×

จบจาก บุพเพสันนิวาส ออเจ้าจะไปดูอะไรต่อดี และนี่คือละครรักอิงประวัติศาสตร์อีก 5 เรื่องที่เราอยากแนะนำ

10.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • บุพเพสันนิวาส ละครดังหลังข่าว ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้วงการโทรทัศน์ และทำให้เรารู้ว่าคนดูยังไม่หายไปไหน เพียงแค่ต้องการละครดีๆ อย่างนี้ออกมาให้ได้ติดตามเท่านั้นเอง
  • หลังจากที่ บุพเพสันนิวาส ดังระเบิดจนทำลายทุกเรตติ้ง จึงทำให้เราหวนนึกถึงละครยุคก่อนๆ ที่คนดูคอยติดตามไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น นางทาส, สายโลหิต, อาญารัก, ญาติกา และ รัตนโกสินทร์

หลังจากที่ บุพเพสันนิวาส ละครย้อนยุคโรแมนติกคอเมดี้ออกอากาศ และทำให้คนดูติดกันทั่วบ้านทั่วเมืองด้วยเสน่ห์ของพ่อขุนเดช (โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ) และแม่การะเกด (เบลล่า-ราณี แคมเปน) จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ #บุพเพสันนิวาส ตามมา สร้างทั้งเม็ดเงินและกระตุ้นการศึกษาประวัติศาสตร์ไปทั่ว

 

เหล่านี้ทำให้เราย้อนนึกถึงละครในยุคก่อนๆ ที่เคยสร้างประวัติศาสตร์ให้วงการละครไม่แพ้กัน THE STANDARD จึงจะขอพาออเจ้าย้อนรอยกลับไปดูว่ามีละครรักอิงประวัติศาสตร์เรื่องไหนที่ดีงาม เหมาะสำหรับติดตามดูหลังจากละคร บุพเพสันนิวาส ลาจอไปแล้ว

 

 

2498-2559

จาก นางทาส เวอร์ชันภาพยนตร์ สู่ละครโทรทัศน์ที่รีเมกเมื่อไรก็สร้างกระแสเมื่อนั้น

นางทาส (หรือ นางทาษ) จุดกำเนิดจริงๆ เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวตีพิมพ์ในหนังสือรวมเรื่องสั้นของ วรรณสิริ (ผู้เขียนเรื่อง วนิดา และ นางครวญ) ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น รวมเรื่องสั้น ชุด นางทาส เรื่องราวของ เย็น ที่ถูกพ่อแม่มาขายเป็นทาสในเรือนของพระยาสีหโยธิน จนได้รับความเอ็นดูจากท่านเจ้าคุณและยกระดับให้ขึ้นมารับใช้เป็นภรรยาอีกคน ทำให้เกิดความริษยาในหมู่ภรรยาของท่าน เย็นต้องผ่านเหตุการณ์ความโศกเศร้ามากมาย ทั้งโดนเฆี่ยนจากความผิดที่ไม่ได้ก่อ พอคลอดลูกสาวก็ไม่ได้ออกหน้าออกตาว่าเป็นแม่ผู้ให้กำเนิด ต้องเก็บความลับไว้กับตัว

 

นิยายเรื่องนี้เกี่ยวกับพันกับประวัติศาสตร์ในช่วงรัชกาลที่ 5 และการออกพระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124 ให้ลูกทาสทุกคนเป็นอิสระ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448

 

Photo: topicstock.pantip.com

 

นางทาษ (นางทาส) ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2498 ผลงานกำกับของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ได้นักแสดงหญิงเจ้าน้ำตา วิไลวรรณ วัฒนพานิช มารับบท อีเย็น นางทาสผู้แสนทุกข์ระทม โดยในปี 2503 วิไลวรรณ วัฒนพานิช ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ครั้งที่ 10 นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกๆ ที่ได้เข้าชิงรางวัลในระดับโลก

 

ต่อมา นางทาส ได้ถูกปรับมาเป็นละครโทรทัศน์ครั้งแรกในปี 2524 บทของ เย็น ถ่ายทอดโดยนักแสดงคุณภาพอย่าง รัชนู บุญชูดวง คู่กับอดุลย์ ดุลยรัตน์ ที่รับหน้าที่ทั้งผู้กำกับและรับบท พระยาสีหโยธิน

 

ต่อมาในปี 2536 นางทาส กลับมาพร้อมกับนางเอกชื่อดังในขณะนั้นอย่าง มนฤดี ยมาภัย มารับบทเป็น อีเย็น ที่ถูกแกล้งมากมาย ทั้งเฆี่ยนทั้งตีจนคนดูต่างสงสารกันทั่วบ้านทั่วเมือง ถือว่าในยุคนั้นมนฤดีกลายเป็นนางเอกที่ครองใจคนไทยอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อรวมกับความพีกของพระเอก ลิขิต เอกมงคล ผู้มารับบท ท่านเจ้าคุณ คาแรกเตอร์ที่เหมาะกับตัวละคร ยิ่งทำให้ นางทาส เวอร์ชันนี้สร้างปรากฏการณ์ถนนโล่งในวันที่ละครออกอากาศได้ไม่ยาก

 

ในปี 2551 การกลับมาอีกครั้งของอีเย็น ทาสผู้ซื่อสัตย์และอับจนในโชคชะตา ครั้งนี้ สุวนันท์ คงยิ่ง ตีบทแตกกระจุยจนคนดูรักคนดูหลง สร้างกระแสคนไทยติดละครในแบบที่ถนนโล่งในตอนอวสาน และล่าสุดในปี 2559 กับเวอร์ชันรีเมกที่ได้นางเอก มทิรา ตันติประสุต มารับบทหินนี้คู่กับท่านเจ้าคุณที่รับบทโดย ณัฐวุฒิ สกิดใจ น่าเสียดายที่คนดูกลับนำไปเปรียบเทียบกับเวอร์ชันเก่าๆ และถึงแม้กระแสจะไม่ดีสักเท่าไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว มทิรา ตันติประสุต ก็นับว่าทำได้ดีอยู่ไม่น้อยกับบท อีเย็น ที่นำมาตีความใหม่

 

 

 

 

 

2529-2561

สายโลหิต ละครโทรทัศน์ที่เล่าถึงเหตุการณ์ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา
สายโลหิต เป็นละครที่สร้างจากบทประพันธ์ของ โสภาค สุวรรณ เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา หรือในสมัยของพระเจ้าเอกทัศ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 33 พระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา (นับตามศักดิ์แล้วเป็นหลานของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ ที่ปรากฏตัวในละคร บุพเพสันนิวาส)

 

สายโลหิต เล่าถึงความรักของ ขุนไกร นายทหารแห่งกรุงศรีอยุธยา และแม่ดาวเรือง ลูกสาวของช่างทองหลวง พระสุวรรณราชา ดำเนินเรื่องโดยมีฉากหลังเป็นช่วงที่พม่าประกาศสงครามกับกรุงศรีอยุธยาไปจนถึงวันสิ้นกรุงศรีอยุธยา ขุนหลวงหาวัดและข้าราชบริพารโดนกวาดต้อนไปยังกรุงอังวะของพม่า ส่วนพระยากำแพงเพชรไปตั้งมั่นไพร่พลอยู่ที่จันทบุรี

 

ละครเรื่องนี้แม้จะเน้นไปที่การรบและศึกสงครามในช่วงนั้น แต่กลับทำให้คนดูต่างเขินม้วนด้วยฉากคำหวานของขุนไกรที่คอยหยอดแม่ดาวเรืองตลอดเวลา ซึ่งเรียกได้ว่ามาในแนวทางเดียวกับละคร บุพเพสันนิวาส เลยก็ว่าได้ โดยในเวอร์ชันปี 2529 บท ขุนไกร ตกเป็นของ ฉัตรชัย เปล่งพานิช และแม่ดาวเรือง รับบทโดย อาภาพร กรทิพย์

 

ต่อมาในปี 2538 ช่อง 7 ได้นำ สายโลหิต ไปสร้างใหม่ โดยได้ ศรราม เทพพิทักษ์ และสุวนันท์ คงยิ่ง คู่พระนางขวัญใจมหาชนมารับบทนำของเรื่องและได้รับความนิยมถล่มทลาย ทำให้เกิดการรีเมกอีกครั้งในปี 2546 โดย พุฒิชัย อมาตยกุล รับบท ขุนไกร และพิมลรัตน์ พิศลยบุตร รับบท ดาวเรือง


และล่าสุด การกลับมาอีกครั้งในปี 2561 นี้ที่ละคร สายโลหิต จะถูกนำมาทำใหม่ โดย สยาม สังวริบุตร เป็นผู้กำกับ และทีมนักแสดงช่อง 7 นำโดย ศรัณย์ ศิริลักษณ์ และทิสานาฏ ศรศึก ถือว่าเป็นละครอีกเรื่องหนึ่งในปีนี้ที่น่าจับตามอง

 

 

2539

ญาติกา เรื่องราวต่อจาก สายโลหิต ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ญาติกา เล่าเรื่องต่อจากละคร สายโลหิต โดยจะเป็นเหตุการณ์ในรุ่นลูกรุ่นหลานที่มีชีวิตอยู่ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ เนื้อหาว่าด้วยเรื่องของ พ่อบวร ตัวเอกของเรื่อง กับแม่นวล คู่รักที่แต่งงานมีลูกมีหลานสืบเนื่องต่อมาอีกสองรุ่น รวมถึงการตามหาดาบของขุนไกรที่เป็นสมบัติตกทอดกันมา โดยในเรื่องนี้นำแสดงโดย ยุทธพิชัย ชาญเลขา รับบท พ่อบวร ส่วนนางเอกของเรื่อง กัญญารัตน์​ จิรรัชชกิจ รับบท แม่นวล รุ่นลูกรับบทโดย นุติ เขมะโยธิน และกมลชนก เขมะโยธิน รุ่นหลานรับบทโดย สวิช เพชรวิเศษศิริ และตัวละครที่น่าสนใจมากๆ คือ ม่านแก้ว (นินสีบัน) ที่รับบทโดย กุลสตรี ศิริพงษ์ปรีดา ที่ต้องพูดภาษาพม่าด้วย ซึ่งนับว่าทำได้ดีมากทีเดียว

 

ญาติกา เป็นการต่อยอดความสำเร็จของ สายโลหิต ที่ทำเอาไว้ดีมากในปีก่อนหน้าและไม่ผิดหวัง เพราะ ญาติกา เรียกเรตติ้งไปได้มากพอสมควร ทั้งยังเป็นจุดกำเนิดความรักระหว่างนุติและกมลชนก ที่นับว่ามีชื่อเสียงอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้น


 

 

2539

รัตนโกสินทร์ ละครย้อนยุคไปในรัชกาลที่ 1-3

ละครย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ที่สร้างจากงานเขียนของ ว.วินิจฉัยกุล เรื่องราวเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1-3 โดยมีเค้าโครงจากเรื่องจริง เพราะเขียนขึ้นจากบันทึกของลูกหลานตระกูลหนึ่งที่มีจุดกำเนิดในช่วงต้นรัตนโกสินทร์

 

เรื่องความรักที่ฝ่าฟันอุปสรรคมากมายที่กว่าจะได้ครองรักกันก็แสนยากลำบาก ตัวละครหลักของเรื่อง พ่อฟัก และแม่เพ็ง รับบทโดย เอกรัตน์ สารสุข และกุลสตรี ศิริพงษ์ปรีดา พ่อฟักรับราชการทหาร โดยสุดท้ายได้รับเลื่อนยศเป็น พระมหาวินิจฉัย ในสมัยรัชกาลที่ 4 ละครส่วนหนึ่งเน้นเรื่องรักโรแมนติกของหนุ่มสาวในยุคนั้น บทพูดมีความคล้องจองสละสลวย ทำให้เห็นวิถีชีวิตของข้าราชการในสมัยนั้น รวมทั้งความเป็นกุลสตรีของหญิงไทยในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี

 

นอกจากนี้ รัตนโกสินทร์ ยังเป็นละครที่แตกต่างจากละครอิงประวัติศาสตร์เรื่องอื่นๆ ที่ผู้ชายมักมีภรรยาได้หลายคน เพราะพ่อฟักในเรื่องเป็นผู้ชายรักเดียวใจเดียวและมีภรรยาเพียงคนเดียว

 

 

 

2510-2556
อาญารัก บทประพันธ์ของจำลักษณ์ ที่นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ถึง 3 ครั้ง

ละครรักอิงประวัติศาสตร์เรื่อง อาญารัก เป็นผลงานการประพันธ์ของ จำลักษณ์ (ผู้เขียน ไทรโศก) เรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อ เนียน เธอต้องจากครอบครัวไปเป็นทาส แม้ว่าจะได้รับความเมตตาจากท่านขุนภักดีจนตั้งครรภ์และมีลูกกับท่านขุน แต่สุดท้ายต้องผ่านมรสุมชีวิตมากมาย ทั้งลูกฝาแฝดที่ถูกพรากจากอกและต้องยกไปเป็นลูกคุณเรียม ภรรยาหลวงของท่านขุนฯ สุดท้ายกลายเป็นโศกนาฏกรรมความรักที่ไม่ว่าจะนำไปรีเมกครั้งไหนก็สร้างกระแสให้ติดละครได้ทุกครั้ง

 

อาญารัก ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่เข้าฉายเมื่อปี 2510 นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา รับบท ขุนภักดี และร่วมแสดงโดย พงษ์ลดา พิมลพรรณ, อมรา อัศวนนท์, พิศมัย วิไลศักดิ์ จากนั้นช่อง 3 นำไปสร้างเป็นละครอีก 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2526 นำแสดงโดย นาท ภูวนัย, สุคนธ์ทิพย์ เสนะวงศ์, อุทุมพร ศิลาพันธ์ และดวงใจ หทัยกาญจน์ รีเมกครั้งที่สองในปี 2543 นำแสดงโดย ฉัตรชัย เปล่งพานิช, จินตหรา สุขพัฒน์, จริยา แอนโฟเน่, กมลชนก เขมะโยธิน ซึ่งนับว่าเป็นเวอร์ชันที่ได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งเรตติ้งและรางวัล เพราะกมลชนกได้รับรางวัลเมขลา นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากการรับบท เนียน


สำหรับการรีเมกครั้งที่ 3 โดยช่อง 7 ในปี 2556 นำแสดงโดย อานัส ฬาพานิช, นุสบา ปุณณกันต์, มรกต กิตติสาระ, จีรนันท์ มะโนแจ่ม ซึ่งการแสดงบทเศร้าเคล้าน้ำตาของจีรนันท์ทำให้เกิดกระแสสงสารแม่เนียนไปทั่วเมือง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising