×

นักฟุตบอลรู้สึกอย่างไรเมื่อต้องลงสนามโดยไม่มี ‘แฟน’?

22.10.2020
  • LOADING...
นักฟุตบอลรู้สึกอย่างไรเมื่อต้องลงสนามโดยไม่มี ‘แฟน’?

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • การต้องลงสนามโดยที่ไม่มีแฟนบอลแบบนี้ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่า แล้วนักฟุตบอล (หรือนักกีฬา) เหล่านั้นรู้สึกอย่างไร และมีผลกระทบอย่างไรบ้าง
  • นักฟุตบอลจำพวก ‘นักสร้างความบันเทิง’ ซึ่งมีชีวิตอยู่เพื่อสร้างความสุขให้ผู้อื่น และใช้พลังของความสุขนั้นเป็นแรงขับเคลื่อนชีวิตจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากการที่ไม่มีแฟนบอลในสนาม
  • การปราศจากแฟนบอลทำให้นักฟุตบอลขาดความกลัว ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่ดีที่สุดในการผลิตผลงานในสนาม

เกมฟุตบอล (หรือความจริงก็เกมกีฬาอาชีพทุกอย่างนั่นแหละ) จะเป็นอย่างไรหากไม่มีแฟนๆ คอยส่งเสียงเชียร์อยู่ในสนาม

 

ความจริงเรื่องนี้ผมเคยเขียนเอาไว้ย้อนไปตั้งแต่ช่วงที่โควิด-19 เริ่มแผลงฤทธิ์อาละวาดใส่โลกทั้งใบมาแล้วครับ (บทความย้อนหลัง: กีฬาที่ไร้คนดูก็ไม่อาจเรียกว่ากีฬา https://thestandard.co/sports-without-people/) โดยคำถามในเวลานั้นคือ “หากการแข่งขันกีฬา ไม่ว่าจะเป็นประเภทอะไรก็ตาม จะดำเนินไปโดยไม่มีผู้ชมจริง เช่นนั้นมันจะยังเป็น ‘กีฬา’ ในแบบที่เรารู้จักกันอยู่ไหม”

 

“คุณค่าของมันจะยังหลงเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน”

 

อย่างไรก็ดี นั่นเป็นการตั้งคำถามในมุมของผู้ชมหรือแฟนกีฬา ซึ่งเป็นเพียงด้านเดียวเท่านั้น

 

อีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจและหลายคนอยากรู้เช่นกันว่า แล้วในมุมของนักกีฬา -โดยเฉพาะนักฟุตบอล- ที่เคยลงเล่นท่ามกลางกองเชียร์หลายหมื่นคนเป็นประจำ พวกเขารู้สึกอย่างไร

 

และมีผลกระทบอย่างไรบ้างจากการที่ไม่มีแฟนๆ อยู่ในสนามเลย

 

เรื่องนี้ยังไม่มีผลวิจัยหรือผลการศึกษาใดออกมาอย่างเป็นทางการนะครับ แต่มีความคิดเห็นที่น่าสนใจจากนักจิตบำบัดกีฬา (Sports Psychotherapist) ที่ออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้

 

“ไม่มีออกซิเจนสำหรับเหล่านักสร้างความบันเทิง” แกรี บลูม นักจิตบำบัดกีฬาคนเก่งของเราเปิดประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบต่อนักฟุตบอลจากการที่ไม่มีผู้ชมในสนามเลยแม้แต่คนเดียว

 

ย้อนหลังกลับไปนิดหนึ่งก่อนนะครับว่าในเรื่องผลกระทบที่ว่านี้เป็น ‘ผลกระทบระยะยาว’ จากความจำเป็นของสถานการณ์ในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงอังกฤษ ที่ไม่สามารถอนุญาตให้แฟนบอลกลับเข้ามาชมเกมในสนามได้

 

ตรงนี้แตกต่างจากช่วงหลังการล็อกดาวน์ที่ทุกฝ่ายพยายามสุดความสามารถเพื่อจะให้เกมฟุตบอลกลับมาแข่งขันได้อีกครั้งในโปรเจกต์รีสตาร์ท ซึ่งตรงนั้นเป็นเรื่องของผลกระทบในระยะสั้นเพราะกินเวลาไม่กี่เดือน และตั้งอยู่บนเงื่อนไขความจำเป็นที่จะต้องจัดการแข่งขันให้ครบให้ได้ ไม่เช่นนั้นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นอาจพังทลายโครงสร้างอุตสาหกรรมฟุตบอลทั้งระบบได้เลยทีเดียว

 

แต่หลังจากจบฤดูกาล 2019/20 มันคือเรื่องใหม่แล้ว การเข้าสู่ฤดูกาล 2020/21 คือการเริ่มต้นครั้งใหม่ และการที่ไม่มีแฟนฟุตบอลเลยมันคือโลกใบใหม่ที่นักฟุตบอลเหล่านี้ไม่คุ้นชินหรือยากที่จะยอมรับ

 

ในความเห็นของนักจิตบำบัดกีฬา ในความรู้สึกของนักฟุตบอลแล้ว ‘ทุกอย่างมันเหนือจริง’ ไปหมด และมันได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกมการแข่งขันในสนาม

 

อย่างที่เราทราบครับว่าพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลนี้เต็มไปด้วยผลการแข่งขันที่น่าเหลือเชื่อ หากใครจะบอกก่อนเปิดฤดูกาลว่า แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จะโดน เลสเตอร์ ซิตี้ ยิงคาบ้าน 5-2, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะแพ้ทีมที่เคยผูกปีชนะอย่าง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ 1-6 หรือแชมป์สุดแกร่งอย่าง ลิเวอร์พูล จะโดน แอสตัน วิลลา ถล่มย่อยยับ 7-2 จนแทบจำทางกลับบ้านไม่ได้ คนนั้นน่าจะถูกมองว่าไม่บ้าก็เมา

 

สกอร์แปลกๆ แบบนี้ (ซึ่งมีเกมแบบนี้อีกหลายนัด) กำลังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ ซึ่งเป็นผลจากการที่ไม่มีแฟนบอลในสนาม

 

คุณหมอบลูม (ขออนุญาตเรียกแบบนี้แล้วกันนะครับ) บอกว่านักฟุตบอลบนโลกใบนี้มีอยู่ 2 ประเภทครับ

 

หนึ่งคือนักฟุตบอลที่เป็น Footballer ทั่วไป คือคนที่มีความสุขกับการได้ลงไปหวดลูกฟุตบอลบนสนามหญ้า ไม่ว่ามันจะเป็นเกมที่มีผู้ชมเต็มสนามเรือนแสน หรือเกมฟุตบอลซันเดย์ลีกที่เตะกันแถวบ้านในวันอาทิตย์ สำหรับนักฟุตบอลเหล่านี้มีค่าเท่ากัน

 

ขอแค่ให้ได้เล่น ไม่มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่านั้น

 

แต่จะมีนักฟุตบอลอีกจำพวกหนึ่งที่เรียกว่า ‘นักสร้างความบันเทิง’ หรือ Entertainer คนเหล่านี้มีชีวิตอยู่เพื่อสร้างความสุขให้ผู้อื่น และใช้พลังของความสุขนั้นเป็นแรงขับเคลื่อนชีวิต

 

นั่นคือที่มาของการที่หมอบลูมบอกว่า “ไม่มีออกซิเจนสำหรับนักสร้างความบันเทิง” 

 

เพราะไม่มีแฟนบอลในสนาม นักฟุตบอลประเภทนี้ก็ไม่รู้จะหาแรงจูงใจมาจากไหน ดังนั้นต่อให้ต้องลงสนาม พวกนี้ก็จะเล่นกันแบบแกนๆ เหมือนไม่ได้พกหัวใจลงมาด้วย และยิ่งนานวันเข้าก็จะยิ่งห่อเหี่ยว

 

นักฟุตบอลประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปินลูกหนังผู้มีลีลาการเล่นเหลือรับประทาน

 

คนแรกที่ผมนึกถึงคือ โรแบร์โต เฟอร์มิโน กองหน้าเจ้าของลีลาการเล่นสารพัดนึก (คือนึกจะเล่นอะไรก็เล่น) ซึ่งตั้งแต่เปิดฤดูกาลมาดูเหมือนว่าดาวยิงทีมชาติบราซิลจะประสบปัญหาฟอร์มการเล่นตกต่ำอย่างชัดเจน และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจากการที่ไม่มีแฟนฟุตบอลคอยส่งเสียงฮือฮาในสนามเวลาที่เขาโชว์กลเม็ดเด็ดพราย เช่น การจ่ายแบบไม่มอง (No-Look Pass) หรือการเลี้ยงบอลสไตล์แซมบ้า

 

ออกซิเจนในความหมายทางการบำบัดจิตกีฬาคือการที่นักฟุตบอลเหล่านี้ ‘ทำให้แฟนบอลต้องลุกขึ้น เพราะแฟนๆ เหล่านี้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากลีลาการเล่นของนักเตะเหล่านี้’ หรือพูดง่ายๆ คือยิ่งเล่นหวือหวาเรียกเสียงฮือฮาได้มากเท่าไรก็จะยิ่งรู้สึกคึกคักและเล่นได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น

 

ประเด็นต่อมาที่คุณหมอบลูมบอกคือ นักฟุตบอลในเวลานี้กำลังลงสนามด้วยหัวใจที่เย็นชาลงทุกวัน

 

ตรงนี้เราจะสังเกตได้ว่าในระยะหลังเราไม่ค่อยได้เห็นลีลาการฉลองประตูแบบสุดเหวี่ยงของนักฟุตบอลมากนัก ไม่เหมือนในยามปกติที่แฟนบอลเต็มสนามที่เมื่อทำประตูได้ พลังของคนดูหลายหมื่นคนทำให้หัวใจมันเต้นแรงจนแทบจะระเบิดออกมา และต้องหาทางปลอดปล่อยความรู้สึกนั้นด้วยการฉลองประตูแบบสุดเหวี่ยง

 

ตอนนี้ยิงได้ก็ดีใจพอประมาณ ไม่ได้อะไรเยอะแยะมากมาย และบางทีก็ต้องเผื่อใจไว้เพราะ VAR อาจจะริบประตูคืนไปด้วยเหตุผลที่ยากจะยอมรับได้

 

ในความรู้สึกแล้ว นักฟุตบอลเหล่านี้เหมือนไปทำงานแบบแกนๆ ไปวันๆ ความรู้สึกที่จะต้องรับผิดชอบความรู้สึกของแฟนๆ มันลดน้อยลงไปมากเมื่อปราศจากเสียงบ่นก่นด่าในสนาม

 

เพราะถึงจะไม่มีใครในชีวิตที่ชอบถูกด่า โดยเฉพาะการด่าแบบสาดเสียเทเสียของแฟนบอล แต่ในอีกด้านหนึ่งแล้ว ‘ความกลัว’ ก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เลือดลมสูบฉีดถึงขั้นอะดรีนาลีนหลั่งออกมาจนกลายเป็นความสุขไปเสียอย่างนั้น

 

หรืออาจจะกล่าวได้ว่าต่อให้นักฟุตบอลจะไม่ชอบถูกด่า แต่ในอีกทางหนึ่งแล้วพวกเขาก็ต้องการเสียงด่านั้นเพื่อนำมาใช้เป็นพลังขับเคลื่อนตัวเอง (นอกจากจะมีหัวใจที่เข้มแข็งพอที่จะกระตุ้นตัวเองได้ เหมือนอย่าง คริสเตียโน โรนัลโด) 

 

ดังนั้น ไม่แปลกครับที่ฟุตบอลในฤดูกาลนี้จะเป็นฟุตบอลที่ ‘ประหลาด’ ที่สุด และเป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกลีกจึงอยากให้มีแฟนบอลกลับมาในสนามให้ได้โดยเร็วที่สุด

 

เพราะต่อให้เป็นแฟนแค่ 1,000 คน พลังของคนเหล่านั้นจะค่อยๆ คืนทั้ง ‘ชีวิต’ และ ‘ชีวา’ ให้แก่เกมที่เรารักอีกครั้ง

 

ดังนั้นขอให้ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิมโดยเร็วครับ…

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising