง และถูกบังคับให้เลี้ยวโค้งด้วยสนามแม่เหล็ก
  • สว่างกว่าดวงอาทิตย์ 1,000,000 เท่า
  • วัดค่าได้แม้สารตัวอย่างมีปริมาณน้อย
  • วิเคราะห์ตัวอย่างได้ถึงระดับอะตอม
  • กระบวนการวัดไม่ทำลายสารตัวอย่าง
  • ลำแสงมีความเข้ม และอำนาจทะลุทะลวงสูง
  • ขนาดของลำแสงเล็กได้ถึงในระดับไมโครเมตร (1 ใน 1,000,000 ของเมตร)

 

แหล่งผลิตแสงซินโครตรอนแห่งแรกแห่งเดียวในประเทศไทย

 

เครื่องผลิตแสงซินโครตรอนมีอีกชื่อว่า เครื่องกำเนิดแสงสยาม (Siam Photon Source) อยู่ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ตั้งอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้กำกับของกระทรวง อว. 

 

สำหรับเครื่องผลิตแสงฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเครื่องกำเนิดแสงระดับพลังงาน 1.2 GeV มีมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยได้รับบริจาคมาจากประเทศญี่ปุ่น เริ่มติดตั้งเมื่อปี 2539 และให้บริการมาตั้งแต่ปี 2546 

 

ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนคือใช้ในงานวิจัยขั้นพื้นฐานในการหาคุณสมบัติของอะตอม โมเลกุล และความยาวพันธะระหว่างอะตอมภายในโมเลกุลของสสาร, ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของวัสดุเมื่ออยู่ในสภาวะความดันและอุณหภูมิสูง, ศึกษาคุณสมบัติบางประการของแม่เหล็ก และศึกษาการจัดเรียงตัวของอะตอมบริเวณพื้นผิวและมลพิษที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม

 

สำหรับเครื่องผลิตแสงฯ ที่ใช้อยู่ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าจะสามารถให้บริการได้อีกน้อยกว่า 10 ปี จึงเป็นที่มาของโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงระดับพลังงานใหม่ที่ระดับพลังงาน 3 GeV ส่วนสาเหตุที่ต้องเริ่มสร้างล่วงหน้าก่อนเครื่องเก่าจะหมดสภาพ เพื่อให้การบริการและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์สามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง

 

ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนขนาด 3 GeV 

 

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ระบุถึงประโยชน์ของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่ 2 ของประเทศไทย ที่จะตั้งอยู่ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จังหวัดระยอง ไว้ 6 ด้าน ประกอบด้วย

 

  • ด้านการแพทย์ ยกระดับการวิจัยสารประกอบในพืชและสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาโรค รวมถึงการศึกษาโครงสร้างของโปรตีน ไวรัส และเอนไซม์ เพื่อหากลไกของการติดเชื้อ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่นำไปสู่การออกแบบยารักษาโรคใหม่ๆ
  • อุตสาหกรรมวัสดุขั้นสูง ช่วยวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติวัสดุภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ตอบสนองความต้องการในการทำวิจัยและพัฒนาของนักวิจัยวัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีตสูตรใหม่ 
  • อาหารและการเกษตร เพิ่มมูลค่าตั้งแต่การจัดการผลผลิตกระบวนการทางวิศวกรรมด้านการเกษตร การแปรรูปอาหาร การพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร และความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์ 
  • ด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยในการวิเคราะห์การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และหาความเชื่อมโยงระหว่างโรคพืชและโมเลกุลที่พืชดูดซึมเข้าไปได้ นำไปสู่การหาแนวทางป้องกันการเกิดโรคในพืช
  • อุตสาหกรรมพลังงาน ช่วยในงานวิจัยที่เกี่ยวกับการผลิตและกักเก็บพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ เช่น วิจัยเกี่ยวกับเซลล์พลังงาน (Fuel Cell) 
  • ด้านโบราณคดี การวิเคราะห์โครงสร้างในระดับอะตอมเชิงลึก ทั้งการหาที่มา ตลอดจนการถ่ายภาพ 3 มิติ เพื่อไขปริศนาข้อมูลโบราณที่ขาดหายไป 

 

สิ่งที่น่าสนใจคือมีการตั้งโจทย์สำคัญว่าเครื่องกำเนิดแสงฯ เครื่องใหม่นี้จะสามารถคืนทุนให้รัฐบาลในระยะเวลา 7 ปี และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ 6,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องจับตาต่อไปว่า หากโครงการดังกล่าวสำเร็จตามแผนปี 2577 จะตอบโจทย์ที่ตั้งไว้สูงขนาดนี้ได้หรือไม่

 

วันนี้ (14 พฤศจิกายน) โครงการนี้อยู่ในขั้นตอนใด

 

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.อว.) สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และคณะทำงาน ได้เข้าชี้แจงต่อ กมธ.อว. เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

โดยทางสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนฯ ขออนุมัติจัดตั้งงบประมาณในการจัดสร้างทั้งระบบ 9,753 ล้านบาท โดยเสนอผ่านสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาเบื้องต้นว่าโครงการนี้ต้องใช้งบประมาณจากเงินกู้ และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ( Japan International Cooperation Agency: JICA ) เสนอให้กู้ 

 

ฐากรกล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอให้สภาพัฒน์พิจารณาในรายละเอียด ความคุ้มค่าของโครงการฯ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้ง หากโครงการดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์แล้วมีข้อพิจารณาออกมาอย่างไร ทาง กมธ.อว. จะเชิญสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนฯ และสภาพัฒน์ มาให้ข้อมูลอีกครั้ง เพื่อให้การลงทุนพัฒนาด้านวิจัยและนวัตกรรมของไทยเป็นไปอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมมากที่สุด

 

อ้างอิง: 

  • สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising