×

เปิดเทคนิคสมัครงานกับเฟซบุ๊ก คุณสมบัติข้อใดพิชิตใจมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก?

12.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ต้องการให้พนักงานเรียนรู้ที่จะทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือเขียนโปรแกรมขึ้นมาเป็นของตัวเองอยู่ตลอดเวลา
  • กรรมการที่สัมภาษณ์เข้าทำงานจะซักไซ้ไล่ถามถึงปัญหาจากการทำงานที่คุณเคยเผชิญจากองค์กรเดิม เพื่อวิเคราะห์ว่าคุณมีวิธีการรับมือกับปัญหาและต่อยอดเป็นบทเรียนพัฒนาตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน
  • ทีมเวิร์กสำคัญมาก โดยที่บริษัทเฟซบุ๊กจะมีโปสเตอร์แผ่นหนึ่งติดไว้บนบอร์ดพร้อมข้อความว่า ‘ที่เฟซบุ๊ก ไม่มีปัญหาของใครเป็นปัญหาของคนอื่น’

     ขึ้นชื่อว่าเฟซบุ๊ก (Facebook) โซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งของโลกที่มียอดผู้ใช้งานต่อเดือนมากกว่า 2 พันล้านยูสเซอร์ ใครบ้างจะไม่อยากร่วมงานด้วย?

     ถ้าย้อนกลับไปในช่วงก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2004 เฟซบุ๊กยังมีจำนวนพนักงานในองค์กรราว 500 คนเท่านั้น แต่เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยว่าขนาดองค์กรของพวกเขาขยายตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่า โดยมีพนักงานมากถึง 18,870 คน ที่ทำงานกับออฟฟิศของเฟซบุ๊กในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

     เราเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยน่าจะเคยตั้งข้อสงสัยอยู่เช่นกันว่า ต้องมีคุณสมบัติเพียบพร้อมอย่างไร ทัศนคติแบบไหน และเป็นคนแบบใด พวกเขาถึงจะได้รับการพิจารณาให้เข้าทำงานร่วมกับองค์กรแห่งนี้?

     วันนี้เราได้รวบรวมคุณสมบัติ 5 ประการที่อาจช่วยให้คุณพิชิตใจ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก จนตัดสินใจรับคุณเข้าทำงาน

ถ้ามันไม่ได้ทำลายบริษัทของคุณ งั้นก็ให้พวกเขาทดลองไปเถอะ

 

  1. ชอบสรรค์สร้างและกล้าทดลอง

     มาร์กสนับสนุนให้ทุกคนเรียนรู้ที่จะทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเองอยู่เสมอ โดยเขาให้บุคลากรในแผนกวิศวกรรมเฟซบุ๊กทดลองเขียนโปรแกรมขึ้นมาเป็นของตัวเอง

    “ถ้ามันไม่ได้ทำลายบริษัทของคุณ งั้นก็ให้พวกเขาทดลองไปเถอะ และหากว่างบประมาณของการทดลองไม่ได้สูงเกินเหตุ พวกเรายิ่งจะได้เรียนรู้จากการทดลอง และการปล่อยให้พวกเขาออกไปสำรวจในสิ่งที่ควรค่าแก่การค้นพบมากกว่าการอยู่ในกฎข้อบังคับไม่ทำอะไรเลย

     “ทุกวันนี้เฟซบุ๊กที่คุณกำลังใช้งานอยู่ก็ไม่ได้มีแค่เวอร์ชันเดียว แต่มีมาแล้วมากกว่า 10,000 เวอร์ชัน วิศวกรที่บริษัทของพวกเราสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองเมื่อคิดจะริเริ่มทดลองอะไรบางอย่างออกมา แม้มันจะมีกฎข้อบังคับละเอียดอ่อนอยู่บ้าง แต่โดยปกติแล้วพวกเขาย่อมทำได้

     “ผมคิดว่ากลยุทธ์ที่เฟซบุ๊กคือการเรียนรู้ให้ไวที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ นั่นคือสิ่งที่บริษัทของพวกเราต้องการให้ทุกๆ คนได้ทำ และยังเป็นการกระตุ้นวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนให้บุคลากรได้ทดลองสิ่งต่างๆ และรู้จักกับความล้มเหลวบ้าง”

การโฟกัสและเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างไม่รีรอ ส่ิงนี้แหละคือแก่นแท้ที่สำคัญมากกว่าผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตามที่เรากำลังพัฒนาอยู่ ณ ขณะนี้

  1. ไม่อยู่กับที่ เรียนรู้ตลอดเวลา

     กลยุทธ์ของเฟซบุ๊กคือ ‘การเรียนรู้ให้ไวที่สุดเท่าที่คุณทำได้’

     มาร์กกล่าวว่า “เมื่อคุณสร้างซอฟต์แวร์อินเทอร์เน็ตที่คุณสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทุกๆ วัน ผมคิดว่ากลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดก็คือการเรียนรู้ให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่คุณจะสามารถทำได้ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเรียนรู้กับเรื่องใหม่ๆ เรื่องอื่นๆ อีก

     “ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดออกมาในทุกๆ ครั้งก็ตาม แต่ที่สุดแล้วผมคิดว่าคุณจะสามารถรังสรรค์สิ่งที่ยอดเยี่ยมออกมาได้ภายใน 1 ปีหรืออาจจะ 2 ปี ซึ่งผมว่าเข้าท่ากว่าการที่คุณจะมานั่งรอฟีดแบ็กของคุณกับไอเดียที่คุณมีเป็นปีๆ

     “การโฟกัสและเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างไม่รีรอ ส่ิงนี้แหละคือแก่นแท้ที่สำคัญมากกว่าผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตามที่เรากำลังพัฒนาอยู่ ณ ขณะนี้

 

 

  1. รู้จักเก็บความผิดพลาดเป็นบทเรียน

     เมื่อปี 2014 นิโคลัส สปีเกลเบิร์ก (Nicolas Spiegelberg) มหาบัณฑิตปริญญาโทสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยอลาบามา ในเมืองฮันต์สวิลล์ (Huntsville) ที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับเฟซบุ๊กในตำแหน่งผู้จัดการโปรเจกต์ ‘iOS infra’ ณ​ สำนักงานในนิวยอร์ก เล่าถึงประสบการณ์การสัมภาษณ์งานของตัวเองไว้ว่า นอกเหนือจากทักษะในสายงานที่ต้องมี ผู้ทำการสัมภาษณ์ก็จะทดสอบด้วยว่าคุณได้นำบทเรียนจากการทำงานในอดีตมาพัฒนาตัวเองหรือไม่

     “พวกเขาจะให้โจทย์ที่ถูกออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งคุณจะต้องรวบรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม เช่น ลิสต์ต่างๆ กราฟ และแคช มาแก้โจทย์นั้นให้ได้

     “แต่เมื่อผ่านมาถึงหัวข้อสัมภาษณ์เกี่ยวกับปรัชญาในการทำงาน กรรมการที่สัมภาษณ์คุณจะซักถามถึงปัญหาการทำงานในอดีต วิธีแก้ไขปัญหาของคุณ และบทเรียนที่คุณได้รับ

     “ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า เฟซบุ๊กต้องการให้คนที่อยากจะมาทำงานร่วมกับพวกเขามีความกระหายในการพัฒนาและปรับปรุงตัวเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสามารถนำบทเรียนในอดีตมาประยุกต์ใช้รับมือกับความท้าทายของการทำงานในองค์กรปัจจุบันได้”

 

  1. รักการทำงานเป็นทีมเวิร์ก

     ลอรี โกเลอร์ (Lori Goler) รองประธานแผนกทรัพยากรบุคคลที่ทำงานกับเฟซบุ๊กมายาวนานตั้งแต่ปี 2008 เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า พนักงานในองค์กรของเธอจะสนิทสนมราวกับเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน โดยที่แต่ละคนจะมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี แต่ละฝ่ายจะเปิดรับซึ่งกันและกันตั้งแต่เรื่องงาน ซีรีส์ที่ชอบ ไปจนถึงปัญหาส่วนตัว

     “พวกเราดูแลกันและกันดีมากๆ มันเป็นผลมาจากการที่องค์กรให้ความสำคัญกับความเป็น ‘ครอบครัว’ ของพนักงาน โดยสิ่งที่เราได้รับกลับมาก็คือทีมเวิร์ก ออฟฟิศของเราจะมีโปสเตอร์แผ่นหนึ่งติดไว้พร้อมข้อความว่า ‘ที่เฟซบุ๊ก ไม่มีปัญหาของใครเป็นปัญหาของคนอื่น’ ซึ่งฉันคิดว่ามันเป็นส่ิงที่สื่อแทนความหมายวิธีการทำงานร่วมกันของพวกเราได้เป็นอย่างดี

     “นอกจากนี้พวกเรายังมีกลุ่มย่อยต่างๆ ที่มากกว่าจำนวนพนักงานในบริษัทของเราเสียอีก! โดยกลุ่มย่อยพวกนี้ก็ไม่ได้แบ่งตามลำดับชั้นความใหญ่โตของตำแหน่งของคุณ แต่แบ่งตามโปรเจกต์งานที่คุณถือร่วมกัน ความสนใจ และความถนัดที่พนักงานแต่ละคนมีเหมือนๆ กัน

     ลอรีบอกว่าเธอรักเพื่อนร่วมงานทุกคนที่เฟซบุ๊กมาก และที่นี่ทำให้เธอไม่อยากย้ายงานไปที่อื่นอีกเลย “ที่นี่เป็นเหมือนครอบครัวสำหรับฉัน ฉันคงจินตนาการภาพตัวเองไปทำงานที่ไหนไม่ออกแล้ว มันเหมือนเป็นที่ที่รวมกันระหว่างความน่าทึ่ง ความชาญฉลาด ความท้าทาย ความสนุกและความอบอุ่น ซึ่งส่ิงเหล่านี้สำคัญสำหรับฉัน”

 

 

  1. เปิดกว้าง รับฟัง และกล้าแสดงความคิดเห็น

     ครั้งหนึ่งมาร์กได้ร่ายยาวคุณสมบัตินี้ในจดหมายเปิดผนึกไปยังเหล่าผู้ลงทุนรายใหญ่ๆ ขององค์กร โดยมีใจความว่า “พวกเราเชื่อว่าโลกที่เปิดกว้างย่อมเป็นโลกใบที่ดีกว่า เพราะว่าผู้คนที่เพียบพร้อมไปด้วยข้อมูลย่อมตัดสินใจได้ดีกว่าและสร้างผลกระทบที่ยอดเยี่ยมกว่า

     “สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นส่ิงที่พวกเราใช้ขับเคลื่อนเฟซบุ๊กเช่นกัน พวกเรามุ่งมั่นอย่างหนักเพื่อทำให้มั่นใจว่า ทุกคนที่นี่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับองค์กรได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นพวกเขาก็จะตัดสินใจสิ่งต่างๆ ออกมาได้ดีและสร้างผลกระทบที่ยอดเยี่ยมได้ไม่แพ้กัน”

     คุณสมบัติในข้อนี้ยังสอดคล้องกับสิ่งที่ลอรีเคยบอกไว้ว่า “หนึ่งในข้อดีของการทำงานที่นี่คือการที่พวกเขาให้สิทธิ์พนักงานทุกคนได้ออกความคิดเห็นที่มีอย่างเท่าเทียม ซึ่งถือเป็นรูปแบบการสื่อสารที่มีความเป็นประชาธิปไตยเอามากๆ ทุกคนจะได้รับสิทธิ์นี้เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นมาร์กหรือนักศึกษาฝึกงานภาคฤดูร้อน”

     คุณสมบัติทั้ง 5 ข้อที่คุณควรมีเพื่อใช้พิชิตใจมาร์กอาจเป็นเคล็ดลับแค่บางข้อที่เราเลือกหยิบยกขึ้นมาจากมุมมองของตัวมาร์กเองก็ดี หรือจากพนักงานในบริษัทของเขา ซึ่งนอกเหนือจาก 5 ข้อนี้ ก็ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ อีกมากมายหลายประการที่เจ้าของโซเชียลมีเดียเบอร์หนึ่งของโลกวาดฝันให้ ‘ว่าที่’ พนักงานทุกคนของเขาพึงมีติดตัว

     และถึงแม้คุณอาจจะไม่ได้ไปสมัครงานที่เฟซบุ๊ก แต่อย่างน้อยคุณสมบัติเหล่านี้ก็น่าจะช่วยทำให้คุณเป็นคนที่มีคุณค่าต่อองค์กรได้ไม่ยาก

 

Photo: Static Flickr

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising