×

ฮ่องกง ความแตกแยกของสองขั้วการเมือง และปลายทางที่คลุมเครือหลังยุค 1 ประเทศ 2 ระบบ

09.10.2019
  • LOADING...
Hong Kong disparity

HIGHLIGHTS

7 MINS. READ
  • วิกฤตการเมืองในฮ่องกงมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อเนื่อง โดยผู้ชุมนุมยกระดับการประท้วงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อกดดันรัฐบาลให้ทำตามข้อเรียกร้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการมอบสิทธิแก่ประชาชนในการเลือกตั้งผู้บริหารเขตสูงสุดและสมาชิกสภานิติบัญญัติตามระบอบประชาธิปไตย 
  • ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่ารากเหง้าของปัญหาในฮ่องกงมาจากการต่อสู้ระหว่างขั้วอนุรักษนิยมที่สนับสนุนจีนกับขั้วหัวก้าวหน้าที่ต้องการประชาธิปไตย โดยมีแรงส่งจากปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนำที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์กับจีน กับกลุ่มชนชั้นล่างที่ประสบปัญหาที่อยู่อาศัยราคาแพงและไม่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจเท่าที่ควร
  • การที่จีนปล่อยให้ฮ่องกงมีเสรีภาพระดับหนึ่งภายใต้หลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบเป็นเวลา 50 ปี ทำให้เกิดความคลุมเครือขึ้นว่าหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไรต่อ ซึ่งความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งให้การประท้วงยืดเยื้อบานปลาย
  • แต่การประท้วงในฮ่องกงจะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของจีน ตรงกันข้าม กลับส่งผลดีในการปลุกกระแสชาตินิยมในจีนเอง ขณะที่รัฐบาลจีนมีทีท่าว่าจะรอให้กระแสประท้วงแผ่วไปเอง โดยที่ไม่ต้องใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม 

‘ปัง!’ เสียงปืนดังขึ้น กระสุนจริงนัดแรกยิงถูกหน้าอกผู้ประท้วงรายหนึ่งอย่างจังในวันชาติอายุครบ 70 ปีของจีนสมัยใหม่ (1 ตุลาคม 2019) เป็นกระสุนจริงนัดแรกที่ตำรวจฮ่องกงใช้กับผู้ประท้วงนับตั้งแต่วิกฤตการเมืองปะทุขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน หรือในรอบ 3 เดือนกว่าๆ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าการประท้วงอาจยกระดับรุนแรงขึ้น ตึงเครียดขึ้น ซับซ้อนขึ้น และควบคุมยากกว่าเดิม

 

ความคับแค้นที่เป็นชนวนจลาจลครั้งใหม่ก่อตัวขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มจากกระสุนนัดนั้นที่ตำรวจยืนยันว่ายิงเพื่อป้องกันตัวจากกลุ่มผู้ประท้วงเลือดร้อนที่รุมทำร้าย แต่ผู้ประท้วงมองว่าเป็นอีกครั้งที่ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุ 

 

การลุกฮือครั้งใหม่ทำให้สถานการณ์บานปลายยิ่งกว่าเดิม ส่งผลให้ แคร์รี ลัม ผู้นำฮ่องกง ต้องใช้อำนาจพิเศษประกาศบังคับใช้กฎหมายฉุกเฉินสมัยอาณานิคม โดยห้ามผู้ประท้วงสวมหน้ากากในพื้นที่ชุมนุมเพื่อลดเหตุรุนแรงจากผู้ก่อความไม่สงบที่ปกปิดใบหน้า แต่นั่นยิ่งกลับเป็นการเติมเชื้อไฟ โดยสร้างความโกรธแค้นให้กับผู้ประท้วงมากขึ้นไปอีก

 

แต่วิกฤตการประท้วงจะยืดเยื้อต่อไปอีกนานแค่ไหน จะรุนแรงขึ้นกว่านี้หรือไม่ แล้วจะจบลงอย่างไร รัฐบาลจีนจะหาทางออกโดยการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามเมื่อถึงจุดที่ทนไม่ได้หรือไม่ เป็นหนึ่งในชุดคำถามที่หลายคนต้องการหาคำตอบ ซึ่ง THE STANDARD มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน เพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาฮ่องกงด้วยภาพที่กว้างขึ้นและลึกซึ้งยิ่งขึ้น 

 

แต่ก่อนอื่นจะพาย้อนกลับไปดูต้นตอของวิกฤตการประท้วงครั้งนี้ว่ามันเริ่มมาจากไหน ก่อนทำความเข้าใจกับรากเหง้าของปัญหา สถานการณ์ที่เป็นอยู่ และคาดคะเนว่ามันจะดำเนินไปในทิศทางใดต่อในอนาคต

 

Hong Kong disparity

 

ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน การเดินหมากที่พลาดพลั้งของรัฐบาล

ถ้าไม่นับการปฏิวัติร่มที่มีแกนนำอย่าง โจชัว หว่อง เมื่อปี 2014 การประท้วงในปี 2019 จัดว่าสร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้ปัญหาการเมืองฮ่องกงที่สั่งสมมานานกลับมาอยู่ในเรดาร์ความสนใจของทั่วโลกอีกครั้ง หลังแผ่วไปจนแทบไม่เหลือโมเมนตัมที่จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้

 

ชนวนวิกฤตครั้งใหม่เริ่มต้นจากการที่คณะบริหารฮ่องกงของ แคร์รี ลัม ตัดสินใจผลักดันร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในสภานิติบัญญัติ ส่งผลให้เกิดความกังวลว่ากฎหมายใหม่อาจบ่อนทำลายความเป็นนิติรัฐของฮ่องกง ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ที่ชาวฮ่องกงหวงแหน 

 

เพราะกฎหมายนี้เปิดทางให้ทางการสามารถส่งตัวผู้ต้องสงสัยไปดำเนินคดีที่จีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่จีนอาจใช้กำจัดผู้ที่เห็นต่างหรือศัตรูทางการเมืองได้ และถือเป็นการแทรกแซงระบบยุติธรรมอันเป็นมรดกตกทอดจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวฮ่องกง ด้วยเหตุนี้จึงจุดชนวนไฟประท้วงของคนหัวก้าวหน้าให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง

 

ที่ว่าเป็นความพลาดพลั้งก็อาจเพราะรัฐบาลเองคงไม่คาดคิดว่าจะทำให้เกิดการลุกฮือจนกลายเป็นจลาจลหนักหน่วงเช่นนี้ นักวิเคราะห์ทั้งไทยและเทศบางคน (รวมถึง ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ก่อนหน้านี้) เชื่อว่าเริ่มแรกกฎหมายนี้อาจเกิดจากเจตนารมณ์ของฮ่องกงเองที่ต้องการเอาใจจีน ส่งผลให้ในเวลาต่อมารัฐบาลฮ่องกงต้องประกาศฉีกร่างกฎหมายนี้ทิ้งอย่างถาวร ซึ่งนับเป็นการตอกย้ำความผิดพลาดในการเดินหมากตานี้ของรัฐบาล 

 

Hong Kong disparity

 

การชุมนุมถูกยกระดับขึ้นไปสู่การใช้ความรุนแรงในช่วงหลัง เริ่มจากม็อบหน้ากากบุกยึดอาคารสภานิติบัญญัติในเดือนกรกฎาคม มีการทุบทำลายโต๊ะเก้าอี้และขีดเขียนภาพเจ้าพนักงานรัฐจนได้รับความเสียหาย เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจจนกลายเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งกับม็อบอีกฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล มีผู้ประท้วงฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยถูกดักทำร้ายในสถานีรถไฟใต้ดินหยวนหล่าง ส่งผลให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นไปอีก

 

ถึงแม้ แคร์รี ลัม ยอมถอยและประกาศว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ตายไปแล้ว แต่ผู้ประท้วงก็ยังจัดการชุมนุมอย่างต่อเนื่องในทุกสุดสัปดาห์ เนื่องจากหวาดระแวงว่ารัฐบาลอาจรื้อฟื้นร่างกฎหมายฉบับนี้กลับขึ้นมาพิจารณาอีกในอนาคต ดังนั้นจึงมีการยกระดับการชุมนุมให้สร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลยิ่งขึ้นจนนำไปสู่การปิดสนามบิน ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมหน้าการประท้วงขึ้นไปอีกขั้น ขณะเดียวกันก็บีบให้รัฐบาลต้องใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงอย่างหนักข้อขึ้นด้วยแก๊สน้ำตา กระสุนยาง สเปรย์พริกไทย รวมถึงการฉีดน้ำแรงดันสูง

 

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นโมเมนตัมของผู้ประท้วงคือผู้ชุมนุมหญิงรายหนึ่งถูกกระสุนถุงถั่วยิงเข้าที่เบ้าตาจนได้รับบาดเจ็บในเดือนสิงหาคม

 

Hong Kong disparity

 

นอกจากร่างกฎหมายที่ผู้ชุมนุมต้องการให้รัฐบาลประกาศถอนอย่างเป็นทางการแล้ว ผู้ประท้วงยังเพิ่มข้อเรียกร้องอีก 4 ข้อคือ ให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม, ตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจ, ให้รัฐบาลถอนคำพูดที่บอกว่าผู้ประท้วงก่อความไม่สงบหรือจลาจล และมอบสิทธิการเลือกตั้งผู้บริหารเขตสูงสุดและสมาชิกสภานิติบัญญัติแก่ประชาชนอย่างเสรีตามหลักสากล (Universal Suffrage) 

 

ท้ายที่สุด แคร์รี ลัม ได้ประกาศถอนร่างกฎหมายอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน แต่ปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้องอื่นๆ ส่งผลให้การประท้วงไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง และส่อเค้ายืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ 

 

Hong Kong disparity

 

รากเหง้าของความขัดแย้ง

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการประท้วงมีแนวโน้มยืดเยื้อและไม่มีวันจบง่ายๆ โดยร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นเพียงชนวนให้เกิดการประท้วงเท่านั้น แต่รากเหง้าของปัญหาจริงๆ ในฮ่องกงมาจากความขัดแย้งระหว่างสองขั้วการเมือง 

 

ขั้วแรกคือกลุ่มอนุรักษนิยมซึ่งสนับสนุนรัฐบาลจีน และต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในฮ่องกงอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

 

ส่วนขั้วตรงกันข้ามคือกลุ่มหัวก้าวหน้าที่เรียกร้องประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ

 

ที่ผ่านมาในฮ่องกงมีการประท้วงกันมาตลอด และเป็นการต่อสู้ระหว่างสองขั้วการเมือง อย่างในช่วงการปฏิวัติร่มก็มีการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งผู้บริหารเขตปกครองพิเศษอย่างเสรีและยุติธรรม

 

เราจะเห็นว่าฮ่องกงมีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติก็จริง แต่เป็นการเลือกเพียงจำนวนครึ่งหนึ่งของสภาเท่านั้น โดยผู้บริหารสูงสุดยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ขณะที่ปัจจุบันมีตัวแทนวิชาชีพ ซึ่งรวมถึงกลุ่มธุรกิจประมาณ 1,200 คนที่ผ่านกระบวนการเลือกสรรและสุดท้ายก็เป็นคนเลือกผู้บริหารสูงสุดขึ้นมา โดยผู้แทนวิชาชีพซึ่งจัดเป็นพวกชนชั้นนำเหล่านี้จะสนับสนุนจีนหรือโปรปักกิ่งเป็นหลัก

 

ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงสามารถควบคุมได้ว่าจะให้ใครขึ้นมาเป็นผู้บริหารเขตปกครองพิเศษ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริหารคนนี้จะไม่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ

 

กฎหมายฮ่องกงบัญญัติขึ้นภายใต้หลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบของจีน โดยจะมีธรรมนูญการปกครองฮ่องกงซึ่งคล้ายๆ กับรัฐธรรมนูญฉบับย่อย ในธรรมนูญนี้พูดถึงว่าฮ่องกงจะค่อยๆ พัฒนาไปสู่จุดที่มีการเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์แบบทั้งในสภานิติบัญญัติและผู้บริหารเขตสูงสุด

 

แต่ปัญหาคือในธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ระบุวันเวลาที่ชัดเจนว่าการเลือกตั้งเต็มรูปแบบจะเกิดขึ้นเมื่อใด เพียงแต่ใช้คำว่า ‘ค่อยเป็นค่อยไป’ จนกว่าจะถึงจุดนั้น

 

เมื่อมองจากวันที่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้แก่จีนในปี 1997 จะเห็นว่ากาลเวลาผ่านพ้นไปกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งมีพัฒนาการไปจนถึงจุดที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวนครึ่งหนึ่ง แต่สำหรับกลุ่มที่เรียกร้องประชาธิปไตย พวกเขามองว่าช้าเกินไป และควรให้จัดการเลือกตั้งอย่างเสรีโดยทันที อย่างไรก็ตาม จีนยืนยันในท่าทีว่าการพัฒนาต้องเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

อันที่จริงเมื่อปี 2017 แคร์รี ลัม ก็เคยมีความพยายามที่จะผลักดันกฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ซึ่งเปิดทางให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารโดยตรง แต่รัฐบาลจีนในขณะนั้นยืนกรานว่าการเลือกตั้งจะต้องมีกระบวนการคัดกรองผู้สมัครในระดับหนึ่งก่อน เช่น อาจจะคัดกรองผู้ที่เหมาะสมมาก่อน 2-3 คนแล้วจึงปล่อยให้ประชาชนเลือก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือปักกิ่งต้องมีสิทธิวีโต้ได้ในระดับหนึ่งว่าจะเอาหรือไม่เอาผู้สมัครคนนั้นๆ

 

แน่นอนว่ากลุ่มหัวก้าวหน้าย่อมคัดค้าน เพราะมองว่านี่ไม่ใช่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม การเลือกตั้งอย่างอิสระต้องเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ลงสมัครได้อย่างเสรี

 

แต่ในมุมของจีนนั้น พวกเขามองว่ามีกลุ่มคนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลปักกิ่งอย่างชัดเจน หรือถึงขั้นที่บางกลุ่มอาจเรียกร้องเอกราช ด้วยเหตุนี้จีนจึงต้องการให้มีกระบวนการคัดกรองผู้สมัครเสียก่อน เพราะฉะนั้นร่างกฎหมายเลือกตั้งฉบับปี 2017 จึงเป็นอันตกไป เพราะไม่ผ่านความเห็นชอบในสภาด้วยเกณฑ์คะแนนเสียงจำนวน 2 ใน 3 

 

ดังนั้นเราจึงเห็นว่าผู้ประท้วงในปัจจุบันได้บรรจุข้อเรียกร้องให้รัฐเดินหน้าปฏิรูปกฎหมายเลือกตั้งด้วย นอกเหนือจากการถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว ขณะที่ แคร์รี ลัม ยืนกรานว่าการปฏิรูปกฎหมายเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่ยาวนานและจะต้องมีการพูดคุยกัน

 

นอกจากแนวคิดการเมืองที่แบ่งขั้วและต่อสู้กันมาอย่างยาวนานแล้ว ดร.อาร์มมองว่าเรายังสามารถแบ่งขั้วในมิติด้านเศรษฐกิจ คือกลุ่มคนรวยที่เป็นชนชั้นนำเก่า หรือกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนขั้วอนุรักษนิยม

 

ส่วนอีกกลุ่มคือชนชั้นกลางระดับล่างที่สนับสนุนประชาธิปไตย คนกลุ่มนี้มองว่าปัญหาของพวกเขาคือเรื่องที่อยู่อาศัย เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ขณะที่คนรายได้ต่ำมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดีหรือต้องอยู่ในสลัม ซึ่งคนเหล่านี้มองว่าการเมืองไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาเลย 

 

สาเหตุก็เพราะพวกเขาไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง รัฐบาลที่เลือกมาล้วนเป็นรัฐบาลพวกพ้องของชนชั้นนำและกลุ่มธุรกิจที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงต้องการเสรีภาพในการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ตัวแทนเสียงของเขาอย่างแท้จริง

 

การแบ่งขั้วในสังคมฮ่องกงปัจจุบันยังมีอีกลักษณะคือขั้วคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นใหม่ โดยคนรุ่นเก่ายังมีความเข้าใจและความรู้สึกว่าตนเองเป็นจีน ถึงแม้จะภูมิใจในความเป็นฮ่องกงและอาณานิคมของอังกฤษมาก่อนก็ตาม 

 

แต่คนรุ่นใหม่เติบโตมาโดยที่ไม่มีความผูกพันหรือความทรงจำว่าฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน พวกเขามีความรู้สึกว่าเป็นคนฮ่องกงที่ชัดเจน มีความเป็นอัตลักษณ์ของฮ่องกง มีเสรีภาพมากกว่า มีความเจริญทางความคิดมากกว่า เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้จึงมีความรู้สึกว่าแปลกแยกจากจีน

 

ขณะเดียวกันการที่คนจีนไหลทะลักเข้าไปในฮ่องกงเป็นจำนวนมาก ทำให้คนฮ่องกงมองว่าคนจีนกำลังมาแย่งงานทำ คนรุ่นใหม่จึงระแวงอิทธิพลของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากอิทธิพลทางการเมืองที่คอยควบคุมสิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์รัฐบาลจีน ดังจะเห็นได้จากกรณีนักเคลื่อนไหวถูกอุ้มหายในต่างประเทศ 

 

ความรู้สึกที่ว่าตัวผู้นำของพวกเขามาจากรัฐบาลจีน ขณะที่เศรษฐกิจก็มีความผูกพันหรือพึ่งพาเศรษฐกิจจีนอย่างมาก ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกเสียประโยชน์ไปหมดทุกอย่างจนทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น

 

ทั้งหมดทั้งปวงก็คือรากเหง้าของปัญหาที่มีต้นตอมาจากการต่อสู้กันของขั้วการเมืองสองขั้ว ขณะเดียวกันปัญหาความเหลื่อมล้ำก็เป็นปัจจัยเสริมด้วย ซึ่งผูกโยงกับเรื่องอัตลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ รวมถึงความต่างระหว่างวัยที่กลายเป็นความแตกแยกในสังคม

 

เรื่องช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในฮ่องกงนั้นมีข้อมูลยืนยันจากดัชนี Gini coefficient ที่คิดค้นโดย คอร์ราโด จินี นักสถิติชาวอิตาลี ซึ่งวัดสัมประสิทธิ์การกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมจากเลข 0-1 โดยพบว่าดัชนีของฮ่องกงอยู่ที่ระดับ 0.539 ในเดือนมิถุนายน ปี 2017 ซึ่งเป็นระดับความเหลื่อมล้ำที่มากที่สุดในรอบ 45 ปี (ตัวเลขยิ่งใกล้ 0 หมายถึงการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม ยิ่งเข้าใกล้ 1 ยิ่งสะท้อนความเหลื่อมล้ำ) โดยนับจากปี 2006-2017 สัมประสิทธิ์จีนีของฮ่องกงเพิ่มขึ้นถึง 0.006 จุด ส่วนค่าดัชนีของสิงคโปร์อยู่ที่ 0.4579 ขณะที่สหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 0.411 ในช่วงเวลาเดียวกัน

 

Hong Kong disparity

 

จีนไม่เดือดร้อน และเลือกอยู่นิ่งเฉย

ส่วนจุดยืนของจีนนั้นง่ายมาก ก็คือไม่ต้องการให้กรณีของฮ่องกงกลายเป็นตัวอย่างของการที่ออกมาเรียกร้องอะไรแล้วก็ได้สิ่งนั้นตามที่ต้องการ สำหรับจีนแล้ว ถ้าอยากได้อะไรให้มานั่งลงพูดคุยกัน หรือประนีประนอม หรือให้มีการปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่ใช่ว่าจะออกมาเดินขบวนปิดถนนแล้วจะได้ในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่จีนไม่อยากให้เกิดขึ้น

 

กับประเด็นคำถามว่าจีนจะใช้กำลังทหารหรือส่งรถถังเข้าไปจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่พยายามยกระดับการประท้วงหรือไม่นั้น ดร.อาร์มแสดงความเห็นว่าจีนจะไม่ทำเช่นนั้น เพราะมองว่าไม่มีประโยชน์อะไร เนื่องจากการประท้วงมีแนวโน้มยืดเยื้อและไม่มีทางจบอยู่แล้ว

 

แต่การควบคุมไม่ให้เหตุประท้วงทวีความรุนแรงก็ยังจำเป็นต้องทำอยู่ เพียงแต่จะใช้กำลังตำรวจเข้าควบคุมสถานการณ์ตามปกติ ยิ่งผ่านพ้นวันชาติจีนมาแล้ว จีนก็ยิ่งไม่มีความจำเป็นต้องไปเร่งให้จบ

 

ความคิดของจีนก็คืออาจปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ รอให้ผู้ประท้วงเหนื่อยกันไปเอง หรือรอจนกระทั่งกระแสเบาบางลง หรือให้คนทั่วไปรู้สึกเบื่อและเกิดกระแสโต้กลับ เพราะเวลานี้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อ และมีคนบางกลุ่มที่เริ่มไม่เห็นด้วยกับแนวทางของผู้ประท้วงที่เป็นคนรุ่นใหม่

 

เพราะแรกเริ่มคนส่วนใหญ่ที่ออกมาประท้วงคือการคัดค้านและต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อประเด็นกฎหมายนี้ตกไปแล้ว แรงก็จะแผ่วลงไป เพราะคนที่อยู่ตรงกลางก็อาจจะไม่สนับสนุนการประท้วงต่อ ส่งผลให้การชุมนุมจำกัดวงอยู่แต่ในกลุ่มคนหัวรุนแรง

 

ภาพการจุดไฟเผาทำลายสถานีรถไฟใต้ดิน (MTR) รวมไปถึงการบุกทุบทำลายทรัพย์สินร้านค้าธุรกิจและธนาคารหลายแห่ง ทำให้เกิดกระแสต่อต้านผู้ประท้วงมากขึ้นในฮ่องกง ดร.อาร์มมองว่ากระแสโต้กลับนี้จะเป็นผลดีต่อจีนเอง เพราะคนทั่วไปที่ไม่เห็นด้วยเริ่มรู้สึกว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

 

Hong Kong disparity

 

ปลายทางที่คลุมเครือหลังยุค 1 ประเทศ 2 ระบบ

อีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นตัวเร่งการประท้วงครั้งนี้ตามความเห็นของดร.อาร์มก็คือความคลุมเครือหลังจาก 50 ปีของระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน นับจากวันที่จีนรับมอบฮ่องกงคืนมาจากอังกฤษในปี 1997 

 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าหลักการนี้เป็นแนวคิดของ เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่ 2 ของจีนที่ต้องการให้มีความยืดหยุ่น สำหรับจีนแล้ว 2 ระบบในที่นี้หมายถึงจีนแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกงและมาเก๊าเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงเขตปกครองตนเองอย่างทิเบต ซินเจียง และกว่างซี ของชนกลุ่มน้อยต่างๆ หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมา

 

ฮ่องกงกับมาเก๊าเป็นทุนนิยม มีระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นในโลกอินเทอร์เน็ต หากเปรียบเทียบกับจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว ฮ่องกงมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งที่กล่าวมาไม่มีในจีนแผ่นดินใหญ่ เพียงแต่ฮ่องกงยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งอย่างเสรีเต็มที่ หรือเป็นเพียงประชาธิปไตยครึ่งใบ

 

เพราะฉะนั้นฮ่องกงจึงไม่เหมือนกับสิงคโปร์ที่มีการควบคุมเสรีภาพในการแสดงความเห็นและควบคุมสื่อ แต่ถ้าเปรียบกับรัฐบาลสิงคโปร์แล้ว จะเห็นว่าพวกเขาสามารถแก้ปัญหาพื้นฐานได้ โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย 

 

ความพิเศษของหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบก็คือคำมั่นสัญญาที่จะให้ฮ่องกงคงสถานภาพความเป็นเขตปกครองตนเองพิเศษที่มีเสรีภาพในระดับหนึ่งเป็นเวลา 50 ปีโดยไม่เปลี่ยนแปลง แต่ปัญหาคือเขาไม่ได้บอกว่าหลังจาก 50 ปีแล้วจะเกิดอะไรขึ้น 

 

แต่ตรงนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำสัญญาที่จะปฏิรูประบบเลือกตั้งให้ไปถึงจุดที่มีการเลือกตั้งอย่างเสรี ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปภายในช่วง 50 ปีนี้ 

 

ส่วนหลังจาก 50 ปีจะเกิดอะไรขึ้นนั้นยังไม่มีใครรู้ เพราะธรรมนูญหรือกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง (Basic Law) ไม่มีพูดไว้ ความหมายของเติ้งเสี่ยวผิงจริงๆ ก็คือปล่อยให้เป็นเรื่องของคนรุ่นหลังต่อไป ดังนั้นจึงไม่ต้องการที่จะไปผูกมัดอะไร กล่าวคือรอให้ผ่านไป 50 ปี หรือ Basic Law หมดอายุในปี 2047 ค่อยมาดูกันว่ามันจะเป็นอย่างไร

 

ในยุคหนึ่งมีคนพูดกันด้วยซ้ำว่าจีนจะกลายเป็นฮ่องกงมากกว่าฮ่องกงจะกลายเป็นจีนเสียอีก แต่ปัจจุบันยังไม่มีทีท่าว่าจีนจะเป็นเสรีนิยมมากขึ้น เพราะยุคสีจิ้นผิง จีนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นอำนาจนิยมและอนุรักษนิยมมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงทำให้เกิดความกังวลยิ่งขึ้นว่าฮ่องกงจะถูกกลืนหรือถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจีนในอนาคต ดังจะเห็นได้จากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ Greater Bay Area ที่จีนพยายามเชื่อมโยงเศรษฐกิจฮ่องกงและมาเก๊ากับหลายเมืองในมณฑลกวางตุ้ง

 

คนรุ่นใหม่มองว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนเอื้อประโยชน์กับชนชั้นนำที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่ผูกติดกับเศรษฐกิจจีนอย่างแนบแน่น แต่ผลประโยชน์ไม่ได้ไปตกอยู่กับชนชั้นล่างมากนัก

 

เมื่อมองในแง่นี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งให้เกิดการประท้วงครั้งนี้เช่นกัน เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าอีก 50 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อ กลุ่มคนรุ่นใหม่มองว่านี่คือการต่อสู้อันยาวนานไปจนถึงจุดที่หมดช่วง 50 ปีนี้แล้ว พวกเขาก็จะได้มีที่ยืน 

 

แต่จีนปล่อยไว้แบบนี้ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไรกับฮ่องกงมาก ข่าวความวุ่นวายในฮ่องกงอาจเป็นประโยชน์ต่อจีนด้วยซ้ำ เพราะคนจีนรู้สึกว่าต่างชาติพยายามแทรกแซงโดยการหนุนหลังให้ฮ่องกงลุกฮือ ขณะเดียวกันคนจีนก็รู้สึกว่าคนฮ่องกงไม่รักชาติเลย ซึ่งก็ยิ่งปลุกกระแสชาตินิยมในจีนเอง ซึ่งถือเป็นประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลจีน

 

กับความเห็นของหลายฝ่ายที่ว่ากรณีฮ่องกงจะเป็นชนวนลุกลามไปถึงปักกิ่งและทำให้รัฐบาลตกอยู่ในความสั่นคลอนนั้น ดร.อาร์มมองว่าการประท้วงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลจีนแต่อย่างใด แต่กลับเป็นตัวที่ส่งเสริมฐานความคิดและกระแสชาตินิยม ด้วยความรู้สึกที่ว่าพวกเขากำลังถูกต่างชาติแทรกแซง

 

อีกเรื่องที่น่าจับตาคือการผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลจีนก็มองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนเช่นกัน

 

ท้ายที่สุดแล้ว ดร.อาร์มเชื่อว่าการประท้วงในฮ่องกงจะยืดเยื้อต่อไปและไม่มีวันจบลงง่ายๆ ส่วนสถานการณ์จะตึงเครียดขึ้นแค่ไหน และผู้ประท้วงจะยกระดับความรุนแรงมากขึ้นเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับตัวผลักดัน แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถสร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพของจีนได้ และมีแนวโน้มสูงที่จีนจะรอให้วิกฤตบรรเทาแผ่วปลายไปเอง โดยที่ไม่ใช้กำลังทางทหาร 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising