×

รักษาเอชไอวี ‘ใกล้เพียงเอื้อมมือ’ เผยผู้ป่วยปลอดเชื้อรายที่ 2 ของโลก

06.03.2019
  • LOADING...
HIV

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • นับตั้งแต่เชื้อเอชไอวีระบาดไปทั่วโลก รายงานล่าสุดเปิด ‘ผู้ป่วยลอนดอน’ ได้รับการรักษาจนปราศจากเชื้อดังกล่าวแล้วเป็นรายที่ 2 ในโลก หลังรักษารายแรกสำเร็จ 12 ปีก่อน
  • ผู้ป่วยลอนดอนเข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูก เพื่อรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองในช่วงประมาณ 3 ปีก่อน โดยผู้บริจาคของเขาก็มีอาการกลายพันธ์ุในโปรตีน CCR5 เช่นกัน และเขาเองก็ต้องผ่านการใช้ยากดภูมิต้านทานด้วย
  • ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ช่องทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือ การพัฒนาวิธีรักษา เพื่อขจัดโปรตีน CCR5 ออกจากระบบภูมิคุ้มกัน จนทำให้เชื้อเอชไอวีไม่สามารถเข้าไปได้
  • ปัญหาสำคัญของแนวทางนี้คือ มีเชื้อเอชไอวีชนิด X4 ที่เข้าไปฝังตัวผ่านโปรตีนตัวอื่นอยู่ด้วย

นับตั้งแต่เชื้อเอชไอวีระบาดไปทั่วโลก รายงานล่าสุดเปิด ‘ผู้ป่วยลอนดอน’ ได้รับการรักษาจนปราศจากเชื้อดังกล่าวแล้วเป็นรายที่ 2 ในโลก หลังรักษารายแรกสำเร็จเมื่อ 12 ปีก่อน

 

นักวิจัยเปิดเผยว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ยืนยันว่า การรักษาเชื้อเอชไอวีอันนำไปสู่โรคเอดส์ เป็นไปได้แม้ว่าจะยากก็ตาม โดยข้อมูลระบุว่า ทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการผ่าตัดปลูกถ่ายไขกระดูก แม้เจตนาจะเป็นไปเพื่อรักษาโรคมะเร็งก็ตาม

 

การปลูกถ่ายไขกระดูกยังถือเป็นทางเลือกที่ไกลจากความเป็นจริง เนื่องจากความเสี่ยงในการก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปัจจุบันยังมียาต้านเอชไอวีขนานหนักวางจำหน่ายอยู่ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การทำให้ร่างกายมีเซลล์คุ้มกันเอชไอวี อาจถือเป็นวิถีทางหนึ่งในการรักษาได้

 

ดร.แอนแมรี เวนซิง นักไวรัสวิทยาประจำมหาวิทยาลัยยูเทรกต์ กล่าวว่า “ความสำเร็จในครั้งนี้ ช่วยมอบความหวังให้ว่า การรักษาไม่ได้เป็นเพียงแค่ความฝัน มันอยู่ใกล้เพียงเอื้อมมือ”

 

HIV

 

ผู้ป่วยไม่เปิดเผยอัตลักษณ์รายนี้ใช้นามแฝง ‘ผู้ป่วยลอนดอน’ ได้รับการรักษาจนปราศจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและเชื้อเอชไอวี โดยผู้ป่วยรายนี้ได้เปิดเผยความรู้สึกต่อ The New York Times ผ่านทางอีเมลว่า “ฉันตระหนักถึงความรับผิดชอบว่าต้องช่วยเหลือแพทย์ให้เข้าใจว่าการรักษามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อที่พวกเขาจะสามารถนำไปพัฒนาต่อไป”

 

เมื่อ พ.ศ. 2550 นายแพทย์ชาวเยอรมันเปิดเผยต่อสาธารณะว่า ‘ผู้ป่วยเบอร์ลิน’ หายขาดจากเอชไอวีเป็นรายแรกของโลก ภายหลังชื่อของผู้ป่วยรายนี้ได้รับการเปิดเผยในนาม ทิโมธี เรย์ บราวน์ ชายวัย 52 ปี ผู้เคยเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไขกระดูก 2 ครั้ง เพื่อรักษาอาการมะเร็งเม็ดเลือดขาว

 

แม้จะมีความพยายามหลายต่อหลายครั้ง เพื่อเลียนแบบการรักษาของบราวน์ แต่ไวรัสก็กลับมาปรากฏในผู้ป่วยซ้ำแล้วซ้ำเล่าประมาณ 9 เดือน หลังจากหยุดรับยาต้านไวรัส หรือไม่ผู้ป่วยก็เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง

 

โปรตีนชนิด CCR5 ของผู้บริจาคไขกระดูกให้บราวน์มีลักษณะกลายพันธ์ุ ซึ่งเชื้อเอชไอวีใช้โปรตีนเหล่านี้เพื่อเข้าไปในโปรตีน อย่างไรก็ตาม ไวรัสนี้ไม่สามารถฝังตัวเข้าไปในโปรตีนที่มีการกลายพันธ์ุได้

 

HIV

 

ในกระบวนการรักษาของบราวน์ เขาต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันเข้มข้นที่ไม่ใช้กันในปัจจุบัน ซ้ำเขายังมีอาการโคม่าจนเกือบเสียชีวิตมาแล้ว จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ดร.สตีเวน ดีกส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอดส์ ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และแพทย์ผู้ให้การรักษาบราวน์ ตั้งข้อสันนิษฐานว่า จำเป็นต้องทำลายระบบภูมิคุ้มกันไปเกือบหมดก่อนหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยลอนดอนชี้ให้เห็นว่า การรักษาเชื้อเอชไอวีไม่จำเป็นต้องผ่านประสบการณ์เฉียดตายเสมอไป

 

ข้อมูลระบุว่า ผู้ป่วยลอนดอนเข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูก เพื่อรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองในช่วงประมาณ 3 ปีก่อน โดยผู้บริจาคของเขาก็มีอาการกลายพันธ์ุในโปรตีน CCR5 เช่นกัน และเขาเองก็ต้องผ่านการใช้ยากดภูมิต้านทานด้วย แม้ว่ากระบวนการของเขาจะไม่รุนแรงเท่าของบราวน์ จนกระทั่งในช่วงเดือนกันยายน 2560 เขาเลิกรับยาต้านเชื้อเอชไอวี และปราศจากเชื้อมานานกว่า 1 ปีแล้ว

 

การปลูกถ่ายช่วยทำลายมะเร็งอย่างไม่มีผลข้างเคียง และภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากการผ่าตัดก็ดูเหมือนว่าจะเข้ามาทดแทนเซลล์ที่อ่อนแอต่อเชื้อได้อย่างเต็มที่

 

นอกจากผู้ป่วยลอนดอนแล้ว ‘ผู้ป่วยดุสเซลดอร์ฟ’ ซึ่งอยู่ในรายชื่อของผู้ป่วยเชื้อเอชไอวี 38 คน ที่เข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูก ผู้ป่วยรายนี้ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านเอชไอวีมา 4 เดือนแล้ว

 

จากการวิเคราะห์ผลเลือดของผู้ป่วยลอนดอน มีผลทดสอบ 1 ชนิด จากทั้งหมด 24 ชนิด ชี้ให้เห็นว่า มีการติดเชื้อต่อไป แต่บางเบามาก จนอาจมองได้ว่า เป็นการปนเปื้อนของตัวอย่าง เนื่องจากการทดสอบที่มีความอ่อนไหวมากที่ไม่พบว่ามีเชื้อกระจายไปในส่วนต่างๆ ของร่างกาย

 

แม้จะไม่มีข้อยืนยันว่า ผู้ป่วยลอนดอนปราศจากเชื้อไปโดยสิ้นเชิง แต่ผลการทดสอบที่ออกมามีความใกล้เคียงบราวน์มาก

 

ดร.ดีกส์ และผู้เชี่ยวชาญรายอื่นมองว่า ช่องทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือ การพัฒนาวิธีรักษา เพื่อขจัดโปรตีน CCR5 ออกจากระบบภูมิคุ้มกัน จนทำให้เชื้อเอชไอวีไม่สามารถเข้าไปได้

 

ปัญหาสำคัญของแนวทางนี้คือ มีเชื้อเอชไอวีชนิด X4 ที่เข้าไปฝังตัวผ่านโปรตีนตัวอื่นอยู่ด้วย โดยมีรายงานระบุว่า ผู้ป่วยรายหนึ่งที่เข้ารับการปลูกถ่ายภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน พบอาการเชื้อเอชไอวีลุกลามขึ้นมาอีก เนื่องจากเป็นประเภท X4

 

ทั้งนี้ บราวน์เปิดเผยความคาดหวังว่า ความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยลอนดอนจะยืนยาวแบบเดียวกับของเขา

 

“หากการแพทย์เคยทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาแล้ว มันย่อมจะเกิดขึ้นอีกครั้ง” ผู้ป่วยเบอร์ลินกล่าว

 

“ผมรอที่จะมีเพื่อนมานานแล้ว”

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising