×

รู้จักกับเทคโนโลยีที่จะช่วยเรายามป่วย อัพเดต 5 เทรนด์การแพทย์ที่น่าจับตามองในปี 2018

20.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • Personalized Medicine คือยาที่แพทย์และเภสัชกรจะผลิตขึ้นมาเฉพาะสำหรับคนไข้แต่ละราย โดยอาศัยข้อมูลจากการตรวจลึกลงไปถึงระดับยีน
  • Chatbot จะทำหน้าที่เป็นแพทย์โรบอตที่จะช่วยให้คำปรึกษาและตัดสินใจเรื่องปัญหาสุขภาพในเบื้องต้น

โลกในช่วง 2-3 ปีมานี้หมุนไปอย่างรวดเร็วเสียจนหลายคนตามแทบตามไม่ทัน มีวิทยาการใหม่ๆ มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ขณะที่หลายสิ่งในโลกใบเก่าก็กำลังจะตายไป เช่นเดียวกับวิทยาการทางการแพทย์ที่ยังก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ในปี 2018 นี้ก็จะมีความก้าวหน้าทางการแพทย์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ ซึ่ง 5 อันดับของวิทยาการทางการแพทย์ที่น่าสนใจและน่าจับตามองในปีนี้มีดังนี้ครับ

 

Telehealth – การแพทย์ทางไกลผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ

อันที่จริงบริการ Telehealth ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานานเกือบสิบปีแล้ว เช่น การนัดหมายผ่านเครื่องมือสื่อสาร, โรงพยาบาลส่ง sms มาเตือนการนัดหมาย, การที่หมอในพื้นที่ห่างไกลปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่าน webcam เหล่านั้นก็คือ Telehealth แต่วันนี้เรื่องพวกนั้นกลายเป็นเรื่องเด็กๆ ไปแล้ว เพราะในปี 2018 Telehealth มีพัฒนาการไปถึงขั้นที่หมอสามารถดูจอมอนิเตอร์ของคนไข้ผ่านทางมือถือ, คนไข้สามารถมีบันทึกเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเองเก็บไว้ในแอปพลิเคชันเมื่อถึงเวลาที่ไปหาหมอคนใหม่ก็สามารถดึงข้อมูลที่เคยรักษากับหมอคนเก่าออกมาดูได้หมด ไม่ต้องเสียเวลาไปทำเรื่องขอเอกสาร ไหนจะระบบติดตามตัวคนไข้ที่หมอสามารถเห็นได้ว่าวันนี้คนไข้แอบไปกินจังก์ฟู้ดหรือเปล่า มาโกหกหมอไม่ได้อีกแล้วนะจ๊ะ อะไรทำนองนี้

 

Chatbot – แพทย์โรบอตที่จะช่วยตัดสินใจเรื่องปัญหาสุขภาพในเบื้องต้น

ที่ผ่านมาเวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยตอนกลางคืน เราไม่รู้หรอกว่าอาการแบบนี้ควรจะไปหาหมอหรือเปล่า แล้วถ้าไม่ไปหาหมอ เราจะดูแลตัวเองได้อย่างไร การเสิร์ชข้อมูลจากกูเกิลก็มีหลากหลายจนไม่แน่ใจว่าอะไรถูกหรือผิดกันแน่ มาในปี 2018 นี้ Chatbot เป็นช่องทางการสื่อสารที่ได้รับการพัฒนาไปในขั้นแอดวานซ์ โดยคนไข้สามารถเข้าไปสอบถามข้อมูลกับเจ้า Chatbot เมื่อบอกเล่าอาการ เจ้า Chatbot ก็จะถามรายละเอียด เราก็จะตอบไปทีละข้อ จากนั้นก็จะสรุปให้ว่าคุณควรไปหาหมอหรือเปล่า ถ้าต้องไป หมอที่ใกล้ที่สุดชื่ออะไร อยู่ตรงไหน ถ้าไม่ต้องไป ในเบื้องต้นคุณจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ถ้านึกไม่ออกว่า Chatbot ทำงานอย่างไร ให้นึกถึง Siri ของ iPhone เพราะใช้หลักการทำงานแบบเดียวกันเลยครับ

 

Personalized Medicine – ยาที่ออกแบบพิเศษสำหรับรักษาคุณคนเดียวเท่านั้น

มีการพูดถึงเรื่องนี้มานานหลายปีแล้วเช่นกัน Personalized Medicine คือยาที่แพทย์และเภสัชกรจะผลิตขึ้นมาเฉพาะสำหรับคนไข้แต่ละราย โดยอาศัยข้อมูลจากการตรวจลึกลงไปถึงระดับยีน ใช่ครับ คุณฟังไม่ผิดหรอก ระดับเซลล์ที่เราเคยพูดกันมาก่อนหน้านี้ไม่ละเอียดเสียแล้ว เพราะในแต่ละเซลล์นั้นประกอบไปด้วยยีนเล็กยีนน้อยจำนวนมากมายหลายพันชิ้น และหากมียีนชิ้นใดชิ้นหนึ่งบกพร่องไปก็จะส่งผลให้คนเราเจ็บป่วยได้ ยกตัวอย่างเช่น มียีนอย่างน้อย 36 ยีนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวาน มียีนแค่ตัวเดียวผิดปกติก็เกิดเป็นเบาหวานได้แล้ว และตามปกติเวลาแพทย์เจอคนไข้เป็นเบาหวานก็จะให้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด หรือไม่ก็ฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมน้ำตาล ร่วมไปกับการบอกให้คนไข้คุมอาหาร การรักษาแบบนั้นได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง แต่ถ้าเราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเบาหวานของคนไข้รายนี้เกิดจากความผิดปกติของยีนตัวใด และผลิตยาขึ้นมาเพื่อรักษาไปที่ยีนตัวนั้นเลย แบบนี้จะตรงประเด็นกว่าการให้ยาคุมน้ำตาล ซึ่งเป็นการควบคุมที่ปลายเหตุ แถมยังเหมือนกับการเหวี่ยงแหจับปลาในทะเลอีกด้วย

 

ก่อนหน้านี้ การรักษาแบบ Gene Therapy ดูจะห่างไกลจากความเป็นจริง แต่ในโลกปัจจุบันที่วิทยาการต่างๆ ก้าวหน้าไปมากมายแบบก้าวกระโดด การตรวจแล็บต่างๆ ทำได้ง่ายดายขึ้นและมีราคาถูกลง เรื่องยาพิเศษสำหรับคนไข้เฉพาะเพียงรายเดียวจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

 

Wearable Technology – อุปกรณ์เสริมเพื่อสุขภาพ

ทุกวันนี้อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาหรือสายรัดข้อมือก็สามารถเป็นอุปกรณ์เสริมทางการแพทย์ที่จะช่วยให้คุณสุขภาพดีขึ้น Wearable Technology เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง นิตยสาร Forbes ประมาณการว่า ในปี 2017 มีบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านนี้ไม่ต่ำกว่า 2,300 บริษัททั่วโลก การพัฒนากลไกต่างๆ จึงต้องแข่งขันกันสุดฤทธิ์ ยิ่งแข่งกันเท่าไร ผู้บริโภคยิ่งได้ประโยชน์ ในปี 2018 นี้จะมีอุปกรณ์สวมข้อมือสำหรับคนป่วยโรคเบาหวานออกมาให้ใช้กัน อุปกรณ์ที่ว่าจะมีเข็มเล็กๆ ซ่อนอยู่ เมื่อถึงเวลาที่ตั้งไว้มันก็จะแทงเข้าไปในผิวหนังของคนสวม และวัดระดับน้ำตาล ประมวลผลส่งไปให้หมอดูแบบเรียลไทม์ ไม่ต้องมานั่งเจาะปลายนิ้วเหมือนแต่ก่อน ว่ากันว่าเข็มนั้นเล็กกว่าปากยุงเสียอีก ฉะนั้นคนสวมจะไม่รู้สึกเจ็บ อันที่จริงอาจจะไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำว่าถูกเจาะเข้าไปแล้ว นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเดียวเท่านั้น คาดว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาอุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพตามมาอีกมากมายหลายชิ้น นับเป็นการปฏิวัติวงการแพทย์ให้ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลโดยแท้จริง

 

Pill Sensor System – ระบบติดตามการกินยา

หลายครั้งที่เรามีผู้สูงอายุอยู่บ้านแล้วหยิบยากินเอง แต่ก็เกิดความไม่แน่ใจว่าพวกท่านกินยาหรือเปล่า หลงลืมหยิบมากินซ้ำหรือไม่ ต้นปี 2018 นี้เองที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาอนุมัติให้สามารถใช้เครื่องมือติดตามการกินยา หรือ Pill Sensor System ได้แล้วครับ โดยจะเริ่มจากยาในกลุ่มจิตเวชก่อน โดยจะมีการใส่ Metal Sensor Tract System ลงไปในเม็ดยา เมื่อคนไข้กินยา เซนเซอร์ก็จะไปสัมผัสกับน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร แล้วส่งข้อมูลไปยังระบบติดตามผล ช่วยให้คนไข้ คนดูแล และแพทย์ ติดตามการกินยาของคนไข้โดยดูจากโทรศัพท์มือถือได้เลย ต่อไปถ้าได้ผลดี เชื่อว่าบริษัทยาอีกหลายๆ แห่งก็จะนำเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการผลิตยา ช่วยให้สามารถติดตามการกินยาของคนไข้ได้อย่างแม่นยำขึ้นมากครับ

 

อย่างไรก็ตาม แม้วิทยาการทางการแพทย์จะก้าวหน้าขึ้นมากเพียงใด แต่หัวใจสำคัญที่สุดสำหรับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บก็คือความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนไข้ ผู้ดูแล และหมอ การสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพ การเอาใจใส่ และความเห็นอกเห็นใจกันในฐานะเพื่อนมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยสำหรับการเจ็บไข้ได้ป่วย

 

อ้างอิง:

FYI
  • มีเรื่องเล่าตลกๆ เกี่ยวกับภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ไซไฟล้ำยุคหลายเรื่องว่าวิทยาการทางการแพทย์ในหนังไม่ค่อยสอดคล้องกับห้วงเวลาอนาคต เช่น ในหนังรบกันด้วยดาบเลเซอร์ แต่ไม่มีระบบการรักษาแผลแบบใช้ยาสมาน แผลหายไปอย่างรวดเร็วแบบวูล์ฟเวอรีน (ปัจจุบันนี้การแพทย์มี Sponge Filled Syringe ที่มีเจลคล้ายกาว ใช้ฉีดลงไปในรอยแยกของบาดแผล ทำให้แผลติดกันเหมือนติดกาว ไม่ต้องมานั่งเย็บกันเหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว) หรือใน Star Wars Episode lll ตอนอนาคินเสียขาและมีบาดแผลไฟไหม้อย่างรุนแรง หมอหุ่นยนต์ช่วยรักษาเขา เราได้เห็นภาพอนาคินร้องโหยหวน ดิ้นทุรนทุรายไปมาเพราะความเจ็บปวด แต่อันที่จริงในอนาคตนั้น วิทยาการด้านยาสลบและระงับความเจ็บปวดน่าจะดียิ่งกว่าสมัยนี้หลายเท่าตัวนัก ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า เพราะทีมงานมุ่งถึงแต่ความทันสมัยในวิทยาการด้านอื่น โดยลืมไปว่าการแพทย์ในอนาคตนั้นย่อมมีความก้าวหน้าไปไกลไม่แพ้กันก็เป็นได้
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising