×

ดีล ‘GULF – Binance’ อาจสะเทือนเป้าหมายการเติบโตของ Bitkub ที่ SCB คาดหวังไว้

20.01.2022
  • LOADING...
GULF - Binance

จากการประกาศความร่วมมือระหว่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และ Binance เพื่อศึกษาโอกาสในการตั้งศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งในประเทศไทย ทำให้ภาวะการแข่งขันของผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลดูเหมือนจะดุเดือดมากขึ้นในอนาคต และอาจจะกระทบต่อผลลัพธ์ของดีลที่เกิดขึ้นไปก่อนหน้าระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งตัดสินใจทุ่มเงินกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท เข้าถือหุ้น 51% ใน Bitkub ซึ่งเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในไทย ณ ปัจจุบัน

 

กรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย มองว่า Binance เป็นคู่แข่งของ Bitkub อยู่แล้วในปัจจุบัน แต่การจะเข้ามาผ่านการร่วมทุนกับ GULF จะช่วยให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์มากขึ้น และน่าจะมีแรงกระเพื่อมในเชิงการแข่งขันที่สูงขึ้นกว่าช่วงที่ SCB ประกาศซื้อหุ้นของ Bitkub 

 

นอกจากนี้ จะเห็นว่าผู้เล่นรายอื่นๆ อย่างโบรกเกอร์ต่างๆ ในตลาดหุ้นก็มีความสนใจที่จะยื่นขอใบอนุญาตสำหรับการให้บริการเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นกัน ทำให้เราคงจะไม่ได้เห็น Bitkub กินมาร์เก็ตแชร์ในระดับ 90% แบบง่ายๆ อีกแล้ว 

 

“ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าติดตามคือ เรื่องของค่าธรรมเนียม ซึ่งปัจจุบันค่าธรรมเนียมการเทรดผ่าน Binance อยู่ที่ประมาณ 0.10% เทียบกับค่าธรรมเนียมของ Bitkub ที่ 0.25-0.30% ทำให้เมื่อการแข่งขันสูงขึ้น ค่าธรรมเนียมของ Bitkub ก็อาจจะต้องปรับลดลง โดยเฉพาะกับตลาดคริปโตที่มักจะซื้อขายถี่กว่าหุ้น” 

 

การเข้ามาของ Binance ทำให้เกิดมุมมองเชิงลบมากขึ้นต่อดีลของ SCB และ Bitkub แต่คงจะไม่ถึงกับกระทบต่อมูลค่าหุ้นของ SCB เพราะส่วนแบ่งกำไรจาก Bitkub ยังเล็กอยู่มากเมื่อเทียบกับกำไรจากธุรกิจแบงก์ 

 

อย่างไรก็ดี การที่ SCB ลงทุนซื้อหุ้น Bitkub บน P/E 18 เท่า อาจจะไม่ได้แพงนัก เพราะที่ผ่านมา Bitkub เติบโตมาเท่าตัวติดต่อกันหลายปี ส่วนหลังจากนี้เชื่อว่า SCB อาจจะคาดหวังว่าจะเห็นการเติบโตในระดับ 30-40% ต่อปี

 

ด้าน ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส มองว่า การจะเปรียบเทียบว่าดีลของ SCB ที่ซื้อ Bitkub นั้นมีความคุ้มค่าลดลงไปหรือไม่ คงต้องรอดูรายละเอียดและความคืบหน้าของดีลระหว่าง GULF และ Binance อีกครั้งหนึ่งว่าจะเข้ามาในตลาดในรูปแบบใด 

 

ในเบื้องต้นอาจจะพูดได้ว่าความได้เปรียบของ SCB คือเรื่องความน่าเชื่อถือในอุตสาหกรรมการเงิน และฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิมทั้งจากธนาคารและฐานลูกค้าของ Bitkub 

 

ทั้งนี้ แม้ว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาจจะรุนแรงขึ้น แต่เมื่อมีผู้เล่นใหม่เข้ามาก็อาจจะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเติบโตขึ้น และธุรกิจนี้มักจะวิ่งตามปริมาณการซื้อขายในตลาดที่เติบโตตามอุตสาหกรรม

 

“ส่วนตัวมองว่าการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเป็นธรรมชาติของอุตสาหกรรมใหม่ และหากดูอย่างโบรกเกอร์หุ้นในไทยก็ยังมีถึง 38 แห่ง และยังสามารถอยู่กันได้ เพราะฉะนั้นหากจะมองว่าธุรกิจนี้ยังน่าสนใจไหม คงขึ้นอยู่กับว่าเรามีมุมมองต่อตลาดคริปโตอย่างไรหลังจากนี้” 

 

สำหรับกรณีของ Bitkub ช่วง 9 เดือน ของปี 2564 มีกำไรสุทธิประมาณ 1,500 ล้านบาท ในเชิงฐานกำไรปกติที่ส่งผ่านมายัง SCB ยังไม่ได้มีนัยมากนักเทียบกับธุรกิจหลัก เพราะหากประเมินในเบื้องต้น Bitkub น่าจะมีกำไรทั้งปีประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผ่านมายัง SCB ราว 1,000 ล้านบาท จากการถือหุ้น 51% 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising