×

สำรวจข้อมูลสืบสวนต้นตอโควิด-19 เรารู้อะไรบ้าง และความเป็นไปได้ของทฤษฎีไวรัสระบาดจากสัตว์หรือแล็บในอู่ฮั่น

28.05.2021
  • LOADING...
ต้นตอโควิด-19

ปริศนาดำมืดของต้นตอการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่คร่าชีวิตมนุษยชาติทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 3.5 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤษภาคม) นับตั้งแต่เกิดการระบาดตั้งแต่ปลายปี 2019 จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครสามารถไขคำตอบที่ชัดเจน ท่ามกลางความสงสัยของนานาชาติ 

 

ที่ผ่านมาทีมสืบสวนขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจสืบหาต้อตอการระบาดในจีน โดยเฉพาะที่เมืองอู่ฮั่น แหล่งแพร่ระบาดใหญ่จุดแรกของโลก 

 

จากการสืบสวนนานถึง 4 สัปดาห์ ภายใต้การกำกับดูแลและอำนวยความสะดวกของทางการจีน ทำให้ได้รายงานสรุปผลสืบสวนออกมาเมื่อเดือนมีนาคม โดยข้อมูลในรายงานของ WHO ชี้แนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดจากไวรัสในค้างคาวที่ระบาดสู่คน ผ่านสัตว์ที่เป็นพาหะ แต่ความไม่ชัดเจนในข้อมูลและหลักฐานบางประเด็น เช่น การตรวจสอบทฤษฎีไวรัสหลุดจากห้องแล็บของสถาบันไวรัสวิทยาในอู่ฮั่น ทำให้หลายประเทศยังไม่เชื่อมั่นและเรียกร้องให้มีการสืบสวนเพิ่มเติม ซึ่งล่าสุดเป็น โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่สั่งการให้หน่วยข่าวกรองขยายการสืบสวนในเรื่องนี้

 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ว่าต้องใช้เวลาอีกกี่เดือนหรือกี่ปีกว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับต้นตอการระบาดของไวรัสมรณะชนิดนี้ ซึ่งคำถามที่เหมาะสม ณ ตอนนี้คือ ตลอดช่วงเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมา เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับที่มาของโรคโควิด-19 และสองทฤษฎี ทั้งการแพร่ระบาดจากค้างคาวสู่คน และการรั่วไหลของไวรัสจากห้องแล็บในอู่ฮั่น ทฤษฎีไหนมีความเป็นไปได้มากกว่ากัน

 

ทำไมห้องแล็บในอู่ฮั่น จึงตกเป็นประเด็น?

 

  • ห้องปฏิบัติการในสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Virology: WIV) เป็นศูนย์วิจัยเชื้อไวรัสร้ายแรงและโรคระบาดใหม่ที่มีโอกาสแพร่เชื้อในมนุษย์

 

  • สถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเชื้อไวรัสในค้างคาวอย่างจริงจัง นับตั้งแต่การระบาดของไวรัสซาร์ส (SARS-CoV-1) ที่เป็นต้นเหตุโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงในปี 2002 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในจีน และคร่าชีวิตประชาชนทั่วโลกไป 774 คน การค้นหาต้อตอไวรัสซาร์สดำเนินการอยู่นานหลายปี ก่อนจะมีการค้นพบไวรัสคล้ายซาร์สในถ้ำค้างคาวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

 

  • ทางสถาบันมีการรวบรวมสารพันธุกรรมจากสัตว์ป่าเพื่อทำการทดลองที่ห้องปฏิบัติการในอู่ฮั่น นักวิจัยทดลองไวรัสกับสัตว์เพื่อวัดความไวในการเกิดโรคในมนุษย์

 

  • ห้องปฏิบัติการในสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น บังคับใช้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวด ทั้งสวมชุดป้องกันและมีระบบกรองอากาศแบบพิเศษ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุที่ทำให้เชื้อไวรัสหลุดรอดออกไปภายนอก แต่ภายใต้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดสูงสุดก็ยังไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงได้ทั้งหมด

 

ทำไมนักวิทยาศาสตร์บางคนสงสัยว่าเชื้อโควิด-19 อาจหลุดมาจากห้องแล็บในอู่ฮั่น?

 

  • นักวิทยาศาสตร์บางคนมองว่าการหลุดรอดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายผ่านเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการที่ไม่ระมัดระวัง เป็นสมมติฐานที่เป็นไปได้ในการเริ่มต้นของโรคระบาด

 

  • ห้องแล็บของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยโรคซาร์สชั้นนำของจีนอยู่ไม่ไกลจากตลาดค้าส่งอาหารทะเลและสัตว์ป่าหัวหนาน ซึ่งในช่วงต้นของวิกฤตโควิด-19 ถูกระบุว่าเป็นสถานที่ที่มีแนวโน้มในการแพร่เชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คนได้มากที่สุด

 

  • ตลาดหัวหนานยังเป็นสถานที่แรกที่เกิดการระบาดโควิด-19 แบบซูเปอร์สเปรดเดอร์ (Super Spreader) หรือการแพร่เชื้อที่มากเกินปกติ ซึ่งความเชื่อมโยงระหว่างตลาดหัวหนานกับห้องแล็บสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ประกอบกับความล้มเหลวในการตรวจหาสัตว์ป่าที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดียวกัน และท่าทีของรัฐบาลจีนที่ปฏิเสธ ไม่ให้มีการตรวจสอบเรื่องการรั่วไหลของไวรัสจากห้องทดลอง ยิ่งก่อให้เกิดข้อสงสัยเรื่องที่มาการระบาด 

 

  • นักวิทยาศาสตร์บางคนพัฒนาสมมติฐานจากข้อกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการวิจัยไวรัสที่มีชีวิตภายในแล็บอู่ฮั่นและเบาะแสเกี่ยวกับข้อมูลพันธุกรรมไวรัส และข้อมูลงานวิจัยของทางสถาบัน แม้ทางแล็บอู่ฮั่นจะยืนยันว่าไม่มีร่องรอยของไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นต้นเหตุของโรคโควิด-19 ภายในห้องแล็บในช่วงเวลาที่เกิดการระบาด

 

  • ที่ผ่านมามี 24 นักวิจัยส่งจดหมายไปยัง WHO เรียกร้องให้สืบสวนต้นตอการระบาดของโควิด-19 อย่างจริงจังและเป็นอิสระ โดยการลงพื้นที่สืบสวนของ WHO ในจีนเมื่อช่วงต้นปี ถูกหลายประเทศมองว่าล้มเหลวในการสืบสวนข้อมูลเชิงลึก รวมถึงทฤษฎีการรั้วไหลของไวรัสจากแล็บอู่ฮั่น

 

  • เอกสารข้อเท็จจริงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เผยแพร่ออกมาก่อน WHO ลงพื้นที่สืบสวนในจีน และเป็นช่วงท้ายก่อนที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์จะหมดวาระในไม่กี่วัน ระบุโดยไร้หลักฐานว่ามีนักวิจัยของห้องแล็บสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นหลายคนล้มป่วยและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยอาการคล้ายโควิด-19 หรือโรคประจำฤดู ตั้งแต่ก่อนที่จีนจะยืนยันกรณีการระบาดแรกในเดือนธันวาคม 2019

 

  • ข้อมูลจากบทความในเว็บไซต์ Bulletin of the Atomic Scientists ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บที่ทำการทดลองไวรัส บางครั้งจะมีการแทรกลำดับพันธุกรรมที่เรียกว่า furin cleavage site ในข้อมูลพันธุกรรมไวรัส เพื่อทำให้ไวรัสมีการติดเชื้อได้มากขึ้น ซึ่ง เดวิด บัลติมอร์ นักไวรัสวิทยารางวัลโนเบล กล่าวว่า เมื่อได้เห็นลำดับข้อมูลพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 ทำให้เขารู้สึกว่ากำลังพบเบาะแสเรื่องที่มาของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 

 

ข้อโต้แย้งเรื่องทฤษฎีการระบาดจากสัตว์สู่คน

 

  • นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเชื้อว่าโควิด-19 มีที่มาจากการแพร่ระบาดตามธรรมชาติ จากสัตว์อย่างค้างคาวสู่คน และไม่เห็นเหตุผลในเชิงวิทยาศาสตร์รองรับเรื่องทฤษฎีไวรัสหลุดจากห้องแล็บ

 

  • คริสเตียน จี.แอนเดอร์เซน นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสตระกูลโคโรนา ทั้งอีโบลาและไวรัสอื่นๆ ที่ระบาดจากสัตว์สู่คน โต้แย้งการตั้งข้อสังเกตุของบัลติมอร์ โดยระบุว่าลำดับพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกัน เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติในไวรัสโคโรนา 

 

  • นักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่าโควิด-19 มีที่มาจากสัตว์สู่คน อ้างอิงข้อมูลจากประวัติศาสตร์ ซึ่งโรคใหม่ๆ ที่ร้ายแรงหลายโรคในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาเป็นผลสืบเนื่องจากการมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง ซึ่งรวมถึงโรคซาร์ส เมอร์ส และอีโบลา และไวรัสนิปาห์ ที่มาจากค้างคาว

 

ข้อมูลใหม่ๆ ที่ปรากฏออกมาทำให้เกิดความน่าเชื่อถือต่อทฤษฎีไหนมากกว่าหรือไม่?

 

  • จดหมายจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ส่งให้ WHO เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ให้ความสำคัญกับทฤษฎีการรั่วไหลของไวรัสจากห้องแล็บในอู่ฮั่น แต่ไม่ปรากฏหลักฐานใหม่ใดๆ เช่นเดียวกับทฤษฎีไวรัสระบาดจากสัตว์สู่คน ที่ยังไม่พบข้อมูลหลักฐานรองรับเช่นกัน

 

  • ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพุธ (26 พฤษภาคม) ว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของเขาไม่เชื่อว่ามีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินได้ว่าทฤษฎีไหนมีแนวโน้มที่น่าจะเป็นจริงมากกว่ากัน ซึ่งไบเดนสั่งการให้หน่วยข่าวกรองทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อที่จะสามารถเข้าใกล้ข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องนี้ โดยให้รายงานกลับภายใน 90 วัน

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising