×

IMF คงคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้ที่โต 2.8% และ 4% ในปีหน้า ประเมินเงินเฟ้อปี 66 กลับสู่กรอบเป้าหมาย ธปท.

18.09.2022
  • LOADING...
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คงคาดการณ์ GDP ไทยปี 2565 ที่ขยายตัว 2.8% ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จ่อชะลอตัว ก่อนจะขยายตัวราว 4% ในปีหน้า พร้อมประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จะอยู่ที่ 6.1% จากนั้นจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2.5% ในปีหน้า ซึ่งอยู่ในช่วงเป้าหมายของแบงก์ชาติ

 

ในรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยในปี 2565 จะขยายตัว 2.8% ไม่เปลี่ยนแปลงจากรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคม เนื่องจากสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้อุปสงค์ในประเทศชะลอตัว เหตุราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น และความต้องการภายนอกที่ลดลง พร้อมทั้งคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่ขยายตัวประมาณ 4% ด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ในรายงานของ IMF ยังระบุอีกว่า เศรษฐกิจไทยซึ่งขยายตัว 1.5% ในปี 2564 หลังจากติดลบ 6.2% ในปี 2563 ได้รับแรงหนุนจากการตอบสนองเชิงนโยบายที่รวดเร็วและการฟื้นตัวของภาคการส่งออก

 

อย่างไรก็ตาม ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ซึ่งเป็นดุลบัญชีที่แสดงเงินที่ไหลเข้าและออกจากการซื้อ-ขายสินค้าและบริการของประเทศ กลับขาดดุล 1.7% ของ GDP ในปี 2564 หลังจากเกินดุลถึง 4.2% ของ GDP ในปี 2563 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายรับจากภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างรวดเร็วและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน 

 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีนี้ IMF คาดว่าจะอยู่ที่ 6.1% เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูง ก่อนที่จะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2.5% ในปี 2566 ซึ่งอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

ส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2565 คาดว่าจะลดลงเหลือ -0.8% ของ GDP เนื่องจากรายรับจากการท่องเที่ยวค่อยๆ เพิ่มขึ้น พร้อมกับการยกเลิกข้อจำกัดการเข้าประเทศ และคาดว่าจะกลับมาเกินดุลที่ 3-3.5% ของ GDP ในระยะกลาง

 

IMF ยังย้ำว่า แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยหลักๆ ขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมเตือนว่า ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคของภาคเอกชนและอุปสงค์จากภายนอก นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายที่ต้องจับตา ไม่ว่าจะเป็นภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว การชะลอตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางงบดุลของภาคเอกชนที่ขยายตัว ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising