×

ท่าทีที่แตกต่างของนานาชาติต่อกรณี ‘บอริส จอห์นสัน’ ลาออกหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ

08.07.2022
  • LOADING...
Boris Johnson

วานนี้ (7 กรกฎาคม) บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ แถลงลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟ เปิดทางสู่การสรรหาผู้นำพรรคคนใหม่ ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะได้ขึ้นครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย

 

ข่าวดังกล่าวถือได้ว่าเป็นประเด็นร้อนที่สั่นสะเทือนแวดวงการเมืองของอังกฤษ รวมถึงอีกหลายชาติที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิด โดยสำนักข่าว BBC ได้รวบรวมความคิดเห็นจากบรรดาผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหลายประเทศโลก ซึ่งได้ออกมาแสดงความรู้สึกด้วยท่าทีที่แตกต่างกันออกไป

 

เริ่มต้นจากฟากฝั่งของรัสเซียที่ไม่ลงรอยกับอังกฤษ หลังอังกฤษประกาศตัวเป็นหนึ่งในท่อน้ำเลี้ยงสำคัญที่ให้การสนับสนุนยูเครนสู้ศึกรัสเซีย โดย ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ออกมากล่าวว่า “จอห์นสันไม่ชอบเรา และเราก็ไม่ได้ชอบเขาเหมือนกัน” พร้อมเสริมว่า เขาหวังว่าอังกฤษจะมีผู้นำคนใหม่ที่มีความเป็นมืออาชีพและตัดสินใจได้ดีกว่านี้ 

 

ขณะเดียวกัน มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า จอห์นสัน “ปาบูมเมอแรงย้อนกลับมาซัดตัวเอง” พร้อมระบุว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “อย่าริอ่านพยายามทำลายรัสเซีย”

 

ส่วนยูเครนนั้นแสดงความคิดเห็นทางตรงกันข้าม โดย โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้โทรศัพท์ไปหาจอห์นสันเพื่อแสดงความเสียใจ พร้อมกล่าวขอบคุณที่สนับสนุนยูเครนในช่วงเวลาที่ยากลำบากมากที่สุด

 

“ไม่ใช่เพียงแค่ผม แต่ชาวยูเครนทุกคนรู้สึกเสียใจกับคุณอย่างมาก” ผู้นำยูเครนกล่าว

 

อนึ่ง เซเลนสกีและจอห์นสันได้เริ่มสนิทสนมกันนับตั้งแต่ที่สงครามเปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ด้าน ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครนได้กล่าวชื่นชมจอห์นสันเช่นกันว่า “เราจะจดจำการเดินทางเยือนยูเครนของเขาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ท่ามกลางช่วงเวลาที่มืดมน จอห์นสันเป็นชายที่กล้าหาญ พร้อมเผชิญความเสี่ยงในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่น”

 

ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ยกย่องความแข็งแกร่งและความยืนยาวของ ‘ความสัมพันธ์พิเศษ’ ระหว่างสหรัฐฯ และอังกฤษ แต่พยายามหลีกเลี่ยงการกล่าวอ้างอิงถึงตัวจอห์นสันโดยตรง

 

“ผมตั้งตารอที่จะได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลของอังกฤษ ตลอดจนพันธมิตรของเราทั่วโลกในประเด็นที่มีความสำคัญต่างๆ ต่อไป” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวเสริม

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัสเซียไม่ได้เป็นเพียงคนเดียวที่วิพากษ์วิจารณ์จอห์นสัน แต่ยังมีผู้นำจากยุโรปที่กล่าวในลักษณะเดียวกัน หลัง Brexit ได้บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและยุโรป

 

กาย เวอร์ฮอฟสตัดต์ อดีตผู้ประสานงานด้าน Brexit ของรัฐสภายุโรปกล่าวว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรป (EU) และอังกฤษเสื่อมถอยลงอย่างมากจากการตัดสินใจเลือก Brexit ของจอห์นสัน” และเสริมว่า ตำแหน่งผู้นำอังกฤษของจอห์นสันจบลงด้วย “ความอับอาย เช่นเดียวกับ โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อนของเขา”

 

มิเชล บาร์นิเยร์ อดีตหัวหน้าผู้แทนเจรจาของสหภาพยุโรป กล่าวว่า การลาออกจากตำแหน่งของจอห์นสันนำไปสู่เส้นทางใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่าง EU และอังกฤษ ซึ่งหวังว่าจะ “สร้างสรรค์มากขึ้น และให้ความเคารพต่อพันธสัญญาที่มีต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสันติภาพและความมั่นคงในไอร์แลนด์เหนือ”

 

มิเชล มาร์ติน นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ มองว่า การลาออกดังกล่าวเป็นโอกาสในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับอังกฤษ เขายอมรับในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการว่า “ไม่ได้เห็นด้วย” กับจอห์นสัน โดยกล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเผชิญกับแรงกดดัน และมีความท้าทายอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา 

 

ภาพ: Gareth Fuller / PA Images via Getty Images

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising