×

ตำรวจ-อย. จับเครือข่ายผลิตสมุนไพรไทยปลอม 27 ยี่ห้อ พบคนจีนร่วมทุนจ้างคนไทยทำขายหลอกกลุ่มทัวร์จีน

โดย THE STANDARD TEAM
27.05.2023
  • LOADING...
สมุนไพรไทยปลอม

วานนี้ (26 พฤษภาคม) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และคณะ ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการกรณีทลายเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม ตรวจยึดของกลาง 112 รายการ รวมกว่า 90,000 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 4 ล้านบาท

 

พฤติการณ์กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค’ ว่าได้ซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น ยาหม่องผสมเสลดพังพอน ตราสมุนไพรไทยสยาม, ยาหม่องสมุนไพรไทยสยาม ตราเสือสยาม 5 เศียร และยานวดผ่อนคลาย คร๊อกโคไดล์เฮิร์บบาล์ม ตราสมุนไพรไทยสยาม จากพื้นที่เขตห้วยขวาง และพบว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์คนละแบบ แต่มีเลขทะเบียนยาเดียวกัน จึงสงสัยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม หากใช้แล้วเกรงว่าจะได้รับอันตรายต่อร่างกาย

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พบว่ามีการแอบอ้างนำเลขทะเบียนตำรับยาของผลิตภัณฑ์อื่นมาใช้ ซึ่งถือว่าเป็นการปลอมผลิตภัณฑ์ จึงได้สืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิต โกดังเก็บสินค้า และแหล่งจัดจำหน่าย จนนำมาสู่การตรวจค้นในครั้งนี้

 

ต่อมาในวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำหมายค้นเข้าทำการตรวจค้นสถานที่ผลิต โกดังเก็บสินค้า และสถานที่จำหน่าย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปทุมธานี จำนวน 4 จุด ดังนี้

 

  1. สถานที่จำหน่ายย่านซอยเกษมสุข ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ 15 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 และเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่าย จำนวน 36 รายการ รวมกว่า 4,579 ชิ้น

 

  1. สถานที่จำหน่ายย่านซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 6 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 และเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่าย จำนวน 26 รายการ รวมกว่า 12,807 ชิ้น

 

  1. สถานที่ผลิตและโกดังเก็บสินค้า ภายในโรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562, เอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่าย, เครื่องซีลพลาสติก จำนวน 1 เครื่อง, เครื่องบรรจุ จำนวน 1 เครื่อง, ฉลากผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบในการผลิต เช่น ขี้ผึ้ง สารสกัดต่างๆ ที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม จำนวน 14 รายการ รวมกว่า 64,900 ชิ้น

 

  1. สถานที่ผลิตในบ้านพักอาศัยย่านถนนบางบอน แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพฯ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรซึ่งอยู่ระหว่างการผลิตและบรรจุ รวม 4 รายการ จำนวน 853 ชิ้น และอายัดวัตถุดิบในการผลิต เช่น น้ำมันหอมระเหย ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผสมแล้วรอการบรรจุ เครื่องบรรจุ และหม้อต้ม รวมถึงอุปกรณ์ส่วนควบที่ใช้ในการผลิต จำนวน 26 รายการ รวมกว่า 8,652 ชิ้น

 

โดยจากการตรวจค้นทั้ง 4 จุด พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เป็นความผิดรวม 27 ยี่ห้อ ดังนี้

 

  1. ยาหม่องผสมเสลดพังพอน ตราสมุนไพรไทยสยาม (ปลอม)
  2. ยาหม่องผสมเสลดพังพอน ตราหาญตำรับ (ปลอม)
  3. ยาหม่องผสมเสลดพังพอน ตราสมุนไพรบัวทอง (ปลอม)
  4. ยาหม่องสมุนไพรไทยสยาม ตราเสือสยาม 5 เศียร (ปลอม)
  5. ยาหม่องสมุนไพรไทย ตราเสือสยาม 5 ดาว (ปลอม)
  6. ยาหม่องเสือสยาม ตราสมุนไพรบัวทอง (ปลอม)
  7. ยาหม่องเสือสยาม ตราหาญตำรับ (ปลอม)
  8. ยาหม่องเสือสยาม PURE สมุนไพรธรรมชาติ (ปลอม)
  9. ยาหม่องสมุนไพร 100 ปี แซ่วู (ปลอม)
  10. ยาหม่องสมุนไพร รวม 5 ดาว สูตรร้อน (ปลอม)
  11. ยานวดผ่อนคลาย คร๊อกโคไดล์เฮิร์บบาล์ม (ปลอม)
  12. ยาหอมชนะลม ตราเรือใบ (ปลอม)
  13. น้ำมันนวด กฤษณา ทิพย์มาตย์ ไม้หอมไทย
  14. น้ำมันนวด สมุนไพรสยาม ตราหนุมานหาว 5 ดาว (ปลอม)
  15. น้ำมันนวดผา (ปลอม)
  16. น้ำมันนวดสมุนไพร Herb
  17. น้ำมันนวดสมุนไพร ตราสมุนไพรไทยสยาม (ปลอม)
  18. น้ำมันนวดสมุนไพร สมุนไพรธรรมชาติ สกัดจากสมุนไพร 18 ชนิด
  19. น้ำมันนวดสมุนไพร ตราสมุนไพรบัวทอง สกัดจากสมุนไพร 18 ชนิด
  20. น้ำมันนวดสมุนไพร ตราหาญตำรับ สกัดจากสมุนไพร 18 ชนิด
  21. หัวน้ำมันสมุนไพรสกัดเย็น
  22. น้ำมันสมุนไพร ตราสมุนไพรบัวทอง
  23. ขี้ผึ้งสมุนไพรรวม ตราเสือ (ปลอม)
  24. ยานวดผ่อนคลาย คร๊อกโคไดล์เฮิร์บบาล์ม (ปลอม)
  25. ยาสอดกระชับช่องคลอด บริสุทธิ์ (ปลอม)
  26. THONG TIGER Massage Palm ยานวดผ่อนคลาย (ปลอม)
  27. ยาหอมชนะลม ตราเรือใบ (ปลอม)

 

รวมตรวจค้น 4 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม 38 รายการ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 จำนวน 42 รายการ เครื่องจักร รวมถึงอุปกรณ์ส่วนควบที่ใช้ในการผลิตสมุนไพรปลอม และพยานหลักฐานอื่น 32 รายการ รวมทั้งสิ้น 112 รายการ มูลค่าความเสียหายกว่า 4 ล้านบาท

 

จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า เครือข่ายการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอมดังกล่าว มีกลุ่มทุนชาวจีนร่วมลงทุน โดยจ้างให้คนไทยเป็นผู้ผลิตเพื่อขายให้นักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งจะใช้เลขทะเบียนตำรับยาของผลิตภัณฑ์อื่นมาใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ทำปลอมขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคที่ซื้อหลงเชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของแท้

 

โดยจะผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรขึ้นให้มีคุณลักษณะตามที่นิยมในท้องตลาด โดยผสมส่วนผสมต่างๆ เข้าด้วยกัน จากนั้นบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์โดยใช้กำลังคน ซึ่งไม่ได้มาตรฐาน และไม่ผ่านการรับรองจาก อย. จากนั้นส่งสินค้าไปยังร้านค้าที่เจ้าของเป็นคนจีนในพื้นที่เขตห้วยขวางและแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย

 

โดยจะมีมัคคุเทศก์มารับสินค้าไปหลอกลวงขายให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวจะไม่มีการวางจำหน่ายในร้านค้าทั่วไป เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการ และการตรวจพบจากผู้รับอนุญาตเลขทะเบียนยาที่แท้จริง โดยจะขายส่งราคาชิ้นละ 20-30 บาท และมีการขายทำกำไรต่อในราคาหลักร้อยถึงหลักพันบาท โดยเริ่มผลิตและจำหน่ายมาแล้วประมาณ 1 ปี

 

การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562

 

  1. ฐานร่วมกันผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอมตามมาตรา 58 (1) ระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

  1. ฐานร่วมกันผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

  1. ฐานร่วมกันผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ ตามมาตรา 58 (4) ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising