×

มูลนิธิลูกโลกสีเขียว สู้เพื่อสิ่งแวดล้อม สู้เพื่อโลกสีเขียว เจ็บปวดเมื่อธรรมชาติถูกทำลาย

01.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • มูลนิธิลูกโลกสีเขียว ก่อตั้งมาเกือบ 26 ปีแล้ว ด้วยอุดมการณ์ที่จะสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับสังคม โดยมี ดร. สรณรัชฎ์ ​กาญจนะวณิชย์ หรือ ดร. อ้อย เป็นประธานกรรมการ คนปัจจุบัน
  • ดร.อ้อย บอกว่า ธรรมชาติ ก็เหมือนความรัก เพราะ เมื่อเรารักในธรรมชาติ เราก็จะปวดใจเมื่อเห็นสิ่งที่เรารัก ถูกทำลายไปเรื่อยๆ แต่นั่นก็เป็นหนทางของการเรียนรู้ แต่ถ้าคุณปิดใจ คุณก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

     มูลนิธิโลกสีเขียว ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2534 หรือเมื่อประมาณ 26 ปีมาแล้ว โดยหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ และมูลนิธิฯ ได้ทำหน้าที่สื่อสาร สร้างความตระหนักรู้ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมาโดยตลอด ในแง่หนึ่งก็ถือว่ามูลนิธิโลกสีเขียวเป็นคลังความรู้และเป็นที่พึ่งพาของสังคมไทยในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี  

     แต่กระนั้น ความตระหนักรู้ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดแล้วเกิดเลย มันอาจจางหายไปได้ในเร็ววัน หากไม่ได้รับการกระตุ้นเตือนอย่างสม่ำเสมอ เพราะสุดท้ายแล้ว แม้คนเราจะเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ก็อาจรู้ไม่เท่าทันผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่พร้อมจะทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นกัน แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นเหตุผลที่จะทำให้กลุ่มคนที่ต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมยอมหยุดพัก เพราะการทำลายธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วทุกหย่อมหญ้า และหากเราเชื่อเรื่องการเชื่อมโยงของมนุษย์กับธรรมชาติ เราก็ต้องรู้ว่าเมื่อธรรมชาติถูกทำลาย มนุษย์เราจะค่อยๆ ตายอย่างช้าๆ และไม่แน่ว่าในอนาคต อัตราการตายที่ว่าอาจจะถูกเร่งรัดมากขึ้นตามความรวดเร็วของการทำลายสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

     ณ วันนี้เราจึงต้องขอบคุณนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งที่ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสมบัติของทุกคนบนโลกใบนี้

เมื่อเด็กรุ่นใหม่โตมาเขาก็เห็นโลกเป็นแบบนี้เลย เขาก็อาจจะคิดว่ามันเป็นปกติ เป็นมาตรฐานของเขา แต่เขาไม่เคยรู้ว่ามันคือมาตรฐานที่ต่ำลง เพราะความจริงแล้วมันเคยดีกว่านี้

 

     เราเริ่มคำถามแรกกับ ดร. สรณรัชฎ์ ​กาญจนะวณิชย์ หรือ ดร. อ้อย ถึงประเด็นการยืนหยัดต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในยุคนี้ว่าต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปมากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับยุคที่ผ่านๆ มา

     “แน่นอนว่ายุทธศาสตร์และวิธีการมีทั้งต้องเปลี่ยนและคงเดิม ต้องบอกก่อนว่าประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระที่ใหญ่มากในยุคสมัยของเรา เรียกว่าเป็นวิกฤตเรื่องสิ่งแวดล้อมเลยก็ว่าได้ ในทางทฤษฎีของธรณีวิทยา ที่ผ่านมาเราอยู่ในยุคหลังน้ำแข็งละลาย แต่ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่นักวิทยาศาสตร์พร้อมใจกันเรียกว่ายุคมนุษย์ครองโลก ซึ่งหมายความว่ามนุษย์ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของโลกไปอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่เคย มียุคไหนเลยที่ทุกตารางนิ้วของโลกได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์เท่ายุคนี้ ความหลากหลายทางชีวภาพในโลกของเราวันนี้ก็ลดลงเหลือแค่ 1 ใน 3

     เมื่อเทียบกับ 50 ปีก่อน แปลว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เคยขับเคลื่อนวัฏจักรทางนิเวศวิทยาให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมันก็ลดลง สิ่งมีชีวิตใหญ่น้อยเหล่านี้ก็เปรียบเหมือนอวัยวะในร่างกายของเราที่มันทำงานส่งเสริมกัน สมมติวันหนึ่งนิ้วก้อยเราหายไป แน่นอนว่าเราก็ไม่ตายหรอก แต่เราอาจจะเล่นเปียโนได้ไม่ดีเท่าเดิม แต่ถ้ามันเป็นอวัยวะสำคัญ มันก็จะกระทบหนัก

 

 

     “ความจริงในช่วงชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง โลกมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมากนะคะ ทุกวันนี้ปรากฏการณ์ธรรมชาติหลายอย่างคือสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในช่วงชีวิตนี้ แต่ในทางกลับกัน เมื่อเด็กรุ่นใหม่โตมาเขาก็เห็นโลกเป็นแบบนี้เลย เขาก็อาจจะคิดว่ามันเป็นปกติ เป็นมาตรฐานของเขา แต่เขาไม่เคยรู้ว่ามันคือมาตรฐานที่ต่ำลง เพราะความจริงแล้วมันเคยดีกว่านี้ ดังนั้นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มันเปลี่ยนไป ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ต้องยอมรับว่าเรากำลังมีสภาพเหมือนคนพิการขาขาด แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะหมดหวัง หรือคิดว่าตายๆ ไปเสียเถอะ เพราะคนไม่มีขาตั้งมากมายก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่ในความหมายนี้ก็เปรียบได้กับการที่เราทำโลกให้พิการ ดังนั้นพวกเราก็มีโอกาสสั้นๆ แค่ 10-20 ปีจากวันนี้ที่จะต้องหยุดยั้งการทำลายธรรมชาติ แล้วเร่งฟื้นฟูให้มากที่สุด จริงๆ เราไม่ได้พูดเอง แต่นักวิทยาศาสตร์

     ชั้นนำของโลกเขาก็พูดกันว่า ถ้าเรายังปล่อยให้มีการทำลายต่อไป มันจะถึงจุดที่เราฟื้นฟูธรรมชาติไม่ได้แล้ว แต่ตอนนี้เรายังมีทุนเพียงพอที่จะฟื้นฟูและมีชีวิตที่งดงามได้ แต่ต้องทำ ณ​ เวลานี้เลย เพราะมันเป็นวาระใหญ่ที่ทุกๆ ฝ่ายต้องสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เฉพาะแค่เรื่องคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศขึ้นไป 400 ppm ซึ่งสูงกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์ไว้ มันรุนแรงกว่าที่คิด ถึงขั้นที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้อีกแล้วว่าผลกระทบจากการทำลายสิ่งแวดล้อมจะมีรูปแบบอย่างไร เราต้องรับมือว่าต่อไปนี้ธรรมชาติจะแปรปรวนมากขึ้น”

เรายังต้องเจอคนที่ไม่แคร์เรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วมีอำนาจด้วย มันก็เลยเหมือนเราย่ำอยู่กับที่ ดังนั้นต้องถามว่าเรามาถึงขั้นที่สังคมส่วนใหญ่ตื่นตัวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ หรือยัง เรายังไปไม่ถึงตรงนั้นเลย

 

     ประเด็นของการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจโดยเฉพาะในบ้านเราก็คือ แม้จะมีความตระหนักรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่เรากลับยังต้องพูดเรื่องซ้ำๆ วนอยู่ที่เดิม และยังหาทางออกไม่ได้เหมือนเดิม  

     “ถ้าพูดถึงการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม บอกได้เลยว่ามันผ่านยุคที่จะมาขัดแย้ง โต้เถียงเรื่องปัญหาแล้ว เพราะใครๆ เขาก็มองเรื่องทางออก แต่บ้านเราไม่ใช่อย่างนั้นไง เรายังต้องมาพูดเรื่องซ้ำๆ เรายังต้องเจอคนที่ไม่แคร์เรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วมีอำนาจด้วย มันก็เลยเหมือนเราย่ำอยู่กับที่ ดังนั้นต้องถามว่าเรามาถึงขั้นที่สังคมส่วนใหญ่ตื่นตัวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ หรือยัง เรายังไปไม่ถึงตรงนั้นเลย แล้วยังมีกลุ่มที่จะเตะตัดขา NGO อีก แถมบ้านเรายังมีปัญหาเรื่องเงินทุนที่จะมาสนับสนุนคนทำงานด้วย บ้านเราชอบทำบุญบริจาคให้วัด แต่ไม่เชื่อเรื่องการให้เงินกับองค์กรที่ทำสาธารณประโยชน์ เพราะมักจะเคลือบแคลงสงสัยกันเองว่าทำงานอะไร รับเงินจากใคร ในขณะที่ตอนเราเรียนที่อังกฤษ การไประดมทุนหาเงินให้องค์กรเพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคม มันเป็นเรื่องปกติมาก ถึงแม้ตอนเรียนเราจะไม่ค่อยมีเงิน แต่เราก็บริจาคให้กับองค์กรที่ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะคิดว่าเราต้องการคนที่ทำงานในองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร เพราะนี่คืองานที่สำคัญมาก เนื่องจากว่าไม่ใช่ปัญหาทุกเรื่องที่เราจะแก้โดยใช้กลไกธุรกิจหรือการตลาดให้ขับเคลื่อนไปได้ ดังนั้นมันก็ยังจะต้องมีคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ทำงานด้านสาธารณประโยชน์อยู่ ซึ่งเราควรสนับสนุนเขาเพราะเราไม่มีเวลาไปทำหรอก เราต้องไปทำงานอย่างอื่น เราต้องเรียนหนังสือ ดังนั้นถ้าเราจะสนับสนุนคนเหล่านี้ เราต้องเปลี่ยนความคิดเราก่อน อย่างในเมืองไทยมักจะมองว่า NGO ไม่มีประโยชน์​ ดีแต่ค้าน ซึ่งจริงๆ ถ้าพูดแทนพวกเขา ก็ต้องบอกว่าไม่มีใครอยากค้านหรอก มันเหนื่อย อย่างเรานี่บอกเลยว่าเราชอบสร้างนวัตกรรมมากกว่ามาค้าน แต่มันจำเป็นต้องค้าน ต้องสู้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ชอบความขัดแย้งเลย

เมื่อเรารักในสิ่งไหน มันก็มีเรื่องให้เราต้องเสียใจและปวดใจมากมายเช่นกัน เช่น เมื่อเรารักในธรรมชาติ เราก็จะปวดใจเมื่อเห็นสิ่งที่เรารักถูกทำลายไปเรื่อยๆ แต่นั่นก็เป็นหนทางของการเรียนรู้ แต่ถ้าคุณปิดใจ คุณก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

 

     ถ้าวันนี้ใครสักคนอยากลุกมาสู้เพื่อประเด็นของสิ่งแวดล้อม อะไรคือข้อได้เปรียบ และอะไรคือสิ่งที่ยังเสียเปรียบอยู่ เป็นคำถามที่ ดร. อ้อย ตอบมายาวเหยียดด้วยแววตาเป็นประกายเมื่อพูดถึงสิ่งแวดล้อม

     “เรามองว่าข้อได้เปรียบคือการสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมให้รางวัลกับชีวิตเรา และเรายังสามารถทำงานได้อีกเยอะมาก เรายังต้องการคนมาช่วย ตอนนี้ทุกเรื่องเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมได้หมด เพราะทุกการกระทำเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม โจทย์คือทำอย่างไรให้ธุรกิจในสังคมมีการแบ่งปันทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธุรกิจสีเขียวได้จริงๆ ขณะเดียวกันก็ยังรักษาธรรมชาติได้ด้วย แค่ในกรอบนี้ก็มีอะไรให้ทำเยอะมากแล้ว เราเชื่ออย่างหนึ่งว่า ทุกคนอยากทำอะไรที่มีความหมายมีคุณค่า มีเป้าหมาย งานสิ่งแวดล้อมก็จะทำให้เราได้ในสิ่งเหล่านั้น เพราะเมื่อไรที่คุณเริ่มเปิดหน้าต่างสู่ธรรมชาติ โลกใบใหญ่มหาศาลก็จะเปิดรับคุณ แล้วมันก็มีความมหัศจรรย์มากมายรออยู่ คุณจะค้นพบความสัมพันธ์และความหมายของชีวิตกับสรรพสิ่ง และสามารถเรียนรู้ได้ไม่มีวันจบ

 

 

     “แต่ข้อเสียคือเมื่อเรารักในสิ่งไหน มันก็มีเรื่องให้เราต้องเสียใจและปวดใจมากมายเช่นกัน เช่น เมื่อเรารักในธรรมชาติ เราก็จะปวดใจเมื่อเห็นสิ่งที่เรารัก

     ถูกทำลายไปเรื่อยๆ แต่นั่นก็เป็นหนทางของการเรียนรู้ แต่ถ้าคุณปิดใจ คุณก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย มนุษย์มันก็ต้องแบบนี้ เรายืนสองขา แล้วก็เปิดหัวใจ แม้ว่าสุดท้ายต้องเจ็บ แต่มันก็จะเยียวยาได้ แล้วตัวเราเองก็จะค่อยๆ พัฒนา

     “ข้อเสียอีกเรื่องก็คือการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ มันจะไปขัดผลประโยชน์คนอื่นแน่นอน แล้วก็ไม่มีการสนับสนุนการทำงานที่เพียงพอ นักอนุรักษ์กี่คน กี่ยุคกี่สมัยแล้วที่ถูกฆ่าตัดตอนไป แล้วเราก็วนอยู่กับปัญหาแบบเดิมๆ ถามว่ามีการตื่นตัวเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติไหม มีเพิ่มขึ้นนะ แต่มันไม่ทันการณ์กับระดับของการทำลาย มันสู้ไม่ไหว แต่เราก็ต้องทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่จุดหนึ่งที่จะทำให้นักอนุรักษ์ทุกคนท้อก็คือการต้องเผชิญกับอำนาจเถื่อน ความรุนแรง แล้วมันไม่ใช่ทุกครั้ง ทุกเรื่อง ที่เราจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันได้ บางเรื่องเราก็ต้องสู้ในแบบของเรา คือเราต้องกล้าที่จะพูดในเรื่องที่ถูกต้อง”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X