×

ชมที่ประทับ ‘พระปิ่นเกล้า’ วังหน้าในรัชกาลที่ 4 ยุคที่สยามมี ‘The Second King’

27.12.2023
  • LOADING...

‘วังหน้า’ มีความหมายสำคัญ เป็นถ้อยคำที่เรียกทั้งตำแหน่งบุคคลและตำแหน่งของสถานที่

 

โดยตำแหน่งบุคคลของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือ วังหน้าพระยาเสือ) วังหน้าพระองค์แรกในรัชกาลที่ 1 คือพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

 

ตำแหน่งวังหน้า เป็นตำแหน่งรัชทายาทอยู่คู่กับวังหลวง ตั้งแต่สร้างเมืองสมัยต้นรัตนโกสินทร์มาถึง 5 รัชกาล รวมทั้งหมดมี 6 พระองค์ 

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อสิ้นวังหน้าองค์สุดท้าย ได้มีการยกเลิกตำแหน่งวังหน้า แล้วแทนที่ด้วยตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร เป็นตำแหน่งรัชทายาทตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาถึงปัจจุบัน

 

ส่วนตำแหน่งของสถานที่วังหน้า ปัจจุบันถูกแบ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นอกจากนั้นยังรวมถึงพื้นที่บางส่วนของสนามหลวง อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมทั้งโรงละครแห่งชาติ สำนักการสังคีต สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ที่สามารถมองเห็นจากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าด้วย

 

สำหรับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นอกจากจะเก็บรักษาโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่บ่งบอกประวัติศาสตร์ของชาติแล้ว สถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ยังเป็นโบราณสถาน ประกอบด้วยอาคารพระที่นั่งเก่าแก่ สะท้อนบทบาทสำคัญทางการทหารของพระมหาอุปราชในยุคสร้างเมือง

 

ทั้งนี้ ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2566 กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในยามค่ำคืน (Night at the Museum) ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ให้ประชาชนสามารถเข้าชมได้ถึงเวลา 20.00 น. โดยผู้เข้าชมจะได้เห็นพิพิธภัณฑ์ยามค่ำในภาพที่สวยงามแปลกตา แตกต่างจากตอนกลางวัน โดยพิพิธภัณฑ์อนุญาตให้ประชาชนสามารถถ่ายภาพได้เฉพาะภาพนิ่ง ไม่อนุญาตให้บันทึกเป็นคลิปวิดีโอ

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในยามค่ำคืน

ภาพ: หน้าพิพิธภัณฑ์ ยามค่ำ

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์วังหน้า ทั้งตำแหน่งบุคคลและตำแหน่งสถานที่ รวมถึงโบราณวัตถุที่เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงสำคัญของประเทศในช่วงสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา 

 

ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ภาพ: ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เก็บรักษาโบราณวัตถุตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี ลพบุรี ศรีวิชัย จัดแสดงที่ ‘อาคารมหาสุรสิงหนาท’ โดยโบราณวัตถุในสมัยหลังจากนั้นคือ ล้านนา สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี  รัตนโกสินทร์ จะเก็บรักษาใน ‘อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์’ จัดแสดงโบราณวัตถุรวมถึงช่วงที่มีความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยมีเครื่องราชบรรณาการที่อังกฤษถวายในหลวงรัชกาลที่ 4 เช่น รถไฟจำลอง และลูกโลกจำลอง 

 

ขณะที่สมัยเดียวกันนั้น ยังมีอีกหนึ่งในอาคารโบราณสถานสำคัญคือ ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาธิราช (น้องชาย) ของในหลวงรัชกาลที่ 4 โดยทั้ง 2 พระองค์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก

 

ด้านนอก พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

ภาพ: ด้านนอกพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

 

ที่ประทับพระปิ่นเกล้า วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 4 

 

ยุทธนาวรากรพาชมพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ โดยเล่าว่าตำหนักนี้สร้างในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรงตำแหน่งวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเป็นสมัยเดียวที่สยามมี The Second King คือมีพระเจ้าแผ่นดิน 2 พระองค์ ซึ่งก่อนหน้านั้นจะมีอีกสมัยที่มีพระเจ้าแผ่นดิน 2 พระองค์ คือสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

 

ขณะที่ในสมัยรัตนโกสินทร์มีวังหน้าทั้งหมด 6 พระองค์ใน 5 รัชกาล เมื่อวังหน้าพระองค์แรกสวรรคต ในหลวงรัชกาลที่ 1 ได้ตั้งวังหน้าอีกพระองค์ ก็คือในหลวงรัชกาลที่ 2 ในเวลาต่อมา หากนับแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา ในแต่ละรัชสมัยจะมีวังหน้าเพียง 1 พระองค์ กระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีวังหน้าองค์สุดท้ายและยกเลิกตำแหน่งนี้ถึงปัจจุบัน

 

สำหรับพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 4 เคยเสด็จมาเยี่ยม ‘พระปิ่นเกล้า’ บนตำหนักแห่งนี้พร้อมกับในหลวงรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ นอกจากนั้น เซอร์จอห์น เบาว์ริง ก็เคยเข้าเฝ้าพระปิ่นเกล้าที่ตำหนักหลังนี้ด้วย

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า ตามธรรมเนียมโบราณ เจ้านายจะประทับชั้นบนตำหนัก โดยจะไม่เสด็จและไม่ประทับใต้ถุนชั้นล่างอาคาร เจ้านายจะเสด็จขึ้นทางบันไดด้านหน้าซึ่งอยู่นอกตัวอาคาร เนื่องจากตามธรรมเนียมโบราณถือว่าการเดินลอดใต้ถุนเป็นเรื่องอัปมงคล 

 

ดังนั้น ทางที่เป็นทางเสด็จจริงๆ จะมีเพียงด้านนอกอย่างเดียว คือบันไดด้านนอกที่เราเห็นอยู่หน้าตำหนักในปัจจุบัน ตำหนักนี้หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นทิศตะวันตก แตกต่างจากอาคารพระที่นั่งที่สร้างก่อนหน้านั้นจะหันไปทางทิศตะวันออก

 

ภาพ: ห้องทรงพระอักษร มีเตาผิงจำลองด้านล่าง

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ บนชั้น 2 จะมีทั้งหมด 5 ห้อง โดยห้องทางด้านทิศเหนือ มีห้องทรงพระอักษรหรือห้องสมุด พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างแบบตึกฝรั่ง ที่อกไก่หลังคาพระที่นั่งเหนือห้องสมุดเคยมีปล่องไฟจำลอง แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว มีหลักฐานจากภาพถ่ายเก่า และสิ่งที่ยืนยันจนถึงปัจจุบันคือ เตาผิงจำลองอยู่ตรงผนังด้านล่างของหน้าต่างห้องด้านทิศเหนือสุด เนื่องจากเป็นด้านที่ลมหนาวมา จึงเป็นห้องที่เย็นที่สุดในฤดูหนาว

 

ภาพ: ห้องรับแขกมีภาพจอร์จ วอชิงตัน 

 

ถัดเข้ามาเป็นห้องรับแขก ห้องนี้จะมีภาพเขียนประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2332-2340 (ค.ศ. 1789-1797) ซึ่งภาพนี้ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ ถวายพระปิ่นเกล้า สะท้อนความสัมพันธ์ไทย-อเมริกา โดยคนที่ถวายเป็นคนยุคสมัยหลังประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตันแล้ว เมื่อครั้งมีการทำสนธิสัญญาสยาม-อเมริกา พ.ศ. 2399 

 

พระปิ่นเกล้าท่านทรงโปรดจอร์จ วอชิงตัน จึงนำมาตั้งพระนามพระราชโอรสองค์โต ซึ่งต่อมาก็คือกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าในรัชกาลที่ 5 สำหรับห้องรับแขกห้องนี้เป็นห้องที่พระปิ่นเกล้าสวรรคต เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 (ค.ศ. 1865)

 

ภาพ: ห้องเสวย

 

ห้องตรงกลางตำหนักชั้นบนคือห้องเสวย เป็นห้องที่เซอร์จอห์น เบาว์ริง เคยมาเข้าเฝ้าพระปิ่นเกล้าที่ห้องนี้ แล้วเขียนบันทึกว่า ห้องนี้ใช้ ‘พัดชัก’ เป็นผ้าขนาดใหญ่มาก โบกเพื่อให้ลมเข้าทั้งห้อง ดังนั้นโคมระย้า (Chandelier) ที่เราเห็นในปัจจุบัน เดิมไม่ได้อยู่ห้องนี้ และจากหลักฐานภาพเก่า โคมระย้านี้เคยอยู่ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยมาก่อน

 

ภาพ: ห้องเสวย

 

ภาพ: ห้องแต่งพระองค์

 

ส่วนห้องริมสุดด้านทิศใต้ เป็นห้องแต่งพระองค์ รวมถึงบนตำหนักนี้ก็มีห้องสรงน้ำ (อาบน้ำ) และห้องน้ำเดิมอยู่ด้วยด้านนอกฝั่งทิศใต้ของอาคาร

 

ถัดเข้ามาจึงเป็นห้องบรรทม และเนื่องจากฤดูร้อนลมจะมาจากทางทิศใต้ ห้องแต่งพระองค์จะเป็นห้องที่เย็นสบายที่สุด พระองค์ท่านเคยโปรดให้ตั้งเตียงเล็กที่ห้องแต่งพระองค์เป็นห้องบรรทมด้วย 

 

ภาพ: ห้องบรรทม 

 

ส่วนด้านหน้าของชั้น 2 มีบริเวณที่เชื่อว่าเป็นจุดให้ทหารยืนยามเป็นมุขด้านหน้า

 

ภาพ: มุขด้านหน้า

 

พระปิ่นเกล้าปรับผังวังหน้าครั้งใหญ่

 

‘วสันตพิมาน วายุสถานอมเรศ พรหมเมศธาดา อิศราวินิจฉัย พุทไธสวรรย์ รังสรรค์จุฬาโลก ศิวโมกขพิมาน’ คือชื่อของพระที่นั่งที่สร้างก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งทั้งหมดจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ที่ประทับพระปิ่นเกล้า สร้างโดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก คือหันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วหันหลังไปทิศตะวันออก แตกต่างจากพระที่นั่งอื่นๆ ที่สร้างยุคก่อนหน้านั้นจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกทั้งหมด ซึ่งก็คือสนามหลวงในปัจจุบัน 

 

รวมถึงตำหนักต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระปิ่นเกล้าทั้งหมดจะหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเช่นกัน พระองค์ท่านได้เปลี่ยนผังของวัง และเปลี่ยนตำแหน่งทางเสด็จ จากเดิมหน้าวังจะหันไปทางทิศตะวันออก กลายเป็นหน้าวังหันไปทางทิศตะวันตกคือแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยของพระปิ่นเกล้า

 

พระปิ่นเกล้าโปรดให้ทำถนนใหม่ จากด้านหน้าพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ตรงไปทางริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อออกนอกวังด้วย ปัจจุบันเส้นทางถนนเส้นนี้คือที่ตั้งของอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ที่แสดงโบราณวัตถุสมัยรัตนโกสินทร์

 

ภาพ: พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า เมื่อพระปิ่นเกล้าได้รับบวรราชาภิเษกเป็นวังหน้าแล้ว ก่อนที่จะมีการสร้างพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระองค์ต้องประทับในพระที่นั่งวสันตพิมานก่อน ในระหว่างสร้างที่ประทับอื่นๆ เพื่อจะเป็นที่ประทับใหม่ 

 

โดยพระราชมณเฑียรหรือหมู่พระวิมาน ประกอบด้วย พระที่นั่งวสันตพิมาน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา ซึ่งเอกสารส่วนใหญ่จะบอกว่า ที่ประทับหลักของกรมพระราชวังบวรคือพระที่นั่งวสันตพิมาน อยู่ทางด้านทิศใต้ เนื่องจากลมมาจากทิศใต้ ห้องนั้นจึงเป็นห้องที่เย็นสบายมากกว่าพระที่นั่งอื่น

 

เดิมจุดที่เป็นพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่ประทับพระปิ่นเกล้า ตำแหน่งตรงนี้เคยเป็นเก๋งจีนมาก่อน หลังจากพระปิ่นเกล้าประทับเก๋งจีนไประยะหนึ่งก็ประชวรบ่อย กระทั่งซินแสจีนมาดูแล้วบอกว่า เก๋งจีนสร้างผิดฮวงจุ้ย พระปิ่นเกล้าจึงโปรดให้ย้ายออกไปที่นอกวัง ไปไว้แถวๆ ถนนเจ้าฟ้า พอสมัยรัชกาลที่ 5 เก๋งจีนถูกย้ายไปพระราชวังดุสิต เพื่อเป็นที่ประทับเจ้านายวังหน้า

 

ส่วนเก๋งจีนที่เห็นในปัจจุบัน ด้านหลังอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ เป็นคนละหลังกับเก๋งจีนที่ประทับของพระปิ่นเกล้า โดยเก๋งจีนที่เราเห็นนี้ (เก๋งนุกิจราชบริหาร) สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เช่นกัน แต่ถือว่าเป็นริมรั้วกำแพงของอีกโซนหนึ่ง เดิมตรงนั้นจะมีพระที่นั่งอีกหลังคือพระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส

 

ทั้งนี้ สันนิษฐานกันว่า การที่ซินแสจีนสามารถมาดูสถานที่ในวัง แสดงว่าสมัยนั้นซินแสมีบทบาทค่อนข้างเยอะ น่าจะสัมพันธ์กับเจ้าคุณจอมมารดาเอม พระสนมเอก ผู้มีเชื้อสายจีนเป็นธิดาของเจ้าสัวจีนโดยตรงด้วย 

 

ภาพ: ชั้นล่างพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

 

ชั้นล่างของพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

 

ยุทธนาวรากรเล่าว่า ส่วนการจัดแสดงพื้นที่ชั้นล่างของพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ แม้จะเป็นพื้นที่ที่พระองค์ไม่ได้ประทับ แต่ได้จัดแสดงโบราณวัตถุ ที่สะท้อนพระราชกรณียกิจของพระปิ่นเกล้าซึ่งมีความหลากหลาย ทั้งทางด้านดนตรี ด้านศิลปวัฒนธรรม โดยโถงชั้นล่างแสดงเครื่องเป่าแคน เป็นความนิยมวัฒนธรรมลาว ท่านสามารถแอ่วลาว หรือร้องหมอลำได้ด้วย 

 

นอกจากนี้ มีหลักฐานว่าพระองค์ท่านโปรดงานเครื่องดนตรีปี่พาทย์ โดยระนาดจากเดิมมีเพียงไม้ ท่านมีดำริให้นำงานโลหะมาใช้ในงานวงดนตรีปี่พาทย์ จึงเกิดระนาดเอกเหล็กในช่วงถัดมา และมีหลักฐานว่าพระองค์ท่านโปรดเรื่องกลไกนาฬิกา ว่ากันว่าท่านซ่อมนาฬิกาได้ด้วย

 

ศิลปะไทย จีน ตะวันตก ในวังหน้าสมัยพระปิ่นเกล้า

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า ศิลปะในวังหน้าสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแบบไทยจะเป็นหมู่พระวิมานที่มีแต่เดิม ส่วนอิศเรศราชานุสรณ์คือแบบฝรั่ง และส่วนจีนคือพระที่นั่งบวรบริวัติที่เป็นเก๋งจีน แต่ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้ว พอจะมีภาพถ่ายเก่าให้เห็นอยู่บ้าง

 

หมู่พระวิมาน ใกล้พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ 

 

หากอยู่บนพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ แล้วมองมาทางซ้ายจะเห็นหมู่พระวิมาน เป็นพระที่นั่งที่สร้างในสมัยวังหน้ารัชกาลที่ 1 โดยผืนล่างคือ พระที่นั่งบูรพาภิมุข ผืนสูงคือ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา 

 

อย่างไรก็ตาม ในวังหน้ามีอาคารอื่นๆ อีกหลายหลังในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่ไม่ได้อยู่ในแผนที่ที่ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เราจึงเห็นเพียงแต่ผังตั้งแต่ พ.ศ. 2430 เป็นต้นมา

 

ฝังอาถรรพ์ พิธีที่มีทุกยุคสมัย 

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า หน้าบันของพระที่นั่งต่างๆ ที่มีรูปเทวดา จะมียันต์แปะไว้อยู่ เข้าใจว่าเป็นการแก้ฮวงจุ้ย สะท้อนว่าน่าจะมีความเชื่ออะไรที่เปลี่ยนไปตามแต่ละสมัยพอสมควร แต่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะตามธรรมเนียมเดิมการที่วังหน้าแต่ละพระองค์จะมาครองวังก็จะมีพิธีการหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือ ‘ฝังอาถรรพ์’ เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งในการล้างสิ่งไม่ดีในพื้นที่ทั้งหมดก่อน แล้วฝังของใหม่ เป็นการกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์เพื่อขจัดสิ่งไม่ดีออก ล้างสิ่งเก่าแล้วกำหนดสิ่งใหม่เข้าไปแทน พิธีลักษณะนี้ไม่ได้มีแต่เพียงในภาคกลาง เพราะในภาคอีสานก็มีการฝังสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีเข้ามาเช่นกัน

 

พิธีที่มีจุดประสงค์แบบนี้เชื่อว่ามีทุกยุคสมัย แต่ช่วงที่มีเอกสารบันทึกคือสมัยพระปิ่นเกล้า ก่อนที่พระองค์ท่านจะมาครองวังหน้า มีการบันทึกว่าให้มีพิธีฝังอาถรรพ์ตอนไหน แล้วเสด็จมาเมื่อไร เป็นเอกสารจากตำนานวังหน้า โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นเอกสารที่ใช้จนถึงทุกวันนี้ 

 

ย้อนชมอาคารที่สร้างในสมัยวังหน้าพระองค์แรกในรัชกาลที่ 1 

 

ยุทธนาวรากรกล่าวถึงโบราณสถานที่สร้างขึ้นตั้งแต่วังหน้าพระองค์แรกในสมัยรัชกาลที่ 1 ว่าปัจจุบันพระที่นั่งยังได้รับการดูแลรักษาหลายจุด โดยโบราณสถานสำคัญ เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ เป็นพระที่นั่งที่เห็นได้ชัดเมื่อเดินเข้ามาในพิพิธภัณฑ์แล้วมองไปทางขวา 

 

นอกจากนั้นยังมีอาคารเก่าแก่ซึ่งสร้างในสมัยวังหน้ารัชกาลที่ 1 ปัจจุบันอยู่กลางพิพิธภัณฑ์ คือพระราชมณเฑียรหรือหมู่พระวิมาน ประกอบด้วย 

 

พระที่นั่งวสันตพิมาน

พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ 

พระที่นั่งพรหมเมศธาดา

พระที่นั่งบูรพาภิมุข

พระที่นั่งทักษิณาภิมุข

พระที่นั่งอุตราภิมุข

พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข

พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร 

พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข

มุขเด็จด้านตะวันออก

มุขเด็จด้านตะวันตก 

 

ต่อมาวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 3 สร้างท้องพระโรงด้านหน้าหมู่พระวิมาน ชื่อพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย จะมีส่วนที่เรียกว่า ‘มุขกระสัน’ ซึ่งเดิมก็คือมุขเด็จด้านตะวันออก เป็นส่วนเชื่อมพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยกับหมู่พระวิมาน

 

ภาพ: พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย

 

หากเราเดินชมมาทางด้านหลังของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ก็จะพบพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เมื่อเดินเข้าไปชมในตัวอาคารก็จะสามารถเดินเข้าไปยังพระที่นั่งต่างๆ ในหมู่พระวิมานได้

 

สำหรับพระที่นั่งหลังใหญ่ที่จะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเดินเข้ามาในพิพิธภัณฑ์แล้วมองไปด้านซ้าย คือพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน อาคารปัจจุบันที่เราเห็นเป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในสมัยวังหน้ารัชกาลที่ 3 โดยรื้อพระที่นั่งหลังเก่าแล้วสร้างพระที่นั่งหลังนี้ มีการขยายให้ใหญ่ขึ้น แต่สร้างในตำแหน่งที่ตั้งเดิมของพระที่นั่งที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยวังหน้าพระองค์แรกในรัชกาลที่ 1 

 

พื้นที่วังหน้าฝ่ายใน (ผู้หญิง) คือที่ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า การใช้พื้นที่ของวังจะแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ประกอบด้วย พระราชฐานชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน

 

พระราชฐานชั้นนอก จะเป็นที่ทำการของข้าราชการผู้ชาย เป็นที่ตั้งโรงทหารต่างๆ เช่น โรงช้าง โรงม้า โรงปืน ลานกว้างที่ฝึกทหารกำลังรบฝ่ายวังหน้า 

 

พระราชฐานชั้นกลาง เป็นพระที่นั่งท้องพระโรง โถงที่ขุนนางเข้าเฝ้า 

 

พระราชฐานชั้นใน เป็นเขตที่อยู่ของเจ้านายสตรี ข้าราชบริพารผู้หญิง ข้าราชสำนักผู้หญิง รวมถึงเด็กผู้ชายที่ยังไม่โกนจุกก็สามารถเข้าไปได้ และหากมีผู้ชายที่ไม่ใช่เด็กจะเข้าไปเขตฝ่ายใน เช่น แพทย์หลวง พราหมณ์ ต้องมีพนักงานโขลนกำกับไปด้วยจนกว่าจะเสร็จกิจ 

 

ยุทธนาวรากรกล่าวต่อไปว่า ส่วนที่เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในปัจจุบัน เคยเป็นพื้นที่ชั้นใน (ผู้หญิง-ฝ่ายใน) ของวังหน้า โดยชั้นกลางกับชั้นในของวังจะมีความคาบเกี่ยวกัน เช่น ข้างๆ พระที่นั่งศิวโมกขพิมานฝั่งหน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน บริเวณนั้นก็ถือเป็นพื้นที่ฝ่ายในแล้ว แม้พระที่นั่งศิวโมกขพิมานจะนับว่าเป็นเขตชั้นกลาง 

 

ทางเสด็จจากพระที่นั่งศิวโมกขพิมานไปแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมจะมี ‘ฉนวน’ ตามธรรมเนียมเดิมจะมีฉนวนคือทางเดินที่มีผนัง 2 ข้าง เพื่อป้องกันอันตรายให้ตัวเจ้านาย จากพระที่นั่งศิวโมกขพิมานไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นตำหนักน้ำ โดยตำแหน่งตำหนักน้ำของวังหน้ารัชกาลที่ 1 ที่ใช้เสด็จเข้าออกทางน้ำ เป็นตำแหน่งเดียวกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน เป็นท่าน้ำใช้เสด็จขึ้นลงสมัยวังหน้ารัชกาล 1 เรียกว่าตำหนักแพ พระตำหนักน้ำ

 

ต่อมาสมัยพระปิ่นเกล้า วังหน้ารัชกาลที่ 4 พระองค์ย้ายตำหนักน้ำขึ้นไปอยู่ทางทิศเหนือ เป็นทางเสด็จเข้าออกฝั่งแม่น้ำอยู่ในตำแหน่งทางตรงเข้าไปยังหน้าพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ โดยตำหนักน้ำ ตำแหน่งปัจจุบันจะตรงกับบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำระหว่างอาคารวิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา กับอาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี (อาคารอเนกประสงค์ 2) บริเวณนั้นเป็นพระตำหนักน้ำของพระปิ่นเกล้า วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 4 

 

ทำไมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จึงไม่มีที่ดินติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา

 

ยุทธนาวรากรตอบคำถามถึงเหตุที่พิพิธภัณฑ์ไม่ได้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาว่า แต่เดิมพิพิธภัณฑ์เริ่มจากการได้รับพระราชทานพื้นที่จากในหลวงรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ. 2430 พระองค์ท่านพระราชทานอาคาร 3 หลังให้เป็นหอเป็นพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เป็น 2 อาคารใหญ่สุดด้านหน้า และอีก 1 อาคารคือ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ที่เป็นท้องพระโรงเดิม 

 

ส่วนในหมู่พระวิมานซึ่งอยู่ถัดมาด้านหลังยังไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ เพราะยังมีเจ้านายฝ่ายในประทับอยู่จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 

 

ในตอนแรกเริ่ม แม้มีหอพิพิธภัณฑ์ 3 หลัง แต่ที่จัดแสดงจริงๆ มี 2 หลังคือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ กับพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ส่วนพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย น่าจะเป็นคลังมากกว่าเป็นห้องจัดแสดงในช่วงแรก ดังนั้นเฉพาะอาคาร 3 หลังนี้ที่อยู่ในความดูแลของพิพิธภัณฑ์นับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 

 

สำหรับพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ อดีตที่ประทับของพระปิ่นเกล้า วังหน้าในรัชกาลที่ 4 เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังไม่ได้เป็นพื้นที่พิพิธภัณฑ์ในขณะนั้น เพราะยังเป็นเขตที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน โดยมีพระธิดาประทับอยู่

 

เมื่อตำแหน่งวังหน้าที่เป็นบุคคลถูกยกเลิก จึงเหลือแต่เพียงตำแหน่งของสถานที่ที่เคยเป็นวังหน้า ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้านายฝ่ายใน (ผู้หญิง) ประทับในพระราชมณเฑียรหรือหมู่พระวิมานได้ ซึ่งก็คือพื้นที่วังหน้าชั้นกลาง ปัจจุบันคือกลุ่มอาคารตรงกลางของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 

ส่วนกำแพงวัง (แนวตึกโดมในปัจจุบัน) ถัดไปคือถนนรอบพระนครชั้นในกำแพง และกำแพงเมือง (ที่ริมน้ำในธรรมศาสตร์ปัจจุบัน) เดิมก็เป็นพื้นที่ด้านหลังของหมู่พระวิมานอยู่แล้ว แม้แต่แนวตึกโดมก็ไม่ใช่พระราชฐานชั้นกลางหรือชั้นในของวัง แต่เป็นกำแพงวัง เนื่องจากวังไม่ใช่สถานที่เปิดที่จะเห็นวิวแม่น้ำได้ เช่นเดียวกันกับวังหลวงก็จะไม่เห็นวิวแม่น้ำ มีกำแพงวังและกำแพงเมืองกั้น 2 ชั้นเช่นกัน

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า นับแต่มีการแบ่งพื้นที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา การใช้งานแต่ละช่วงเวลามีการทยอยปรับเปลี่ยนการใช้งานแตกต่างกันไป โดยมีทหารเข้ามาดูแลบางช่วง ดังนั้นสาเหตุที่พื้นที่พิพิธภัณฑ์ไม่ได้ที่ดินติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เพราะว่าเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นในของวังหน้า ไม่ได้ติดริมแม่น้ำตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ปัจจุบันพื้นที่ติดริมแม่น้ำจึงเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่มีส่วนพื้นที่ที่เป็นของพิพิธภัณฑ์ 

 

รัชกาลที่ 5 โปรดให้แบ่งพื้นที่วังหน้าฝ่ายในให้เป็นพื้นที่ทหาร ก่อนจะเป็นธรรมศาสตร์

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตำแหน่งวังหน้ามีจนถึง พ.ศ. 2428 วังหน้าพระองค์สุดท้ายคือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เมื่อทิวงคต สิ้นวังหน้าองค์สุดท้ายแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และเปลี่ยนเป็นตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารซึ่งมีมาถึงปัจจุบัน 

 

ส่วนเหตุที่ใช้คำว่า ‘ทิวงคต’ สำหรับวังหน้าพระองค์สุดท้าย ไม่ได้ใช้คำว่าสวรรคตอย่างวังหน้าพระองค์ก่อนหน้า เนื่องจากมิได้เป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์วังหลวง จึงมีพระราชอิสริยยศไม่เท่ากับวังหน้าพระองค์ก่อนๆ 

 

ในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดให้แบ่งพื้นที่ฝ่ายใน (ผู้หญิง) เดิม รวมถึงแนวกำแพงวังแนวกำแพงเมืองเดิม ทั้งหมดแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนหนึ่งอยู่ริมน้ำ ปัจจุบันคือบริเวณตึกโดม รวมถึงบริเวณหน้าคณะรัฐศาสตร์ 

 

อีกตอนหนึ่งปัจจุบันคือบริเวณสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และคณะต่างๆ ที่ตั้งอยู่รอบๆ สนามฟุตบอลในปัจจุบัน

 

ดังนั้น หากย้อนไปสมัยวังหน้ารัชกาลที่ 1 พื้นที่ที่เจ้านาย ข้าราชบริพาร ข้าราชสำนัก ที่เป็นผู้หญิงในวังหน้าเคยอาศัยอยู่ ปัจจุบันก็คือสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะต่างๆ รอบสนามฟุตบอล แต่หากพ้นตึกโดมไปแล้วก็เป็นนอกวัง เพราะตึกโดมสร้างบนแนวเดิมของกำแพงวัง ถัดออกไปจะเป็นถนน และถัดออกไปจะเป็นกำแพงเมือง จากนั้นจึงเป็นพื้นที่ริมแม่น้ำ ซึ่งจัดว่าอยู่นอกกำแพงเมือง สมัยนั้นเป็นที่ตั้งของโรงเรือและบ้านคน 

 

อย่างไรก็ตาม ที่ริมน้ำจะมีอีกส่วนที่เป็นของวังคือ อุโมงค์ เป็นคำเรียกทางเดินซึ่งทำด้วยปูน มีหลังคาคลุม เป็นทางเดินจากฝ่ายในไปถึงแม่น้ำ ผู้หญิงชาววัง ข้าราชสำนักผู้หญิงจะเดินไปเข้าห้องน้ำ ‘สรีสำราญ’ ริมแม่น้ำ แต่ไม่รวมถึงผู้หญิงที่เป็นเจ้านาย เพราะห้องน้ำ (ห้องลงพระบังคน) ของเจ้านายผู้หญิงจะใช้พื้นที่ในตำหนักไม่ต้องเดินไปอุโมงค์ เช่นเดียวกับเจ้านายผู้ชายก็จะมีห้องสรงน้ำ (อาบน้ำ) และห้องน้ำ (ห้องลงพระบังคน) ในตำหนักเช่นกัน

 

สำหรับอุโมงค์ของฝ่ายในวังหน้า จะอยู่ริมน้ำไปทางทิศใต้แต่ไม่ถึงท่าพระจันทร์ การไปอุโมงค์ไม่ได้รวมถึงการไปอาบน้ำ เพราะหากอาบน้ำคาดว่าน่าจะใช้พื้นที่ในวัง เนื่องจากในวังจะมีการขุดร่องน้ำให้เป็นทางน้ำเข้ามา เป็นระบบชลประทานของวังใช้ในการอุปโภค จึงเชื่อว่าผู้หญิงชาววังอาบน้ำข้างในวัง เว้นแต่เพียงการใช้สุขาจึงจะเดินไปที่อุโมงค์ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ 

 

ยุทธนาวรากรกล่าวถึงท่าพระจันทร์ว่า เป็นท่าน้ำแต่โบราณ ส่วนท่าน้ำที่ปัจจุบันหายไปคือท่าช้างวังหน้า ซึ่งตามแผนที่จะอยู่แถวๆ ถนนพระอาทิตย์ในปัจจุบัน ถัดจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่ไม่ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เดิมที่ตรงนั้นมีตำแหน่งที่ช้างของวังหน้าต้องลงอาบน้ำ ซึ่งยังคงเห็นได้จากแผนที่

 

ภาพ: แผนที่ระบุถึงศาลเจ้า

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า จุดที่เป็นศาลสิงห์โตทองหน้าคณะรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน เดิมตำแหน่งในผังก็คือศาลเจ้าที่มีมาแต่เดิม ในแผนที่ที่ทำขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 ระบุเป็นศาลเจ้าอยู่ก่อนเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว แต่ในศาลเจ้าจะมีรูปเคารพอะไรอีกบ้างเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรืออาจมีสิงโตแต่แรกอยู่แล้วก็เป็นไปได้

 

อย่างไรก็ตาม พื้นที่บริเวณนี้มีคนอยู่อาศัยตั้งแต่โบราณ จึงต้องมีศาลอยู่แล้ว โดยเฉพาะจุดที่เป็นปากคลองมักจะเป็นย่านสำคัญที่คนสัญจรเยอะ ฉะนั้น นอกจากมีวัดสำคัญในแต่ละย่านแล้ว ศาลเจ้าเองก็ต้องมี เนื่องจากเป็นจุดตัดสัญจรก็จะมีอุบัติเหตุบ่อยๆ 

 

ยุทธนาวรากรกล่าวถึงทางสามแพร่งจากคลองบางกอกน้อยว่า ทางสามแพร่งที่เล็งตรงมาทางศาลสิงห์โตทองหน้าคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นการเล็งมาแนวเดียวกันถึงหมู่พระวิมาน จุดนี้ต้องทำความเข้าใจว่า ในสมัยก่อนจากริมน้ำไปถึงวัง จะไม่ใช่พื้นที่โล่ง แต่มีกำแพงเมือง ถนน และกำแพงวัง(แนวตึกโดมปัจจุบัน) ส่วนที่เป็นที่ดินริมน้ำและศาลเจ้าซึ่งอยู่ตำแหน่งเดียวกับศาลสิงห์โตทองปัจจุบัน ก็เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกกำแพงวังและนอกกำแพงเมือง

 

ภาพ: แผนที่ พ.ศ. 2461

 

การปรับพื้นที่วังหน้า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า เมื่อยกเลิกตำแหน่งวังหน้า ตามเอกสารตำนานวังหน้าระบุว่า ที่ริมน้ำด้านตะวันตกมีการรื้อสถานที่ของเดิม แล้วสร้างโรงทหารราบ 11 ต่อมาเป็น ร พัน 4 (ตึกโดมในปัจจุบัน)

 

ส่วนข้างในพระราชวังบวรสถานมงคลมีคนอยู่ลดลง เจ้านายเหลือจำนวนน้อยองค์ ตำหนักข้างในร้างว่างเปล่า จึงโปรดให้กันตำหนักด้านใต้ออก จัดให้เป็นคลังแสงสรรพาวุธ (สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์และคณะที่ตั้งรอบๆ)

 

ทำประตูขึ้นใหม่ตรงมุมถนนพระจันทร์ แล้วรื้อเขื่อนเพชรเดิม ก่อเป็นกำแพงใบเสมาเหมือนกำแพงเดิมต่อไปด้านตะวันออก จนจรดรั้วเหล็กพิพิธภัณฑ์ 

 

หมายความว่าในช่วงรัชกาลที่ 5 เมื่อยกเลิกตำแหน่งวังหน้าแล้ว ก็เริ่มมีการทุบกำแพงวังชั้นนอก ปัจจุบันคือสนามหลวง และมีการขยายถนนหน้าพระธาตุ ตัดถนนจากหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ต่อเนื่องกันมายาวแล้วสร้างแนวรั้วหน้าพิพิธภัณฑ์

 

รัชกาลที่ 6 โปรดให้เจ้านายฝ่ายในวังหน้าย้ายไปประทับในวังหลวง 

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 เจ้านายวังหน้าเหลือน้อยลงเพราะสิ้นพระชนม์เป็นส่วนใหญ่ ในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงเชิญเจ้านายวังหน้าฝ่ายในที่ยังประทับอยู่ในพระราชมณเฑียรหรือหมู่พระวิมาน ไปประทับที่วังหลวงพร้อมกับอัญเชิญพระอัฐิต่างๆ ไปด้วย 

 

ขณะเดียวกันได้มอบให้ทหารดูแลพื้นที่หมู่พระวิมานและวังหน้าฝ่ายใน (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปัจจุบัน) ถึงช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นความต่อเนื่องจากที่ก่อนหน้านั้นคือตั้งแต่ พ.ศ. 2436 ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการซ่อมพระตำหนักใหญ่น้อยในวังหน้าเป็นที่เก็บอาวุธ

 

รัชกาลที่ 7 พระราชทานพระราชมณเฑียรให้พิพิธภัณฑ์ดูแลทั้งหมด

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า ต่อมา พ.ศ. 2469 สมัยในหลวงรัชกาลที่ 7 พระองค์ได้พระราชทานพระราชมณเฑียรหรือหมู่พระวิมานในวังหน้า ให้พิพิธภัณฑ์ดูแลทั้งหมด รวมถึงพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ หรือก็คือขอบเขตของพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน แต่หากย้อนไปต้นเค้าของความเป็นพิพิธภัณฑ์ในสยามได้เริ่มมีมาก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเกิดจากวัตถุสะสมของในหลวงรัชกาลที่ 4 เป็นของสะสมส่วนพระองค์ อยู่ในวังหลวงหรือพระบรมมหาราชวัง ยังไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ในความหมายที่เปิดให้สาธารณชนเข้าชม 

 

จุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เปิดให้ประชาชนเข้าชม แต่ตอนแรกเปิดที่หอคองคอเดีย (ศาลาสหทัยสมาคมในปัจจุบัน) ในวังหลวง เมื่อยกเลิกตำแหน่งวังหน้าแล้ว จึงย้ายมาวังหน้า เริ่มจากอาคารพระที่นั่ง 3 หลัง และมีการปรับเปลี่ยนแต่ละรัชสมัย กระทั่งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน

 

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง 

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า ใน พ.ศ. 2477 มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ได้ใช้พื้นที่แปลงแรกในการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คือแปลงที่เป็นตึกโดมและริมน้ำ จากเดิมเคยเป็นพื้นที่ทหารตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้นำอาคารตึกของทหารมาแปลงเป็นตึกโดม

 

ภาพ: แผนที่ที่ดินแปลงแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2479 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซื้อที่ดินแปลงที่ 2 ซึ่งก็คือด้านหลังตึกโดม มาถึงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน โดยมีพระราชบัญญัติการโอนกรรมสิทธิ์ และมีแผนที่แนบพระราชบัญญัติด้วย

 

ภาพ: แผนที่ที่ดินแปลงที่ 2 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ที่ตั้งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดิมเป็นอีกหนึ่งตำหนักสำคัญ

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า ที่ตั้งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากย้อนไปในสมัยวังหน้ารัชกาลที่ 1 จากแผนที่ที่ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จะเห็นว่าเป็นพระที่นั่งที่มีน้ำล้อมรอบ ชื่อพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ ต่อมาในสมัยวังหน้ารัชกาลที่ 3 เปลี่ยนชื่อเป็นพระที่นั่งรังสรรค์จุฬาโลก โดยบริเวณนี้ยังมีสระน้ำอย่างเดิมและมีเก๋งจีนด้วย 

 

ในสมัยวังหน้ารัชกาลที่ 1 เคยมีเหตุการณ์กบฏ 2 คนเข้ามาในวังหน้า แล้วมีการฆ่ากันตายบริเวณนี้ (คณะนิติศาสตร์ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ระหว่างโปรดให้ก่อสร้างปราสาท หมายถึงอาคารที่มีเครื่องยอด แสดงถึงความมีฐานานุศักดิ์สูง มีการซ้อนชั้น

 

เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏจึงเป็นเหตุให้วังหน้ารัชกาลที่ 1 ยุติการสร้างปราสาท โดยมีพระดำรัสหลังเหตุการณ์กบฏเข้ามาในวังว่า การสร้างปราสาทอาจสูงกว่าฐานานุศักดิ์ของพระองค์ จึงโปรดให้นำส่วนยอดปราสาทที่สร้างแล้วไปถวายวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร 

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อแบ่งเขตให้ทหารดูแล ตำแหน่งที่เคยเป็นพระที่นั่งรังสรรค์จุฬาโลกจึงจัดอยู่ในเขตของคลังแสง ก่อนจะมาเป็นคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปัจจุบัน

 

ขณะเดียวกัน จากแผนที่สมัยรัชกาลที่ 5 ตำหนักของเจ้าฟ้าพิกุลทองก็อยู่บริเวณสนามฟุตบอลหน้าคณะนิติศาสตร์ หรือหน้าพระที่นั่งรังสรรค์จุฬาโลกเช่นกัน โดยตำหนักของเจ้าฟ้าพิกุลทองเป็นส่วนหนึ่งของเขตฝ่ายใน

 

ปราสาทที่มีเครื่องยอด บ่งบอกฐานานุศักดิ์ ชั้นยศ

 

ยุทธนาวรากรกล่าวด้วยว่า สำหรับศิลปะในแต่ละรัชสมัยจะมีความแตกต่างกัน ศิลปะในวังหน้ากับวังหลวงก็แตกต่างกันตามชั้นยศ สามารถดูได้จากตัวศิลปกรรม นอกจากจะบอกยุคสมัยแล้ว ยังสามารถบอกได้ด้วยว่าเป็นของวังหน้าหรือของวังหลวง ตามฐานานุศักดิ์ ชั้นยศ

 

สำหรับปราสาทที่เคยมีในวังหน้า เคยมีปราสาทเพียงหลังเดียวคือพระที่นั่งคชกรรมประเวศ เป็นอาคารปราสาทที่มีเครื่องยอด ปรากฏในภาพถ่ายที่เราเห็นในปัจจุบัน 

 

ปราสาทนี้ไม่ได้สร้างโดยพระปิ่นเกล้า วังหน้าในสมัยนั้น เนื่องจากผู้ที่สร้างปราสาทได้ต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้น ผู้โปรดให้สร้างพระที่นั่งคชกรรมประเวศที่ตั้งอยู่หน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์คือในหลวงรัชกาลที่ 4 

 

สำหรับพระที่นั่งคชกรรมประเวศ ต่อมาชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากเป็นไม้ ส่วนตำแหน่งที่เป็นฐานเดิมยังอยู่ที่หน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ขอบฐานล่างยังเป็นของเดิม แต่ปรับขนาดและสัดส่วนให้เล็กลง โดยสร้างบนขอบเดิมและตำแหน่งเดิม

 

สมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดให้รักษาพระที่นั่งคชกรรมประเวศเอาไว้ แต่เนื่องจากเป็นไม้จึงมีอายุของตัวปราสาทที่จะสามารถอยู่ได้ สุดท้ายมีความจำเป็นต้องรื้อลงในราวปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6 

 

วังหน้า 6 พระองค์ใน 5 รัชกาล

 

ยุทธนาวรากรกล่าวถึงบุคคลที่เป็นวังหน้า หรือพระมหาอุปราช ในสมัยรัตนโกสินทร์ ว่ามีทั้งหมด 6 พระองค์ใน 5 รัชกาล โดยสมัยรัชกาลที่ 1 วังหน้าพระองค์แรกคือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้าพระยาเสือ สมเด็จพระอนุชาธิราช (น้องชาย) ในรัชกาลที่ 1 ผู้สร้างวังหน้าแห่งนี้ กระทั่งเป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน

 

เมื่อวังหน้าพระองค์แรกสวรรคต อีก 3 ปีต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 1 ได้ตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นวังหน้าพระองค์ที่ 2 ซึ่งก็คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือในหลวงรัชกาลที่ 2 ในเวลาต่อมา ดังนั้น วังหน้า 2 พระองค์ใน 1 รัชสมัย จึงมีรัชสมัยเดียวคือสมัยรัชกาลที่ 1

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 2 คือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ (เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์) สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 2

 

วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 3 คือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ) พระปิตุลาในรัชกาลที่ 3

 

วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 4 คือ ‘พระปิ่นเกล้า’ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 4 ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 4 โปรดให้เปลี่ยนพระนามจาก ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ เป็นพระนามอย่างพระเจ้าแผ่นดินว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศ มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ทรงเป็นวังหน้าที่มีพระเกียรติสูงกว่าวังหน้าทุกสมัย และเป็นสมัยที่นับว่าสยามมี ‘The Second King’ 

 

วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 5 คือกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในขณะนั้นในหลวงรัชกาลที่ 5 มีพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ หรือ ช่วง บุนนาค) จึงอัญเชิญกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญขึ้นเป็นวังหน้า

 

ดังนั้น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเป็นวังหน้าพระองค์เดียวที่ไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของพระเจ้าแผ่นดิน แต่มาจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และสถาปนาตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารแทนตำแหน่งวังหน้ามาถึงปัจจุบัน 

 

เมื่อยกเลิกตำแหน่งวังหน้าแล้ว ในรัชสมัยนี้เองที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชทานอาคารพระที่นั่ง 3 หลัง ประกอบด้วย พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เป็นจุดเริ่มต้นให้สถานที่แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์

 

วังหน้ากับตำแหน่งรัชทายาท 

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า สำหรับวังหน้าแต่ละรัชสมัย เนื่องจากทางวังหน้าสวรรคตหรือทิวงคตไปก่อนวังหลวง จึงไม่มีปัญหากันระหว่างวังหน้ากับวังหลวงในการตั้งกษัตริย์องค์ใหม่

 

แต่ละรัชสมัยจะมีวังหน้าพระองค์เดียว ยกเว้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่มีวังหน้าพระองค์ที่ 2 แต่ช่วงเวลาก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ 2 จะขึ้นครองราชย์ ขณะดำรงตำแหน่งวังหน้าพระองค์ประทับในพระราชวังเดิม ไม่ได้ประทับที่วังหน้าแห่งนี้ และเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวที่เป็นวังหน้าก่อนขึ้นเป็นกษัตริย์

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อวังหน้าสวรรคตแล้ว ก็มีเจ้านายหลายพระองค์ที่หวังว่าตัวเองจะได้รับการแต่งตั้งเป็นวังหน้า แต่ในหลวงรัชกาลที่ 3 ไม่ได้ตั้งใคร และโปรดให้เพิ่มพระอิสริยยศให้เจ้านายทุกพระองค์ขึ้น เช่น เพิ่มจากกรมหมื่นเป็นกรมหลวง เพื่อยุติปัญหาไม่ต้องมีใครคิดว่าจะได้ขึ้นเป็นวังหน้า 

 

เมื่อถามถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับคำสาปแช่งของวังหน้าพระองค์แรกตอนใกล้สวรรคตว่ามีการบันทึกไว้จริงหรือไม่ ยุทธนาวรากรกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีในพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 4 เล่าถึงวังหน้าพระองค์แรกในรัชกาลที่ 1 หรือวังหน้าพระยาเสือ ตอนประชวรหนักจวนจะสวรรคต ท่านเสด็จขึ้นเสลี่ยง เสด็จรอบพระที่นั่ง โดยบางคนก็เล่ากันว่าท่านรับสั่งบ่นว่า “ของใหญ่ของโตดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าหุ้นอุดหนุนให้แรง กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครที่ไม่ใช่ลูกกู ถ้ามาเปนเจ้าของเข้าครอบครอง ขอผีสางเทวดาจงบันดานอย่าให้มีความศุข”

 

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ภาพ: พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ตอนค่ำ

 

เมื่อถามถึงการขึ้นครองราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ 3-5 แต่ละพระองค์ไม่ได้เป็นวังหน้ามาก่อน 

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า เป็นความรับรู้ร่วมกันว่าตำแหน่งวังหน้าคือตำแหน่งรัชทายาท แต่ในทางปฏิบัติอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะรัชทายาทอาจเป็นพระราชโอรสที่ประสูติจากพระอัครมเหสีก็ได้ หรือเป็นพระราชโอรสที่เหล่าพระบรมวงศ์และเสนาบดีให้การสนับสนุน

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า วังหน้าตั้งแต่ในอดีตจะคัดเลือกจากบุคคลที่มีความสามารถด้านการทหาร โดยเห็นได้ชัดว่าหลายพระองค์มีบทบาทเดิมด้านการทหารมาก่อนเป็นวังหน้า เริ่มตั้งแต่วังหน้ารัชกาลที่ 1 ทำสงครามมามากมาย วังหน้ารัชกาลที่ 2 เป็นพระอนุชาร่วมพระบิดาพระมารดา วังหน้ารัชกาลที่ 3 ควบคุมกำกับด้านกลาโหมมาก่อน วังหน้ารัชกาลที่ 4 คือพระปิ่นเกล้า พระอนุชาของในหลวงรัชกาลที่ 4 เคยรับราชการกำกับทหารปืนใหญ่มาก่อน ทุกพระองค์มีบทบาทมาแต่เดิม

 

ในหลวงรัชกาลที่ 4 ไม่ได้เป็นวังหน้า แต่มีเหตุการณ์คล้ายมีตำแหน่งวังหน้า

 

ยุทธนาวรากรเล่าว่า เมื่อวังหน้าในรัชกาลที่ 3 สวรรคตแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 3 ไม่ได้ตั้งใครเป็นวังหน้าอีก แต่ได้ทรงอาราธนาในหลวงรัชกาลที่ 4 ซึ่งขณะนั้นยังผนวชอยู่ที่วัดราชาธิวาส ให้เสด็จมาจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยในหลวงรัชกาลที่ 3 โปรดให้จัดขบวนแห่เหมือนอย่างแห่เสด็จพระมหาอุปราช ส่วนวัดบวรนิเวศวิหารเป็นวัดที่วังหน้ารัชกาลที่ 3 สร้างเอาไว้

 

นอกจากนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 3 โปรดให้ในหลวงรัชกาลที่ 4 ขณะเป็นพระภิกษุ สามารถเลือกของในวังหน้าไปไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหารได้ตามพระประสงค์ เช่น พระไตรปิฎก ดังนั้น แม้ขณะนั้นรัชกาลที่ 4 ยังทรงผนวช แต่สถานะเป็นที่รับรู้กันว่าพระองค์ท่านคือรัชทายาท

 

ประกอบกับชื่อวัดบวรนิเวศวิหารกับบวรสถานก็เป็นชื่อที่พ้องๆ กัน โดยบวรสถานมงคลก็คือวังหน้า จึงมีการตีความกันตั้งแต่ตอนนั้นว่าท่านจะได้เป็นกษัตริย์องค์ต่อไป 

 

พระปิ่นเกล้า ‘The Second King’ พระองค์เดียวในสมัยรัตนโกสินทร์

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า ช่วงรัชกาลที่ 4 เป็นช่วงที่สถานะวังหน้ามีสถานะพิเศษสูงสุดกว่าช่วงเวลาอื่น พระปิ่นเกล้ารับราชการกำกับทหารปืนใหญ่ตั้งแต่เดิมระหว่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 4 ทรงผนวช ดังนั้น พระปิ่นเกล้าจึงเป็นผู้มีบทบาทด้านการทหารมาก่อน เมื่อพระปิ่นเกล้าเป็นวังหน้า ถือว่าอยู่ในตำแหน่งรัชทายาทแน่นอน เพราะพระปรีชาสามารถพร้อมทุกอย่าง แต่ท่านเสด็จสวรรคตไปก่อน 

 

แม้พระปิ่นเกล้าจะได้รับพระราชทานพระยศเทียบเท่ากับกษัตริย์องค์ที่ 2 แต่ก็ไม่ได้เท่ากับกษัตริย์ทุกอย่าง เช่น เศวตฉัตรของพระองค์ยังเป็นฉัตร 7 ชั้น ไม่ใช่ฉัตร 9 ชั้น ดังนั้น แม้ได้รับการเพิ่มพระยศให้เป็นพิเศษ แต่ยังเป็นรองจากวังหลวง

 

วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นสมัยมีความเปลี่ยนแปลงสูงสุด มีหลักฐานจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

 

เมื่อพระปิ่นเกล้าเสด็จสวรรคต ในหลวงรัชกาลที่ 4 ไม่ได้ตั้งใครเป็นวังหน้า และเป็นที่รับรู้ของต่างชาติว่าในหลวงรัชกาลที่ 5 จะขึ้นเป็นกษัตริย์ เนื่องจากเป็นพระราชโอรสพระองค์โต ซึ่งจะได้รับการสืบราชสมบัติต่อไปอยู่แล้ว 

 

วังหน้าองค์สุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 5 

 

ยุทธนาวรากรเล่าว่า เมื่อรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์ขณะยังทรงพระเยาว์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ หรือ ช่วง บุนนาค) จึงอัญเชิญกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นวังหน้า

 

หากลองนึกภาพย้อนไปในสมัยนั้น มีความน่าสนใจอีกประการคือ จะเห็นได้ว่าเจ้านายวังหลวงอายุจะน้อยกว่าเจ้านายวังหน้า เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 4 ทรงผนวชถึง 27 ปีก่อนขึ้นครองราชย์ แล้วจึงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา ซึ่งประสูติในรัชสมัยของพระองค์

 

ขณะที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสของพระปิ่นเกล้า นับว่าประสูติในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงมีอายุมากกว่าพระราชโอรสและพระราชธิดาของรัชกาลที่ 4 ทั้งหมด ยกเว้นเพียง 2 พระองค์ที่ประสูติก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ 4 จะทรงผนวชถึง 27 ปี

 

เมื่อสิ้นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว วังหน้าพระองค์นี้เป็นพระองค์เดียวที่ใช้คำว่า ทิวงคต ไม่ใช้คำว่า สวรรคต อย่างวังหน้า 5 พระองค์แรก เนื่องจากไม่ได้เป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์วังหลวง จึงมีพระราชอิสริยยศไม่เท่ากับวังหน้าพระองค์ก่อนๆ และไม่มีคำว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้านำหน้าพระนาม แต่ใช้เพียงคำว่า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และในยุคสมัยนี้เองที่เกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า ‘วิกฤตการณ์วังหน้า’

 

ชมโบราณวัตถุและโบราณสถานในวังหน้า

 

ยุทธนาวรากรพาชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยพาไปชมโบราณวัตถุในสมัยที่สยามมีการปรับเปลี่ยน รับอิทธิพลตะวันตก เช่น รถไฟจำลองและลูกโลกจำลอง เป็นเครื่องราชบรรณาการจากสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ มอบให้ตัวแทนนำมาถวายในหลวงรัชกาลที่ 4 ขณะนี้จัดแสดงอยู่ที่อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ โดยในห้องเดียวกันนี้มีพระโธรนองค์แรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วย

 

ภาพ: ลูกโลกและรถไฟจำลองที่อังกฤษถวายในหลวงรัชกาลที่ 4

 

ภาพ: พระโธรนองค์แรกในสมัยรัชกาลที่ 5 

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในหลวงทรงเปลี่ยนธรรมเนียมให้ยืนเข้าเฝ้า จากเดิมหมอบคลานเข้าเฝ้า จึงโปรดให้มีการสร้างพระโธรน โดยพระโธรนองค์แรกนี้สร้างในปี 2416

 

เดินท่องหมู่พระวิมาน พระราชมณเฑียรในสมัยวังหน้ารัชกาลที่ 1 

 

ยุทธนาวรากรพาชมการจัดแสดงโบราณวัตถุภายในพระราชมณเฑียร หรือหมู่พระวิมานที่สร้างขึ้นในสมัยวังหน้าพระองค์แรกในรัชกาลที่ 1 หรือสมัยวังหน้าพระยาเสือ

 

พระพุทธรูปล้านนาในพระที่นั่งพรหมเมศธาดา

ภาพ: พระพุทธรูปล้านนาในพระที่นั่งพรหมเมศธาดา

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า การปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ครั้งล่าสุดตั้งใจสร้างบรรยากาศให้รู้สึกว่าตัวอาคารแต่ละหลังมีการใช้งานในแบบเดิม อย่างพระที่นั่งพรหมเมศธาดาสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นห้องพระ ไม่ได้ใช้เป็นที่ประทับหรือเป็นห้องบรรทม เพราะอยู่ทางทิศเหนือ ห้องนี้ก็จะเป็นห้องที่ร้อนมากโดยเฉพาะในฤดูร้อน เพราะลมจะมาจากทางทิศใต้ ดังนั้น จึงมีหลักฐานว่าพระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นห้องพระ ปัจจุบันพระที่นั่งพรหมเมศธาดาจัดแสดงเครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา 

 

พระที่นั่งพรหมเมศธาดา

ภาพ: พระที่นั่งพรหมเมศธาดา

 

ภาพ: พระเก้าอี้พับ

 

นอกจากนั้น มีการจัดแสดงพระเก้าอี้พับของวังหน้าในรัชกาลที่ 1 หรือวังหน้าพระยาเสือ ในบริเวณที่เรียกว่ามุขกระสันอยู่ในหมู่พระวิมานด้วย

 

พระที่นั่งพรหมพักตร์ วังหน้าพระยาเสือประทับออกว่าราชการฝ่ายใน

ภาพ: พระที่นั่งพรหมพักตร์ วังหน้าพระยาเสือประทับออกว่าราชการฝ่ายใน ให้สตรีมีบรรดาศักดิ์เข้าเฝ้า เดิมอยู่ที่มุขเด็จด้านทิศตะวันตก 

 

ยุทธนาวรากรบรรยายว่า ในพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระที่นั่งพรหมพักตร์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่า วังหน้าในรัชกาลที่ 1 ประทับเมื่อออกว่าราชการฝ่ายใน คือให้ผู้หญิงมีบรรดาศักดิ์เข้าเฝ้าในงานพิธี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระที่นั่งพรหมพักตร์เป็นที่ตั้งพระอัฐิวังหน้า 3 รัชกาลแรก 

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเดิมในสมัยวังหน้ารัชกาลที่ 1 พระที่นั่งพรหมพักตร์ก็น่าจะอยู่ที่มุขเด็จด้านทิศตะวันตก เพราะเป็นที่ประทับเวลาเสด็จออกให้สตรีมีบรรดาศักดิ์เข้าเฝ้าเมื่อออกว่าราชการฝ่ายใน

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า พระวิมาน 3 หลัง ประกอบด้วย พระที่นั่งวสันตพิมาน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ และพระที่นั่งพรหมเมศธาดา แต่ละหลังจะคั่นด้วยสวน และมีมุขตามทิศต่างๆ พระที่นั่งวายุสถานอมเรศอยู่ตรงกลาง ห้องนี้อุ่นสุดในฤดูหนาวเพราะมีอาคารอื่นล้อมหมด ลมหนาวพัดมาไม่ถึง

 

บันไดทางขึ้นพระที่นั่งวสันตพิมาน

ภาพ: บันไดทางขึ้นพระที่นั่งวสันตพิมาน

 

ยุทธนาวรากรบรรยายว่า พระที่นั่งวสันตพิมานเป็นห้องบรรทมของวังหน้าพระยาเสือ และที่ประทับส่วนใหญ่จะเป็นวสันตพิมาน (วสันต์ แปลว่าฤดูฝน) ซึ่งเป็นห้องที่อยู่ทางทิศใต้ เป็นทิศที่ลมพัดเข้ามา เป็นห้องที่วังหน้ารัชกาลที่ 4 และ 5 ทำพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรตั้งแท่นพระบรรทมบนพระที่นั่งนี้

 

พระที่นั่งบูรพาภิมุข

ภาพ: พระที่นั่งบูรพาภิมุข

 

พระที่นั่งบูรพาภิมุข ปัจจุบันเป็นห้องแสดงอาวุธ ห้องนี้เป็นห้องที่วังหน้าพระยาเสือ หรือวังหน้าในรัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต นอกจากนั้น วังหน้าในรัชกาลที่ 3 ก็เสด็จสวรรคตในพระที่นั่งบูรพาพิมุขห้องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

 

ภาพ: กลองโบราณ 3 ใบ

 

ที่พระที่นั่งบูรพาภิมุขยังจัดแสดงกลองโบราณ 3 ใบ จะเห็นว่าหนังกลองใบล่างสุดฉีกขาดแล้ว แต่ไม่สามารถเปลี่ยนหนังกลองหรือซ่อมแซมได้ เพราะเป็นกลองลงยันต์มาแต่โบราณ

 

ภาพ: เตียบเงิน จัดแสดงในพระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข

 

เตียบเงิน จำหลักลายเทพธิดาในกลีบบัว จัดแสดงในพระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข ในหมู่พระวิมาน

 

เมื่อเดินมาที่มุขหน้าพระที่นั่งพรหมเมศธาดาจะได้ชมบานประตูประดับมุก สร้างในสมัยอยุธยา

 

ภาพ: ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ชี้บริเวณที่มีจารึกบนบานประตู

 

ยุทธนาวรากรบรรยายว่า บานประตูนี้เดิมเป็นบานประตูพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างเมื่อปี 2295 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

 

หลังเสียกรุง ประตูบานนี้ยังถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดศาลาปูน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเคยเป็นบานประตูทางเข้าหอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารามระหว่างปี 2474-2556 ปัจจุบันได้รับการดูแลรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ขอบประตูบานนี้มีจารึกถึงประวัติและรายละเอียดการสร้าง 

 

ยุทธนาวรากรกล่าวถึงความหมายจากศิลปะบนบานประตูว่า จะเห็นได้ว่าภาพต่างๆ ที่ปรากฏเป็นการเรียงลำดับตามคติไตรภูมิในพุทธศาสนา 

 

ล่างสุดเป็นส่วนกามภูมิ มีภาพยักษ์กุมภัณฑ์ และสัตว์หิมพานต์ 

 

ถัดขึ้นมาเป็นภาพพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งวิมานฉิมพลีของครุฑอยู่บนยอดต้นงิ้ว

 

เหนือขึ้นไปเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ หมายถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุแกนจักรวาล 

 

จากนั้นส่วนรูปภูมิ แสดงภาพพระพรหมทรงหงส์ หมายถึงโสฬสพรหม รูปพรหมจำนวน 16 ชั้น และบนสุดเป็นส่วนอรูปภูมิ มีภาพบุษบกที่มียันต์เฑาะว์ มีนัยถึงอรูปพรหม พรหมที่ไม่มีรูป 

 

ภาพ: ยุทธนาวรากรชี้ส่วนล่างสุด กามภูมิ

 

ภาพ: ยุทธนาวรากรชี้พระนารายณ์ทรงครุฑ

 

ภาพ: ยุทธนาวรากรชี้พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

 

ภาพ: ยุทธนาวรากรชี้พระพรหมทรงหงส์ 

 

บานประตูนี้จึงมีรูปเทพเจ้าต่างๆ ที่เราคุ้นเคยกันคือ พระพรหม พระอินทร์ และพระนารายณ์ แต่บานประตูนี้ไม่มีรูปพระอิศวร

 

ภาพ: บานประตูประดับมุก สร้างในสมัยอยุธยา

 

เมื่อถามว่า พระมหากษัตริย์ไทยมีความเกี่ยวข้องกับเทพองค์ใด ยุทธนาวรากรกล่าวว่า เดิมเราจะคุ้นเคยกับคติเกี่ยวกับพระนารายณ์หรือพระราม จากพระนามของพระมหากษัตริย์ ‘สมเด็จพระรามาธิบดี’ และชื่อเมืองหลวง ‘อโยธยา-อยุธยา’ แต่ในทางกลับกัน เราจะเห็นได้ว่าการใช้นามของพระอิศวร-พระศิวะก็มี อย่างเช่น สมเด็จพระเอกาทศรถ ที่ถูกต้องควรสะกดเป็น ‘พระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร’ ซึ่งเป็นพระปรมาภิไธยที่จารึกในพระสุพรรณบัฏตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ (ปี 2148-2153) จนถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ปี 2310-2325) โดยคำว่า ‘รุทระ’ ตามศัพท์แปลว่า ‘ผู้ร้อง ผู้คำราม’ เป็นนามหนึ่งของพระศิวะด้วย

 

ยุทธนาวรากรกล่าวต่อด้วยว่า พราหมณ์กรุงเทพฯ จะเป็นไศวนิกาย นับถือพระอิศวรเป็นเทพสูงสุด ส่วนหากเป็นพราหมณ์ไวษณพนิกายจะนับถือพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ เป็นเทพสูงสุด ดังนั้น หากดูจากเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในกรุงเทพฯ ปรากฏว่าสถานพระอิศวร (พระศิวะ) เป็นอาคารขนาดใหญ่สุด ส่วนสถานพระนารายณ์ (พระวิษณุ) มีขนาดเล็กกว่า

 

ยุทธนาวรากรกล่าวด้วยว่า ในพิพิธภัณฑ์มีโบราณวัตถุที่แสดงถึงการนับถือเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์จำนวนมาก แต่โดยหลักๆ จะมี 3 องค์ หากพิจารณาจากศาสนาพราหมณ์ มีพระอิศวร (ไศวนิกาย) พระนารายณ์ (ไวษณพนิกาย) และพระพรหม ที่เรียกกันว่า ‘พระตรีมูรติ’ ต่อมาพระพุทธศาสนารวมเอาพระพรหมและพระอินทร์ ซึ่งไม่มีนิกายเฉพาะ มาเป็นบริวาร คนไทยจึงคุ้นเคยกับเทพทุกองค์

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า กษัตริย์ในประเทศภูมิภาคนี้ เช่น ในเขมร กษัตริย์แต่ละองค์ก็เลือกบูชาเทพแตกต่างกัน บางช่วงเปลี่ยนศาสนาจากพราหมณ์เป็นศาสนาพุทธ หลังฟื้นฟูเมืองจากศึกสงคราม เมื่อแพ้สงครามแล้วก็จะไม่นับถือศาสนาเดิมเพราะแพ้แล้ว ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับเวลาไหนจะใช้ขนบใด

 

สำหรับในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้มีคติใดคติหนึ่งเท่านั้น แต่น่าสังเกตว่ามีการให้ความสำคัญกับพระอินทร์มากเป็นพิเศษ จากชื่อเมือง ‘กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’ กรุงเทพฯ คือเมืองเทวดา โกสินทร์คือพระอินทร์ และรัตนโกสินทร์คือแก้วของพระอินทร์

 

ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ภาพ: ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า งานศิลปะในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ก็จะให้ความสำคัญกับพระอินทร์ค่อนข้างเยอะ รวมถึงฉากลับแล งานช่างสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งวาดเรื่องรามเกียรติ์ตอนที่แปลงกายเป็นพระอินทร์ และจากงานจิตรกรรมหลายๆ จุดปรากฏรูปพระอินทร์ น่าจะสะท้อนว่ากรุงเทพฯ ให้ความสำคัญกับพระอินทร์เป็นพิเศษตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แล้ว 

 

ดังเห็นว่าท้องพระโรงองค์หนึ่งในวังหน้ามีนามว่า ‘ศิวโมกขพิมาน’ ซึ่งแม้จะทำให้คิดว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับพระอิศวร อย่างไรก็ตาม ‘ศิวโมกข์’ แปลว่า ‘พระนิพพาน’

 

ความคล้องจองของชื่อพระที่นั่ง เสมือนสิ่งที่สร้างมาเป็นชุดเดียวกัน 

 

ยุทธนาวรากรกล่าวถึงชื่อพระที่นั่งที่สร้างในสมัยวังหน้ารัชกาลที่ 1 เช่น วสันตพิมาน วายุสถานอมเรศ พรหมเมศธาดา บูรพาภิมุข ทักษิณาภิมุข อุตราภิมุข ปัจฉิมาภิมุข ปฤษฎางคภิมุข ภิมุขมณเฑียร จะเห็นได้ว่าเป็นชื่อที่คล้องจองกันและสัมพันธ์กัน เพราะสร้างในสมัยเดียวกัน 

 

ส่วนมุขเด็จด้านตะวันออกเป็นที่ที่ขุนนางผู้ชายเข้าเฝ้า และมุขเด็จด้านตะวันตกเป็นที่ที่ฝ่ายใน (ผู้หญิง) เข้าเฝ้า 

 

ยุทธนาวรากรกล่าวว่า ในสมัยพระปิ่นเกล้า วังหน้าในรัชกาลที่ 4 ก็มีชื่อที่นั่งที่คล้องจองกัน เช่น มังคลาภิเษก เอกอลงกฎ คชกรรมประเวศ อิศเรศราชานุสรณ์ บวรปริวัตร สาโรชรัตนประพาส นุกิจราชบริหาร ซึ่งปัจจุบันพระที่นั่งที่ยังเข้าชมได้คือพระที่นั่งมังคลาภิเษก พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ และเก๋งนุกิจราชบริหาร

 

ส่วนชื่อพระที่นั่งที่สร้างก่อนสมัยพระปิ่นเกล้า วังหน้ารัชกาลที่ 4 เช่น พระที่นั่งวสันตพิมาน, พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ, พระที่นั่งพรหมเมศธาดา, พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์, พระที่นั่งรังสรรค์จุฬาโลก, พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ทุกพระที่นั่งที่กล่าวมานี้ยังสามารถเข้าชมได้ ยกเว้นเพียงพระที่นั่งรังสรรค์จุฬาโลก ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปแล้ว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising