×

นักวิทยาศาสตร์อินเดียเผย รัฐบาลนิ่งเฉยเรื่องเพิ่มมาตรการป้องกันโควิด-19 แม้แจ้งเตือนไวรัสกลายพันธุ์ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.

02.05.2021
  • LOADING...
นักวิทยาศาสตร์อินเดียเผย รัฐบาลนิ่งเฉย

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากสมาคมพันธุศาสตร์ Sars-CoV-2 แห่งอินเดีย หรือ INSACOG (Indian SARS-CoV-2 Consortium on Genomics) ซึ่งเป็นสมาคมศึกษาวิจัยข้อมูลพันธุกรรมโควิด-19 ที่จัดตั้งโดยกระทรวงสาธารณสุขของอินเดีย เปิดเผยต่อสำนักข่าว Reuters เมื่อวานนี้ (1 พฤษภาคม) ว่าทางสมาคมได้แจ้งเตือนไปยังรัฐบาลอินเดีย เรื่องการพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

โดย 4 นักวิทยาศาสตร์ของสมาคมผู้เปิดเผยเรื่องนี้ ระบุว่าได้แจ้งข้อมูลไวรัสสายพันธุ์ใหม่ไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่ง ที่รายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แต่กลับไม่ปรากฏความพยายามใดๆ ในการเพิ่มมาตรการป้องกัน ซึ่งแม้จะได้รับคำเตือนดังกล่าว แต่รัฐบาลกลางของอินเดียกลับนิ่งเฉยและไม่มีการออกมาตรการที่จริงจังใดๆ เพื่อป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าว 

 

ทีมนักวิจัยของ INSACOG ตรวจพบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ไวรัส B.1.617 ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยพบว่าตัวไวรัสมีการกลายพันธุ์แบบคู่ และสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรุนแรงกว่าโควิด-19 สายพันธุ์ปกติ

 

ขณะที่สำนักข่าว Reuters พยายามติดต่อไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีของอินเดียเพื่อสอบถามถึงข้อมูลดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จึงยังไม่แน่ชัดว่าข้อมูลการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์นี้ส่งถึงนายกรัฐมนตรีโมดีหรือไม่ 

 

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ของ INSACOG เปิดเผยว่าได้แจ้งเตือนข้อมูลไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวไปยังศูนย์ควบคุมโรคระบาดแห่งชาติ (NCDC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขอินเดียตั้งแต่ก่อนวันที่ 10 มีนาคม โดยเตือนว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้อาจแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ของประเทศ 

 

ซึ่งข้อมูลนี้ส่งต่อไปถึงกระทรวงสาธารณสุข แต่ทางกระทรวงไม่เคยออกมาชี้แจง ขณะที่ INSACOG ยังเป็นผู้จัดทำร่างแถลงการณ์เรื่องไวรัสกลายพันธุ์นี้ให้กับกระทรวงสาธารณสุขอินเดีย ก่อนจะมีการเปิดเผยต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 24 มีนาคม

 

ภาพ: Naveen Sharma / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising