×

ช่องโหว่ใน พ.ร.บ.ภาษีฯ จุดเริ่มต้นของการทำลายธรรมชาติ

โดย Heritage Matters
16.06.2023
  • LOADING...
พ.ร.บ.ภาษี

HIGHLIGHTS

7 min read
  • พื้นที่ ‘ว่างเปล่า’ ไม่ใช่พื้นที่รกร้าง แต่เป็นระบบนิเวศของพืช แมลง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ต้นไม้ใหญ่ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ พื้นที่ลักษณะนี้โดยเฉพาะที่อยู่ในครอบครองของเอกชนมีอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง เช่น ริมถนนในชนบท ริมชายฝั่ง แม่น้ำลำคลอง และตามซอกซอยต่างๆ ในเมือง 
  • ทั้งหมดนับกว่าล้านหน่วย ล้วนช่วยกันพยุงระบบนิเวศทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ นอกเหนือไปจากพื้นที่อนุรักษ์ป่าและพันธุ์สัตว์ที่กำหนดอย่างเป็นทางการโดยกฎหมาย
  • การขุดเจาะและดัดแปลงสภาพหน้าดินเป็นการทำลายประชากรพืชและสัตว์ ถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมและระบบนิเวศ ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง หากไม่มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขข้อกฎหมายอาจเกิดการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์บางชนิด

สาธารณชนชาวไทยอาจยังไม่ทราบว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฉบับใหม่ เรียกได้ว่าเป็นข้อกฎหมายที่นำไปสู่การทำลายธรรมชาติมากที่สุดในศตวรรษนี้

 

หลายประเทศทั่วโลกจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกันเป็นปกติ เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในทางเศรษฐศาสตร์ เหตุผลเดียวกันนี้เองที่ทำให้รัฐสภาไทยผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในพุทธศักราช 2562 และค่อยๆ เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่พุทธศักราช 2563 เป็นต้นมา โดยกำหนดให้เก็บภาษีรายปีเริ่มต้นตั้งแต่ร้อยละ 0.01-1.2 ของมูลค่าที่ดิน

 

เป็นที่คาดกันว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยพัฒนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างความมั่งคั่งทางการเงินของไทย

 

พ.ร.บ.ภาษี

นักสำรวจเข้าดูพื้นที่ป่าชายหาด อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา 

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของตัวกฎหมายอยู่ตรงวรรคหนึ่งที่กำหนดให้เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการประเมินว่า ‘ไม่มีการใช้ประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพ’ ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทอื่นมาก

 

เพื่อเลี่ยงอัตราภาษีที่สูง เจ้าของบางคนจึงดัดแปลงที่ดินเป็น ‘พื้นที่เกษตร’ เพื่อให้ตนสามารถอ้างอิงอัตราภาษีที่ต่ำกว่า ถึงแม้จะเป็นเจตนารมณ์ของตัวกฎหมายที่ตั้งใจกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหันมา ‘พัฒนาประโยชน์’ ในทรัพย์สินของตนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิ่งที่จะสูญเสียไปนั้นกลับมีมูลค่ามากกว่าสิ่งที่สร้างขึ้นเป็นอย่างยิ่ง

 

พื้นที่ ‘ว่างเปล่า’ ไม่ใช่พื้นที่รกร้าง แต่เป็นระบบนิเวศของพืช แมลง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ต้นไม้ใหญ่ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ พื้นที่ลักษณะนี้โดยเฉพาะที่อยู่ในครอบครองของเอกชนมีอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง เช่น ริมถนนในชนบท ริมชายฝั่ง แม่น้ำลำคลอง และตามซอกซอยต่างๆ ในเมือง ทั้งหมดนับกว่าล้านหน่วย ล้วนช่วยกันพยุงระบบนิเวศทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ นอกเหนือไปจากพื้นที่อนุรักษ์ป่าและพันธุ์สัตว์ที่กำหนดอย่างเป็นทางการโดยกฎหมาย

 

แต่การขุดเจาะและดัดแปลงสภาพหน้าดินเป็นการทำลายประชากรพืชและสัตว์ ถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมและระบบนิเวศทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง หากไม่มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขข้อกฎหมายอาจเกิดการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์บางชนิด

 

ที่เลวร้ายไปกว่านั้น ความเสียหายสามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัด เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้ บังคับใช้ทั่วประเทศ ถือเป็นหายนะระดับชาติ ไม่ต่างจากเหตุการณ์อย่างอุทกภัยเมื่อพุทธศักราช 2554 ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรก

 

พ.ร.บ.ภาษี

นักสำรวจเข้าดูพื้นที่ป่าชายหาด อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา 

 

เมื่อ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประกาศใช้ในพุทธศักราช 2563 ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับที่ดินในครอบครองของเอกชนสามารถพบเห็นได้ทั่วประเทศโดยทันที ตัวอย่างหนึ่งที่น่าเศร้าคือการทำลายธรรมชาติบนเกาะคอเขาในทะเลอันดามัน จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยสันดอนทรายธรรมชาติ พื้นที่ชุ่มน้ำ และกระพังชายฝั่ง อันเป็นระบบนิเวศริมทะเลของพืชและสัตว์ที่ปัจจุบันยังได้รับการศึกษาเพียงเล็กน้อยแต่กลับถูกคุกคามอย่างฉับพลัน

 

สิ่งมีชีวิตที่สำคัญในพื้นที่กระพังชายฝั่ง ได้แก่ พืชกินแมลง เช่น หยาดน้ำค้าง  (Drosera spp.) และ หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes spp.) ซึ่งล้วนแต่เป็นพืชเสี่ยงสูญพันธุ์ในบัญชีของ Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora (CITES) 

 

นอกจากนี้ยังมีเหียง (Dipterocarpus obtusifolius) ซึ่งปัจจุบันจัดว่าเป็นพืชหายากในภาคใต้ของไทย นี่ยังไม่รวมถึงแมลง สัตว์ทะเลเปลือกแข็ง ปลา สัตว์ครึ่งปกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นานาพันธุ์

 

พ.ร.บ.ภาษี

ตาลซ่าน (Schizaea dichotoma) ในป่าชายหาด อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา

 

ตั้งแต่ประกาศบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่พุทธศักราช 2563 เป็นต้นมา เจ้าของที่ดินบนเกาะคอเขาได้ทำการไถกลบแหล่งพันธุ์พืชและขุดลอกพรุ (Swamp/Slacks) และพื้นที่น้ำซับชายฝั่ง (Coastal Bog) เปลี่ยนให้เป็นสระเทียม นอกจากจะเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตแล้ว พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นแหล่งพันธุ์พืชที่ช่วยตรึงและเก็บคาร์บอนและมีส่วนในกระบวนการลดโลกร้อน

 

การทำลายพื้นที่ธรรมชาติริมชายฝั่งเป็นการทำลายโครงสร้างทางธรรมชาติที่รักษาระดับน้ำใต้ดิน (Ground Water Table) ทำให้ปริมาณน้ำใต้ดินลดลงอย่างถาวร มิหนำซ้ำพันธุ์พืชธรรมชาติกลับถูกแทนที่ด้วยพืชเศรษฐกิจมูลค่าต่ำซึ่งมีมากอย่างเหลือล้นในประเทศไทยมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สนประดิพัทธ์, กระถิน, กล้วย และปาล์มน้ำมัน

 

การทำลายพืชที่ปกคลุมหน้าดินตามธรรมชาติทำให้น้ำระเหยจากผิวดินมากขึ้นกว่าปกติ จนสุดท้ายดินจะแตกระแหงในฤดูแล้ง ความชื้นที่ลดลงยังเป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดไฟป่าขึ้นบ่อยครั้งกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความหลากหลายทางธรรมชาติถูกแทนที่ด้วยการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

 

ความจริงที่น่าเศร้าคือมูลค่าทางเศรษฐกิจของ ‘การเกษตร’ ที่เกิดขึ้นจากนโยบายที่เป็นต้นตอของปัญหานี้มีเพียงน้อยนิด เจ้าของที่ดินที่พยายามจะเลี่ยงภาษีไม่ได้มีความตั้งใจที่จะ ‘ทำการเกษตร’ เพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนจากพืชเศรษฐกิจ และ ‘เกษตรกรรม’ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ไม่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเกษตรและโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีอยู่แล้วอย่างแท้จริง

 

ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรเป็นจำนวนมากแล้ว สิ่งที่เราต้องการคือพัฒนาขีดความสามารถของพื้นที่เหล่านั้นในการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้มากยิ่งขึ้น ประเทศไทยไม่ได้ต้องการตำแหน่งงานที่มากขึ้นด้วยซ้ำ เราเพียงแค่ขาดแรงงาน เพราะฉะนั้น เหตุใดจึงต้องมีนโยบายที่ยิ่งจะมาเพิ่มความต้องการแรงงานต่างชาติเพื่อมาทำงานที่ไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง อย่างเช่นการเกษตรเพื่อการเลี่ยงภาษี

 

พ.ร.บ.ภาษี

ป่าพรุ ท่าปอมคลองสองน้ำ จังหวัดกระบี่

 

นอกจากจะทำลายธรรมชาติแล้ว นโยบายดังกล่าวยังเร่งทำลายมรดกทางวัฒนธรรมอีกด้วย ตัวบทกฎหมายกดดันให้เจ้าของอาคารเก่าที่ไม่ได้มีการใช้งานต้องพัฒนาอาคารเพื่ออยู่อาศัยหรือให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ ถ้าเจ้าของไม่ได้มีต้นทุนเพียงพอ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอาจถูกขายทอดตลาด เปลี่ยนมือไปยังเจ้าของใหม่ที่อาจตัดสินใจทุบอาคารเหล่านั้นทิ้ง

 

อาคารเก่าอย่างบ้านไม้โบราณตามแนวคลอง ล้วนมีความสำคัญในฐานะส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์วัฒนธรรม เป็นรูปลักษณ์และแบบแผนของย่านเก่าดั้งเดิม หากภาครัฐมีแนวคิดที่จะอนุรักษ์เขตเมืองเก่าทั่วประเทศ ข้อกฎหมายดังกล่าวอาจยิ่งก่อให้เกิดการทำลายมากกว่ารักษา

 

พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจอันดี แต่ไม่ได้ผ่านความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมชาติวิทยา ไม่ว่าจะเป็นนักพฤกษศาสตร์ นักชีววิทยา และนักนิเวศวิทยา พันธุ์พืชที่อยู่ในรายการสำหรับนำไปเพาะปลูกเพื่อให้ที่ดินนั้นๆ นับว่าสร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจล้วนเป็นพืชเกษตร เช่น กล้วย ทุเรียน และปาล์มน้ำมัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นแนวทางที่รับมาจากนักปฐพีวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร และ/หรือ การจัดการป่าไม้แต่ฝ่ายเดียว โดยไม่ได้ผ่านความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติวิทยา พืชเหล่านี้หากต้องการรักษาให้เติบโตและมีสภาพดีอาจต้องใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรซึ่งมีผลในทางลบต่อสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ

 

ไทยสามารถเรียนรู้ได้จากประเทศบราซิล ประเทศที่ตั้งแต่พุทธศักราช 2477 มีกฎหมายให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินในชนบท ซึ่งรวมไปถึงเกษตรกร ต้องเผื่อที่ผืนใหญ่ส่วนหนึ่งไว้เป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ เรียกว่า ‘พื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมาย’ โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 20-80 แล้วแต่รัฐต่างๆ จะกำหนด บราซิลเป็นประเทศที่มีปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ป่า แต่กฎหมายดังกล่าวช่วยให้ประชากรสัตว์ทั่วประเทศยังมีชีวิตรอด

 

ตอนนี้ยังไม่สายที่เราจะช่วยป้องกันการทำลายมรดกทางธรรมชาติของไทย เริ่มต้นจากการหันมาทบทวนบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฉบับนี้ ให้เจ้าของดินที่สามารถเก็บรักษาที่ดินของตนให้อยู่ในสภาพตามธรรมชาติได้ เพื่อการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง

 

รศ.ดร.กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ นักพฤกษศาสตร์ และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

หมายเหตุ: บทความนี้ได้รับการดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์

แปลเป็นภาษาไทย: พีรพัฒน์ อ่วยสุข

 

คำอธิบายภาพเปิด: ทัศนียภาพป่าชายหาด อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา

 

ภาพ: จารุณี คงสวัสดิ์ 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising