×

ทุนสำรองฯ ไทย 9 เดือนแรก ‘ลดฮวบ 5 หมื่นล้านดอลลาร์’ ผลจากดอลลาร์แข็งและการดูแลความผันผวนของค่าเงิน

11.10.2022
  • LOADING...
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศล่าสุดของไทย พบว่า ณ สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ระดับเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (Net International Reserves) อยู่ที่ 228,174 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยหากนับเฉพาะเดือนกันยายน ทุนสำรองฯ มีการปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าราว 1.53 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 6.7% และหากนับจากต้นปีที่ผ่านมา ทุนสำรองฯ ปรับลดลงไปแล้วราว 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 18.2%

 

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆ นี้ ธปท. ได้มีการชี้แจงถึงสาเหตุของทุนสำรองฯ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องว่ามาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. ผลตอบแทนการลงทุน
  2. การตีมูลค่าสินทรัพย์ (Valuation)
  3. การดำเนินนโยบายค่าเงินของ ธปท.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


โดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของเงินทุนสำรองฯ ไทย นับจากต้นปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินของ ธปท. แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าของสินทรัพย์ (Valuation) ของเงินทุนสำรองฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะเงินสกุลดอลลาร์แข็งค่าขึ้น รวมถึงทองคำที่มีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ พร้อมยืนยันว่าเงินทุนสำรองฯ ที่ลดลงยังไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล และจะไม่กระทบเสถียรภาพการเงินไทยจนเกิดวิกฤตแบบปี 2540

 

เนื่องจากเสถียรภาพการเงินของไทยก็มีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นมากจากปี 2540 เห็นได้จากสัดส่วนเงินทุนสำรองฯ ต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่ปัจจุบันสูงถึง 2.6 เท่า และเงินทุนสำรองฯ ต่อมูลค่าการนำเข้าที่สูงถึง 9.6 เท่า ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะขาดดุลราว 1.5% ก่อนกลับมาเกินดุล 0.9% ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลของ THE STANDARD WEALTH พบว่า ปัจจุบันไทยมีระดับเงินทุนสำรองฯ สูงเป็นอันดับที่ 15 ของโลก โดยจีนนับเป็นประเทศที่มีทุนสำรองฯ มากที่สุดในโลก อยู่ที่ 3,193,579 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยญี่ปุ่นที่ 1,238,056 ล้านดอลลาร์ และสวิตเซอร์แลนด์ที่ 950,635 ล้านดอลลาร์

 

ขณะที่ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า นับจากต้นปีที่ผ่านมา ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางทั่วโลกได้ปรับลดลงรวมกันแล้วประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 7.8% ซึ่งนับเป็นการลดลงมากที่สุดตั้งแต่เริ่มรวบรวมข้อมูลในปี 2003 โดยจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าทุนสำรองฯ ลดลงมากที่สุดถึง 204,662 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยญี่ปุ่นที่ลดลง 167,694 ล้านดอลลาร์ และสวิตเซอร์แลนด์ที่ลดลง 143,442 ล้านดอลลาร์

 

ทุนสำรอง

 

หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการลดลงเกิดจากการตีมูลค่าเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษ เมื่อเทียบกับสกุลเงินสำรองอื่นๆ เช่น ยูโรและเยน ทำให้มูลค่าการถือครองสกุลเงินเหล่านี้ลดลง

 

นอกจากนี้ เงินสำรองฯ ที่ลดลงยังสะท้อนให้เห็นถึงความตึงเครียดในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่บังคับให้ธนาคารกลางจำนวนมากขึ้นต้องเปิดหีบเงินสำรองฯ ของตัวเองเพื่อนำมาใช้ป้องกันการอ่อนค่าของสกุลเงินตนเอง

 

ล่าสุด ธปท. ​ยังมีการเผยแพร่บทความหัวข้อ ‘เงินบาทผันผวน แบงก์ชาติทำอะไร’ โดยเนื้อหาระบุว่า หน้าที่การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. ไม่ใช่การทำให้ค่าเงินอยู่ในระดับนิ่งๆ แต่ ธปท. จะปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนมีการเคลื่อนไหวไปตามแรงซื้อแรงขาย หรือที่เรียกว่ากลไกตลาด และจะเข้า ‘ดูแล’ เมื่อเกิดความผันผวนสูงผิดปกติที่อาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเท่านั้น โดยการ ‘ดูแล’ ของแบงก์ชาติเป็นเพียงการซื้อเวลาให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวและทำได้เพียงช่วงสั้นๆ เพราะการฝืนกระแสตลาดจะเป็นการสะสมความเสี่ยงที่จะก่อปัญหาในระยะยาว

 

ในบทความดังกล่าว ธปท. ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs เตรียมตัวรับมือกับความผันผวน ผ่านการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายเครื่องมือด้วยกัน เช่น สัญญา Forward ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องลุ้นว่าเมื่อแปลงรายได้หรือรายจ่ายสกุลเงินตราต่างประเทศเป็นบาทแล้วจะได้เงินบาทเท่าไร เพราะได้จองราคาไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว หรือการทำ Netting/Matching รายได้รายจ่ายสกุลเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการหักกลบรายรับรายจ่ายสกุลเงินตราต่างประเทศกันไป เป็นต้น เครื่องมือเหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการล็อกรายได้และรายจ่าย (ต้นทุน) ที่เป็นเงินบาทได้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising